เมื่อวันที่ 20-21 เมษายน ที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หรือ กองทุนที่มุ่งสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ด้วยการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์
ได้ทำการลงพื้นที่ที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อไปพูดคุยกับตัวแทนผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาของ กสศ.ในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ก่อนที่พวกเขาจะเข้ารับประกาศนียบัตรจบการศึกษา
The MATTER จึงมีโอกาสได้พูดคุยกับทั้งตัวแทนผู้ที่ได้รับทุน รวมถึงครอบครัวของพวกเขาถึงความรู้สึกหลังจบการศึกษา และความยากลำบากก่อนที่จะได้รับทุนจาก กสศ.
ถ้าไม่ได้รับทุน ก็คงไม่ได้เรียนต่อเหมือนกับเพื่อนๆ
เราเดินทางไปพบกับ นัจนี หะเดร์ หรือ มี นักศึกษาผู้ช่วยพยาบาลจากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ที่ได้รับทุนจาก กสศ. ซึ่งเธออาศัยอยู่กับพ่อ และ พี่สาวอีก 4 คน โดยมีสองคนที่ทำงานที่ภูเก็ต และพี่สาวอีกสองคนพิการ นอกจากนี้ เธอยังมีหลานอีกสองคน ที่อยู่ภายในบ้านไม้หลังเล็กๆ และ ค่อนข้างทรุดโทรมร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม วันที่เราได้เดินทางไปพบครอบครัวเธอ สมาชิกในบ้านอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา เราจึงเริ่มพูดคุยกับเธอว่า ทำไมเธอถึงเลือกเรียนเป็นผู้ช่วยพยาบาล?
นัจนี กล่าวว่า เธออยากเป็นผู้ช่วยพยาบาลตั้งแต่ ม.4 แต่ในเวลานั้นก็คิดว่าฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี เลยตัดสินใจที่จะขอทุน กสศ.เพื่อเรียนเป็นผู้ช่วยพยาบาลที่มีระยะการเรียนประมาณหนึ่งปี โดยหลังจากนั้นเธอก็ได้ทุนตามที่ตั้งใจไว้ เนื่องจากระหว่างที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา เธอเป็นจิตอาสาหน่วยกู้ชีพพิทักษ์ภัย และ เธอยังมีผลการเรียนที่ค่อนข้างดี
ทั้งนี้ เราสอบถามถึงเพื่อนๆ ของเธอในช่วงมัธยมศึกษาว่า ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาได้เรียนต่อกันมากน้อยเพียงใด เนื่องจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ถือเป็นจังหวัดที่มีอัตราค่าครองชีพต่ำที่สุดในประเทศไทย โดยค่าแรงขั้นต่ำตกวันละ 330 บาทเท่านั้น ดังนั้น ทั้ง 3 จังหวัดจึงติดโพลพื้นที่ที่ยากจนที่สุดในไทยอีกด้วย
โดยคำตอบของนัจนี ค่อนข้างน่าใจหายเพราะเธอระบุว่า “เพื่อนรุ่นเดียวกันส่วนใหญ่เลือกที่จะทำงาน หรือบางคนก็เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ซึ่งหากคิดเป็นตัวเลขคร่าวๆ เพื่อนของหนูไม่ได้เรียนต่อประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนใหญ่เลือกที่จะไปทำงานในกรุงเทพฯ เป็นพนักงานตามร้านสะดวกซื้อ เป็น รปภ.”
เธอเสริมว่า “แต่จริงๆ แล้วพวกเขาอยากเรียนต่อนะ แต่ไม่มีเงินที่จะเรียน” นัจนีกล่าวเพิ่มว่า เหตุที่เพื่อนๆ ของเธอเลือกที่จะไม่ทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากที่นี่ไม่ค่อยมีงานให้ทำและรายได้ค่อนข้างต่ำ
“ถ้าหนูไม่ได้ทุนนี้เมื่อ 1 ปีที่แล้ว ก็คงไม่ได้เรียนต่อเหมือนกับเพื่อนๆ”
ไม่เพียงเท่านั้น เรายังมีโอกาสได้พูดคุยกับพี่สาวทั้งสองคนของนัจนี ที่ถือเป็นเสาหลักของบ้าน เพราะนัจนีเพิ่งจะเรียนจบ และคุณพ่อของพวกเธอยังประสบอุบัติเหตุ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ โดยเราถามถึงรายได้ที่พวกเธอได้รับจากการทำงานที่ภูเก็ต ซึ่งทั้งคู่ระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้เงินประมาณ 8,000-9,000 บาท เท่านั้น
พร้อมเสริมว่า “เราทั้งสองคนจบแค่ ม.6 และทนที่จะไม่เรียนต่อ เพราะมีน้องและพ่อทำงานต่อไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วพวกเราอยากเรียนต่อ ไม่ต่างกับเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ ในนราธิวาสที่ล้วนก็อยากเรียนทั้งสิ้น แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับโอกาสนั้น”
อย่างไรก็ดี พี่สาวคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า เราจึงภูมิใจในตัวน้องมาก เพราะเราพยายามช่วยเหลือน้องเท่าที่เราจะทำได้ และตอนนี้น้องก็ไม่ต่างกับตัวแทนความฝันของเรา เพราะน้องเป็นผู้หญิงคนเดียวในหมู่บ้านที่ได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา
นัจนี ระบุปิดท้ายว่า เธอได้ทำการสมัครงานแล้ว ทั้งในกรุงเทพฯ ภูเก็ต หาดใหญ่ แต่หวังอยากได้งานที่ภูเก็ต เพราะพี่สาวอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว จะได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ด้วยกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตา
“ผู้หญิงก็อยากมีความฝันเป็นของตัวเอง แต่เพื่อนหนูหลายคนจำเป็นต้องทำงาน ไม่ก็แต่งงาน เพราะไม่มีกำลังเงินมากพอ และเหตุผลที่หนูและเพื่อนๆ บางคนตัดสินใจเรียนเป็นผู้ช่วยพยาบาล เพราะมองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคงที่สุดสำหรับพวกเราตอนนี้”
เป็นตัวเลือกเดียวที่มี จึงทำอย่างเต็มที่
หลังจากนั้นเราได้พูดคุยกับ มูฮัมหมัดซามีนูดี อาแซ หรือ ดีน นักศึกษาผู้ช่วยพยาบาลจากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ผู้ได้รับทุนจาก กสศ. โดยเขามีสมาชิกในครอบครัวทั้งหมด 8 คน (พ่อแม่และพี่น้องที่เป็นผู้ชายทั้งหมด) อย่างไรก็ดี ขณะนี้พ่อของเขายังทำงานขายลูกชิ้นที่มาเลเซีย ซึ่งได้รับรายได้ตกเดือน 6,000 บาท และพี่ชายคนโตสองคนทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ส่วนพี่ชายคนที่สามทำงานที่โรงพยาบาลตากใบ
มูฮัมหมัดซามีนูดี พูดว่า “ตอนแรกไม่ได้อยากเรียนสายนี้ อยากเรียนด้านไอที แต่เพราะไม่มีตัวเลือกมากพอ ดังนั้นการเรียนผู้ช่วยพยาบาลจึงเป็นตัวเลือกเดียวที่มี ทำให้หลังจากได้ทุนจึงพยายามเรียนอย่างเต็มที่ เพราะอยากมีอาชีพที่ดีเพื่อหาเงินดูแลพ่อแม่ เพราะตอนนี้พวกท่านแก่มากแล้ว ไม่อยากให้ทำงาน”
นอกจากนี้ เขายังเสริมถึงความยากลำบากในการหางานทำของผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวว่า “สามจังหวัดเป็นพื้นที่ที่หางานยาก เงินเดือนน้อย ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกไปทำงานในตัวเมือง หรือ บางคนก็ไปมาเลเซียเลยก็มี โดยมักจะไปทำงานที่ร้านอาหาร ทั้งล้างจาน เป็นเด็กเสิร์ฟ ซึ่งได้เงินเดือนราวๆ 10,000 บาท ถือว่ารายได้สูงกว่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังหางานง่ายกว่ามากถึง 90%”
การศึกษาช่วยตัดวงจรความจน
“ทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง ของ กสศ.เป็นโครงการที่เข้ามาช่วยเหลือคนที่ไม่มีโอกาสด้านการศึกษา เนื่องด้วยปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการเรียนต่อ” ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าว
เขาเสริมว่า ฉะนั้นทุนนี้เป็นเหมือนแรงผลักดันให้คนๆ หนึ่งสามารถเข้าสู่หรือยังคงอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่นราธิวาส จึงพยายามเปิดหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น หลักสูตรทางด้านเกษตร นวัตกรรม อุตสหกรรมสมัยใหม่ และผู้ช่วยพยาบาล
ศิริพันธุ์ ศิริพันธุ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ระบุว่า “ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เรามอบทุนให้แก่นักศึกษาเพื่อเรียนต่อในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลไปแล้วกว่า 141 ทุน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับคนที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา เพราะนราธิวาสเป็นจังหวัดที่ยากจน ดังนั้น ทุนดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนการตัดวงจรความยากจนจากรุ่นสู่รุ่น เพราะในอนาคตผู้ที่ได้ทุนเหล่านี้จะมีเงินมาจุนเจือครอบครัว”
เธอกล่าวปิดท้ายว่า ส่วนใหญ่คนที่จบสายผู้ช่วยพยาบาลสามารถหางานได้ 100% แม้ในสามจังหวัดจะไม่ค่อยเปิดรับสมัครตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาลก็ตาม แต่โรงพยาบาลเอกชนที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองมักต้องการบุคลากรผู้ช่วยฯ จาก กสศ.สูง เพราะว่านักศึกษาเหล่านี้สามารถพูดภาษาอาหรับและอังกฤษได้ดี
เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยเน้นส่งเสริมด้านนี้โดยเฉพาะเพื่อให้นักศึกษามีจุดแข็ง นอกจากนี้ พวกเขายังสามารถเข้าใจวิถีชีวิตของคนตะวันออกกลาง ที่เข้ามารักษาตัวที่ประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เนื่องด้วยการนับถือศาสนาอิสลามเหมือนกัน
“กลไกสำคัญของเรา คือ การทำงานร่วมกับสถานศึกษา เพื่อลดเด็กหลุดออกนอกระบบ ทำอย่างไรให้พวกเขายังอยู่ในระบบต่อให้ได้ หรือ เด็กที่หลุดออกไปแล้ว เราจะพาพวกเขากลับเข้าสู่เส้นทางการศึกษาอย่างไร” ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.ระบุ
อ้างอิงจาก