ในช่วงระยะเวลาไม่ถึงปีมานี้ ข่าวเกี่ยวกับวงการเกมในบ้านเราน่าจะสร้างแรงสั่นสะเทือนสังคมได้ไม่น้อย ไล่เรียงมาตั้งแต่การที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) บรรจุ eSports ให้เป็นหนึ่งในชนิดกีฬา
The Olympic Council of Asia (OCA) ประกาศบรรจุ eSports ให้มีการแข่งขันแบบเต็มรูปแบบในเอเชียนเกมส์ 2022 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน, เด็กไทยเจ๋ง คว้าแชมป์ RoV ในรายการ Throne of Glory ที่เวียดนาม รับเงินรางวัลกว่าล้านบาท ล่าสุดกีฬา eSports ได้ถูกบรรจุเป็นกีฬาสาธิตในเอเชียนเกมส์ 2018 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียด้วย และยังมีเรื่องของตัวเลขการเติบโตของตลาดเกมทั่วโลกที่มีมูลค่าสูงถึงแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เฉพาะของไทยเอง เมื่อปีที่แล้ว ทั้งเกมพีซีและมือถือมูลค่าการเติบโตก็ร่วมๆ หมื่นล้านบาท ติดท็อปอันดับ 20 ของโลก และอีกนานาสารพัดข่าวที่ทำให้หลายๆ คน ตื่นเต้นไปตามๆ กัน
แน่นอนว่ากว่าจะถึงวันนี้ เหล่าโปรเพลเยอร์หรือเกมเมอร์ทั้งหลายในบ้านเราไม่ได้มีภาพลักษณ์สวยหรูดูดีอย่างที่เห็น ถึงข่าวล่าของวงการเกมจะมาแรงอย่างไร ภาพจำของ ‘เด็กติดเกมที่วันๆ เอาแต่นั่งกดๆ หน้าจอคอมและมือถือ อาจเป็นสิ่งที่ใครหลายคนยังไม่เข้าใจ แม้จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่หยิบเอาข้อดีของการเล่นเกมขึ้นมาพัฒนาให้เกมเป็นมากกว่าเกม คำถามก็คือ อะไรที่เป็นปัจจัยให้คนสองกลุ่มมองเกมด้วยสายตาที่ไม่เหมือนกัน
เราจึงอยากพาไปทำความรู้จักกับชาย 3 คนในวงการ eSports ที่มีพื้นเพชีวิตเคยเป็นเด็กติดเกมอย่างที่สังคมเคยว่ามาก่อน แต่ด้วยความรักและความชอบในการเล่นเกมอย่างจริงจัง ทำให้ทุกวันนี้สามารถบอกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าพวกเขามีอาชีพเป็นนักเล่นเกม รวมไปถึงการเป็นนักพากย์เกมที่ประสบความสำเร็จ จนสร้างรายได้จากเกมได้จริงๆ ที่จะมาช่วยตอบข้อสงสัยว่า เกมที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระได้เปลี่ยนชีวิตพวกเขาไปอย่างไร
เจมส์ – เด่นชัย เผ่าเอี่ยมจันทร์ (JameCo)
นักกีฬา eSports แห่งทีม iBEC (IT City Bacon)
หนึ่งในสมาชิกทีมที่คว้าแชมป์ RoV Throne of Glory 2017 ที่เวียดนาม
“คนข้างนอกอาจจะมองว่าผมเป็นเด็กติดเกม เพราะหลายคนยังมองว่าแค่เราจับคอมจับโทรศัพท์ก็กลายเป็นเด็กติดเกมไปแล้ว แต่ทุกวันนี้ผมมาไกลจากเด็กติดเกมคนนั้นมากแล้ว”
ชีวิตตอนเด็กๆ ลำบากขนาดไหน
ตอนเด็กๆ ฐานะที่บ้านเรียกว่าติดลบ ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย พ่อแม่เป็นลูกจ้าง พอเริ่มเข้ามัธยมก็เริ่มมีปัญหา เพราะปกติที่บ้านจะส่งให้ลูกคนโตเรียนก่อน เลยต้องส่งพี่สาวให้เรียนก่อน พอผมจบม.3 เลยไม่มีเงินเรียนต่อ ปกติจะเล่นเกมมาตั้งแต่สมัยประถมแล้ว ตอนนั้นก็เริ่มหาหนทางแล้วว่า ถ้าเขาไม่ให้เงินเล่น เราจะทำยังไง ก็หาของในเกมไปขายแลกเงิน ต่อทุนไปเรื่อยๆ ตอนนั้นมีพวกเกมเปิดใหม่ก็หาของในเกมมาขายได้ พอมีเกมใหม่ก็หาของขายอีก เลยไปอยู่ร้านเกมเป็นหลัก เพราะเป็นที่ที่สามารถหาเงินได้
รู้สึกอย่างไรที่หาเงินจากการเล่นเกมได้
จะมีเด็กอยู่สองกลุ่ม คือเด็กที่เล่นทั่วไปกับเด็กที่เล่นเพื่อหาเงินจากเกม ผมเป็นกลุ่มหลัง เป็นเด็กติดเกมที่เล่นไปด้วยเรียนไปด้วย ทำให้ที่บ้านเขาค่อนข้างแอนตี้ เพราะไม่มีต้นทุน รายได้ตอนนั้นมีเข้ามาเป็นรายวัน วันหนึ่งได้เป็นหลักพัน แต่ก็ต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งเหมือนกัน อยู่ที่ความขยันของเรามากกว่า ถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีเงิน ตอนนั้นก็ดีใจที่การเล่นเกมทำให้เราหาเงินได้ เพราะพอผมขอพ่อแม่ไปเรียนต่อ เขาก็ไม่มีเงินให้ ทำให้เส้นทางเริ่มดับ เลยไม่ได้คิดจะไปทางนั้นแล้ว เพื่อนที่เล่นมาด้วยกันก็ต้องกลับไปเรียนหมด เหลือแค่เราเล่นอยู่คนเดียว ตอนนั้นต้องเลือกระหว่างเรียนกับเล่นเกมไปเลย เพราะถ้าไปเรียนก็ทำให้มีเวลาหาเงินได้น้อยลง เลยเลือกที่จะเล่นเกมแบบเต็มตัว เราก็แบ่งเวลามีทั้งช่วงที่จริงจังและสนุกๆ บ้าง แต่ก็รู้สึกภูมิใจที่เราสามารถหาเงินได้ จริงๆ ก็อยากเรียนสูงๆ แต่เมื่อไม่มีเงิน เราก็ต้องหันมาทางสายนี้แทน
อะไรที่ทำให้มั่นใจว่าการเล่นเกมเป็นอาชีพได้จริงๆ
เริ่มมาจากตอนที่บวชอยู่แล้วเห็นว่าพ่อแม่เริ่มเหนื่อยแล้ว จนคิดขึ้นมาว่าตัวเองเห็นแก่ตัวไหมที่ปล่อยให้พ่อแม่ลำบาก ผมเลยตัดสินใจสึกออกไปหาเงินให้พ่อแม่อยู่สบายมากขึ้น พอดีกับที่ช่วงนั้นเกม RoV เพิ่งเปิดตัว เพื่อนเลยชวนมาสร้างทีมแข่ง ด้วยความที่โตมากับการหาเงินในเกม เลยตัดสินใจลองดู ตอนเข้ามาเรียกได้ว่า ไม่มีต้นทุนเลย ไม่มีแม้กระทั่งโทรศัพท์ดีๆ ที่ต้องใช้ในการซ้อม ก่อนหน้านั้นจะใช้โทรศัพท์เก่า เวลาซ้อมเล่นนานๆ เครื่องก็จะร้อนเล่นไม่ได้ ผมก็เลยไปยืมเงินจากเพื่อนพระที่บวชด้วยกันเพื่อไปซื้อโทรศัพท์ใหม่มาซ้อมเพื่อลงแข่ง คือมั่นใจว่าถ้าเราแข่งชนะได้ที่ 1 จะได้เงินรางวัลคนละแสน ก็คืนเงินเขาได้แน่นอน เพื่อนพระก็เห็นว่าทำได้จริง เขาก็เลยให้ยืม พอแข่งก็ได้ที่ 2 ได้เงินรางวัลประมาณคนละ 5 หมื่น ทำให้เริ่มมีชื่อเสียง ทาง Garena ก็ชวนให้มาทำ Stream ของ Garena Live นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักกีฬา eSports อย่างเต็มตัว คือหาเงินจากการแข่งและการเป็น Streamer ด้วย ตอนนี้คือเกมเป็นชีวิตแล้ว เพราะเราเลือกจะมาทางนี้แบบเต็มตัว
จากเกมที่เคยเล่นสนุก แล้วต้องมาจริงจังเป็นอาชีพ ต้องปรับตัวเรื่องความรับผิดชอบเยอะไหม
แต่ก่อนผมเน้นหาเงินอย่างเดียวแบบวันต่อวัน แต่พอมีรูปแบบของการแข่งขัน จึงต้องมีการซ้อมของทีมและของตัวเอง ใช้เวลาในการปรับตัวให้เป็นการซ้อมแบบมีระบบ คือจัดเวลาใหม่และต้องแบ่งเวลาไป Stream ด้วย ผมจะแบ่งเวลาไป Stream ช่วงเช้ากับบ่าย ตอนดึกก็ซ้อมกับทีม วนอยู่อย่างนี้ทุกวัน เป็นงานที่ต้องใช้ความรับผิดชอบมากกว่าเดิมเยอะ การที่คนนอกมองมาว่าวันหนึ่งเราเล่นเกม 8 ชั่วโมง เขาก็มองว่าเป็นเด็กติดเกมแล้ว แต่เขาไม่รู้ว่าเวลาที่เสียไปมันสร้างเงินได้ เด็กติดเกมก็เล่นไปขำๆ สนุกๆ ไป แต่การหาเงินคือต้องมีความรับผิดชอบ สิ่งที่เหมือนกันคือใช้เวลาเล่นเกมเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องแยกกันให้ออก
คิดว่าเกมเปลี่ยนชีวิตเราไปอย่างไร
ผมใช้เวลาเล่นเกมมาทั้งชีวิต คนข้างนอกอาจจะมองว่าผมเป็นเด็กติดเกม เพราะหลายคนยังมองว่าแค่เราจับคอมจับโทรศัพท์ก็กลายเป็นเด็กติดเกมไปแล้ว แต่ทุกวันนี้ผมมาไกลจากเด็กติดเกมคนนั้นมากแล้ว อยากให้มองแบบไม่ติดลบมากกว่า เพราะเด็กติดเกมกับนักกีฬาแตกต่างกันมาก นักกีฬาจะมีความรับผิดชอบสูงมาก การซ้อมตัวเอง การซ้อมกับทีม การ พัฒนาตัวเองให้มากขึ้น รู้สึกตกใจตัวเองเหมือนกันที่จากแต่ก่อนเป็นเด็กที่เล่นเกมหาเงินไปวันๆ มาวันนี้ต้องมาจริงจังกับด้านนี้อย่างเต็มที่ eSports ก็เหมือนเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง ซึ่งตอนนี้มันเป็นการแข่งขันระดับประเทศไปแล้ว อยากให้พ่อแม่ทุกคนเปิดใจว่าสิ่งที่ลูกทำว่ามันไปได้ไกลแค่ไหน ให้ลองถามว่าเขาเล่นเกมทุกวันนี้ไปเพื่ออะไร พ่อผมก็ถามผมว่าเล่นเกมไปเพื่ออะไร ผมก็ตอบว่าเพื่อครอบครัวและเพื่อตัวเอง
อิฐ – อิศรา พวงชมภู (Rezalett)
Shoutcaster ผู้เคยผ่านงานพากย์การแข่งขันระดับประเทศมาแล้วมากมาย
“การออกมาจาก social norm ไม่ใช่อะไรที่ผิด แต่เราต้องผลักตัวเองออกจากคนอื่น รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่และมีเส้นทางที่จะเดินต่อไปข้างหน้า การเป็นนักแคสต์เกมสำหรับผมจึงไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะมันคือสิ่งที่ผมรัก”
ตอนเด็กๆ ถือว่าเป็นเด็กติดเกมไหม
เกิดมาก็จับจอยเกมแล้ว พี่ทุกคนก็เล่นเกมหมด พ่อก็เป็นคนที่ติดเกมพอสมควร แม่เคยเล่าให้ฟังว่าไปออกเดทกันแล้ว แม่ต้องรอพ่อเล่นเกมให้เสร็จก่อน พอเริ่มโตขึ้นมาพ่อก็ซื้อเครื่องเพลย์สเตชันให้ แต่บางครั้งก็เล่นเยอะเกินไป พ่อเลยตั้งกฎว่าเล่นเกม 3 ชั่วโมง อ่านหนังสือ 3 ชั่วโมง ซึ่งผมก็ไม่อ่านด้วย ตอน ม.ปลาย ก็เริ่มเล่นเกมที่ร้านเกม รู้สึกว่ามันสนุก เพราะเริ่มเล่นจากเกมที่เล่นได้หลายคน จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต แต่ก่อนเป็นเด็กเงียบๆ คนหนึ่ง เรียนโรงเรียนนานาชาติแต่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเลย เพราะมีเพื่อนคนไทยอยู่สองสามคน พอเล่นเกมทำให้ได้รู้จักคนต่างชาติมากขึ้น ได้พูดมากขึ้น ตอนนั้นเราเล่นเกมได้เก่งกว่ามาตรฐานด้วย ทำให้เรารู้สึกมั่นใจในตัวเอง จนในที่สุดเกมทำให้เราได้ใช้ชีวิตในโรงเรียนสนุกสนานอย่างที่ควรจะเป็น
เล่นไปถึงขั้นไหนถึงรู้สึกว่าการติดเกมเป็นปัญหา
ตอนนั้นอยู่บ้านเล่นเกมทั้งวัน ยังไม่รู้ว่าการเรียนจะเอายังไง พ่อแม่ก็กังวลมาก ตอนขึ้นม.1 ผมสอบตกไปประมาณ 2 วิชา แม่ก็เสียใจเพราะส่งค่าเทอมไปตั้งแพง แล้วด้วยความที่แม่เป็นคนธรรมะธัมโม ไม่เคยตีเลย ทำให้เรารู้สึกผิดมาก เลยได้รู้จักกับคำว่ารับผิดชอบ สัญญากับตัวเองว่าเล่นเกมได้ แต่จะทำยังไงให้ชีวิตนี้ไม่มีทางสอบตกอีกเด็ดขาด ทำให้แม่ไม่ผิดหวังก็พอแล้ว ตอนมหา’ลัยถือว่าเรียนหนัก เกมจึงไม่ใช่ priority แรกต่อไป คิดว่าเพราะติดเกมมาเยอะแล้ว ถ้าไม่เล่นสักอาทิตย์หนึ่งคงไม่เป็นอะไรหรอก สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือหลายๆ อย่างขึ้นอยู่กับเรา อาจจะไม่ได้รู้สึกผิดกับคนอื่น แต่อาจจะรู้สึกผิดกับตัวเองรึเปล่า ท้ายที่สุดเกมเป็นตัวตนของเรา แต่เราก็อยากทำเพื่อคนอื่นด้วยเหมือนกัน
เรียนจบอะไรมา ทำไมถึงเลือกมาทำงานสายนี้
ผมจบจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคอินเตอร์ จริงๆ เคยทำงานมาแล้วหลายประเภท อย่างครูสอนเศรษฐศาสตร์ บาริสต้า ทำมาร์เก็ตติ้ง เป็น Consult หรือเป็นนายแบบ เพราะไม่รู้ว่าตัวเองอยากไปทางไหนหรือทำอะไรอย่างแน่ชัด คิดเพียงแต่ว่า อยากทำอะไรก็ทำ แต่ขอให้ทำแล้วทั้งเราและคนอื่นมีความสุข รู้ว่าชอบเกม ไม่เคยคิดหรอกว่าในวันหนึ่งมันจะกลายมาเป็นงานของเรา แต่ตอนนี้เราเองมีโอกาสทำ Shoutcaster แล้วก็พบว่ามีความสุขดี ยิ่งเวลาพากย์ แล้วคนอื่นสนุกมันก็ยิ่งมีความสุขด้วย มันเลยตอบโจทย์ทุกอย่าง
อะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำมั่นใจว่าอยากทำงานเกี่ยวกับวงการเกม
เป็นเรื่องตลกมาก มันเกิดขึ้นตอนสมัยเรียน เพื่อนจะเรียกชื่อ Rezalett ซึ่งคือชื่อในเกมของผม ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกมีตัวตนขึ้นมา แล้วมีจังหวะตอนที่เรียนจบ แล้วเพื่อนสมัยเรียนกลับมาเจอกัน เพื่อนคนหนึ่งทำงานอยู่ Apple อีกคนทำงานอยู่ Facebook เพื่อนก็ถามว่าตอนนี้เราทำอะไรอยู่ เราก็บอกว่าพากย์เกม ตอนนั้นผมรู้สึกว่า ตัวผมเองก็แฮปปี้ดี ไม่คิดว่าจะต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ถ้าเรารับได้ คนอื่นก็ต้องรับได้ การออกมาจาก social norm ไม่ใช่อะไรที่ผิด แต่เราต้องผลักตัวเองออกจากคนอื่น รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่และมีเส้นทางที่จะเดินต่อไปข้างหน้า การเป็นนักแคสต์เกมสำหรับผมจึงไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะมันคือสิ่งที่ผมรัก บางทีเจอเกมน่าเบื่อ แต่ทุกเกมก็มีศิลปะของมัน ถ้าเราอยากให้คนรู้จักเกมมากขึ้นก็ต้องตั้งใจทำ เพราะมันคือหน้าที่ของเรา
รู้สึกอย่างไรที่คนภายนอกมองเกมเป็นเรื่องไร้สาระ
รู้สึกว่าเขาก็มีเหตุผลที่เขามองอย่างนั้น เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เล่นเกมจะสามารถเข้าใจว่าตัวเองเล่นเกมไปเพราะอะไร แค่รู้สึกว่าสนุก แต่ในฐานะที่เราเป็นสื่อระหว่างเกมกับคนภายนอก หน้าที่ของผมคือการทำให้เขารู้ว่าเล่นเกมไปแล้วจะได้อะไรกลับมาบ้าง ให้รู้ว่าเกมมีอะไรบ้าง เหมือนกับคนที่คนเมื่อร้อยกว่าปีก่อนมองว่า การที่เอาลูกกลมๆ มาวางไว้แล้วเตะเข้าประตู ก่อนจะมันมีกฎอะไรมากขึ้น มีศิลปะในการวางแผนต่างๆ จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ฟุตบอล ผมมองว่าเกมก็คล้ายๆ กัน มันเริ่มจากพิกเซลเล็กๆ กลายเป็นสิ่งที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า eSports Arena ตอนนี้อาจจะยังไม่บูมทั่วโลก แต่เชื่อว่ากำลังมาแน่นอน
คิดว่าเกมเปลี่ยนชีวิตเราไปอย่างไร
ผมว่าเปลี่ยนในเรื่องของมุมมอง ส่วนตัวผมเป็นคนมองอะไรที่ลึกพอสมควร ผมมองว่าเกมแต่ละเกมก็ให้อะไรไม่เหมือนกัน แต่ก่อนเพื่อนเคยถามว่าเล่นเกมไปเพราะอะไร ผมตอบไปว่าเพราะสนุก ซึ่งเป็นเกมที่เล่นคนเดียว แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แบบนั้นอย่างเดียว ผมมองว่าเกม RPG (Role-playing game คือเกมประเภทหนึ่งที่ผู้เล่นรับบทเป็นตัวละครหนึ่งในเกม โดยเล่นตามกฎกติกาของเกมผ่านการป้อนคำสั่งและเลือกเงื่อนไขที่เกมกำหนดมา ผลลัพธ์ที่เกิดจะแตกต่างกัน ตามเงื่อนไขที่เลือก ) เหมือนเป็นหนังสือที่เราควบคุมได้ เพราะแต่ละเกมก็มีเนื้อเรื่องที่แตกต่างกันออกไป ถ้าได้เข้าใจเนื้อเรื่องจริงๆ มันสะท้อนถึงผลกระทบของโลกใบนี้ได้มากเลย พอโตขึ้นจากการซึมซับเนื้อเรื่อง ก็กลายมาเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นเวลาดูฟุตบอลก็คิดว่านักเตะคนนี้หรือผู้จัดการคนนี้เก่ง ก็เหมือนเกมที่เราสงสัยว่าทำไมเขาเล่นตัวนี้ได้เก่ง เมื่อก่อนผมแค่อยากให้มีคนพูดชื่อผม แต่ตอนนี้ตอนกลายเป็นการทำหน้าที่ของ Shoutcaster คืออยากให้คนดูรู้สึกว่าเขาเล่นเกมไปทำไม อยากให้หลายคนเข้าใจ ไม่ต้องส่งเสริมก็ได้ แค่ไม่ปิดกั้นก็พอ เด็กที่มีความฝันก็สามารถไล่ทำตามความฝันของเขาได้ อาจเกิดอะไรที่น่าตื่นเต้นในวงการเกมอีกก็เป็นได้
โชค – บุญโชค เฟื่องเงิน (C Carry)
นักกีฬา eSports แห่งทีม HardStyle และ Streamer ที่ติดอันดับ TOP 5 ความนิยมใน Garena Live
“การที่มาถึงตรงนี้ได้ ผมให้พรสวรรค์ของตัวเองครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งให้พรแสวง เพราะผมก็ไม่ได้เก่งมากมายขนาดนั้น แต่อาศัยการซ้อมและการเล่นทุกวัน ต้องแยกแยะเป็นว่าเล่นเพื่อสนุกกับเล่นเพื่ออาชีพมันไม่เหมือนกัน”
ชีวิตตอนเด็กเป็นอย่างไร
ตอนเด็กๆ ที่บ้านไม่มีเงินมาก อยู่เป็นบ้านเช่า พ่อกับแม่รับจ้างธรรมดา ชีวิตวันๆ ก็ไปเรียนกับเล่นเกม พอผมขึ้นม.ปลายพ่อก็เสีย เหลือแม่คนเดียว พี่สองคนไม่ได้เรียนต่อ เพราะต้องออกไปทำงานช่วยที่บ้านเพื่อส่งผมเรียน ตอนนั้นที่บ้านยังไม่ได้ขายของ ช่วงนั้นก็มีเล่นเกมแบบไร้สาระไปวันๆ แต่ไม่ได้มีเงินไปเล่นมากมาย เพราะค่าเล่นก็ชั่วโมงละ 10 บาท แต่เรามีค่าขนมแค่ 20 บาท พอเงินหมดก็นั่งอยู่ในร้านเกม ตอนนั้นมันมีเกมเก็บเลเวล ซึ่งเป็นเกมที่น่าเบื่อ พี่ๆ ที่อยู่ที่ร้านเขาก็ให้เราเล่นให้ ความที่เราเป็นเด็ก เราก็อยากเล่น จะมีช่วงปิดเทอมที่เขาจ้างให้เราคุมร้านเกมไปเลย ทำให้เราได้เล่นทั้งวัน ดีตรงที่ตอนนั้นมีเงินมาเป็นค่าขนมให้ตัวเองจากการทำงานที่ร้านเกมด้วย ไม่ได้รบกวนแม่กับพี่เท่าไหร่ ร้านเปิด 24 ชั่วโมงก็เล่นอยู่อย่างนั้น บ้านอยู่ซอยตรงข้ามร้านเกม กลับบ้านไปอาบน้ำแล้วก็กลับมาอยู่ร้านเกมทั้งวัน
ตอนนั้นรู้สึกว่าติดเกมหนักเกินไปไหม
ตอนนั้นยังเป็นเด็ก ยังไม่ได้คิดอะไรขนาดนั้น เลยใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ของเรา ถ้าได้เล่นก็เล่น มีช่วงหนึ่งที่ห่างเกมไป คือช่วงม.ปลาย เพราะเรียนเสร็จต้องมาช่วยพี่ขายของที่คลองหลอด กลับมาบ้านก็ไม่มีคอม เกมโทรศัพท์ก็ยังไม่บูม ชีวิตก็เลยมีอยู่เท่านั้น พอเข้ามหา’ลัย ก็มีเปิดร้านขายของของตัวเอง พอทำงานขายของก็ทำให้ไม่มีเวลาไปเล่นเกมที่ร้าน ได้แต่คิดว่าถ้าเป็นเกมในมือถือ น่าจะเล่นตอนไหนก็ได้ ตอนนั้นไอโฟน 7plus ออกมาวันแรกก็ซื้อเพื่อมาเล่น RoV เลย คือผมอยู่กับเกมมานาน ด้วยความที่เป็นเกมที่เปิดในไทย เลยคิดว่าน่าจะมีกิจกรรมอะไรเยอะ เลยหันมาเล่นอย่างจริงจัง ก็เล่นมาถึงจุดที่มีเพื่อนเยอะ เลยตัดสินใจทำทีมลงแข่งกัน พอแข่งไปสักพักเริ่มมีคนรู้จัก เริ่มได้เงินรางวัล พอถึงจุดนั้นเลยรู้สึกว่าต้องทำเป็นธุรกิจแล้ว
อะไรที่ทำให้มั่นใจว่าจะเล่นเกมเป็นอาชีพหรือเป็นธุรกิจได้จริงๆ
ถึงจุดที่เราได้เงินจากเกมมากกว่าการไปนั่งขายของ เราก็เลยเลิกขายของเลย ที่บ้านก็บ่น เพราะเขายังไม่มั่นใจขนาดนั้น เราก็เอาเงินไปให้เขาดู เอารูปที่เราไปแข่งให้เขาดู เขาก็ถามว่ามันจะไปได้ตลอดไหม ผมเองก็แค่รู้สึกว่าต้องมาทางนี้ก่อน จะดีไม่ดียังไงผมก็ยังกลับไปขายของได้เหมือนเดิม คือพอมีเรื่องของเงินเข้ามาก็เป็นหน้าที่แล้ว เหมือนเราทำงานปกติ เข้างานปกติ แต่งานนี้เป็นงานที่เราชอบ ตอนแข่งก็เหมือนการเล่นทั่วไป แต่แค่จะกดดันกว่านิดหน่อย ความรู้สึกที่เคยมีก็ยังไม่หายไป เพราะยังไงมันก็คือเกม ที่ให้ความสนุกอยู่แล้ว และมันยังให้เงินเราด้วย กลายเป็นว่าได้สองอย่างจากการเล่นเกมแค่อย่างเดียว
เคยคิดอยากกลับไปทำงานตามสายที่เรียนจบมาไหม
ผมเรียนจบเศรษฐศาสตร์ ราชภัฏสวนสุนันทา เราเป็นคนชอบตัวเลขนะ แต่ถ้าหมายถึงต้องไปทำงานเป็นเวลาทุกวัน จันทร์-ศุกร์ ไม่ได้คิดเลย เพราะรู้ตัวตั้งแต่ตอนฝึกงานปี 3 แล้วว่ามันไม่ใช่ทาง แล้วก็ชอบเล่นเกมกับขายของมากกกว่าด้วย เอาจริงๆ สมมติว่าถ้าสุดท้ายแล้วในอนาคตไม่ได้อยู่ในวงการนี้ต่อ คงเอาเงินเก็บสักก้อนที่ได้จากการเล่นเกมไปลงทุนเปิดร้านขายของช่วยที่บ้านเป็นของตัวเองสักหนึ่งร้าน คือชอบแบบนั้นมากกว่า
พอการเล่นเกมเป็นอาชีพ มีการจัดการเรื่องเวลาซ้อมอย่างไร
คือผมจะแบ่งเวลา จะตั้งนาฬิกาปลุกเลยคือ 6 โมงเช้าจะตื่นมา Stream ไปจนถึงประมาณ 9 โมง แล้วแต่ว่าคนดูเยอะหรือไม่เยอะ ถ้าคนดูเยอะก็ลากไปเรื่อยๆ แต่พอตอน 4 โมงเย็นก็ต้องไปรับหลาน และกลับมาพักทำนู่นนี่ แล้วช่วงหัวค่ำก็มาซ้อมกับทีม ทุกวันนี้ค่อนข้างพอใจกับชีวิต เพราะว่าการไม่ต้องดิ้นรนมากเหมือนแต่ก่อน ตอนขายของก็มีลูกค้าบ้างไม่มีบ้าง แล้วแต่ดวงอีกต่างหาก จริงๆ อาชีพนี้มันพูดยากเหมือนกัน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเล่นแล้วได้เงินหรือประสบความสำเร็จ เราเป็นส่วนน้อย เพียงแค่เราเริ่มมาก่อนคนอื่น อย่างในไทยก็เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น จริงๆ ก็มีเด็กที่เล่นเก่งเยอะ แต่ยังแค่ไม่คิดจะจริงจังกับมันมากกว่า ถ้าให้ทำเป็นอาชีพต้องมีวินัยและระเบียบมากกว่านี้
คิดว่าเกมเปลี่ยนชีวิตเราไปอย่างไร
ชีวิตก็สบายขึ้น มีเงินใช้ ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้ซื้อของที่อยากได้ และมีเงินเก็บด้วย การที่มาถึงตรงนี้ได้ ผมให้พรสวรรค์ของตัวเองครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งให้พรแสวง เพราะผมก็ไม่ได้เก่งมากมายขนาดนั้น แต่อาศัยการซ้อมและการเล่นทุกวัน มันเหมือนความเคยชินทำให้เล่นได้อย่างทุกวันนี้ ต้องแยกแยะเป็นว่าเล่นเพื่อสนุกกับเล่นเพื่ออาชีพมันไม่เหมือนกัน อนาคตอยากให้คนยอมรับนักกีฬา eSports ว่าเป็นอาชีพที่ทำเงินได้จริงๆ เหมือนกีฬาอื่นๆ เลย อย่างกีฬาทั่วไปอาจจะใช้ร่างกายในการเล่น แต่เกมเราใช้สมองกับมือเราแทน ซึ่งต้องใช้ทักษะความสามารถและการฝึกฝนเหมือนกัน วิธีการที่จะไปถึงระดับโลกให้ได้คือต้องซ้อมอย่างเดียวเลย นอกจากนั้นยังมีระบบทีม การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีมเวิร์ค เพราะมีแค่ไม่กี่คนจากผู้เล่นเป็นล้านคนที่จะได้ไป
แม้พื้นฐานของชีวิตทั้งสามคนจะแตกต่างกัน แต่ด้วยสถานะของการชอบเล่นเกมที่มีเหมือนกัน และเลือกที่จะทุ่มเทให้กับความฝันนั้นอย่างเต็มที่ สิ่งที่พวกเขารักอย่าง ‘เกม’ ก็พร้อมจะเปลี่ยนชีวิตพวกเขาได้เสมอ ความฝันและความจริง หลายคนอาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ถ้าเรามุ่งมั่นและเชื่อมั่น ความฝันก็สามารถกลายเป็นความจริงได้