พี่ตูนบอกว่า ‘ชีวิตมันต้องเดินตามหาความฝัน’ แต่ความฝันของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บ้างอยากทำงานดีๆ มีเงินทองเยอะๆ ไม่เลอะเทอะเรื่องความรัก มีบ้านพักหลังใหญ่ หรือขอแค่มีลมหายใจในแต่ละวันก็เพียงพอแล้ว
แน่ละ ทุกคนย่อมมีความฝันเป็นของตัวเอง แต่หนึ่งในฝันที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ฝันใดก็คือ ความฝันของคนต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ามาศึกษาทำงานในเมืองหลวง ความฝันเหล่านั้นคือการได้กลับไปทำงานพัฒนาบ้านเกิดเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ครอบครัวและชุมชน
น่าเสียดายที่หลายครั้งความฝันเหล่านั้นไม่มีวันเป็นจริง เนื่องจากเด็กต่างจังหวัดหลายคนจบการศึกษาแค่เพียงขั้นพื้นฐาน และไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอในการเล่าเรียนต่อในระดับที่สูงกว่านั้น มันจึงเป็นเรื่องน่ายินดีถ้าหากมีใครสักคนสนับสนุนเด็กต่างจังหวัดให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากขึ้น กระทั่งความฝันเล็กๆ ของพวกเขา กลายเป็นความจริงที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้
กลับบ้านเรา รักรออยู่
เดาว่าทุกคนคงมีเพื่อนสนิทที่มาจากต่างจังหวัดอยู่ในกลุ่มแก๊งของตัวเองไม่มากก็น้อย คุณเลยลองถามเขาๆ เธอๆ เหล่านั้นไหมว่า ปั้นปลายชีวิตอยากไปอยู่ที่ไหนบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินแห่งนี้ (คงไม่มีใครตอบว่าอยากออกไปอวกาศหรอกนะ หรือมีนะ?) เชื่อได้ว่าร้อยทั้งร้อยคงมีความฝันอยากกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองแน่ๆ
หลายครั้งคนต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ามาในเมือง ต่างประสบปัญหาเผชิญหน้ากับโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต การศึกษาจากศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง UddC (1) บอกว่า การใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ มีแต่เรื่องเจ็บปวด เพราะทำให้เรา “จน” จากค่าครองชีพที่แพงสาหัส “อ้วน” จากโครงสร้างเมืองที่ย่ำแย่ และ “ไม่มีแฟน” จากการขาดพื้นที่สาธารณะในการสร้างปฏิสัมพันธ์ คนต่างจังหวัดส่วนมากจึงมีความฝันลึกๆ ว่าอยากหนีจากกรุงเทพฯ กลับภูมิลำเนาเป็นเรื่องธรรมดา
แต่จะกลับบ้านทั้งที คงไม่ใช่การกลับมือเปล่าใช่ไหมล่ะ? หลายคนจึงอยากนำองค์ความรู้ที่เล่าเรียนมาไปพัฒนาบ้านเกิดตัวเองจนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เห็นได้จากตัวอย่างรุ่นใหญ่หลายคนที่ทิ้งเงินเดือนเฉียดแสน กลับมาทำไร่ทำสวน ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติอย่างมีความสุข เกิดเป็นเทรนด์สำนึกรักบ้านเกิดที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ขณะนี้ ปัญหาอย่างเดียวที่ขัดขวางความฝันคือการไร้โอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ในระดับสูง ฉะนั้นมันจึงเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เราต้องยอมรับว่ามันมีอยู่จริง
เพราะการศึกษายกระดับคุณภาพชีวิต
รู้หรือไม่? ผลการพัฒนาการศึกษาไทยที่ผ่านมา บริบทของการจัดการศึกษาเด็กไทยส่วนใหญ่เข้าสู่ระบบการศึกษาน้อยลง ทำให้สถานศึกษามีแนวโน้มมีขนาดน้อยลง เป็นเหตุให้รัฐบาลไฟเขียว “แผนการศึกษาชาติ 20 ปี” เพื่อขับเคลื่อนให้คนไทยต้องได้รับการศึกษาทุกคน
มีงานวิจัย “เรื่องการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย” ของ อัญญรัตน์ นาเมือง (2553) (2) ที่กล่าวว่า สาเหตุสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา มาจากคำกล่าวที่ว่า “การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ” ชี้ชัดให้เห็นว่าการศึกษานั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ สังเกตได้จากหลายประเทศที่ประชาชนมีความสูง ย่อมส่งผลให้ประเทศนั้นๆ มีความเจริญมากขึ้นตามไปด้วย
น่าเสียดายที่ประเทศไทยมีเยาวนชนหลายคนจบเพียงการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากทุนทรัพย์ไม่พอในการเล่าเรียนในระดับสูง จึงไม่แปลกที่เรามักได้ยินวาทกรรม “คนจนมักไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาเพราะขาดทุนทรัพย์” สังเกตได้จากสัดส่วนนักเรียนที่อยู่นอกระบบย้อนหลังช่วงปี 2554 – 2556 (3) ที่คงที่อยู่ประมาณ 3.4 ล้านคนมาโดยตลอด
ดังนั้นวาทกรรมดังกล่าวจึงเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ต้องรีบกำจัดออกไปให้ได้ในสังคมไทย
ทุนการศึกษา คือโอกาสทางความรู้
แต่ใช่ว่าการพัฒนาการศึกษาจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากเป็นเรื่องของทุกภาคที่จะต้องร่วมมือกันในการให้โอกาสการศึกษาแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม
CPALL เป็นอีกหนึ่งองค์กรเอกชนที่เห็นความสำคัญของโอกาสในการศึกษา โดยนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารกล่าวว่า CPALL มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพคนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย จึงได้ดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม
ตลอดระยะเวลา 22 ปี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์, ศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์ และสถานศึกษาในเครือข่ายความร่วมมือ ได้ผลิตเยาวชนที่มีความรู้ความสามารถไปแล้วกว่า 12,000 คน โดยในปี 2561 CPALL เตรียมมอบทุนการศึกษาให้แก่เยาวชน จำนวน 23,600 ทุน รวมเป็นเงินกว่า 1,100 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการศึกษาให้กับเยาวชนไทย โดยคาดหวังว่าผู้ได้รับทุนจะนำวิชาความรู้กลับไปพัฒนาชุมชนของตัวเอง
PIM Smart ทุนฟรี มีแต่ได้กับได้
“กองทุนเพื่อชีวิตแห่งการเรียนรู้” หรือ PIM SMART เป็นหนึ่งในกองทุนที่มอบให้กับนักศึกษาในระดับปริญญาตรีที่เข้าเรียน ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), ผู้บริหารของบริษัท กลุ่มพันธมิตรคู่ค้าทางธุรกิจ และบุคคลทั่วไปที่มีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนส่งเสริมเยาวชนไทยให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระหว่างการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการจะช่วยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การศึกษา และช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของนักศึกษาที่ยังขาดแคลน เพื่อให้นักศึกษาสามารถรักษาสมดุลทั้งด้านวิชาการ การฝึกปฏิบัติงาน รวมถึงเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีความหมายในทุกๆ แง่มุม
อีกหนึ่งฝันใหญ่ ของคนตัวเล็ก
จากเด็กลูกครึ่งในชุมชนชาวม้ง ที่บ้านทำอาชีพเกษตรกรปลูกพืชไร่ที่จังหวัดตาก ด้วยฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน ทำให้นาย ณรงค์ ผาบัว แทบไม่มีโอกาสในการเรียนต่อในระดับสูง แต่ความตั้งใจอันแรงกล้าที่จะทำให้ครอบครัวมีอนาคตที่ดี ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ หลังจากได้ฟังคำแนะนำของครูแนะแนวเกี่ยวกับสถาบัน เพื่อเรียนต่อที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ณรงค์เล่าว่า สาเหตุที่เขาเลือกเรียนสถาบันแห่งนี้เพราะมีทุนการศึกษาที่มอบให้ตั้งแต่เริ่มจนจบ ทั้งยังมีกองทุนเพื่อชีวิตแห่งการเรียนรู้ หรือ PIM SMART ซึ่งเป็นกองทุนที่ให้ค่าครองชีพสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้เขาไม่ต้องรบกวนค่าใช้จ่ายจากทางบ้านใดๆ
“นอกจากปัญญาภิวัฒน์จะให้ทุนการศึกษาแก่ผมแล้ว สิ่งที่สำคัญคือยังสอนให้ผมรู้จักการแบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เป็นแค่ผู้รับเพียงฝ่ายเดียว การได้เรียนควบคู่กับการฝึกปฏิบัติงานจริง ทำให้ผมได้รับประสบการณ์ที่ดี มีโลกทัศน์ที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำความรู้ที่มีไปต่อยอดช่วยเหลือพี่ๆ น้องๆ ในหมู่บ้านต่อไป และเมื่อเรียนจบ ผมก็มีงานทำ มีรายได้ไปเลี้ยงดูพ่อแม่ด้วยครับ” ในที่สุดฝันของเขาก็เป็นจริง ณรงค์พิสูจน์แล้วว่า คนเล็กๆ หากได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม พวกเขาก็จะสามารถพัฒนาคุณชีวิตได้อย่างแท้จริง
เพราะสังคมนี้มีโอกาสที่พร้อมรอการแบ่งปันอยู่มากมาย ทุน PIM SMART จึงเป็นอีกหนึ่งกองทุนที่สนับสนุนเยาวชนให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม และช่วยเติมเต็มความฝันกับคนตัวเล็ก ให้หอบหิ้วความรู้และหัวใจกลับบ้านไปพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนของตัวเองให้ยั่งยืน
ตรวจสอบรายละเอียดทุน PIM SMART ได้ที่ https://www.pim.ac.th/pages/pimsmart
อ้างอิง
(1) เมืองอะไรเอ่ย…อยู่แล้ว “จน อ้วน ไม่มีแฟน”
เมืองอะไรเอ่ย…อยู่แล้ว "จน อ้วน ไม่มีแฟน".เพราะชีวิตที่ดีคือชีวิตที่เปิดกว้างและเชื่อมต่อกับคนอื่น แต่ใน…
Posted by Urban Design and Development Center on Thursday, August 10, 2017
(2) การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย Educational Reform in Thailand
http://library.senate.go.th/document/Ext8665/8665180_0002.PDF
(3) สถิติการศึกษาของประเทศไทย ปีการศึกษา 2555-2556 (หน้า 7)
http://www.moe.go.th/moe/upload/news20/FileUpload/39719-2357.pdf
หมายเหตุ : ชื่อบทความได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือชื่อ “วันที่หัวใจกลับบ้าน” ของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสิรฐกุล สำนักพิมพ์สามัญชน