ในช่วงเวลาการกักตัวที่ผ่านมา ก็มาพร้อมกับข้อห้ามข้อจำกัดมากมายตามความจำเป็นของสถานการณ์ อย่างการกักตัวอยู่ที่บ้าน การเว้นระยะห่างทางสังคม การต้องปิดร้านค้าและธุรกิจหลายประเภท เป็นต้น อย่างไรก็ตามหนึ่งในมาตรการที่นำมาซึ่งการตั้งคำถามตั้งแต่เริ่มแรกก็คือ ‘การให้งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ ที่แม้ปัจจุบันจะผ่อนปรนและอนุญาตให้ขายได้บ้างแล้ว แต่ก็ยังมีกระแสการคัดค้านของแพทย์เป็นระยะๆ ว่าไม่เหมาะสม โดยให้เหตุผลไปว่า “เหล้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เป็นเครื่องดื่มสำหรับการสังสรรค์ ฉะนั้นการอนุญาตให้ดื่มจึงเสมือนเป็นการชี้นำให้คนมาพบปะสังสรรค์กัน” เป็นต้น
ความเห็นลักษณะเดียวกันนี้ในกลุ่มหมอและบุคลากรทางการแพทย์นั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น สโลแกนลักษณะเดียวกันโดย สสส. อย่าง ‘จน เครียด ดื่มเหล้า’ ในฐานะวังวนของความจน หรือวงจรณ์อุบาทว์นั้น ก็เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในแคมเปญที่ติดหูและเป็นโวหารทางการเมืองที่ติดตลาดที่สุดที่ สสส. เองผลิตขึ้นมาเป็นต้น
วิธีคิดเหล่านี้นั้น ทั้ง ‘ผิด คับแคบ และวุ่นวายกับเสรีภาพในการใช้ทรัพย์สินส่วนบุคคล’ ชนิดไม่ต้องอธิบายอะไรมากมายในระดับตื้นเขิน ผิด ในแง่ที่ว่าไม่ได้มีเฉพาะคนจนหรอกครับที่บริโภคแอลกอฮอล์ คนมีเงินมีสตางค์นี่แหละตัวดีเลยในการบริโภคสินค้ากลุ่มนี้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้โดยชอบธรรมด้วย ไม่ว่าจะชนชั้นใด เกิดมาเป็นใคร เพียงแค่ว่า การอธิบายการดื่มเหล้าในฐานะวังวนความจนนั้นเป็นอะไรที่ผิดไม่พอ มันยัง ‘คับแคบ’ ด้วย เพราะการเสพสุรานั้นมีได้จากหลายสาเหตุเหลือเกินนอกจากความเครียดความจนอะไรที่อ้าง หรือการมองแบบคับแคบว่าการดื่มสุรานั้นมีขึ้นเพื่อการสังสรรค์เท่านั้น กรอบคิดแบบนี้สะท้อนความจำกัดจำเขี่ยของพื้นที่ทำงานของสมองคนบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลายเหล่านี้เป็นอย่างมาก สมองของพวกเขาดูจะทำงานได้ดี ทำงานเป็นก็เฉพาะแต่ในเรื่องตามสายอาชีพของตนหรือไร? ไม่ต้องนับระดับสุดท้ายอย่างเรื่อง ‘ความเสือก’ เลย ที่หมอไม่ได้มีหน้าที่หรือกระทั่งสิทธิที่จะไปวุ่นวายได้ว่าเงินในกระเป๋าของใครแต่ละคน เขาควรจะใช้เอาไปทำอะไรก่อนหลังจัดลำดับความสำคัญแบบใด
แน่นอนว่าสุดท้ายพอข้อถกเถียงมันจนตรอกจากความตื้นเขินในตัวเองอย่างที่เป็นอยู่ ก็มักจะวนกลับมาที่การอ้างเรื่องความดีความเลว มาตรฐานศีลธรรม หรือกระทั่งสุขภาพต่างๆ ไป อย่างไรก็ตามผมคิดว่าท่าทีลักษณะนี้ของหมอหรือบุคลากรสายวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยนั้นไม่ได้มาด้วยโชคช่วยหรือเป็นสภาวะปกติสากลอะไรด้วย มันมีรากที่มาที่น่าสนใจทีเดียว ซึ่งผมอยากจะลองชวนไปสำรวจกันดู
ผมคิดว่าลักษณะที่เป็นอยู่ของหมอและบุคลากรสายวิทยาศาสตร์ไทยนั้น อาศัยปัจจัยหลักๆ 2 ประการในการเป็นเงื่อนไขที่บ่มเพาะท่าทีเหล่านี้ขึ้นมาครับ ปัจจัยแรกเป็นลักษณะสากลของ ‘การเป็นผู้เล่าเรื่องหลัก’ ของสังคมสมัยใหม่ (main storyteller) และปัจจัยที่สองนั้นเป็นปัจจัยที่เป็นลักษณะที่ค่อนข้างจำเพาะกับสังคม ‘รัฐกึ่งเสรีนิยมสมัยใหม่กึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ อย่างรัฐอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคมบางส่วน และอาจรวมถึงกลุ่มประเทศตะวันออกกลางด้วย แน่นอนในที่นี้ผมคิดว่ารวมถึงประเทศไทยด้วยเป็นสำคัญ ปัจจัยทั้งสองนี้ได้สร้างชุดคุณค่าแบบ ‘วิทยาศาสตร์ศีลธรรม วิทยาศาสตร์ของคุณงามความดี’ ขึ้นมา และทำให้มันกลายมาเป็นเรื่องเล่าหลักในสังคมไป
ปัจจัยแรกที่เป็นคุณสมบัติสากลของผู้เล่าเรื่องหลัก (main storyteller) ของหมอและบุคลากรทางการแพทย์นั้น สามารถไล่ย้อนกลับไปได้ถึงโครงสร้างนับตั้งแต่ยุคบรรพกาลของสังคมชนเผ่าเลยทีเดียวครับ เพราะสังคมยุคเริ่มต้นของมนุษย์นั้นก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘คนทรงวิญญาณ หมอผี หรือผู้รักษาด้วยพลังวิญญาณ’ แล้ว ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้ทำหน้าที่ในฐานะ ‘ผู้เล่าเรื่องหลัก’ ในชุมชนการเมืองหรือเผ่านั้นๆ มาโดยตลอด บทบาทส่วนหนึ่งของชาแมนหรือผู้รักษาด้วยพลังวิญญาณ (spiritual healer) ที่ทำให้อยู่ในสถานะดังกล่าว แน่นอนว่ามีความสัมพันธ์กับการเป็นผู้ให้การรักษาชีวิตหรือโรคภัย
แต่แท้จริงแล้วเงื่อนไขสำคัญก็คือ ‘การเป็นผู้เข้าถึงความรู้ที่
สูงกว่า/เหนือกว่าคนโดยทั่วไปในสังคมนั้นๆ’
และการเข้าถึงความรู้ที่เหนือกว่าที่ว่านี้เป็นที่ยอมรับของคนโดยทั่วไปในสังคมนั้นด้วย เงื่อนไขนี้เองกลายเป็นเงื่อนไขสากลในการอยู่ในสถานะการเป็นผู้เล่าเรื่องหลักของสังคม
ตำแหน่งของการเป็นผู้เล่าเรื่องหลักนี้ปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละยุคสมัย โดยอิงกับว่าในช่วงเวลานั้นๆ ภูมิทัศน์ทางความรู้ชุดใดถือเป็นแก่นหลักในการเล่าเรื่อง อย่างยุคโบราณที่มีภูมิทัศน์ทางความรู้ที่มองว่ามนุษย์กับเทพพระเจ้านั้นอยู่ร่วมกันในมิติทางการรับรู้ชุดเดียวกัน การเล่าเรื่องก็เป็นแบบหนึ่ง พอเข้าสู่ยุคกลางที่ศาสนจักรกลายเป็นผู้เล่าเรื่องหลัก และแม้จะมีเรื่องเล่าของพระผู้เป็นเจ้าและศาสนาเป็นแก่นอยู่ก็ตาม แต่โลกที่พระผู้เป็นเจ้ากับมนุษย์อยู่นั้นดูจะแยกขาดจากกัน และการสื่อสารกับองค์ความรู้ที่สูงกว่าอย่างพระผู้เป็นเจ้าก็ต้องทำผ่าน ‘ตัวแทน’ ของพระองค์แทนอย่างบาทหลวงและโบสถ์ของศาสนจักร บุคคลและวัตถุเหล่านี้เองก็ได้ทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องหลักไป
กระทั่งเกิดการค้นพบใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์ไล่มาตั้งแต่นิโคลัส โคเปอนิคัส, กาลิเลโอ, นิวตัน, ฯลฯ ที่เสนอข้อค้นพบชุดใหม่ ความจริงชุดใหม่ ซึ่งไม่ตรงกับคำอธิบายและภูมิทัศน์ความรู้แบบเดิมของศาสนาจักร แม้ว่านักวิทยาศาสตร์เหล่านี้หลายคนจะเป็นผู้ที่ศรัทธาในคริสตจักร และการเสนอข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้ศาสนจักรได้ปรับตัวปรับคำสอนให้ทันสมัยขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้วศาสนจักรเลือกที่จะ ‘ไม่ร่วมโลก’ ด้วยกับคำอธิบายใหม่นี้ นำมาซึ่งการต่อสู้และแยกขาดกันของสองภูมิทัศน์ความรู้ในการจะเป็นแก่นใหม่ของเรื่องเล่าหลัก และท้ายที่สุดวิทยาศาสตร์ก็ได้รับชัยชนะไป และผู้เป็นตัวแทนในการเข้าถึง ‘องค์ความรู้ที่สูงกว่า’ ตัวใหม่ในฐานะตัวแทนเรื่องเล่าหลัก (metanarrative/main storytelling) ของสังคมสมัยใหม่ (อย่างน้อยในโลกตะวันตก) ซึ่งก็คือเหล่านักวิทยาศาสตร์และผู้ร่ำเรียนทางนี้มาทั้งหลายรวมถึงแพทย์ด้วย เพราะคนทั่วไปไม่ได้มีศักยภาพในการจะเข้าถึงหรือเข้าใจเนื้อหาของเรื่องเล่าหลัก (องค์ความรู้ที่เหนือกว่า) นี้โดยถ่องแท้ได้ด้วยตนเองโดยง่าย จึงต้องอาศัยการตีความ การเล่าผ่าน การชี้แนะโดยบุคลากรผู้รู้มากกว่าเหล่านี้ มาช่วยนั่นเอง
ไม่เพียงเท่านั้น หมอหรือบุคลากรทางการแพทย์เองยังถือครองสถานะพิเศษในฐานะผู้เล่าเรื่องเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่งด้วย เพราะพวกเขาถืออยู่ในสถานะของการเป็นผู้รักษาชีวิตด้วยนอกเหนือจากแค่การเป็นผู้ถือครองความรู้ที่สูงกว่าอย่างเดียว ผนวกเข้ากับการเกิดขึ้นของวิธีคิดแบบรัฐเสรีนิยมสมัยใหม่ที่ทำให้ ‘ความกลัวตาย’ กลายเป็นความกลัวพื้นฐานที่สำคัญสูงสุดของมนุษย์ขึ้นมา
สถานะของหมอที่รักษาชีวิตจึงยิ่งถูกขับเน้นเพิ่มขึ้นไปอีกขั้น
เรียกได้ว่าเป็นผู้ยืนอยู่จุดสูงสุดของ ‘ผู้เล่าเรื่องหลัก’ ในสังคมสมัยใหม่เลยก็ว่าได้
จึงไม่แปลกที่เราจะเชื่อฟังคำสั่งหรือคำแนะนำของหมอในการดำเนินชีวิตของเราเอง มากเสียยิ่งกว่าตัวเราเองเสียอีก เพราะว่าหมอนั้นเข้าถึงชุดความรู้ที่อนุญาตให้หมอเข้าใจตัวเรามากยิ่งกว่าตัวเราเอง หมอจึงกุมอำนาจในการเล่าเรื่อง กระทั่งกำหนดนั่นนี่ให้กับสังคมโดยรวมนั่นเอง สภาวะดังกล่าวนำมาซึ่งอำนาจของหมอที่สูงอย่างยิ่ง เพราะคำพูดของหมอมีอำนาจ คำวินิจฉัยของหมอเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนได้ โดยทั่วไปจึงต้องถือว่าคำสั่งหมอไม่ได้มีสถานะบังคับ และทำให้ ‘การวุ่นวายในชีวิตคนอื่นของหมอโดยหน้าที่’ นั้น มีลักษณะค่อนไปทางตั้งรับ (passive-role oriented) คือ นอกจากสถานการณ์ที่จำเป็นจริงๆ แล้ว หมอมีหน้าที่คอยอยู่เฉยๆ ให้คนมารับการรักษา มาขอคำปรึกษาโดยความพร้อมใจของผู้ป่วยเอง ไม่ได้มีบทบาทในลักษณะการเสือกเชิงรุก หรือ active role มากนัก
อย่างไรก็ตามนั่นเป็นเพียงปัจจัยแรกซึ่งเป็นปัจจัยสากลร่วมของหมอที่แทบทุกที่ก็ดูจะมีร่วมกันหมด แต่ลักษณะที่จำเพาะขึ้นมาในกรณีของไทยนั้นก็คือ ความสำเร็จของเจ้าฟ้ามงกุฏ (รัชกาล 4) ในฐานะผู้ซึ่งบุกเบิกริเริ่มในการนำความรู้แบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้ามาในสังคมสยามนั้น ประสบความสำเร็จในสิ่งที่โคเปอร์นิคัสและกาลิเลโอ (และนักวิทยาศาสตร์ยุคกลางอีกหลายคน) พยายามจะทำแต่ล้มเหลว นั่นก็คือ การผนวกรวมเอาตัวแทนผู้เล่าเรื่องหลักในสังคมไทยอย่างพุทธศาสนา กับความเป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แล้วสร้างคำอธิบายว่า นี่คือแก่นของศาสนาพุทธที่แท้จริง (พุทธแท้) ให้เกิดขึ้น โดยกระบวนการที่เรียกได้ว่าเป็นการ ‘สร้างความบริสุทธิ์ให้กับพุทธศาสนา’ (The purification of Buddhism) นั่นเอง ซึ่งเอาจริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ไม่ได้มีหรอกครับว่าพุทธศาสนาคือศาสนาของความเป็นเหตุเป็นผล เพราะสิ่งที่เรียกว่าความเป็นเหตุเป็นผลในแบบที่เข้าใจกันนี้มันเพิ่งมีขึ้นมาในไทยได้ร้อยกว่าปีเอง พุทธศาสนากับเรื่องเล่าเหนือจริง (ตามความเข้าใจปัจจุบัน) ทั้งหลายนั้นคือแก่นหลักในการเล่าเรื่องมาโดยตลอด แต่เจ้าฟ้ามงกุฏได้นำเอาวิธีการเล่าเรื่องแบบวิทยาศาสตร์ มาสวมใส่พุทธศาสนาแทน แล้วคัดกรองเอาเรื่องเล่าที่เกินจริงจากกรอบความเป็นเหตุเป็นผลยุคใหม่ที่เพิ่งนำเข้ามานี้ แล้วโละทิ้งแนวคิดแบบฮินดูบ้าง การไหว้ผีสางบ้าง ความงมงายบ้าง
จุดนี้เองที่ทำให้พุทธศาสนาในฐานะ ‘ศาสนาแห่งเหตุผล ศาสนาแห่งวิทยาศาสตร์’ กำเนิดขึ้น พร้อมๆ ไปกับการเกิดเส้นทางในการก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ที่ต่างจากโลกตะวันตกแทบจะสิ้นเชิง เป็นเส้นทางที่โลกของศาสนาและวิทยาศาสตร์ยึดโยงเกื้อหนุนกันอย่างแข็งแกร่ง แทนที่จะแยกขาดกันอย่างที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตก
แน่นอนครับว่าเรื่องเล่าทางการเมืองชุดใหญ่ขนาดนี้ไม่ได้สำเร็จได้ด้วยกำลังของบุคคลเพียงคนเดียวอย่างเจ้าฟ้ามงกุฏ แต่พร้อมๆ กันไปก็คงปฏิเสธไม่ได้ถึงสถานะทางอำนาจของพระองค์ในฐานะผู้นำประเทศที่เอื้อให้สำเร็จ และก็ยากจะปฏิเสธบทบาทในฐานะผู้ริเริ่มตั้งต้นให้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์เส้นนี้เป็นจริงขึ้นได้ด้วย เส้นทางการเข้าสู่สมัยใหม่ที่ไม่แยกโลกวัตถุกับโลกทางจิตวิญญาณนี้เอง ผมเรียกมันว่า ‘วัตถุนิยมจิตวิญญาณ’ (spiritual materialism) โดยล้อกับคำเรียกยุคสมัยใหม่ในโลกตะวันตกของ คาร์ล มาร์กซ์ ที่มองจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ผ่านวัตถุที่เขาเรียกว่า วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (historical materialism) นั่นเอง
เส้นทางที่ไม่ต้องตรงกับโลกตะวันตกของไทยนี้เอง ใช้เวลาบ่มเพาะอีกหลายทศวรรษ กว่าจะมาเริ่มแบ่งบานชัดเจนอย่างแท้จริงในช่วงทศวรรษ 1960 – 1980 โดยเฉพาะปลายสมัยของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ส่วนหนึ่งก็กล่าวได้ว่ามาจากการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาด้วยในการที่จะสร้างกำลังทางอิทธิพลอะไรก็ได้ในการจะมาต้านรับ ‘ภัยคอมมิวนิสต์’ ที่พวกเขาเชื่อเหลือเกินว่าจะล้มทับต่อกันเป็นโดมิโน นำมาซึ่งการสนับสนุนทั้งพระสงฆ์จากส่วนกลางให้กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการส่งหมอไปยังพื้นที่ชนบทต่างๆ ที่ไม่ได้ผ่านกรอบวิธีคิดว่าเป็นหน้าที่ แต่เป็นการทำทานช่วยเหลือสังคม ทำบุญให้แก่ผู้ยากไร้ เผื่อแผ่ผู้ด้อยโอกาสกว่านั่นเอง และบ่อยๆ ครั้งก็เป็นการทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของพระราชวงศ์ด้วย เพราะหน่วยงานเหล่านี้มักผูกอยู่กับการอุปถัมภ์โดยตรงของสมาชิกราชวงศ์ อย่าง กรณีของ พอ.สว. เองก็เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดหน่วยงานหนึ่ง
เงื่อนไขทั้งสองประการนี้เอง นำมาซึ่งบทบาทของหมอทั้งในฐานะ
‘ผู้เล่าเรื่องหลัก’ ตามสากลโลกของยุคสมัยใหม่แล้ว
ยังขับเน้นบทบาทเชิงรุก (ในนามการทำทาน ความเผื่อแผ่) เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากด้วย
โลกแห่งคำอธิบายในการเล่าเรื่องของวิทยาศาสตร์และศาสนาพุทธในไทยจึงผสมปนเปกันอย่างแยกไม่ขาด การดื่มเหล้าสุราที่มีผลกระทบกับสุขภาพอย่างปฏิเสธไม่ได้ ในหลายๆ ครั้งถูกนำมายึดโยงกับศีลข้อที่ 5 การสอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนถูกจำกัดด้วยเพดานทางศาสนาและคุณงามความดี กลุ่มแพทย์ พยาบาล รวมไปถึงบุคลากรทางวิทยาศาสตร์แยกโลกจิตวิญญาณซึ่งควรจะอยู่ในปริมณฑลส่วนตัว กับโลกของการทำงานในทางสาธารณะแทบไม่ออก กลายเป็นสิ่งที่เราพบได้โดยทั่วไป
ราวสิบปีมาแล้ว พ่อของผมเองเคยไปปรึกษากับอาจารย์หมอคนหนึ่งของไทย (ที่ต่อจากนั้นได้ไปทำงานกับองค์การสหประชาชาติด้วยซ้ำ) เกี่ยวกับอาการป่วยหมอนรองกระดูกอักเสบ คำปรึกษาที่ได้รับนั้นก็ยังถูกยึดโยงกลับเข้ามาที่ศาสนาพุทธได้อยู่เลย โดยยกเรื่ององคุลีมาลมาเป็นอุทธาหรณ์ในการให้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ต้องไล่ไปถึงอีกหนึ่งแคมเปญที่ประสบความสำเร็จที่สุดของสสส. อย่างให้เหล้าเท่ากับแช่ง ที่ผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่าองค์กรของรัฐโลกียะ (secular state) ที่ไหนจะ ผลิต ‘เรื่องเล่า’ ลักษณะนี้ออกมาได้ แต่เรื่องเล่าที่แสนจะไม่สากลนี้ก็ขายได้ขายดีเหลือเกิน
เมื่อต้นธารความเป็นสมัยใหม่ของประเทศเรามันมาแบบนี้ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด หรือกระทั่งไม่เป็นเหตุเป็นผลอะไรหรอกครับที่หมอบ้านเราบางคนจะเป็นนักเสือกทางศีลธรรมแบบนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ก่อนหน้า สสส. เราก็มีทั้งกลุ่ม พอ.สว. กลุ่มสามพรานของหมอประเวศ หรือช่วงประท้วงขับไล่รัฐบาลทักษิณ ‘หมอ’ ในฐานะตัวแทนคนดี (อย่างหมอตุลย์) และอื่นๆ อีกมากมายเอง ก็ออกมาทำการเสือกเชิงรุกกับสังคมในนามความดีและพยายามวางเส้นศีลธรรมให้กับสังคมตลอดเวลาทั้งสิ้น ทั้งยังให้เหตุผลต่างๆ นานามากมาย ด้วยสถานะทางอำนาจที่กลุ่มของพวกตนนั้นถือเป็นตัวแทนของ ‘เสียงแห่งเหตุผล เสียงแห่งจุดสูงสุดในการศึกษา’ คำพูดของคนเหล่านี้ จึงกลายเป็นอำนาจให้กับโครงสร้างอำนาจแบบเก่าในสังคมไทยมาโดยตลอด ความเปลี่ยนแปลงที่จะหันเหทิศทางของไทยให้เข้าร่องเข้ารอยกับที่สากลแบบตะวันตกเป็นนั้นจึงถูกขวางโดย ‘กำแพงวิทยาศาสตร์แห่งศีลธรรมความดี’ เสมอมา
เพราะหากไม่ขวาง สถานะทางอำนาจของการเป็นเสียงซึ่งทรงพลังและไม่ต้องถูกจำกัดกรอบในฐานะผู้เล่าเรื่องหลักของพวกเขาก็จะถูกสั่นคลอนไปโดยปริยาย ฉะนั้นจึงไม่แปลกหรอกครับที่เราจะเห็นคนเรียนสายวิทย์ สายหมอบ้านเราจำนวนมากเข้าข้างฝั่งอนุรักษ์นิยมและชมชอบตรรกะแบบโลกเก่าเหลือเกิน ขัดกับท่าทีในโลกตะวันตก นั่นก็เพราะว่าในกรณีของไทยนั้น ทั้งสองฝั่งเค้าต่างค้ำจุนกันมาอยู่ตั้งแต่ต้น เช่นนี้แล ‘หมอจึงมักจะรักคนดี’