หลายครั้ง ‘วิทยาศาสตร์’ ถูกมองว่าเป็น ‘ยาขม’ สำหรับเด็กไทย
แต่สำหรับ นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้เขียนและผู้แปลหนังสือสายวิทย์ฯ หลากหลายเล่ม กลับมองว่า นี่เป็นความ ‘ผิดพลาด’ ของการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ไทย
“สาเหตุหลักๆ คือ เรามีการเรียนการสอนที่ผิดวิธี ซึ่งคอขวดมันไปอยู่ที่ปลายทางเลย คือข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเน้นการท่องจำมากไป และไม่ค่อยเปลี่ยน ก็คือสู้กันว่าใครจำได้มากกว่า” เขาว่า
ในทัศนะของนำชัย วิทยาศาสตร์ควรจะสนุก ควรสร้างเด็กให้ชอบสงสัย มีความคิดสร้างสรรค์ โดยไม่จำเป็นต้องท่องจำ และเป็นการสร้างอุปนิสัยทางวิทยาศาสตร์ของการตั้งคำถามให้ติดตัวไปทั้งชีวิต
ที่ผ่านมา เขามองว่า ห้องเรียนวิทย์ฯ ไม่ได้สอนนักเรียนไทยให้คุ้นเคยกับกระบวนการวิทยาศาสตร์ (scientific method) ที่มีการอธิบายและหาคำตอบอย่างเป็นธรรมชาติ หากแต่เน้นการท่องจำความรู้วิทยาศาสตร์ (scientific knowledge) ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นในเรื่องนี้ได้ดีก็คือปรากฏการณ์ ‘แล็บแห้ง’ ที่เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำแล็บแค่ในหนังสือ แต่ไม่ได้ลงมือทำจริง
และท้ายที่สุด ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเรียนการสอนที่มาผิดทางจะทำให้เด็กท่องจำจนเหนื่อยล้า ถึงที่สุดก็เบือนหน้าหนีวิทยาศาสตร์หรือกระทั่งการเรียนรู้ทั้งหมดไป
แล้วห้องเรียนวิทย์ฯ ไทย ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? The MATTER ชวนหาคำตอบไปพร้อมนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง – นำชัย ชีววิวรรธน์
การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สำคัญอย่างไรในไทย
อย่างที่เรารู้ว่า วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี สำคัญมาก เพราะโลกสมัยใหม่เคลื่อนไปด้วยนวัตกรรม พื้นฐานของนวัตกรรมก็คือความรู้ด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี
เวลาเราพูดถึงการเรียนการสอนแบบ STEM (การสอนแบบบูรณาการข้ามกลุ่มสาระวิชา) ถ้าไปดูรากของมันจริงๆ สหรัฐฯ ในช่วงที่กำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่ปี 2000 เขาทำแผนล่วงหน้าหลายปีมาก เขาพยายามจะหาว่า เขาจะจัดหลักสูตรยังไงที่จะทำให้ประเทศยังมีโมเมนตัมที่จะขับเคลื่อนประเทศให้โตขึ้นได้ เขาก็พบว่า งานซึ่งทรงอิทธิพลมาก ก็คืองานใน 4 ด้านของ STEM นี่แหละ – วิทยาศาสตร์ (S – science) เทคโนโลยี (T – technology) วิศวกรรมศาสตร์ (E – engineering) และคณิตศาสตร์ (M – mathematics)
หลักสูตรเขาจึงพยายามสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านนี้ เพราะเชื่อว่าความรู้ด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีสามารถทำให้เกิดนวัตกรรมได้
ด้านอื่นไม่ใช่ไม่สำคัญ หลังๆ มีคนพยายามบอกว่า STEM ไม่พอ ควรจะเป็น STEAM ต้องมีศิลปะ (A – art) แทรกอยู่ เขาก็บอกว่ามีความสำคัญแหละ แต่ถ้าอยากให้มีอิมแพ็กต์เชิงเศรษฐศาสตร์ต่อไป ก็ต้องดันเรื่อง STEM
อันนี้พูดในสเกลระดับโลก ซึ่งมันตั้งต้นจากที่สหรัฐฯ ที่เห็นความสำคัญ ส่วนในประเทศไทยก็ไม่ได้ต่างกัน หากเราไม่อยากจะเป็นแค่ผู้ใช้ (user) เช่น ใครทำอะไรเราก็ซื้อใช้งาน แต่เมื่อไรที่อยากเป็นคนคิดและขายบ้าง ประเทศไทยก็ต้องลงทุนด้านนี้ ฉะนั้นจะทำแบบนี้ได้ ก็ต้องให้ความสำคัญ ต้องสร้างคนที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมา
จริงหรือเปล่าที่การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ไทยเน้นท่องจำเป็นหลัก
จริงครับ วิทยาศาสตร์บ้านเราท่องจำเยอะ และนับวันมันจะยิ่งแย่ ผมไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไรกันแน่นะ แต่เหมือนเรากำลังพยายามยัดเนื้อหามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เนื้อหาที่ผมเรียนสมัยอยู่ ม.ปลาย ตอนนี้ไหลลงไปอยู่ ม.ต้น แล้ว บางทีก็มานั่งนึกว่า มันจำเป็นขนาดนั้นจริงๆ หรือเปล่า
หายคนอาจจะเคยได้ยิน บ้านเราจำนวนชั่วโมงเรียนสูงมาก ยิ่งถ้าไปนับชั่วโมงที่ต้องไปติวในวันหยุดด้วย ติดอันดับโลกแน่นอน แต่พอวัดผลสัมฤทธิ์ เช่น ข้อสอบ PISA ซึ่งเขาวัดความรู้ความเข้าใจ เรากลับทำคะแนนได้ไม่ดี
สาเหตุหลักๆ ก็คือ เรามีการเรียนการสอนที่ผิดวิธี ซึ่งคอขวดมันไปอยู่ที่ปลายทางเลยก็คือว่า ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเน้นการท่องจำมากไป และมันไม่ค่อยเปลี่ยน ก็คือยังสู้กันว่าใครจำได้มากกว่า
นอกจากปัญหาเรื่องการท่องจำเป็นหลัก ยังมีปัญหาอื่นอีกไหมในการเรียนวิทยาศาสตร์ในไทย
มีครับ เวลาเรียนแบบท่องจำมากๆ คอขวดจะเต็มไปหมดเลย และจะมีปัญหาตามมาเยอะแยะ
ข้อที่หนึ่ง ท่องจำมากๆ ก็เหนื่อย ลองนึกภาพเด็ก วันๆ ต้องท่องอะไรเยอะแยะไปหมดเลย ก็จะเกิดอาการล้า และถ้าไปเจอครูที่สอนไม่เก่ง ก็ไปกันใหญ่เลย เด็กไม่รู้สึกสนุกที่จะเรียน ในขณะที่สิ่งรอบตัวมันมีอะไรที่สนุก ชวนให้ทำเยอะไปหมด เรามีเกมซึ่งน่าเล่นมาก เรามีรายการทีวีที่น่าสนใจมาก
ฉะนั้น ถ้าการเรียนมันไม่สนุก มันยาก มันเยอะ ถามว่าทำไมเด็กต้องสนใจ แล้วยิ่งเขาไม่สามารถเชื่อมโยงได้ เรียนไปแล้วก็ไม่รู้ว่าเอามาใช้อะไร อันนี้เป็นคำถามที่ได้ยินบ่อยมาก คือ เรียนไปทำไม ก็จะมีคนบ่นว่าเรียนไปทำไม แล้วก็พูดถึงชื่อคนนั้นคนนี้ขึ้นมา เช่น พูดถึงชื่อ ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton) พูดถึงชื่อใครต่อใครว่า พวกนี้มันเกิดมาทำให้เราลำบาก แต่ความเป็นจริงก็คือว่า ถ้าไม่มีคนพวกนี้ โลกมันเจริญไม่ได้ จะพัฒนาแบบนี้ไม่ได้
ฉะนั้น ปัญหาจริงๆ อยู่ที่เราเรียน เราสอน เราวางตัวหลักสูตร วิธีการวัดผลต่างๆ ไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้ควรจะปรับ
อาจารย์มองว่า การศึกษาไทยควรเน้น ‘กระบวนการวิทยาศาสตร์’ มากกว่าท่องจำ ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยได้ไหมว่า กระบวนการวิทยาศาสตร์คืออะไร
กระบวนการวิทยาศาสตร์มันง่ายมากเลยนะ มันมีธรรมชาติของกระบวนการ ที่มันไหล มันหมุน ที่เป็นธรรมชาติมากๆ
คนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์เขาเริ่มจากอะไร? เขาเริ่มจากสังเกต เห็นอะไรก็ตามแล้วสงสัย ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น พอสงสัยปุ๊บ ก็ตั้งสมมติฐานว่า เป็นไปได้ไหมว่าสาเหตุมันเป็นเพราะแบบนี้ และพยายามอธิบาย ซึ่งการอธิบายก็กลับมาที่การสังเกต บางครั้งก็ต้องทดลอง และในที่สุดถ้าทำการทดลองรัดกุม ถูกต้อง ได้ผลการทดลองที่ถูกต้อง ตีความถูกต้อง เขาก็จะได้ความรู้มาชุดหนึ่ง และความรู้มันไม่ได้หยุดแค่ตรงนั้น
วิทยาศาสตร์เป็นการต่อจิ๊กซอว์ แต่เป็นภาพที่ใหญ่โตมโหฬารมาก เป็นภาพระดับโลก ระดับจักรวาล ถ้าเรารู้ความรู้เล็กๆ นิดหนึ่ง มันก็จะต่อกันไปเรื่อยๆ
ฉะนั้น การรู้ขึ้นมานิดหนึ่ง ก็จะทำให้เราเข้าใจโลก เข้าใจจักรวาลมากขึ้น และนี่เป็นพื้นฐานของ วิทยาศาสตร์เลยว่า กระบวนการแบบนี้มันจะหมุนไป เกิดคำถาม ตั้งสมมติฐาน พยายามตอบ ต้องทดลอง ทดลองแล้วได้ข้อสรุป พอได้ข้อสรุปปุ๊บ ก็จำเอาไว้เผยแพร่ต่อไป และถ้ามีโอกาสก็เชื่อมต่อขยายออกไปอีก
มันก็หมุนเป็นอย่างนี้ เกิดคำถามใหม่ ก็ดูว่ามันเกี่ยวอะไรกับอันเก่าหรือเปล่า ในวิทยาศาสตร์มันขัดกันไม่ได้ ทุกอย่างที่ฟิสิกส์ เคมี ชีวฯ บอก มันสอดคล้องกันหมดเป็นเนื้อเดียวกัน ฉะนั้นวิทยาศาสตร์จะเป็นวิชาความรู้ที่ประหลาดมากนะ ถ้าเจออะไรที่ขัดกับความรู้ที่มีอยู่แล้ว เราจะตั้งสติทันทีเลยนะว่า เอ๊ะ อันใหม่ มันถูกหรือเปล่า อันเก่ามันผิดอยู่หรือเปล่า และถ้าอันใหม่ถูก ก็ต้องกลับไปแก้อันเก่า
ซึ่งกระบวนการที่เป็นธรรมชาติแบบนี้จะทำให้เด็กนักเรียนเข้าใจวิทยาศาสตร์ได้ดีขึ้น?
ใช่ คือพอกระบวนการมันเป็นธรรมชาติแบบนี้ ถ้าเราจะสอนให้เด็กเข้าใจความเป็นวิทยาศาสตร์ มันก็ต้องเริ่มจากการสังเกตุ เริ่มจากการทดลอง ถูกไหม
แต่น่าเสียดายที่ในห้องเรียนทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ทั้งการเรียนในระดับเด็กเล็ก ด้วยสาเหตุต่างๆ นานาอย่างเช่น ไม่มีเงิน ไม่มีครูเฉพาะที่เก่งด้านวิทยาศาสตร์ก็จะมีปรากฏการณ์ ‘แล็บแห้ง’ เคยได้ยินไหม แล็บแห้งคือมีการทดลองที่เขียนไว้ในหนังสือ หนังสือแบบเรียนสำหรับเด็กอาจจะไม่ได้บอกว่าทดลองแล้วผลลัพธ์เป็นยังไง แต่หนังสือสำหรับครูจะบอกว่าผลมันเป็นยังไง พอมาถึงห้อง ครูก็บอกว่า การทดลองมันเป็นอย่างนี้นะ และการทดลองของเธอก็ได้ผลอย่างนี้นะ ซึ่งวิธีแบบนี้ไม่ดีเลย
เพราะในวงการการศึกษา เขารู้กันดีว่า วิธีทำให้เด็กจำได้มีสเต็ปของมันอยู่ ถ้าคุณพูดให้เด็กฟัง ถ้าคุณให้เด็กอ่าน ต่อให้เด็กเก่งจำมากแค่ไหนก็ตาม แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะจำได้ประมาณไม่ถึง 20% ถ้าเด็กไม่ทำอะไร นั่งนิ่งๆ ฟัง ซึ่งหลายห้องหลายโรงเรียนเป็นอย่างนั้น เพราะครูจะบังคับให้นั่งนิ่งๆ ฟัง มันจะมีประสิทธิภาพต่ำมาก เพราะเด็กจำได้ไม่เกิน 20%
แต่ถ้าครูเล่าเรื่องการทดลอง แล้วให้เด็กอภิปราย (discuss) ซึ่งเวลาจะอภิปราย หรือจะเถียงกันได้นั้น เด็กก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจประมาณหนึ่ง เปอร์เซ็นต์ความรู้ความเข้าใจและการจดจำจะกระโดดขึ้นไปอีกเท่าตัว จากไม่ถึง 20% กลายเป็นเป็นประมาณ 40% แต่ในทางกลับกัน จาก 40% ถ้าเด็กมีโอกาสได้ทดลองด้วยตัวเอง ปรากฏผลผ่านการทดลองการเรียนรู้การจดจำจะขึ้นไปถึง 75-80% นั่นแปลว่าผลลัพธ์ดีขึ้นไปอีกเท่าหนึ่ง จากเดิมที่ฟังและอภิปรายจากแล็บแห้ง
ฉะนั้น ควรจะกลับมาเรียนสอนกันในลักษณะตามธรรมชาติ เหมือนที่นักวิทยาศาสตร์ในอดีตทำ อันนี้เป็นส่วนสำคัญเลย พอนักเรียนเราไม่ได้ฝึกมาแบบนี้ สิ่งที่เจอบ่อยก็คือว่า พอถึงจุดหนึ่ง พอเริ่มได้ทดลอง เข้าระดับมหาวิทยาลัย ระดับบัณฑิตวิทยาลัย เรียนสูงขึ้นไป ปรากฏว่า พอได้ผลไม่ตรงตามทฤษฎี ก็พยายามเปลี่ยนผลให้ตรงกับทฤษฎี อันนี้เป็นข้อต้องห้ามเลย
ในภาพกว้างปัญหาของการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้น ส่งผลกับสังคมอย่างไรบ้าง
ส่งผลหลายอย่างเลย คือถ้าเรียนไม่เข้าใจ เรียนแล้วไม่สนุก เด็กก็ไม่อยากเรียน อันนี้ตรงไปตรงมา เบื้องต้นเลย แต่ปลายทางที่ตามมาคือ พอเด็กไม่อยากเรียน ก็จะไม่มีความรู้ ในขณะที่วิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่จำเป็นกับชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างน้อยที่สุด จบ ม.ปลาย ควรมีพื้นฐานความรู้ รู้จักคำศัพท์วิทยาศาสตร์มากประมาณหนึ่ง ถามว่าประมาณไหน ประมาณพอที่จะอ่านและฟังใครโม้ แล้วเราสามารถบอกได้ว่านี่เป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงได้
ยกตัวอย่างมีคนมาขายสินค้าคอลลาเจนขวดละ 2,000 บาท ถ้าเรียนวิทยาศาสตร์ มีพื้นฐานพอ คุณต้องรู้ว่าคอลลาเจนคืออะไร คุณต้องหาข้อมูลเป็น รู้ว่าคุณจะหาคอลลาเจนได้จากไหน แล้วบอกตัวเองได้ว่ามันจำเป็นหรือเปล่าที่ต้องซื้อด้วยราคาแพงขนาดนั้น นี่คือความจำเป็นของวิทยาศาสตร์
ทีนี้ถ้าเบื่อวิทยาศาสตร์เสียแล้ว ไม่อยากเข้าใจเสียแล้ว จำอะไรไม่ได้เสียแล้ว คุณตอบอะไรพวกนี้ไม่ได้เลย และเวลาหาความรู้ก็เป็นปัญหาอีก เพราะพอค้นข้อมูลแล้วไปเจอข้อมูลเท็จ ก็บอกไม่ได้อีกว่าเป็นข้อมูลปลอมเชื่อไม่ได้ ฉะนั้นพวกนี้สำคัญมาก
สุดท้ายวิทยาศาสตร์ ถ้ารวมเรื่องของตรรกศาสตร์เข้าไปด้วย มันเหมือนกับมีเบรกให้ชีวิต เวลาเราโดนหลอก ที่เขามักจะใช้กลไกแบบหนึ่งเพื่อให้เราตัดสินใจโดยไม่ทันคิดอะไรมากมาย ทีนี้ถ้าเราเรียนตรรกศาสตร์ เรียนหลักเหตุผล เรียนวิทยาศาสตร์มากพอ บางอย่างเราจะเริ่มคิด เวลาเจออะไรที่จู่โจมไม่ทันรู้ตัวก็เป็นเบรกสำหรับเราในชีวิต ให้เราไม่ต้องโชคร้ายหมดเนื้อหมดตัวหรือเสียเงินโดยไม่จำเป็น
อีกปัญหาที่พูดกันเยอะในช่วงที่ผ่านมาคือ ค่านิยมคนเรียนแพทย์มากกว่า เรียนวิทยาศาสตร์ อาจารย์มองว่าการสอนที่เป็นปัญหาส่งผลถึงค่านิยมนี้ด้วยหรือเปล่า
เรื่องค่านิยมในสังคมเป็นมาตลอดนะ ตั้งแต่ผมเด็กๆ และผมเชื่อว่าก่อนหน้าผมก็เป็น เพราะอาจารย์ผมหลายท่านซึ่งเก่งมากๆ ได้รางวัลนักวิทย์ฯ ดีเด่น สมัยเรียนก็เรียนอยู่ในคณะเตรียมแพทย์ แต่ก็โดนสเกาต์โดนดึงตัวมาว่า เธอเก่งขนาดนี้ เธอมาเรียนวิทยาศาสตร์แล้วมาช่วยปูรากฐานวิทยาศาสตร์ของประเทศจะดีกว่ามากเลย แล้วอาจารย์เขาก็มากัน นี่คือรุ่นอาจารย์ผม ตอนนี้อายุ 70-80 ปี นั่นแปลว่าค่านิยมแบบนี้มีมานานแล้ว
จริงๆ หมอก็ได้รับการยอมรับในสังคมมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ทั้ง หมอ ครู และตำรวจ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ถือเป็นอาชีพที่เป็นหน้าเป็นตา นอกจากนั้นหมอรายได้ดีมาก นับวันก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ
ฉะนั้นสาเหตุไม่ได้เป็นเรื่องค่านิยม 100% มองว่ารายได้ก็มีส่วน ซึ่งค่าแรงเริ่มงานระหว่าง 2 สาย แค่เริ่มก็ต่างกันแล้ว และนับวันจะต่างมากขึ้นไปอีก
วิทยาศาสตร์ในไทย ค่าแรงน้อยกว่าคุณค่าจริงๆ
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ผมเรียนจบจากญี่ปุ่น อาจารย์ชวนทำวิจัยหลังปริญญาเอก (postdoc) ต่อ แต่ผมรับทุนอยู่ ผมก็ต้องกลับ กลับมาถึงเมืองไทยปุ๊บ เงินเดือนห่างกันทันที 3 เท่า จากอยู่ต่างประเทศได้เงินเดือน 100,000 กว่าบาท แต่ตอนที่ผมกลับมาเมืองไทยประมาณช่วงปี 2000 ในช่วงนั้นค่าแรงถือว่ากลางๆ หรือค่อนข้างเยอะแล้วนะ ผมได้เงินเดือน 30,000 บาทสำหรับปริญญาเอก แต่หากเทียบค่าแรงกับต่างประเทศก็ถือว่าแย่กว่ามาก
นี่คือตั้งต้นนะ แล้วถ้าอยู่นานไปเรื่อยๆ อัตราเร่งของการเพิ่มเงินเดือนของเขาก็เยอะกว่าของเราอีก คุณลองนึกภาพ ได้เดือนละ 100,000 บาท ที่นู่นคุณทำงาน 10 ปี เทียบเท่าทำงานอยู่เมืองไทย 30 ปี แต่เรตเงินเดือนเขาไม่ได้นิ่งไง แป๊บๆ เดี๋ยวก็กลายเป็น 200,000 บาท ซึ่งหากอยู่ที่นู่นทำงานแค่ 10 ปี หากคุณเก็บเงิน ไม่สุรุ่ยสุร่ายก็สามารถเกษียณได้เลย
โดยหลักๆ แล้วคำตอบของผมคือ ค่านิยมก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีผล แต่ว่าโครงสร้างสังคม โครงสร้างของอัตราการจ้างงานก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไปของสังคมยากขึ้น ซึ่งจะดึงให้คนเก่งๆ มาเข้าวงการก็ยาก
ผมพูดแฟร์ๆ นะ ถ้าคุณเก่งมาก คุณไบรท์ขนาดตีพิมพ์ระดับโลกได้ ผมเฉยๆ ที่จะต้องให้คุณกลับมาเมืองไทย ผมไม่คิดว่าคุณต้องกลับด้วย และผมคิดว่า เผลอๆ คุณทำงานอยู่ในแล็บของประเทศอื่น อย่างในอเมริกา ในยุโรป คุณเป็นทัพหลังหนุนคนที่ประเทศไทยอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ
ยกตัวอย่างเช่น คุณเรียนรุ่นเดียวกับผม คุณจบแล้ว คุณอยู่ยุโรป และคุณมีแล็บของตัวเอง ผมก็ส่งเด็กปริญญาเอกผมไปอยู่กับคุณ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี อะไรอย่างนี้ยังอาจจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติมากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะกลับมาทำวิจัยที่ประเทศไทย คุณโดนระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของ ราชการเข้าไปก็ตายแล้ว คือถ้าคุณอยู่ต่างประเทศ คุณทำเสร็จใน 1 ปี แต่พอมาเจอระเบียบจัดซื้อจัดจ้างในเมืองไทย คุณอาจจะทำเสร็จใน 2-3 ปี ซึ่งมันไม่ทัน งานระดับโลกมันแข่งกันจะเป็นจะตาย บางเปเปอร์แข่งกันระดับเดือนหรือสัปดาห์ หรือใครเร็วกว่ากันแค่นั้นเอง ซึ่งมันหมายถึงการจะได้เป็นเจ้าของไอเดีย ที่จะสร้างมูลค่ามหาศาล
ฉะนั้น เราแข่งได้แค่ในมุมแคบๆ แต่แข่งในสนามใหญ่ๆ ลำบาก
ทั้งหมดนี้ ถ้ามองไปข้างหน้า อาจารย์มองว่าอะไรคือทางออกของปัญหา
ผมเปรียบเทียบอย่างนี้นะ ประเด็นที่ผมจุดขึ้นมามี 2 อย่าง หนึ่งคือการเรียนเราเน้นที่เนื้อหาท่องจำมากไป ในขณะที่ลงมือทำน้อย วิทยาศาสตร์ประกอบด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์อย่างที่ผมเล่ามาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น สังเกต ทดลอง สรุปผล นี่คือกระบวนการวิทยาศาสตร์ (scientific method) กับอีกส่วนหนึ่งเป็นความรู้วิทยาศาสตร์ (scientific knowledge) กระบวนการอันแรกมันผลิตความรู้ออกมา บ้านเราวนอยู่กับ scientific knowledge ความรู้ที่ออกมา แล้วก็ท่องกันตะพึดตะพือเลย
ปัญหามันอยู่ที่เราให้ความสำคัญผิดจุด เด็กไม่มีนิสัยของ scientific method อยู่ในหัว ไม่มีการตั้งข้อสงสัย ไม่มี ฉะนั้นมันขยับยาก เพราะในระดับโลกตอนนี้เขาแข่งกันด้วยความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการที่เราเรียนกันสอนกันอยู่ในโรงเรียนไม่ได้เอื้ออำนวยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
ผมจะใช้คำว่าเราสอนเหมือนสอนไสยศาสตร์ เหมือนสอนพระคัมภีร์ คือสอนกันแบบเนื้อหาไม่ผิด ถูกเสมอ ซึ่งไม่จริง วิทยาศาสตร์ต้องบอกตัวเองเสมอว่า ที่เรียนกันอยู่ พรุ่งนี้อาจจะเปลี่ยนก็ได้ มะรืนนี้อาจจะเปลี่ยนก็ได้ ข้อมูลมันขยับไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา เป็นเพราะเราฉลาดขึ้นนะ ไม่ใช่เป็นเพราะเราแย่
และในวิทยาศาสตร์ ความที่มันขยับได้ มันเปลี่ยนให้ถูกต้องมากขึ้น นี่เป็นกลไกสำคัญที่ระบบแบบอื่นไม่มี เขาเรียกว่าเป็น ‘self-correction’ ถ้าเจออะไรที่มันไม่ตรงกัน ก็ต้องพยายามพิสูจน์ให้ได้ว่าแบบไหนถูกกว่า และทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันจะเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ เข้าใกล้สัจธรรม วิทยาศาสตร์พยามจะเข้าใจสัจธรรม เข้าใจความเป็นไปของโลก จักรวาล และชีวิต ว่าจริงๆ แล้วมันต้องเป็นยังไง มีขอบเขตจำกัดแค่ไหน ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นถ้าอยากจะเปลี่ยน มันจะมีส่วนที่ต้องทำเยอะมาก ถ้าในระดับปฏิบัติการก็คือ คุณต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน ต้องไปขยับตัวหลักสูตร ให้มีลักษณะเน้นการทดลองมากขึ้น ต้องลองลงไปดูในรายละเอียด
ขยายความได้ไหมว่า มีอะไรบ้างในระดับปฏิบัติการที่ต้องเปลี่ยน
ผมบอกได้เลย หลายอย่างในระบบตอนนี้เป็นอะไรที่เกินความจำเป็น ผมพูดแล้วอาจจะมีคนไม่ชอบก็ได้ ผมยกตัวอย่าง ระบบประกันคุณภาพ ทำมาหลายปีแล้ว ผลมันก็ชัดนะ การเรียนการสอนไม่ได้ดีขึ้น เด็กไม่ได้เก่งขึ้น เด็กไม่ได้มีความสุขขึ้น แต่คุณทำระบบมาแล้ว คุณก็บอกว่ามันประกัน แต่ผลคืออย่างที่เห็น คะแนนแย่ลงเรื่อยๆ
ถ้าอยากเอาเงินมาทำแล็บมากขึ้น ก็ต้องตัดเรื่องระบบประกันคุณภาพทิ้งไปทั้งหมด ครูได้เวลาคืนมา ครูไม่ต้องมากรอกแบบฟอร์มมากมาย ระบบประกันคุณภาพมันบอกแค่ว่า ครูคนไหนกรอกเก่งกว่าใคร สิ่งนี้ไม่มีประโยชน์ แล้วใครได้ประโยชน์จริงๆ จากระบบประกันคุณภาพ คุณลองไปนึกดูดีๆ เด็กก็ไม่ได้ ครูก็ไม่ได้ แล้วใครได้ประโยชน์ ฉะนั้นเป็นไปได้ก็เลิกเถอะ
แต่ในเชิงปฏิบัติที่เป็นคอขวดสำคัญที่สุด ซึ่งต้องอาศัยคนฉลาดมาช่วยคิดก็คือ ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยทำยังไงให้มันดีกว่านี้ ข้อสอบตอนนี้เน้นความจำเยอะมากเลย มันไม่ได้เน้นความเข้าใจ แต่แน่นอนมันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีคนบอกว่าข้อสอบ A-Level ปัจจุบันก็ดีขึ้น ก็มีการวัดความเข้าใจ
พวกนี้มันจะยากขึ้น มันต้องใช้ความคิดวิเคราะห์มากขึ้น แต่มันเหมาะสมกับโลกปัจจุบันมากกว่า เพราะสำหรับความจำ เดี๋ยวนี้เรามีสมองที่ 2 ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี เราเอาสมองไปฝากไว้กับ Google แต่ตอนนี้ ChatGPT อัลกอริทึมมันเขียนแบบคนคุยกันแล้ว คราวนี้เราก็ถามได้ เหมือนถามเพื่อน ถามครูเลย ฉะนั้นรายละเอียดข้อมูลเล็กๆ ยิบย่อย เลิกท่องได้แล้ว ไม่ต้องจดจำได้แล้ว
ในห้องเรียน การทำข้อสอบไม่ควรมีข้อจำกัดเรื่องตัวช่วย ผมยกตัวอย่างเครื่องคิดเลข ควรจะเอาเข้าได้แล้ว เราไม่ควรมีโจทย์ที่ต้องให้เด็กยากลำบากคิดเลข เพราะในชีวิตจริง มันยกเครื่องคิดเลขขึ้นมาคิดได้ตลอดเวลา เอามือถือขึ้นมาจิ้มได้
ตารางธาตุออกแบบมาเพื่อไม่ให้คนต้องท่อง ให้เข้าใจธาตุเป็นกลุ่มๆ เข้าใจลักษณะ แต่พอมาถึงห้องเรียนไทย เราท่องว่าตัวไหนอยู่ในตารางตรงไหน ฉะนั้นเราเกือบจะถูกนะ แต่มันไม่ถูก เราไม่ได้เข้าใจลักษณะของธาตุตามกลุ่มคาแรกเตอร์ของมัน ฉะนั้นข้อสอบที่เกี่ยวกับตารางธาตุ ควรจะเอาตารางธาตุเข้าไปได้ อาจารย์ควรจะออกข้อสอบซึ่งมันต้องใช้ความเข้าใจมากกว่าการจำตารางธาตุเข้าไป
มีอีกหลายๆ ตัวอย่าง เราไม่จำเป็นต้องทดสอบความจำแบบนั้นกันอีกแล้ว แต่เราควรจะทดสอบความเข้าใจ และความคิดสร้างสรรค์
ในระดับบริหารก็เหมือนกัน การจะเปลี่ยนให้มีทิศทางนั้นๆ คุณต้องการนโยบาย ตั้งแต่รัฐบาล รัฐมนตรี ลงมาจนถึงคนในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะต้องดูแลงานต่อไปยาวๆ แต่การเปลี่ยนแปลงแบบนี้ใช้เวลา ผมบอกเลยกว่าจะเห็นผลอาจจะสัก 10 ปี
ถึงที่สุดแล้ว ผมยกตัวอย่างเชิงเปรียบเทียบดังนี้ เวลาผมพูดให้เปลี่ยนการเรียนการสอน ผมพูดถึงคนส่วนใหญ่ จะให้เห็นภาพอย่างนี้ เวลาเรียนในโรงเรียน ครูสอนพละ ไม่ว่าจะพละแบบไหนก็ตาม จะสอนวิ่ง สอนปิงปอง สอนแบดมินตัน เคยรู้สึกไหมว่า ครูหวังให้เด็กทุกคนไปโอลิมปิก? เราไม่รู้สึกแบบนั้นเลยนะ ครูสอนเพื่อให้เด็กเล่นเป็น เข้าใจกติกา และพอเล่นได้ ทุกคนก็รู้สึกว่าเอนจอย แล้วก็เล่นให้ผ่านไป ให้ไม่สอบตก พยายามทำให้ดีที่สุด
เวลาเอาสติปัญญาคนมาพล็อต มันจะเป็นรูประฆัง คนส่วนใหญ่ประมาณ 60-70% จะอยู่ตรงกลาง แบบเรียนมันควรออกแบบมาเพื่อคนที่อยู่ตรงกลาง คนส่วนใหญ่ควรจะมีสิทธิที่จะเรียนวิทยาศาสตร์ด้วยความสนุก จดจำแก่นสารได้ มีอุปนิสัยของการสงสัย ตั้งคำถาม มีความคิดสร้างสรรค์ ติดตัวไปทั้งชีวิต
ซึ่งในอนาคตจะเป็นนักบัญชี เป็นนักเศรษฐศาสตร์ เป็นนักเขียน นักแสดง เป็นอะไรก็ได้ แต่การเรียนวิทยาศาสตร์จนถึง ม.ปลาย เขาควรมีจิตวิญญาณวิทยาศาสตร์ติดตัวไปบ้างโดยไม่เกลียดวิทยาศาสตร์ไปก่อน
ผมพบว่า พอเด็กเรียนเยอะๆ ไม่เข้าใจครูสอน ไม่สนุก รายละเอียดเยอะ ถึงจุดหนึ่งเกลียดเลยนะ เกลียดการเรียนรู้ ไม่แม้แต่วิทยาศาสตร์ แต่เกลียดการเรียนรู้ไปเลย พอไม่ต้องเรียนแล้ว จบ ป.ตรี ไม่จับหนังสืออะไรอ่านอีกเลย โอ้ อันนี้เป็นเรื่องผิดพลาดทั้งในชีวิตเขาและสังคมด้วย เมื่อไหร่ที่คุณเลิกซึมซับความรู้ใหม่ๆ จะอ่าน จะฟัง จะวิธีการไหนก็แล้วแต่ คุณก็เริ่มเสียเปรียบคนอื่นแล้ว คุณอยู่ในโลกซึ่งมันหมุนเร็วยากขึ้น
ในฐานะที่อาจารย์ทำงานในวงการวิทยาศาสตร์มาหลายสิบปี การเรียนการสอนมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นบ้างหรือเปล่า
จริงๆผมว่ามันก็มีส่วนที่ดีขึ้น เด็กที่เก่งก็มีช่องทางมากขึ้น มีการแข่งขัน มีทุน ซึ่งมีโอกาสที่เขาจะไปสมัคร สมัยผมการจะไปแข่งอะไรซักอย่างเวทีมันน้อยมาก เราจะต้องได้รับเลือกจากโรงเรียน ซึ่งโอกาสมันน้อยมาก แต่เดี๋ยวนี้สมัครเองได้เลย และรางวัลก็เยอะแยะหลากหลายมาก บางรางวัลก็ได้ไปต่างประเทศด้วย ไปญี่ปุ่น ไปอเมริกา ไปยุโรป และไม่ได้แข่งขันความจำอย่างเดียว ซึ่งบางทีแข่งความคิดสร้างสรรค์ แข่งฝีมือ แข่งขันหุ่นยนต์ แข่งประดิษฐ์ และแข่งอะไรสารพัด
ฉะนั้นองค์ประกอบส่วนสนับสนุนทางด้านข้างเคียงเรื่องการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ก็มีตัวเลือกมากขึ้น มีช่องทางมากขึ้น สำหรับเด็กที่เก่ง ก็มีค่ายโอลิมปิกเป็นเรื่องเป็นราวมาก มีการคัดเลือกตั้งแต่ระดับจังหวัด เขต ไปจนถึงประเทศ แล้วก็ไปแข่งก็น่าจะเป็นประสบการณ์ดีๆ สำหรับหลายคน
พวกนี้มันก็สนับสนุนกลุ่มจำเพาะ แต่ที่เราพูดไปทั้งหมดก็คือ ในระบบสำหรับคนส่วนใหญ่ ซึ่งระบบการแข่งขัน การสนับสนุน มันไม่ค่อยไปถึงคนส่วนใหญ่สักเท่าไหร่ จะไปแข่งด้วยก็ลำบาก บ้านเราจริงๆ สิ่งที่ต้องดูแลให้ดีคือเรื่องพื้นฐานทั้งหลาย อย่างที่เราพูดอยู่เป็นเรื่องของการศึกษา ประเทศเราควรจะให้การศึกษาพื้นฐาน
ยกตัวอย่างเราบอกว่า เราเรียนฟรี มันก็มีส่วนที่ฟรีไม่จริงอยู่ ค่านู่นค่านี่ตามเข้ามา พ่อแม่คงจะรู้ดี ตามหลักสูตรมันควรจะฟรี แต่ยิ่งไปโรงเรียนบางประเภทก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ฟรีเยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็เข้าใจได้ว่า ส่วนหนึ่งการทำให้โรงเรียนมันพิเศษก็มีต้นทุน แต่หากสังเกตดูดีๆ โรงเรียนซึ่งสนับสนุนแบบสุดขั้วมากๆ สำหรับเด็กที่เก่งมากๆ ก็ฟรีทุกอย่างนะ ฟรีทุกอย่างจริงๆ ฟรีค่าเรียน ฟรีค่าสารเคมี อยู่กินฟรีหมด
ก่อนจากกัน อยากให้อาจารย์ส่งท้ายว่า วิทยาศาสตร์สนุกยังไง
คุณลองนึกภาพความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์ อันหนึ่งที่ผมว่าเป็นตัวเปรียบเทียบที่ดี เขาบอกว่าเป็นเรื่องแทบไม่น่าเชื่อ คือตอนที่ข้ามศตวรรษที่ 19 มา ช่วงต้นทศวรรษ 1900 เราเพิ่งเริ่มจะมีเครื่องบินแบบง่ายที่สุดที่บินได้ของพี่น้องตระกูลไรต์ (Wright brothers) เอง แล้วผ่านไปประมาณ 60 กว่าปี มันมีจรวดที่ไปลงจอดดวงจันทร์ได้แล้ว มันเร็วมาก อัตราเร่งตรงนี้ มันเร็วแบบมหัศจรรย์มาก
ก่อนหน้านั้น ก่อนที่จะมีเครื่องบินได้ ดวงจันทร์สำหรับหลายคนยังเป็นก้อนเนยแข็ง ที่ลอยอยู่ในที่ไกลแสนไกลอยู่เลย ซึ่งจูลส์ เวิร์น (Jules Verne) ยังเขียนถึงการยิงจรวดไปลงดวงจันทร์ แล้วจินตนาการก็มาเป็นจริงในอีกหลายสิบปี
วิทยาศาสตร์ทำให้เราไปสู่ขอบเขตซึ่งในชีวิตจริงหลายอย่างมันทำไม่ได้ แต่เราจินตนาการล่วงหน้าไปเยอะ อย่างทฤษฎีหลายทฤษฎีของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ก็ใช้เวลาประมาณ 50-60 ปี กว่าจะพิสูจน์ได้ ตัวทฤษฎีมันตั้งขึ้นไว้แล้ว แต่มันไม่มีวิธีพิสูจน์ เทคโนโลยียังไปไม่ถึง
มีแต่มนุษย์ที่คิดอะไรเรื่อยเปื่อย มีสาระบ้างไม่มีสาระบ้าง ตั้งสมมติฐาน แล้วก็สนุกอยู่กับมันแบบนี้ สิ่งมีชีวิตอื่นไม่สามารถคิดอะไรที่ซับซ้อนขนาดนี้ได้ มีประโยคหนึ่งของ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) ผู้เขียน Sapiens: A Brief History of Humankind ซึ่งหลายคนจำได้ดี บอกว่า ไม่มีลิงตัวไหนที่จะไปโน้มน้าวใจลิงตัวอื่นได้เลยว่า ถ้าแกให้กล้วย 1 ลูกตอนนี้ แกจะได้ขึ้นสวรรค์และมีกล้วยเป็นอนันต์ในอนาคต ลิงมันจินตนาการกล้วยในสวรรค์ไม่ออก จินตนาการสวรรค์ไม่ได้ มีแต่มนุษย์จินตนาการได้ และวิทยาศาสตร์ก็ช่วยให้จินตนาการเพริศแพร้ว
ฉะนั้น ถามว่าทำไมถึงชอบวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์อยู่ด้วยแล้วมีความสุข มันเปิดจินตนาการ เปิดโลก ทำให้เราเข้าใจชีวิตในอีกมุมหนึ่ง มันช่วยอธิบายอะไรที่หลายคนก็อธิบายไม่ได้ ผมรู้สึกว่า วิทยาศาสตร์มันตอบคำถาม มันทำให้ผมรื่นรมย์กับชีวิต ได้เห็นมุมมอง ได้ทำให้ชีวิตมองอะไรได้ลึกซึ้งขึ้น