“ความหลากหลายช่วยขับเคลื่อนองค์กรได้มาก เพราะการที่เรามีผู้คนที่มาจากหลายพื้นเพ หลากหลายความคิด ร้อยพ่อพันแม่ จะทำให้เรามีไอเดียที่มากขึ้นและสร้างไดนามิกใหม่ๆ ให้กับองค์กรได้”
ทุกวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ทั่วโลกได้จัดให้เป็น ‘วันสตรีสากล’ (International Women’s Day) เพื่อสนับสนุนสิทธิสตรีและเฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้หญิง โดยเฉพาะใน ‘โลกของการทำงาน’ ซึ่งผู้หญิงจำนวนมากต้องเผชิญกับอุปสรรค ความท้าทาย การถูกกดขี่ และข้อจำกัดต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ
แต่ในความเป็นจริง เพศไม่ได้เป็นตัวกำหนดศักยภาพหรือความสำเร็จของพนักงาน หากแต่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรได้มากขึ้น โดยเฉพาะในวัฒนธรรมองค์กรของ foodpanda แพลตฟอร์มเดลิเวอรีอาหารที่ให้ความสำคัญในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และมุ่งเน้นการผลักดันปัจเจกบุคคลให้ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าตัวตนของพวกเขาจะเป็นยังไงก็ตาม
The MATTER จึงได้พูดคุยกับ 3 สาว 3 ตำแหน่งจาก foodpanda ที่เป็นตัวแทนความหลากหลายของผู้หญิงในโลกการทำงาน ทั้ง Working Mom ผู้หญิงข้ามเพศ และเด็กรุ่นใหม่ในองค์กร ซึ่งพวกเธอจะมาเล่าถึงเส้นทางชีวิตที่เต็มไปด้วยโอกาสและอุปสรรคในฐานะผู้หญิงใน 3 มุมที่ต่างกัน รวมถึงการเปลี่ยนอุปสรรคต่างๆ ให้เป็นความท้าทาย เพื่อผลักตัวเองไปสู่ความสำเร็จ โดยปราศจากข้อจำกัดด้านเพศและตัวตน รวมถึงมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีคอยสนับสนุนไปพร้อมกันด้วย
อยากให้ทั้ง 3 คนช่วยแนะนำตัวเองและตำแหน่งที่ทำอยู่ใน foodpanda
นิกแน็ก: ชื่อนิกแน็กนะคะ เพ็ญพิชญ์ ศุภวโรภาส ทำงานที่ foodpanda มา 5 ปีกว่าแล้ว ตำแหน่งที่ทำอยู่คือ Head of Partner Management ค่ะ
โกโก้: ชื่อโกโก้นะคะ กวินตรา เทียมไสย์ ทำงานที่ foodpanda ประเทศไทยมา 8 เดือน ตำแหน่งที่ทำอยู่คือ Internal Communications, Diversity and Inclusion Senior Specialist ค่ะ
ซันบีม: ชื่อบุณฑรีก์ ขุนพินิจ ชื่อเล่นซันบีมนะคะ ปัจจุบันทำตำแหน่ง Sales Manager ของทีม Marketplace ค่ะ
ทั้ง 3 คนคิดว่าข้อดีหรือจุดแข็งของตัวเองในการทำตำแหน่งนี้คืออะไร
นิกแน็ก: คิดว่าเป็นเรื่องของการจัดการคน เพราะเราอยู่มานาน ได้เจอเจ้านายหลายรูปแบบ ทำให้เห็นว่าเราอยากจะเป็นคนนำทีมแบบไหนในมุมมองของคนในทีม และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อให้ทีมตั้งใจทำงาน เพราะเคารพในตัวเราและเคารพในองค์กร
ซันบีม: สกิลสำคัญของบีมคือการสื่อสาร เพราะต้องสื่อสารกับพาร์ทเนอร์ตั้งแต่เจ้าเล็กไปจนถึงเจ้าใหญ่ ซึ่งเป็นสกิลสำคัญที่ทำให้บีมมาถึงจุดนี้ นอกจากนี้ ก็จะเป็นสกิลการจัดการและการดูแลทีม ไม่ใช่แค่สั่งงานหรือมอบหมายงานเท่านั้น แต่เราต้องเรียนรู้กันและกัน และคอยฟังเสียงคนในทีมด้วยว่ารู้สึกยังไง
โกโก้: ด้วยความที่โก้ทำตำแหน่ง Internal Communication โก้จะมีสกิลการสื่อสารเหมือนกับบีม แต่สิ่งที่โก้มองลึกไปกว่านั้นคือสกิลการเข้าใจผู้คน เพราะมันคือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและทำให้ผู้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับการสื่อสารของเรา ไม่ใช่กีดกันพวกเขาออกไป และอีกงานนึงของโก้คือ Diversity and Inclusion การที่โก้เคยเจอความกดขี่มาจากสังคมและได้ไปเรียนต่อปริญญาโทด้านเพศสภาพศึกษา (Gender Studies) ทำให้โก้มีมุมมองในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องความเท่าเทียมมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในระดับองค์กรแต่ในสังคมด้วย
ก่อนที่ทั้ง 3 คนจะมาทำตำแหน่งนี้ เคยผ่านเส้นทางชีวิตหรือความท้าทายแบบไหนมาบ้าง เริ่มจากซันบีมก่อนก็ได้ การที่เราเป็นคนรุ่นใหม่อายุน้อย ซันบีมเจออุปสรรคอะไรมาบ้าง
ซันบีม: บีมทำหน้าที่เป็น Sales Representative ต้องลงพื้นที่ต่างจังหวัดบ่อยๆ ความท้าทายคือการได้เจอลูกค้าหลายช่วงอายุ แต่ด้วยความที่บีมอายุไม่มาก เวลาต้องไปพบกับลูกค้าที่ตำแหน่งอาวุโสมากๆ เขาก็จะตั้งคำถามแล้วว่า น้องยังเด็กอยู่เลยมีใครที่อาวุโสกว่านี้มาคุยแทนมั้ย แต่จากเหตุการณ์นี้ก็ทำให้บีมปรับเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่ให้เป็นแรงผลักดัน ยิ่งถ้าเราเป็นเด็ก ยังขาดประสบการณ์ เราก็ยิ่งต้องขวนขวายให้มากขึ้น
สำหรับโกโก้ การที่เราเป็นผู้หญิงข้ามเพศทำให้เส้นทางชีวิตต้องเจอกับอุปสรรคหรือความท้าทายอะไรบ้าง
โกโก้: เนื่องจากประเทศเรายังไม่มีกฎหมายที่มารองรับสถานะของคนข้ามเพศอย่างแท้จริง เช่น กฎหมายที่เรียกว่า Legal Gender Recognition ผลที่ตามมาคือเรื่องของการถูกยอมรับในที่ทำงาน ซึ่งหลายที่ก็จะเลือกปฏิบัติกับเราแบบมีอคติ หรือมีการกีดกันด้วยเหตุผลทางเพศ ก่อนที่โก้จะมาทำงานที่ foodpanda โก้ส่งใบสมัครงานไปประมาณ 200 บริษัท เชื่อมั้ยว่าน้อยมากที่ติดต่อกลับมา ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีที่ไหนเรียกโก้ไปสัมภาษณ์ หรือถ้าเรียกไปก็จะโดนถามว่า เราเป็นผู้หญิงข้ามเพศแบบนี้ เราจะขี้เหวี่ยงขี้วีนมั้ย เห็นได้ว่ามีคำถามที่โชว์อคติเกิดขึ้นมาตลอด
ได้ยินมาว่านิกแน็กเป็น Working Mom มีอุปสรรคเรื่องการจัดสรรเวลาให้กับทั้งงานและลูกบ้างหรือเปล่า
นิกแน็ก: เป็นสิ่งที่ถามตัวเองทุกวันเลยว่า วันนี้เราจะจัดการกับชีวิตตัวเองยังไง เพราะมีหลายเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เช่น ช่วง COVID-19 โรงเรียนเตรียมอนุบาลปิด เราต้องประชุมไปด้วย ดูแลลูกไปด้วย เราก็จะต้องจัดลำดับความสำคัญว่า งานหรือประชุมแต่ละอัน เราสามารถให้ใครช่วยได้หรือเปล่า เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่เด็กๆ ได้มีเวลาอยู่กับพ่อแม่ ไม่ใช่การที่เราทำงานหนักเพื่อเอาเงินไปให้เขาอย่างเดียว เราต้องจัดสรรเวลาว่าเราจะเต็มที่กับงานถึงเวลานี้ ส่วนเวลานี้จะเป็นเวลาให้กับลูกเท่านั้น นี่ก็คือวิธีของเรา
เชื่อว่าทั้ง 3 คน มีมุมมองในการเปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นความท้าทาย ไม่ใช่สิ่งที่มาลดทอนความตั้งใจของตัวเอง มุมมองแบบนี้ทำให้เราพบข้อดีหรือประโยชน์ในการทำงานยังไงบ้าง
โกโก้: โก้จะไม่โรแมนติไซส์ อุปสรรคก็คืออุปสรรค เราต้องยอมรับและคิดหาทางแก้ไขให้เร็วที่สุด ถ้าอยากจะโรแมนติไซส์นิดหน่อยก็ไม่ว่ากัน แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราทำให้อะไรกับองค์กร สังคมจะได้รับผลกระทบอะไรบ้างจากการตัดสินใจของเรา ถ้าเรามองและคิดทุกอย่างในระดับจุลภาคและมหภาค ก็จะเป็นประโยชน์ที่ทุกคนได้รับร่วมกันค่ะ
นิกแน็ก: 5 ปีก่อน การที่เราตัดสินใจมาอยู่ Tech Company เราไม่ได้มีประสบการณ์มาก่อน จึงกลายเป็นความท้าทายที่สุด ช่วง 3 เดือนแรก เราไม่คิดด้วยซ้ำว่าจะผ่านการทดลองงาน จนตอนนี้ก็เป็นเวลา 5 ปีแล้ว สิ่งที่ทำให้เรายังอยู่ตรงนี้ก็คือความตื่นเต้นท้าทาย เพราะมีอะไรให้เราตื่นเต้นทุกปี ถ้าเราอยู่ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีวิกฤตหรือปัญหาอะไรเลย เราก็ไม่มีทางที่จะได้เรียนรู้จากการทำงาน ไม่ว่าจะมีอะไรเข้ามาก็ตาม เราพร้อมที่จะลองสู้กับมันดูสักตั้ง
ซันบีม: บีมเริ่มจากการเปลี่ยนกรอบความคิดของตัวเองว่า ความสามารถของมนุษย์ไม่มีขีดจำกัด บีมจะไม่ตัดสินตัวเองหรือเพื่อนร่วมงานไปก่อนว่า คุณทำไม่ได้หรอก เราเปิดใจและเปิดกว้างในการฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงาน เวลาที่เขาแชร์ไอเดียกัน ก็จะเกิดเป็นความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ บีมคิดว่าพอเราได้ความคิดส่วนนี้มา ก็สามารถนำมาประกอบรวมกัน แล้วทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งก็จะมีประโยชน์ต่อตัวองค์กรด้วยค่ะ
ทั้ง 3 คนเป็นผู้หญิงที่มีตัวตนที่แตกต่าง ไม่ซ้ำกัน อยากรู้ว่าทางวัฒนธรรมองค์กรของ foodpanda มีการเปิดรับการความเท่าเทียมในเรื่องเพศ หรือความหลากหลายในตัวตนยังไงบ้าง
โกโก้: นอกจากเรื่องของความหลากหลาย ที่นี่มีวัฒนธรรมการเฉลิมฉลองความเป็นตัวตนและปัจเจกบุคคลด้วย โก้เชื่อว่า พอเราเป็นตัวของตัวเอง เราจะมีความมั่นใจและผลักตัวเองไปสู่ศักยภาพที่สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะสุดท้าย ต่อให้เขาจะเป็นอะไรหรือตัวตนที่แท้จริงเป็นยังไง ที่ทำงานยังคงต้อนรับไอเดียและชื่นชมผลงานที่เขาทำ และในมุมขององค์กร ความหลากหลายช่วยขับเคลื่อนองค์กรได้มาก เพราะการที่เรามีผู้คนที่มาจากหลายพื้นเพ หลากหลายความคิด ร้อยพ่อพันแม่ จะทำให้เรามีไอเดียที่มากขึ้นและสร้างไดนามิกใหม่ๆ ให้กับองค์กรได้
ซันบีม: บีมคิดว่า foodpanda ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียม เพราะบีมก็มีโอกาสได้รับเลือกให้เป็น Employee off the month ซึ่งมันมาจากความสามารถของบีมที่ทุกคนยอมรับ ไม่จำเป็นว่าบีมต้องอาวุโสหรือมีอายุงาน 10 กว่าปี นี่เป็นจุดที่ชัดเจนเลยว่า บริษัทไม่ได้เลือกปฏิบัติเพียงแค่อายุ การศึกษา หรือเพศ แต่ดูที่ความตั้งใจและความสามารถ
นิกแน็ก: พอองค์กรมีเชื่อความมั่นในตัวเรา เขาไม่ได้มาบังคับให้เราโฟกัสกับงาน แต่กลายเป็นเราเองที่ต้องจัดการตัวเองให้ดี เช่น ถ้าเราเลือกแล้วว่าวันนี้เราจะโฟกัสเรื่องงาน เรื่องลูกก็ต้องหาคนมาช่วยดูแล หรือวันนี้ลูกไม่สบาย ลูกต้องมาก่อน เราจะทำยังไงให้ไม่กระทบกับงานที่บริษัท จะเอาเวลาไหนมาจัดการงานที่คั่งค้าง ข้อดีคือทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น และมีอำนาจในการตัดสินใจว่าเราจะดำเนินชีวิตไปยังไง โดยที่แน่ใจว่าการทำงานของเรายังดีอยู่ และยังทำตามเป้าหมายของบริษัทได้เหมือนเดิม
สถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดโรคระบาด COVID-19 เชื่อว่าหลายคนน่าจะเครียดหรืออึดอัดจากการ Work from Home อยากรู้ว่า foodpanda มีนโยบายเยียวยาจิตใจพนักงานในช่วงนี้ยังไงบ้าง
นิกแน็ก: ส่วนใหญ่จะเป็นทาง People Team ที่ดูแลทุกคนในองค์กร ก็จะมีกิจกรรมหรือจัดอีเวนต์ต่างๆ ทางออนไลน์ ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมกันมากขึ้น ตรงนี้เรามองว่ามันทำให้เราเหมือนยังอยู่ในออฟฟิศ ไม่ได้รู้สึกเหมือนทำงานที่บ้านเหงาๆ คนเดียว คิดว่าเป็นกิจกรรมที่ดี และทำให้เราได้มีโอกาสรู้จักคนอื่นๆ นอกจากทีมเราด้วย
ซันบีม: นโยบายที่บีมชอบก็คือ Remote Work หรือการที่พนักงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ 30 วันต่อปีปฏิทิน เพราะบีมมองว่าบริษัทให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงาน ซึ่งการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีจะทำให้สามารถสร้างงานที่มีประสิทธิภาพได้ หรือนโยบายอื่นๆ ที่บีมชอบก็อย่างเทศกาลวันสำคัญ เช่น วันวาเลนไทน์ ทางบริษัทก็มี Gift Box มาให้เป็นเพื่อกำลังใจในการทำงาน ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร บีมมองว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมในบริษัทได้ค่อนข้างดีเลย
โกโก้: โก้ชอบนโยบาย Hybrid Workplace คือการที่เราแบ่งบาลานซ์ว่าเราจะมาออฟฟิศบ้าง ไม่มาออฟฟิศบ้าง เรารู้สึกว่ามันทำให้นิยามของการทำงานหรือพื้นที่การทำงานเปลี่ยนไป เพราะจริงๆ แล้ว พื้นที่การทำงานในทุกวันนี้ มันอยู่ที่การจัดการตัวเราเองมากกว่า และที่โก้ชอบมากก็คือ foodpanda มีการให้ยืมเก้าอี้ออฟฟิศด้วย เห็นหลายๆ คนพอกลับไปทำงานที่บ้านก็จะเป็นออฟฟิศซินโดรม ซึ่งการที่เราจะซื้อเก้าอี้เพื่อสุขภาพมาใช้ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูง องค์กรเลยมีการจัดส่งเก้าอี้ให้กับทุกคน เพื่อช่วยลดต้นทุนด้วย
นอกจากการสนับสนุนพนักงานในช่วงโรคระบาด ทั้ง 3 คนมองว่าความพิเศษของการทำงานใน foodpanda ที่อยากจะบอกต่อคนอื่นๆ มีอะไรอีกบ้าง
โกโก้: โก้ชอบนโยบาย Gender Affirmation Leave Policy ที่ให้พนักงานข้ามเพศได้รับวันลาเพิ่ม 10 วัน ในการไปเปลี่ยนแปลงเพศสภาพ พบจิตแพทย์ หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เพศสภาวะของเขา เขาจะได้สิทธิ์นั้นทันที โก้ว่าความเสมอภาค (Equity) เป็นเรื่องที่ดี แต่ความเสมอภาคคือการที่ทุกคนได้รับอะไรเท่าๆ กัน ส่วนความเท่าเทียม (Equality) ต้องเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่ยังต้องการความเท่าเทียมที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่ง foodpanda ค่อนข้างเข้าใจในเรื่องของความเสมอภาคและความเท่าเทียม นอกจากนี้ ยังชอบนโยบายการสร้างห้องน้ำที่เรียกว่า All Gender Restroom ซึ่งหัวหน้าของโก้เป็นคนคิดริเริ่ม เพราะเราอยากสร้างอะไรที่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ให้ทุกคนทราบว่าที่นี่ไม่ใช่แค่นโยบายหรือคำพูด แต่เป็นสถานที่เปิดกว้างให้กับคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกเงื่อนไขของชีวิตค่ะ
ซันบีม: บีมชอบ Well-being Leave ซึ่งบริษัทจะสามารถกำหนดให้พนักงานลาได้ 1 วันต่อปีปฏิทิน เพราะบริษัทเล็งเห็นถึงสุขภาพจิตของพนักงาน บางวันเราอาจจะเกิดภาวะที่เหนื่อยล้าจากการทำงาน เราสามารถติดต่อทางผู้จัดการเพื่อขออนุมัติวันลาได้ และอีกอย่างที่บีมชอบก็คือ Health and Wellness Benefit คือบริษัทใส่ใจเรื่องภาวะการปวดหลังของพลักงาน หรือที่เรียกว่า Office Syndrome โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง Work from Home เราอาจจะนั่งท่าที่ทำให้สรีระผิดแปลกไป เราก็สามารถที่จะเบิกงบไปทำกายภาพหรือนวดแผนไทยได้ อันนี้ก็เป็นนโยบายที่บีมชอบค่ะ
นิกแน็ก: สำหรับเราที่อยู่มานาน ที่นี่จะมี Reward and Recognition โดยการทำให้ทุกคนรู้ว่า คนนี้อยู่มา 5 ปีแล้วนะ และมอบผลประโยชน์ให้ หรือสนับสนุนสิ่งที่เขาอยากจะทำต่อไปในอนาคต ตรงนี้ทำให้เราแฮปปี้ที่จะอยู่ต่อ เพราะเขาเห็นคุณค่าของเราที่อยู่มานาน ทำให้รู้สึกว่าเราต้องตั้งใจทำงาน ต้องมีอะไรมาเพิ่มให้กับองค์กรมากขึ้น นอกเหนือจากนี้ ก็จะเป็นเรื่องของการปฏิบัติต่อคนในองค์กร เพราะถึงแม้จะมีนโยบาย แต่ถ้าคนที่ดูแลเราไม่ได้สนับสนุนเรา เช่น ไปขอลา แต่มีความจุกจิกจู้จี้ มันก็จะไม่เวิร์กใช่ไหมคะ แต่วัฒนธรรมองค์กรของที่นี่ให้ความสำคัญเรื่อง Work-life Balance ไม่เช็กว่าเราลาไปทำอะไร ไม่มาถามว่าไม่ลาได้มั้ย เลยเราค่อนข้างแฮปปี้มากกับวิธีการปฏิบัติต่อคนในองค์กรค่ะ
สุดท้ายนี้ เนื่องจากทั้ง 3 คนเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่มีตัวตนแตกต่างกัน อยากจะใช้พลังของตัวเองในการผลักดันอะไรในสังคมบ้าง
โกโก้: โก้อยากจะบอกว่า International Women’s Day เป็นการเฉลิมฉลองของเราทุกคน ผู้หญิงข้ามเพศก็เป็นผู้หญิงเหมือนกัน การที่เราอยู่ในกระบวนการเคลื่อนไหวเดียวกัน เราควรช่วยเหลือและผลักดันซึ่งกันและกัน ทุกวันนี้มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ เฟมินิสต์หรือกลุ่มหลากหลายทางเพศอยู่เต็มไปหมด ทุกคนพยายามผลักดันมาก แต่เสียงเหล่านั้นจะไม่มีความหมาย ถ้าเราไม่มีตัวแทนที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำ โก้จึงอยากเข้าไปอยู่ในการเมือง และออกนโยบายให้สามารถไปถึงความเท่าเทียมได้มากที่สุด และอยากกลับไปสร้างความรู้ให้กับสถานศึกษา ซึ่งไม่ใช่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ แต่เป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่บ้านเกิด เพราะการที่เราจะทำให้การเคลื่อนไหวต่างๆ เกิดขึ้นได้จริง เราต้องสร้างความรู้ที่มีคุณภาพให้กับทุกแห่งในสังคมค่ะ
ซันบีม: บีมอยากเป็นกระบอกเสียงในการสร้างค่านิยมใหม่ให้กับสังคม สำหรับคนที่ยังมีแนวคิดแบบสังคมชายเป็นใหญ่ตามที่สื่อต่างๆ มักผลิตซ้ำ บีมอยากบอกว่า สุดท้ายไม่ว่าเราจะเป็นเพศอะไรก็ตาม เราทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง เรื่องเพศสภาพไม่เกี่ยวข้องเลย เพียงแค่เราเชื่อมั่นในศักยภาพ เราก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้ และเป้าหมายระยะยาวของบีมคือการเป็นอาจารย์แบบพี่โกโก้ บีมอยากเรียนต่อเกี่ยวกับ Public Policy หรือนโยบายสาธารณะ เพราะบีมเชื่อในเรื่องของความเท่าเทียม โดยไม่ใช่แค่พูดลอยๆ แต่จะต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และผลักดันตัวแคมเปญต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้จริงได้ด้วย
นิกแน็ก: เราอยากเป็นตัวอย่างให้กับผู้หญิงทุกคนในบริษัท เราเห็นผู้หญิงหลายคนในองค์กรที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่แทบไม่ต่างกับผู้ชายเลย เรารู้สึกโชคดีที่อยู่ในองค์กรที่มองเห็นคุณค่าของเรา ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เพราะเรามี Value เดียวกัน คือ ปฏิบัติต่อคนอื่นๆ ด้วยการโฟกัสที่การทำงานของเขา ไม่ใช่โฟกัสว่าเขาเป็นผู้หญิง เขามีลูก หรือเขามีภาระ และสุดท้าย เราอยากเป็นตัวอย่างให้กับลูกสาว ซึ่งเป็นคนที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด อยากทำให้เขามีความมั่นใจว่าเขาสามารถเป็นผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จได้ และมีเราเป็นตัวอย่างที่ดี แน่นอนว่าเราต้องสนับสนุนเขาด้วยความรัก ไม่ใช่ความกดดัน
และนี่คือสิ่งที่เรามองว่า การเป็นผู้หญิงจะช่วยผลักดัน ส่งพลัง และสนับสนุนคนรอบข้างได้ยังไงบ้าง