ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ดีต่อสุขภาพ แต่คนเราส่วนใหญ่ก็ยังไม่อาจห้ามใจหยุดกินของหวานน้ำตาลกระฉูด ยังคงเลิกฟาสต์ฟู้ด ที่ทั้งมันทั้งเค็มไม่ได้สักที
เหตุผลที่เป็นแบบนี้ จะโทษพวกเราอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะเมื่อมองหาต้นสายปลายเหตุของความติดหวานนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปถึงเมื่อ 315,000 ปีก่อน ในช่วงที่โลกอยู่ในยุคน้ำแข็ง บรรพบุรุษของเราต้องอดอยากเป็นเวลานาน การกินผลไม้สุกที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำตาล ซึ่งทั้งอร่อยกว่า และให้พลังงานมากกว่าผลไม้ดิบ และช่วยเก็บรักษาไขมันไว้ในร่างกายของเรา จึงทำให้มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า บรรพบุรุษของเราค่อยๆ ได้เรียนรู้ว่ายิ่งกินหวาน ก็ยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ความหวานจึงถูกบันทึกลงในยีนแล้วส่งต่อมาถึงเราทุกคนในปัจจุบัน
ปัญหาไม่ใช่น้ำตาลไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ปัญหาคือ เราติดการกินน้ำตาลมากเกินไปต่างหาก
มนุษย์ในยุคปัจจุบันไม่ต้องปากกัดตีนถีบออกล่าหาอาหาร แต่นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ คิดเป็นเวลาเฉลี่ยราวหนึ่งในสามของเวลาในแต่ละวัน นั่นหมายถึง เราใช้พลังงานน้อยลง แต่กินน้ำตาลมากขึ้นจากสถิติปี พ.ศ. 2560 คนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึง 20 ช้อนชาต่อวัน เกินกว่าปริมาณที่เหมาะสมถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มจะบริโภคน้ำตาลมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตเพราะในทางเคมี น้ำตาลส่งผลต่อสมองไม่ต่างจากเฮโรอีนโคเคน นิโคติน หรือคาเฟอีน เมื่อบริโภคน้ำตาลเข้าไปมากๆ อย่างต่อเนื่อง ตัวรับโดพามีน (dopamine receptors) ก็จะควบคุมการหลั่งโดพามีนได้น้อยลง ร่างกายจึงต้องการน้ำตาลมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสัมผัสความสุขอย่างที่คุ้นเคย
วิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาทสำคัญในการอาหาร
ทำให้เราเสกสรรความอร่อยได้แบบไม่ต้องลุ้นกับธรรมชาติอีกต่อไป ไม่ใช่เพียงแต่สร้างความพึงพอใจด้วยรสสัมผัสของอาหาร อย่างความเย็นสดชื่น ที่ละลายในปากของไอศกรีม หรือลูกอม หลากหลายรสสัมผัสที่หลอกร่างกายให้รู้สึกอยากกินอีกไม่รู้อิ่ม อุตสาหกรรมอาหารนำเอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร มาใช้คำนวณสัดส่วนของน้ำตาล เกลือ และไขมันที่กลมกล่อม ทำให้เรารู้สึกดีทุกคำที่เคี้ยว เมื่อสมองรู้สึกเหมือนได้รับรางวัล เราก็จะยิ่งโหยหา อยากกลับมากินอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า นั่นจึงเป็นเหตุให้ฟาสต์ฟู้ดทั้งหลาย ยังคงเป็น Guilty Pleasure ของเราทุกคนตลอดมา แม้จะรู้ว่าไม่ดีต่อสุขภาพร่างกาย ไม่ดีต่อสุขภาพฟันเลยก็ตาม
ของอร่อยที่ทำร้ายฟันนั้น มีมากกว่าแค่น้ำอัดลม
ซึ่งไม่ได้มีแค่น้ำตาล แต่ยังมีสีสังเคราะห์ ทำให้เกิดคราบตกค้างบนผิวฟัน และมีกรดที่ทำลายอีนาเมลเคลือบฟันอีกต่างหาก ดังนั้นหากเราแปรงฟันทันทีหลังดื่มเครื่องดื่มอัดลม แทนที่จะช่วยให้ฟันสะอาด แต่กลับยิ่งเพิ่มโอกาสเกิดฟันผุมากขึ้นเสียอย่างนั้น เยลลี่รสเปรี้ยวเคลือบน้ำตาลของขบเคี้ยวราคาถูก สำหรับแก้ง่วงยามบ่ายนั้น ยิ่งเคี้ยวก็ยิ่งติดใจ แถมยังติดฟันมากขึ้น ใครทำความสะอาดไม่ดีพอ น้ำตาล และกรด ที่เป็นส่วนผสมก็พร้อมที่จะทำให้เราฟันผุได้ทุกเมื่อ อาหารที่ดูไม่มีพิษมีภัยอย่างขนมปังก็ใช่ย่อย เพราะเมื่อถูกเคี้ยวแล้ว เนื้อแป้งจะกลายเป็นน้ำตาลเหนียวหนึบ เกาะติดอยู่ที่ผิวฟัน จะให้ดีควรกินขนมปังโฮลวีตที่มีน้ำตาลน้อยดีกว่า มันฝรั่งทอดกรอบที่ให้รสสัมผัสกรุบกรอบที่ไม่อาจต้านทานได้ ทำให้เราเผลอตัวกินคนเดียวหมดถุงใหญ่ได้โดยไม่รู้ตัว แต่อย่าลืมว่ามันเต็มไปด้วยแป้ง ซึ่งจะย่อยสลายกลายเป็นคราบน้ำตาลติดอยู่ตามซอกฟันเช่นเดียวกัน ผลไม้แห้งก็ไม่ต่างกันนัก ในแง่ความเหนียวหนึบติดฟันได้ง่าย แถมยังมีการเคลือบด้วยน้ำตาลให้ความหวานเพิ่มเติมด้วย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีคุณค่าทางอาหารต่ำ แต่มีแคลอรี่สูง เมื่อดื่มไปสักพักจะทำให้ปากแห้ง เนื่องมาจากอาการผิดปกติของต่อมน้ำลายในปาก ที่ไม่สามารถผลิตน้ำลายได้ตามปกติ ทำให้เราไม่มีน้ำลายรักษาความชุ่มชื้นในช่องปาก ไม่มีตัวปกป้องไม่ให้มีเศษอาหารมาติดฟันอาหารและเครื่องดื่มที่เราคิดว่ากินนิดหน่อยคงไม่เป็นไรเหล่านี้แหละ ที่ส่งผลต่อสุขภาพฟันได้อย่างที่เราคาดไม่ถึง
แต่เชื่อว่าต่อให้เราจะรู้คุณรู้โทษของอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพแล้วก็ตาม สุดท้ายความอร่อยก็มักชนะทุกเหตุผลได้เสมอ สิ่งสำคัญคือ การรู้จักควบคุมปริมาณการกินที่เหมาะสมเพื่อสุขภาพกายที่แข็งแรงในระยะยาว ควบคู่ไปกับการทำความสะอาดฟันให้ถูกวิธีเป็นประจำทุกวัน เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับการกินกันไปอีกนานๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.businessinsider.com.au/evolutionary-reason-we-love-sugar-2014-4
https://www.livescience.com/2276-love-sweet-life.html
https://www.healthline.com/health/dental-and-oral-health/worst-foods-for-your-teeth
https://thaipublica.org/2018/01/varakorn-238/
https://jamesclear.com/junk-food-science