ตอนเด็กๆ แม่เคยบอกเราว่าหากไม่แปรงฟันก่อนนอนแมงจะกินฟันจนฟันผุ หลายคนคงจินตนาการหน้าตาของเจ้าแมงที่ว่านี้ไปต่างๆ นานา ความเชื่อนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในยุคของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราหรอกนะ
แต่สามารถสืบย้อนจากบันทึกทางประวัติศาสตร์กลับไปได้ไกลถึง 5,000 ปีก่อน พบว่าชาวสุเมเรียนก็เชื่อแบบเดียวกันนี่แหละว่ามีแมงกินฟัน (Tooth Worm) เป็นตัวการทำให้ฟันผุ ผ่านมาหลายพันปี กว่ามนุษย์จะรู้ว่าที่สาเหตุที่แท้จริงนั้นมาจากน้ำตาล มาจากเศษอาหารที่ติดค้างอยู่ในซอกฟันเป็นเวลานาน จึงทำให้เชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Mutans ย่อยสลายแป้งและน้ำตาลให้กลายเป็นกรดแลคติก ซึ่งทำให้ฟันผุกร่อนชั้นเคลือบฟันภายนอกเข้าไปในเนื้อฟันต่างหาก จึงเป็นเหตุผลที่เราทุกคนต้องแปรงฟันทุกวัน เพราะทันตแพทย์ทุกคนยืนยันว่านี่คือเป็นวิธีการดูแลรักษาฟันที่ดีที่สุดตลอดมา เราจึงอยากชวนทุกคนย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์อันทุลักทุเลในการแปรงฟันของมวลมนุษยชาติ
ก่อนที่โลกนี้จะมีแปรงสีฟัน ยาสีฟันอย่างทุกวันนี้ มนุษย์เราใช้สารพัดสิ่งทำความสะอาดฟันกันมาแล้วนับไม่ถ้วน บ้างใช้ผ้าหยาบๆ จุ่มน้ำขัดถูเพื่อทำความสะอาดฟัน บ้างก็ใช้เกลือร่วมด้วย บ้างใช้ผงเถ้าที่ได้จากการเผากีบเท้าวัวและเปลือกไข่ ชาวอียิปต์นำกิ่งไม้มาทุบปลายให้เป็นฝอยเล็กๆ เพื่อขัดถูฟัน ชาวกรีกโรมันโบราณใช้เปลือกหอยนางรม กระดูก ทำความสะอาดฟัน น่าสนใจที่คนเราก็นิยมฟันขาวกันมาตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว หลักฐานคือบันทึกของ Catullus กวีชาวโรมันที่กล่าวถึงชายคนหนึ่งซึ่งยิ้มอวดฟันขาวของตัวเองตลอดเวลา เพราะใช้ฉี่ขัดถูฟันและเหงือกทุกเช้านั่นเอง ช่วงเวลาราว ค.ศ. 1000 ชาวเปอร์เซียมีบันทึกสูตรส่วนผสมผงสีฟันที่คนยุคนี้ต้องสยอง เพราะทำมาจากสมุนไพร น้ำผึ้ง เถ้าเปลือกหอยทาก เถ้ายิปซัม ซากสัตว์แห้ง สนิมทองแดง ฯลฯ ข้ามมาฝั่งโลกตะวันออก เชื่อกันว่าชาวจีนเป็นชาติแรกที่คิดค้นการทำความสะอาดฟันด้วยขนแปรงแบบที่เราใช้กันทุกวันนี้ขึ้นมาเมื่อราว ค.ศ. 1400 โดยใช้ขนหลังคอหมูป่านำมาติดกับกระดูกหรือไม้ไผ่ ส่วนชาวสยามเราก็ไม่น้อยหน้าใช้กิ่งข่อยใกล้บ้านทุบปลายให้นุ่ม หรือกัดจนนิ่มแล้วสีฟันดำๆ จากการเคี้ยวหมากกันทั้งคนหนุ่มสาวและคนแก่
เราต่างเสาะหาอุปกรณ์ทำความสะอาดฟันกันเองแบบตามมีตามเกิดมาเรื่อยๆ จนถึง ค.ศ. 1770 นาย William Addis ชาวอังกฤษมีเหตุให้ต้องถูกจองจำอยู่ในคุก เขาสังเกตเห็นลักษณะของไม้กวาดที่ทำความสะอาดพื้นแล้วได้ไอเดียทดลองนำวิธีการเดียวกันมาใช้กับการทำความสะอาดฟัน จึงเก็บกระดูกชิ้นเล็กๆ จากมื้ออาหารมาเจาะรู ขอขนแปรงจากผู้คุมเรือนจำมาใส่เข้าไปแล้วยึดไว้ด้วยกาว หลังถูกปล่อยตัวเขาก็กลายเป็น SME ตีตลาดเกาะบริเตนแตกกระจายด้วยการเปิดโรงงานผลิตแปรงสีฟันขาย ในชื่อแบรนด์ Wisdom Toothbrush ส่วนยาสีฟันในยุคนั้นยังคงเป็นชนิดผงที่สากระคายฟันมาก เพราะเต็มไปด้วยส่วนผสมของผงอิฐ ผงเครื่องกระเบื้องบด ผงจานชามดินเผาบด หินปูนถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมมากที่สุด เราแปรงฟันกันแบบไร้ฟองมาจนถึงปลายศตวรรษที่ 18 จึงมีการเติมผงบอแรกซ์ลงไปเพื่อสร้างฟองระหว่างทำความสะอาดด้วย ใครพอมีเงินก็จะใช้แปรงสีฟันจุ่มผงเหล่านี้แปรงฟัน ส่วนคนธรรมดาก็ใช้นิ้วจุ่มตามอัธยาศัย ต่อมาในปี ค.ศ. 1938 จากที่ใช้ขนสัตว์เป็นขนแปรงกันมานาน แปรงสีฟันที่เส้นขนแปรงทำจากไนลอน ซึ่งคิดค้นโดยบริษัท Du Pont ก็ออกสู่ท้องตลาด แต่ก็อีกตั้ง 12 ปีผ่านไปจึงมียาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างที่เราคุ้นเคยกันดีออกวางขายตามมา
ในเมืองไทยมีการนำเข้าแปรงสีฟันมาพร้อมกับชาวตะวันตกสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อแปรงสีฟันเริ่มแพร่หลายมากขึ้น คนไทยก็เริ่มผลิตกันเองบ้างช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไล่เลี่ยกับปีพ.ศ. 2482 ซึ่งรัฐบาลของจอมพลป. พิบูลสงครามออกออกประกาศชักชวนให้ข้าราชการ ประชาชนเลิกกินหมากเพื่อแสดงตนเป็นอารยประเทศ ในยุคแรกเริ่มแปรงสีฟันในเมืองไทยก็ทำจากกระดูกวัวและขนหมูเช่นเดียวกัน ก่อนจะพัฒนามาใช้ขนแปรงไนลอนและด้ามพลาสติกตามเทคโนโลยีที่พัฒนาไปเช่นเดียวกับชาติตะวันตก
ประวัติศาสตร์อันยาวนานของการแปรงฟันแสดงให้เห็นว่าการแปรงฟันทุกเช้าและก่อนนอนของเราไม่ได้เป็นเพียงกิจวัตรประจำวันอีกต่อไป แต่เป็นผลลัพธ์จากชุดความรู้ที่ผ่านการสั่งสมกันมาตลอดหลายพันปี ต่อยอดเทคนิค สร้างสรรค์เครื่องมือที่ดีกว่าเมื่อวานไปเรื่อยๆ เพื่อสุขภาพปากและฟันที่แข็งแรงของเราทุกคน
บทความนี้สนับสนุนโดย CURAPROX แปรงสีฟันที่ทําให้คุณอยากแปรงฟัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://h2g2.com/edited_entry/A2818686
http://www.washingtonpost.com/wp-dyn/content/article/2009/04/12/AR2009041202655.html?noredirect=on