ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพอากาศคือปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการทำเกษตร แต่ด้วยสภาพอากาศทุกวันนี้ที่คาดเดาอะไรไม่ค่อยจะได้
เดี๋ยวแล้ง เดี๋ยวพายุเข้า ฝนทิ้งช่วงนาน ฝนตกไม่ค่อยจะตรงตามฤดู ขนาดคนเมืองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสภาพอากาศโดยตรง ยังมีกระทบต่อการใช้ชีวิต ไม่ต้องพูดถึงเกษตรกรที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจล้วนมีกระทบต่อการเพาะปลูกอย่างมาก ผลผลิตก็ไม่ออกผลตามเป้าหมาย ราคาก็ตกต่ำนอกจากจะส่งผลต่ออาชีพโดยตรงแล้ว ยังส่งผลระยะยาวไปถึงประเด็นความมั่นคงทางอาหารในอนาคตอีกด้วย
ในเมื่อไม่สามารถควบคุมปัจจัยทางธรรมชาติได้ ก็จำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมเข้ามาช่วย จนเกิดแนวคิดที่เรียกว่า Precision Agriculture (PA) เกษตรกรรมความแม่นยำสูงซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีอย่าง Big Data เข้ามาวิเคราะห์ และจัดการพื้นที่เพาะปลูกแบบละเอียด ช่วยแก้ปัญหาการคาดเดาอะไรไม่ได้จากธรรมชาติอย่างเช่น ‘ฟาร์มแม่นยำ’ แอปพลิเคชั่นที่สามารถพยากรณ์อากาศแบบเจาะจงพื้นที่ ช่วยให้วางแผนการเพาะปลูกได้อย่างแม่นยำสมชื่อ
รู้จริงเรื่องอากาศ
การทำเกษตรต้องพึ่งพาฟ้าฝนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่พึ่งสำคัญของเหล่าเกษตรกรคือการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ถึงแม้จะมีความแม่นยำ แต่ก็เป็นการพยากรณ์ในพื้นที่รวมๆ ในแต่ละภาค ไม่ได้เจาะจงเฉพาะพื้นที่ที่ทำการเกษตรอยู่ บวกกับทุกวันนี้ที่สภาพอากาศแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา เนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือภาวะโลกร้อนเองก็มีผล ความผิดปกติอย่างฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลหรือปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไป จึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของเกษตรกร
เพราะการทำเกษตรแปลงใหญ่ต้องพึ่งพาสภาพอากาศที่แน่นอนในการวางแผนเพาะปลูก วางแผนปลูกวันนี้ จะต้องเก็บเกี่ยวเมื่อไรให้ทันส่งขาย แต่เมื่อใดที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ ทำให้ผลผลิตไม่ออกผลตามที่วางแผนหรือคุณภาพไม่ได้ตามที่ต้องการ อย่างเช่นการปลูกข้าวโพดที่ต้องอาศัยปริมาณน้ำอย่างเหมาะสมตลอดการเพาะปลูก ถ้าช่วงไหนที่ฝนตกมากเกินไปก็อาจทำให้มีน้ำท่วมขังในแปลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือในช่วงที่ระยะเริ่มต้นของการสร้างเมล็ด ซึ่งเป็นช่วงที่พืชต้องการน้ำสูงสุด ถ้าขาดน้ำในช่วงนี้จะทำให้ผลิตลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
เทคโนโลยีพยากรณ์อากาศแบบเจาะจงพื้นที่ หนึ่งในฟีเจอร์หลักของแอปพลิเคชั่นฟาร์มแม่นยำ จึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี เพราะมีระบบตรวจสอบสภาพอากาศที่ใช้ข้อมูลแบบ Microclimate weather ร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศทั่วโลก พร้อมกับใช้แบบจำลองสภาพด้วยคอมพิวเตอร์ เพียงแค่เปิดแชร์โลเกชั่นพื้นที่ที่ทำการเกษตรผ่านแอป แล้วลากเส้นแปลงจากภาพถ่ายดาวเทียม ระบบจะตรวจสอบพื้นที่และรายงานสภาพอากาศบริเวณนั้นในรูปแบบของอินโฟกราฟิก ซึ่งมีความแม่นยำถึง 80% และที่สำคัญสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ถึง 7 วันแบบชัวร์ๆ ช่วยให้วางแผนได้ว่า ถ้าปลูกตอนนี้ จะใส่ปุ๋ยวันไหน หรือจะเก็บเกี่ยวเมื่อไร เรียกว่าหมดห่วงเลยทีเดียว
เห็นหมดทุกพื้นที่
ปัญหาอย่างหนึ่งของการทำเกษตรแปลงใหญ่ คือการไม่สามารถเข้าถึงการดูแลได้ทุกพื้นที่ การหว่านเมล็ดพันธุ์กระจุกตัวหรือกระจายเกินไป ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ เติบโตได้ไม่เท่ากัน รวมถึงการเฝ้าสังเกตสุขภาพของพืชทำได้อย่างไม่ทั่วถึง เพราะปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ไล่มาตั้งแต่ดิน น้ำ แสง อากาศ ล้วนมีความแตกต่างกันในแต่ละบริเวณกระทั่งในไร่เดียวกันเองก็ตาม เรียกว่ามีความละเอียดอ่อนอย่างมาก ซึ่งถ้าจัดการพื้นที่ได้ไม่ดีก็อาจส่งผลต่อมาตรฐานของผลผลิตทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณการจำหน่ายในอนาคต
จากสถิติในปี 2560 มีการใช้พื้นที่การเกษตรเพื่อการทำนามากถึง 69.9 ล้านไร่ รองลงมาเป็นพืชไร่และไม้ผลประเภทละกว่า 30 ล้านไร่ ซึ่งถ้าเฉลี่ยต่อเกษตรรายบุคคลก็ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มหาศาล วิธีการตรวจสอบดูแลผลผลิตระหว่างการเพาะปลูกแบบเดิมที่ใช้การเดินตรวจสอบด้วยตนเอง เรียกว่าเป็นงานหนักสำหรับเกษตรกรเลยทีเดียว
เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ คือการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม EU-Sentinel และ NASALandset หนึ่งในฟีเจอร์ที่อยู่ในแอปพลิเคชั่นฟาร์มแม่นยำเกษตรกรจะทราบถึงความผิดปกติ และปัญหาของสุขภาพพืชในพื้นที่การเกษตรของตนเอง โดยรายงานให้เห็นเป็นภาพจากมุมบน พร้อมดัชนีการเติบโตของพืชได้อย่างละเอียด ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงโตเต็มที่ ช่วยให้เกษตรกรสามารถดูแลผลผลิตได้อย่างทั่วถึง ไม่ต้องทนตากแดดลงพื้นที่อีกต่อไป
ทั้งหมดนี้ คือเทคโนโลยีที่อยู่ในแอปพลิเคชั่น ‘ฟาร์มแม่นยำ’ ที่เกิดจากความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกันระหว่าง ดีแทค , Ricult สตาร์ทอัพในโครงการ dtac accelerate และมูลนิธิสำนักรักบ้านเกิด ซึ่งเป็นหนึ่งความพยายามของดีแทคในการนำเทคโนโลยีมาช่วยพลิกภาพจำของการเกษตรแบบเดิมๆ สู่การเกษตรสมัยใหม่และเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมเกษตรของไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.agriinfo.doae.go.th/year60/general/land/land60.pdf
https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=5580