พูดได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า การท่องเที่ยวของไทยหลังจากพบเจอกับวิกฤตโควิด-19 เรียกว่าซบเซามากที่สุด ภาพของสถานที่ท่องเที่ยวที่เคยเต็มไปด้วยผู้คนกลับร้างราอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งการท่องเที่ยวกระแสหลัก และการท่องเที่ยวระดับชุมชนก็ประสบปัญหาไม่ต่างกัน
ขณะเดียวกันหากมองในแง่ดี นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ในการปรับเปลี่ยนและฟื้นฟูรูปแบบของการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวให้ไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นช่วงให้ได้พักหายใจ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า รูปแบบของธุรกิจการท่องเที่ยวที่เน้นแต่เรื่องของปริมาณและรายได้ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
The MATTER จึงอยากชวนไปพูดคุยกับ ดร. ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการแทนผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ในฐานะของหน่วยงาน ‘ต้นน้ำ’ กับแนวทางในการร่วมพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวของไทยให้ไปสู่ความยั่งยืน
มองภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วงนี้อย่างไร ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากน้อยขนาดไหน
ตอนนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เหมือนเหรียญ 2 ด้าน คือด้าน Demand side เป็นด้านที่ต้องทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวให้ได้มากที่สุด เป็นหน้าที่ของหน่วยงาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แต่ว่าอีกมุมหนึ่งคือด้าน Supply side ซึ่งต้องดูแลแหล่งท่องเที่ยว และให้รายได้กลับไปสู่ชุมชน ในภาพรวมของช่วงโควิด ฝั่งของ Demand side แทบจะเป็นศูนย์ แต่มุมที่สวยงามของโควิด ทำให้ผู้เล่นทางฝั่ง Supply side มีเวลามากขึ้นที่จะนั่งทบทวนตัวเองว่า ที่ผ่านมาได้ดูแลด้านกายภาพ คือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่างๆ รวมถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และด้านสิ่งที่มีชีวิต คือจิตวิญญาณของชุมชน ว่าได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวมากน้อยแค่ไหน เพราะคุณหมอบอกว่าโรคระบาดจะไม่มีวันหาย มันจะหลบซ่อนอยู่และเบาบางลง ทำให้หลังจากนี้ฉากทัศน์หรือ Scenario ใหม่ของการท่องเที่ยวจะไม่เหมือนเดิมแน่นอน นั่นหมายความว่า Mass tourism ที่แออัดยัดเยียดจะเริ่มน้อยลง เพราะว่าทุกคนพยายามที่จะเว้นระยะห่างกันและกัน แหล่งท่องเที่ยวที่มีคนพลุกพล่านก็จะต้องมีความระแวดระวังมากยิ่งขึ้น มีการวางเรื่องมาตรฐานสุขอนามัย เรื่องความปลอดภัยต่างๆ จะมีมากขึ้น
เมื่อเกิดผลกระทบเช่นนี้ ทาง อพท. ได้ปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินงานไปในรูปแบบไหน
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการทำงานของ อพท. เราเน้นเรื่อง Supply side มาก คือเราทำงานอยู่กับอัตลักษณ์ของชุมชนและจิตวิญญาณเป็นหลัก จะขายโปรแกรมท่องเที่ยวได้หรือไม่ได้ เราไม่สนใจเลย แต่ช่วงหลังๆ ก่อนจะเกิดโควิด เราเริ่มที่จะสนใจกระแส Demand side มากขึ้นว่านักท่องเที่ยวต้องการอะไร ชุมชนก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับตลาด ตามความต้องการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ประเด็นคือหลังจากนักท่องเที่ยวกลับมาแล้ว ต้องมีเรื่องของความปลอดภัยและสุขอนามัยต่างๆ ที่ฝั่งของ Supply side โดยเฉพาะชุมชนจะต้องปรับตัว ทาง อพท. ได้นำมาตรฐานที่ทุกคนยอมรับมาใช้ นั่นก็คือ Amazing Thailand Safety and Health Administration (SHA) ของ ททท. ที่ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข หรือการรับรองความปลอดภัยด้านสุขอนามัย 10 ประเภทด้วยกัน ตั้งแต่โรงแรมไปจนถึงแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร แม้กระทั่งรถขนส่งที่ใช้รับส่งนักท่องเที่ยว นั่นหมายความว่าชุมชนไหนที่ต้องการลุกขึ้นมาลืมตาอ้าปากได้ในเรื่องท่องเที่ยวหลังโควิด ควรจะต้องได้รับการรับรองเครื่องหมาย SHA เพราะเป็นการการันตีต่อนักท่องเที่ยวว่าเข้ามาเที่ยวได้ ไม่มีปัญหา เรื่อง Hygiene และเรื่อง Safety รวมถึงช่วยส่งเสริมเรื่องของภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นได้
อยากให้อธิบายบทบาทและหน้าที่การเป็นองค์กรต้นน้ำของ อพท.
เดิม อพท. เราอยู่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ว่าเมื่อปีที่แล้ว เราย้ายบ้านมาอยู่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การทำงานร่วมกันทำให้เกิดแนวคิดเรื่องของต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ คำว่า ต้นน้ำ หมายถึง อพท. ที่พัฒนาเรื่องของชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว แล้วส่งให้กรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหน่วยงานกลางน้ำรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวโดยชุมชน ก่อนจะส่งไปให้ปลายน้ำคือ ททท. ทำการตลาดเพื่อขาย เพราะฉะนั้นการเป็นองค์กรต้นน้ำจะต้องเปิดใจกว้าง แล้วมองเห็นความสัมพันธ์ของห่วงโซ่ ว่าทำไปแล้วสามารถขายได้ด้วย เพราะว่าคำว่ายั่งยืนไม่ใช่มิติแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือสังคมวัฒนธรรมอย่างเดียว มันต้องกินได้ด้วย ถ้าเกิดไปดูในญี่ปุ่นซึ่งเป็นต้นแบบของการท่องเที่ยวยั่งยืนประเทศหนึ่งของโลก เขาก็มีความพยายามที่จะปรับเข้าหานักท่องเที่ยว โดยไม่ได้สูญเสียอัตลักษณ์มากเกินไป
นิยามความยั่งยืนในแบบของ อพท. ต้องประกอบด้วยปัจจัยอะไรบ้าง
เรื่องความยั่งยืนมองได้ 4 มิติด้วยกันคือ เรื่องการจัดการ สังคมเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนจึงควรจะจบที่คำว่า นักท่องเที่ยวกับชุมชนหรือประชาชนในพื้นที่ Visitor กับ Visited จะต้องมีความสุขร่วมกัน ภาษาอังกฤษบอกว่า Sustainability should end with happiness. นี่คือนิยามความยั่งยืนในมุมมองของ อพท. ซึ่งถ้าเกิดชุมชนเต็มไปด้วยข้อห้าม นักท่องเที่ยวก็ไม่มีความสุข ในขณะเดียวกันถ้าเกิดนักท่องเที่ยวอยากทำตามใจตัวเอง แต่ชุมชนไม่แฮปปี้ มันก็ไม่ยั่งยืนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นชุมชนต้องมีรายได้และเรื่องของอัตลักษณ์ วิถีชีวิต ทรัพยากรทางด้านสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้ถูกทำลายไปด้วย
อะไรคือความท้าทายของการสร้างความสมดุล ระหว่างการสร้างรายได้กับการสร้างความยั่งยืน
ถ้าถามว่าจะหาจุดพอดีได้อย่างไร นี่คือโจทย์ท้าทายของหน่วยงานอย่าง อพท. เรานี่แหละที่จะต้องทำให้ได้ ซึ่งจะต่อเนื่องไปยังเรื่องของเครื่องมือในการทำงาน อพท. ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) เป็นเกณฑ์ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก จะมีทั้งหมด 4 มิติด้วยกัน มิติแรกเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งรวมถึงเรื่องความปลอดภัยนักท่องเที่ยว เรื่องของการจัดทำแผน มิติที่สองเป็นเรื่องของสังคมเศรษฐกิจ มิติที่สามเป็นเรื่องวัฒนธรรม และมิติที่สี่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เราจะนำเอา 4 มิตินี้ ทั้งหมด 41 ข้อ 105 ตัวชี้วัด ไปทาบกับทุกพื้นที่ที่เราลงไปทำงาน แล้วก็วัดผลออกมาเป็นระดับสี 4 สีด้วยกัน ซึ่งมีความเป็นวิทยาศาสตร์มาก
ในการนำเกณฑ์ไปใช้ ด้วยความที่เป็นหลักเกณฑ์สากล พอนำมาปรับกับความเป็นชุมชนพื้นที่ของไทย ต้องปรับเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน
จริงๆ แล้วหลักเกณฑ์มันเป็นเหมือนกับหลักเกณฑ์กว้างๆ เหมือนยาพาราเซตามอลเลย คือเอาไปใช้ได้ทุกๆ พื้นที่ เกณฑ์ GSTC ข้อดีอย่างหนึ่งคือเขาไม่ได้กำหนดเป้าหมายแน่นอนไว้ อย่างพอพูดถึงเรื่องขยะ ก็ให้พื้นที่ประชุมและตกลงกันเองว่าจะกำหนดที่เท่าไหร่ เพราะมันแล้วแต่ความพร้อมของแต่ละพื้นที่ เขาจะมีแต่เกณฑ์และแนวทางกลางๆ ว่าควรจะต้องทำอะไร ซึ่งตามเกณฑ์ สีแดงคือหนักที่สุด หลังจากนั้นก็ไล่ระดับมา สีชมพู สีเหลือง และสีเขียวคือดีที่สุด เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำคัญในบริบทของไทย อย่างเช่นที่เชียงคาน จังหวัดเลย ก็พบว่ามีปัญหาเรื่องของขยะที่เกิดจากนักท่องเที่ยว สถิตินักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวจังหวัดเลย ปีหนึ่งๆ จะมีถึง 2.5 – 3 ล้านคน แล้วส่วนใหญ่ก็จะค้างคืน พอเอาเกณฑ์ไปทาบ คือเป็นสีแดง ความเสี่ยงสูงมาก ทำให้มีการตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2565 หรืออีก 2 ปีกว่าๆ เชียงคานจะต้องลดขยะลงเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณขยะในปัจจุบัน เกณฑ์จึงจะขยับมาเป็นสีเขียว ตามหลักของ GSTC
อะไรคือความยากในการสร้างความเข้าใจกับผู้คนเจ้าของพื้นที่ ให้เข้าใจคำว่ายั่งยืนและพร้อมจะร่วมมือกัน
เราใช้ 2 ปัจจัยหลัก เหมือนกับเป็นเช็กลิสต์ง่ายๆ ปัจจัยที่หนึ่งคือเราจะถามความพร้อมของเขา ภาษาอังกฤษคือ Ready เพราะว่านี่คือการติดกระดุมเม็ดแรกเลย ปัจจัยที่ 2 คือ Willing คือเต็มใจหรือเปล่า เพราะบางชุมชนมีความพร้อมก็จริง ประเมินศักยภาพแล้วมีความพร้อมมาก แต่เขาไม่เต็มใจ หรือบางแห่งเต็มใจอยากจะทำท่องเที่ยวแต่ไม่มีความพร้อมก็มี จึงต้องไปเซ็ตเรื่องของโครงสร้างการตลาด การจัดการแผนอะไรต่างๆ ขึ้นมา ปลุกให้ชุมชนทำสื่อโซเชียลมีเดียเอง เป็นยูทูบเบอร์เอง คือเราไม่ต้องการให้คนอื่นเข้าไปสร้างคอนเทนต์ให้เขา เพราะมันไม่เกิดความจริงแท้ เช่นถ้าอยากจะไปเที่ยวสุโขทัยชุมชนเมืองเก่า ต้องได้ยินเสียงของคนสุโขทัยที่พูดเหน่อๆ มันถึงจะได้อรรถรส
อยากให้ยกตัวอย่างที่ อพท. เข้าไปร่วมมือกับชุมชนแล้วประสบความสำเร็จในการสร้างความยั่งยืน
ขอยกตัวอย่างสัก 2 แห่ง คือที่ เชียงคาน จังหวัดเลย และ ในเวียง จังหวัดน่าน ทั้ง 2 แห่ง มี Pain point เหมือนกัน คือที่เชียงคานจะมีความรู้สึกกึ่งๆ ต่อต้าน ไม่อยากจะรับนักท่องเที่ยว เพราะเป็นการสร้างปัญหา โดยเฉพาะในมิติสิ่งแวดล้อม ส่วนในเวียงเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ในเชิงของ Soft power เพราะว่านักท่องเที่ยวมักจะแสดงอากัปกิริยาที่ไม่เคารพต่อโบราณสถานหรือแหล่งท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรม ซึ่งคนน่านจะอ่อนไหวมากกับเรื่องนี้
โดยทั้ง 2 แห่งมีศักยภาพในการทำการท่องเที่ยวมาก เราก็ลองใช้เวลาพูดคุยประมาณ 3 – 4 ปี เสนอเครื่องมือที่อยากให้เขาได้ลองพิจารณาดู คือเรื่องของ GSTC นำมาแตกออกเป็นภาษาที่สื่อสารกับชุมชนได้ง่ายขึ้น เรียกว่าเกณฑ์ Community – Based Tourism (CBT Thailand) หรือเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน คือเป็นการให้ชุมชนร่วมแรงร่วมใจกัน งบประมาณแทบไม่ต้องใช้เลย มีการแบ่งหน้าที่กันทำงาน คนนี้เป็นเหรัญญิก คนนี้รับนักท่องเที่ยว คนนี้ดูเรื่องอาหาร คนนี้ดูเรื่องโลจิสติกส์ เรื่องของที่พักโฮมสเตย์ เรื่องของกิจกรรมการท่องเที่ยว หรือมัคคุเทศก์ เมื่อมีโครงสร้างแบบนี้ทำให้เขาเริ่มมีความรู้สึกว่า ทุกคนได้ลุกขึ้นมามีบทบาทในการจัดการการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง และ อพท. ก็ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการให้องค์ความรู้ จนกระทั่งเขามีความพร้อม
เมื่อ ‘ท่องเที่ยวโดยชุมชน’ ไปสู่ความยั่งยืนได้สำเร็จ จะส่งผลภาพรวมต่อธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างไร
เชียงคาน กับ ในเวียง ที่ยกตัวอย่างขึ้นมา ถือว่าเป็น Good practice story สาเหตุที่ต้องใช้คำภาษาอังกฤษ เพราะมันเชื่อมโยงกับเรื่องของการจัดอันดับ แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนสุดยอดของโลก Sustainable Destinations TOP 100 ที่จัดโดยองค์กรอิสระที่เรียกว่า Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้รับการรับรองจากสภาการท่องเที่ยวยั่งยืนโลก ซึ่งเกณฑ์ที่แหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งจะผ่านเข้าไปอยู่ใน TOP 100 ได้จะต้องครอบคลุมเรื่องของมิติสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ซึ่งเชียงคานกับในเวียงก็ได้ติดอันดับ TOP 100 ของโลก นี่เป็นครั้งแรกของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับเฉพาะจังหวัดเลยและจังหวัดน่านเท่านั้น แต่มันส่งผลถึงภาพรวมของประเทศไทยด้วย เพราะปีนี้ที่ติด TOP 100 ก็มีเกียวโตกับโอกินาวาของญี่ปุ่น เรียกว่าชื่อชั้นของเราเทียมบ่าเทียมไหล่กับสถานที่เหล่านี้ เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวระดับโลก แล้วเราก็ส่งแรงบันดาลใจจาก 2 เมืองนี้ ไปยังพื้นที่อื่นๆ ในประเทศเราได้อีกด้วย
แผนในอนาคตระยะสั้นและระยะยาวของ อพท. หลังจากนี้จะไปในทิศทางใด
ตอนนี้โจทย์ในระยะสั้น คือต้องผลักดันให้ชุมชนได้รับเครื่องหมาย SHA มากที่สุด รวมถึงเกณฑ์ CBT Thailand ตรงนี้ก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว ส่วนระยะกลาง อพท. มีหมุดหมายว่า เราจะส่งเมืองที่มีศักยภาพไปเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ในปี 2564 จะส่งน่านไปเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ในเรื่องของผ้าทอและเครื่องเงิน แล้วก็ส่งสุพรรณบุรีเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี เพราะสุพรรณบุรีเป็นเมืองที่เป็นแหล่งกำเนิดของครูเพลงเยอะมาก รวมถึงศิลปินร่วมสมัยอย่าง พี่ตูน บอดี้สแลม แล้วบรรยากาศโดยรวมของสุพรรณบุรีก็ส่งเสริมในเรื่องของดนตรีมากทีเดียว ส่วนในระยะยาว ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป เราจะนำเชียงคานและในเวียง ซึ่งได้ TOP 100 แล้วไปเข้าแท่นของ Green Destinations Foundation อีกครั้ง คราวนี้จะไม่ใช่อันดับแล้ว แต่จะเป็นรูปแบบรางวัลที่มีการแบ่งระดับ มาตรฐานเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนในยุโรปและเอเชีย
ทั้งนี้ เมื่อการทำงานสำเร็จตามแผนแล้ว เช่น พื้นที่ไหนได้รับรางวัลแล้ว หรือมีสิ่งที่ยืนยันแน่ๆ อพท. ก็จะถอยออกมา แล้วนำบุคลากรและเครื่องมือหมุนเวียนไปทำที่ใหม่ต่อไป