เป็นเวลาหลายศตวรรษที่มนุษย์พยายามหาคำอธิบายว่า อะไรทำให้เกิดโรคระบาดคร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย นักปรัชญา ผู้นำชุมชน พ่อมดหมอผีต่างกล่าวโทษและหวาดกลัวไปยังอำนาจเหนือธรรมชาติ พระเจ้าลงทัณฑ์มนุษย์ เป็นคำสาปชั่วร้าย บ้างก็ว่ามาพร้อมกับดาวตก หรือเหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้ความเลวทรามใต้ผิวโลกแทรกซอนขึ้นมาสู่อาณาจักรมนุษย์
เมื่อเวลาผ่านไป ความเชื่อเรื่องพลังเหนือธรรมชาติค่อยๆ แผ่วจางลง แต่แพทย์ในยุคบุกเบิกนั้นจำเป็นต้องมีคำอธิบายดีๆ ตราบเท่าที่วิทยาการและความรู้จะมอบให้ได้ พวกเขาจึงมีชุดความเชื่อเก่าแก่ว่า อากาศโสโครก กลิ่นเน่าเหม็น ไอระเหย เป็นต้นเหตุของการระบาด หากสูดดมเข้าสู่ร่างกายจะทำให้บุคคลนั้นเป็นโรคติดต่อร้ายแรง เอกสารโบราณมีการเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ‘อายพิศม์’ ทำให้เกิดโรคติดต่อล้างบางมนุษย์ ต่อมาความเชื่อพัฒนาเป็นทฤษฏีในชื่อว่า ‘Miasma theory’ ฝังรากลึกในอารยธรรมมนุษย์อยู่หลายศตวรรษ กว่าเราจะพบต้นตอที่แท้จริงก็เมื่อไม่กี่ร้อยปีให้หลังนี้เอง เมื่อวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ‘เชื้อโรค’ ต่างหากที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อ นำมาสู่ทฤษฏีสมัยใหม่อย่าง ‘Germ Theory’ อันกรุยทางสู่การแพทย์สมัยใหม่ที่ทำให้เราเข้าใจวิกฤตโรคระบาดได้ดีขึ้น (อย่างน้อยก็ดีในระดับที่เราไม่ตายกันเป็นล้านๆ คนแบบยุคกลางก็แล้วกัน)
อุดจมูกไว้ โรคมากับอากาศ
ย้อนไปในอดีตสังคมมนุษย์ไม่ได้มีขนาดใหญ่ พวกเราอยู่กันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ไม่กี่ครัวเรือน โรคระบาดจึงไม่ค่อยปรากฏบ่อย แต่ความหวาดกลัวจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร ยิ่งชุมชนอยู่กันหนาแน่นแออัดเท่าไหร่ ความวิตกกังวลต่อการระบาดยิ่งสูงตามเป็นพลวัต ผนวกกับความรู้เรื่องสาธารณสุขยังไม่แพร่หลาย ความเชื่อจึงตรงดิ่งไปยังเรื่องของบาปบุญคุณโทษ พระเจ้าไม่ปลื้ม เป็นกรรมชาติปางก่อน แม้แต่อารยธรรมที่รุ่งโรจน์ด้านวิทยาการอย่างอาณาจักรเปอร์เซียก็ยังเชื่อว่า โรคระบาดเป็นวิญญาณชั่วร้ายที่ต้องปัดเป่า อาณาจักรโรมันเชื่อว่าการที่คุณเป็นโรคระบาด เพราะเทพยดาเหม็นขี้หน้า ไม่โอเคกับคุณ โดยเฉพาะเทพ Febris ที่ปัดเป่ามนุษย์จากไข้และมาลาเรีย (Febris มีรากศัพท์ภาษาลาติน แปลว่า Fever หรือไข้ที่ใช้ในปัจจุบัน) ก็จำต้องไปบูชายัญเพื่อขอขมาต่อทวยเทพให้ปราณีชีวิต
พอเข้าสู่ยุคแห่งนักปราชญ์ พวกเขามองอย่างเป็นเหตุเป็นผลซึ่งใกล้เคียงกับความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นอีกนิด พวกเขาเชื่อว่าโรคระบาดมาจากสภาพแวดล้อมและความผันผวนของธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำและอากาศ ซึ่งหากทั้ง 2 ปัจจัยมีการเปลี่ยนแปลงก็มักนำมาซึ่งโรคระบาดอยู่สม่ำเสมอ เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการสังเกตโรคมาลาเรียที่มักมากับช่วงน้ำชุก เนื่องจากยุงลายวางไข่ในช่วงฤดูฝน หรือโรคอหิวาต์ที่สิ่งปฏิกูลปะปนมากับน้ำใช้สอย อากาศชื้นก็มักมาพร้อมกับโรคติดเชื้อทางปอด สิ่งเหล่านี้เองที่เริ่มกรุยทางสู่แนวคิด ‘อากาศโสโครก’ หรือ Miasmas theory สะสมเข้าเรื่อยๆ ฝังความเชื่อในคนรุ่นต่อๆ ไปว่า หากสูดดมอากาศอันไม่น่าอภิรมย์ สิ่งที่อยู่ในอากาศจะคุกคามร่างกายทำให้ป่วย เป็นโรคระบาดร้ายแรง และตายในที่สุด ดังนั้นคำแนะนำการใช้ชีวิตจากความรู้ที่พยายามจับต้นชนปลาย คือการพร่ำเตือนว่า อย่าไปใกล้บริเวณบ่อบึง อย่าหายใจเอาอากาศยามเช้าที่พัดมาจากป่า เพราะจะเอา ‘ลมหายใจ’ ของสัตว์ป่าพัดพามาด้วย
จุดเปลี่ยนที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์อีกประการคือ การระบาดของโรคเรื้อน (Leprosy) ซึ่งเป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยจะมีอาการทางผิวหนังและกล้ามเนื้อ ในอดีตยังไม่มีใครทราบว่าแท้จริงแล้วโรคเรื้อนเกิดจาก ‘ไมโครแบคทีเรียม เลเปร’ (Mycobacterium Leprae) ที่แพร่กระจายติดต่อจากเยื่อของเหลวที่ติดเชื้ออย่างน้ำมูกและน้ำลายผ่านการไอ จาม หรือการพูดคุยในระยะประชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ โดยแบคทีเรียชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีที่สุดที่อุณหภูมิต่ำประมาณ 26 -30 องศาเซลเซียส แต่เท่าที่คนในยุคนั้นเข้าใจคือ หากอยู่ใกล้คนเป็นโรคเรื้อนคุณก็มีโอกาสจะติดไปด้วย ดังนั้นแพทย์จึงมีกระบวนการเบื้องต้นเพื่อแยกกัก (Isolation) กักกัน (Quarantine) และการทำลายเชื้อ (Disinfection) ซึ่งถือว่าเป็นกรณีแรกๆ ที่รุดหน้ามากแล้วในสมัยโบราณ
กลิ่นเหม็นจากลมหายใจ กลิ่นเน่าจากเศษซากที่ทับถมในดิน กลิ่นบูดจากของเสีย และกลิ่นศพของคนตาย มักเกี่ยวพันกับโรคนานาชนิด พอเข้าช่วงหน้าร้อนในยุโรป (อันเป็นแหล่งกำเนิดของทฤษฎี) อากาศจะชื้นเป็นพิเศษ กลิ่นขยะ กลิ่นซากสัตว์ กลิ่นมูลของเสียจะลอยขึ้นมาเหม็นตลบอบอวนทั่วเมืองไปหมด หน้าร้อนมักตรงกับช่วงระบาดของโรคพอดี ในระหว่างศตวรรษที่ 16 Girolamo Fracastoro ผู้ที่เป็นทั้งกวี แพทย์ และนักคณิตศาสตร์ (คนสมัยนั้นเป็นอะไรพร้อมกันเยอะจริงๆ) พยายามสังเคราะห์เหตุและผลของโรคระบาด มีสันนิฐานว่าโรคหลุดลอยมากับอากาศคล้าย ‘เมล็ดพืช’ ขนาดเล็กจิ๋ว โดยเขาสังเกตจากโรคซิฟิลิส (Syphilis) และ โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) ที่มักติดต่อจากการใกล้ชิดผู้ป่วย เขาระบุว่าโรคเหล่านี้มี ‘สารบางอย่าง’ ที่หลุดลอยมาจากผิวหนังผู้ป่วย ทำให้เกิดการติดต่อ โดยสารที่ว่านี้ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต
ดังนั้นการป้องกันโรคระบาดของคนในยุคนั้นคือ อย่าดมกลิ่นเหม็น และจงใช้กลิ่นหอมเพื่อยับยั้ง (อันเป็นความผิดพลาดหนึ่งที่เราในยุคปัจจุบันได้เรียนรู้แล้ว) โดยพวกเขาจะใช้ไม้หอมและกลิ่นดอกไม้เพื่อป้องกันโรคระบาดที่มากับอากาศ ในช่วงที่ยุโรปเผชิญกับหายนะของ Black Death หรือ ‘กาฬมรณะ’ อันเป็นโรคระบาดที่ก่อความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ มีผู้เสียชีวิตถึง 100 ล้านคน จะมีกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ‘Plague doctor’ เดินทางไปตามเมืองต่างๆ เพื่อรักษาโรค โดยพวกเขามีเอกลักษณ์เฉพาะคือการสวมหน้ากากคล้ายกาในชุดยาวปกปิดมิดชิดที่ทาเคลือบด้วยขี้ผึ้ง พวกเขาจะถูกว่าจ้างให้ทำการรักษาซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้ทางการแพทย์โดยตรง บ้างเป็นคนที่อยากกรุยทางชื่อเสียงในการรักษาคนหรือเป็นแพทย์หนุ่มฝึกหัด แถมบางคนยังมีบริการแก้คุณไสยอ้างว่าใช้มนต์ร่วมด้วยอีกต่างหาก ดังนั้นโอกาสรอดชีวิตเมื่อถึงมือหมออีกาเหล่านี้จึงต่ำมาก เอาเข้าจริงหน้าที่หลักของ Plague Doctor คือการประเมินจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดมากกว่าจะรักษาโรคให้หาย
หน้ากากทรงจะงอยปากนกถูกออกแบบมาอย่างมีนัยยะ โดยจะอัดแน่นไปด้วยสิ่งที่ให้กลิ่นหอมโดยเชื่อว่าสามารถยับยั้งโรค ขึ้นอยู่ว่าใครจะสรรหาอะไรมาใส่ มีทั้งผลเบอร์รี่ อำพันทะเล (หรือขี้วาฬ) มิ้นต์ การบูร และบรรดาไม้หอมต่างๆ อัดให้แน่นตรงส่วนปลายเพื่อเป็นตัวกรองในการหายใจ ความเชื่อที่คลาดเคลื่อนนี้เองที่ทำให้ บรรดา Plague Doctor ติดโรคระบาดเสียเอง ตายเป็นจำนวนไม่น้อย ความเท่ระเบิดของหน้ากากนกก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย
คนยุคก่อนลองผิดลองถูกสารพัด และแน่นอนว่าตายกันเป็นว่าเล่นกว่าเราจะได้ความรู้ใหม่ กระทั่งมนุษยชาติค้นพบกล้องจุลทรรศน์ (microscope) ที่ทำให้เรารู้ว่า ในโลกที่เล็กจิ๋วจนตาเปล่ามองไม่เห็น ยังมีโลกอีกใบอันลี้ลับแอบซ่อนอยู่ มันคือเหล่าบรรดาสิ่งมีชีวิตอันแปลกประหลาด รูปร่างพิกล ส่วนหนึ่งเป็นมิตรกับร่างกายอยู่มาพร้อมกับเราตั้งแต่เกิด และอีกจำพวกคือสิ่งมีชีวิต หรือ ‘จุลชีพ’ ที่ก่อโรคและเป็นที่มาของโรคระบาดนานาชนิด
การค้นพบกล้องจุลทรรศน์คือหนทางแห่งความเป็นเหตุและผล เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่เราขาดหายมาตลอด การเห็นโลกอีกใบนี้ไปต้องตาต้องใจกับนักเคมีคนสำคัญของโลก หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) เขาสนใจขวดเหล้าองุ่นในบ้านที่เสียรสชาติ ถ้าเป็นคนอื่นคงโยนขวดไวน์ทิ้งแล้ว แต่หลุยส์ ปาสเตอร์ ลองนำมาศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์ เขาพบว่า กระบวนการหมักและการเน่าเสียนั้นเกิดจากอิทธิพลของจุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กนับล้านที่แต่ละสายพันธุ์มีพฤติการณ์แตกต่างกันไปในแต่ละหน้าที่
เขาจึงนำเสนอทฤษฏีใหม่ที่ก่อให้เกิดโรคระบาดด้วย Germ theory หรือ ‘ทฤษฎีเชื้อโรค’ ที่หักล้างกับความเชื่อเดิมว่า โรคระบาดไม่ได้จู่ๆ ลอยมากับอากาศ แต่มาจากจุลชีพที่พบในธรรมชาติและในสิ่งมีชีวิต จุลชีพที่ก่อโรคทำให้ผู้คนป่วย แต่คนที่มีสุขภาพดีก็ไม่พบจุลชีพก่อโรคนี้ เมื่อคนสุขภาพดีและคนป่วยมีจุลชีพต่างชนิดกัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถแยกเชื้อที่ก่อโรคออกมา สามารถเลี้ยงเชื้อโรคนั้นให้เติบโต แพร่ขยายมากขึ้น และหากนำเชื้อที่เลี้ยงไปอยู่กับโฮสต์ใหม่ที่เป็นสิ่งมีชีวิตก็สามารถเป็นโรคติดต่อได้ องค์ความรู้เรื่องการแพร่กระจายของเชื้อโรค ( disease transmission) จึงเกิดขึ้นและได้รับการยอมรับจวบจนปัจจุบัน
การรับมือโรคระบาดเติบโตไปพร้อมๆ กับสถานะทางสังคม การตั้งสมมติฐานต่างๆ เป็นเครื่องสะท้อนว่าผู้คนในสังคมมีองค์ความรู้ในช่วงนั้นอย่างไร เราผ่านช่วงเวลามาไกลเหลือเกินจาก miasma theory สู่ germ theory แต่อย่างไรก็ตามความรู้สึก ‘หวาดกลัวอากาศ’ ก็ยังคงฝังลึกอยู่ในสังคม ผู้คนยังกลัวที่จะหายใจเอาโรคต่างๆ เข้าไป และต้องการปิดปากปิดจมูกเพื่อป้องกันตัวเองเบื้องต้น แม้ไม่ได้ป้องกันได้ 100% แต่ก็ไม่ได้ไร้สาระเสียทีเดียว การป้องกันนี้ยังช่วยลดการฟุ้งกระจายของเชื้อโรคจากการไอหรือจามรดใส่ผู้อื่น
ในยุคที่โรคระบาดเข้ามาท้าทายมนุษย์ ความหวังในการรักษาใหม่จะนำพามาซึ่งทฤษฎีที่น่าสนใจเรื่อยๆ เราจะมองเห็นความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนในขณะที่คนรุ่นก่อนๆมองไม่เห็น
อ้างอิงข้อมูลจาก
Death and miasma in Victorian London: an obstinate belief
Illustration by Kodchakorn Thammachart