“สาริกา คุณจะต้องไม่เป็นอะไรนะ อยู่กับผมก่อน ไม่มีคุณแล้วผมจะใช้ชีวิตยังไง โอ้ ไม่นะ ฟื้นสิสาริกา ผมขอสั่งให้คุณฟื้น!”
หลายครั้งหลายคราวที่เรามักเห็นฉากช่วยชีวิตคนหัวใจหยุดเต้นในละครไทย ใช้เวลาสองในสามไปกับการคร่ำครวญภาวนาประหนึ่งว่าคนหมดสติจะกดสูตรชุบชีวิตตัวเองได้ หรือเอาให้ชวนฟินขึ้นอีกนิด ก็ต้องมีฉากจุมพิตแลกเอนไซม์ (แบบที่ยังไม่ทันจะถ่ายทอดอากาศให้อีกฝ่ายเลยด้วยซ้ำ) ชวนซาบซึ้งผิดที่ผิดเวลาระหว่างพระเอกนางเอกแถมเข้ามาอีกหน่อย
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วต่อให้ตะโกนให้หลอดคอแตก หรือประกบจนปากเปื่อยกันไปข้าง แม่นางเอกที่เพิ่งจมน้ำแต่หน้ายังแน่นประหนึ่งกำลังจะไปขึ้นเวทีมิสอาเซียนก็ไม่มีทางฟื้นขึ้นมาได้ง่ายๆ หรอก ถ้าหากไม่มีใครคิดเข้าไปทำการช่วยเหลือด้วยการ CPR อย่างถูกต้องตามวิธีการ
ซึ่งอันที่จริงแล้วขั้นตอนการทำ CPR เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นนั้นไม่ได้มีอะไรซับซ้อนยากเกินกว่าจะเรียนรู้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเครื่อง AED เป็นพระรองคอยทำหน้าที่ช่วยเหลือ ก็จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดมากขึ้นไปอีก และเพื่อช่วยทำให้ละครไทยพัฒนาด้านความน่าเชื่อถือขึ้นอีกนิด เราก็จะมาสอนขั้นตอนการ CPR อย่างถูกต้องตามหลักสากลให้ ซึ่งรับรองว่าถ้าทำถูกขั้นตอน ฉากกำลังจะประกบปากแล้วนางเอกฟื้นกลางคันมาหนุมานถวายแหวนใส่ ต้องหมดไปจากละครไทยแน่นอน
เจอผู้ชายให้แกล้งล้มใส่ เจอคนหยุดหายใจให้แจ้ง 1669
เวลาเจอผู้ชายหล่อว่าที่พ่อของลูกแล้วจะแกล้งทำเป็นขาพันกัน เป็นลม ล้มใส่ จนหน้าใกล้แบบละค๊อนละคร อันนี้ขอบอกว่าพร้อมเข้าใจและรับได้เสมอ แต่ถ้าเจอคนหมดสติ หยุดหายใจ แล้วจะมาตะโกนโวยวายสั่งให้ฟื้นแบบละครไทยล่ะก็ บอกเลยว่าไร้ประโยชน์มาก!
เพราะทันทีที่คนหัวใจหยุดเต้น ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากโรคประจำตัว หรืออุบัติเหตุอย่างการจมน้ำ ถูกไฟดูด ฯลฯ เลือดจะหยุดการไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะใดๆ อย่างฉับพลัน ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสสมองตายภายใน 4 นาที นั่นแปลว่าหากเรามัวแต่ร้องแรกแหกกระเชอล่ะก็ ทุกๆ 1 นาทีโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยจะลดลง 7-10%
แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มผู้บาดเจ็บมากขึ้นไปอีก ก่อนการช่วยเหลือใดๆ ขั้นแรกที่เราควรทำก็คือ ตรวจสอบความปลอดภัยโดยรอบให้ดีว่าผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ที่เราสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้หรือไม่ อย่างเช่น ถ้าผู้ป่วยหมดสติด้วยสาเหตุไฟฟ้าดูด เราก็จำเป็นต้องทำการตัดไฟเสียก่อน จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนของการตรวจสอบว่าผู้ป่วยหมดสติจริงหรือเปล่า ด้วยการเรียกดังๆ และตบที่ไหล่ทั้งสองข้าง ผู้ป่วยที่หมดสติจริงจะไม่มีการตอบสนองใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยับตัว ลืมตา หรือส่งเสียงในลำคอ ไม่ใช่ว่าเขามึนเล็กน้อยก็เอาปากไปประกบซะแล้ว ไม่ได้รับคำขอบคุณไม่พอ งานนี้หน้าจะขึ้นรอยห้านิ้วเอาเสียเปล่าๆ
สุดท้าย เราควรโทร.ขอความช่วยเหลือจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่เบอร์ 1669 เพื่อให้มารับช่วงคนป่วยไปทำการรักษาต่อ ก่อนที่จะเริ่มการปฐมพยาบาลขั้นต้นขั้นถัดไป
แค่เป่าปากไม่ช่วย! ต้องเริ่มด้วยกดหน้าอก แรง เร็ว ต่อเนื่อง
มีละครไทยแทบนับเรื่องได้ที่เราจะได้เห็นฉากกดหน้าอกเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยนอกเหนือไปจากการร้องไห้คร่ำครวญและพยายามเป่าปาก และในบรรดาละครจำนวนน้อยเหล่านั้นก็มีอีกน้อยยิ่งกว่าน้อยที่ทำออกมาได้ถูกวิธี กดผิดๆ ถูกๆ มั่ง กดสามทีแล้วฟื้นมั่ง หรือแค่กำลังจะแตะถูกหน้าอกนางเอกก็ตื่นมาฟาดหน้าเพราะคิดว่าจะถูกพระเอกแต๊ะอั๋งซิลิโคนมั่ง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วการกดหน้าอกเป็นขั้นตอนที่จำเป็นมากในการช่วยให้เนื้อเยื่อไม่ได้รับอันตรายจากการขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน เพราะทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตยังคงทำงานได้ แม้หัวใจจะหยุดเต้นก็ตาม
แต่ก่อนที่จะลงมือกดหน้าอกนั้น หากบริเวณนั้นมีเพื่อนตัวพระตัวนางหรือตัวประกอบค่าตัวหลักร้อยคนอื่นอยู่ด้วย สิ่งสำคัญที่ควรทำเป็นอย่างยิ่งคือการสั่งให้ไปหยิบเครื่อง AED หรือ เครื่องช็อกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ มาเตรียมไว้ หากมี (แต่อย่าดันเผลอไปใช้ตัวร้ายล่ะ เพราะเดี๋ยวนางเอกจะตายเร็วขึ้นแบบไม่รู้ตัว) ระหว่างนั้น ก็ควรตรวจการหายใจเบื้องต้น ว่าผู้ป่วยยังหายใจอยู่ไหม ด้วยการดูการขยับขึ้นลงของหน้าอก การเอาหลังมือไปอังตรงจมูก หรือจะเอียงหูฟังเสียงการหายใจก็ได้ หากผู้ป่วยหยุดหายใจ หรือแม้จะตรวจสอบแล้วแต่ก็ยังไม่แน่ใจ ให้ทำการกดหน้าอกทันที
การกดหน้าอกเราจะกดที่บริเวณกึ่งกลางระหว่างอก วัดจากบริเวณปลายกระดูกหน้าอกขึ้นมาประมาณสองนิ้วมือ ใช้สองมือประสานทับกันโดยเอามือข้างที่ถนัดไว้ด้านบน แล้วทิ้งน้ำหนักตัวกดลงไปในแนวตั้งฉาก สิ่งที่ต้องท่องจำยิ่งกว่าการเอียงหน้าให้องศารับกับมุมกล้องก็คือ กฎ ‘แรง เร็ว ต่อเนื่อง’
#แรง คือ การกดหน้าอกให้แรงพอ ลึกลงไปประมาณ 5 ซม. เพื่อให้กระดูกซี่โครงไปดันหัวใจอีกต่อ แต่ต้องระวังอย่าให้แรงไป เกิดซิลิโคนยุบ แค่ก หมายถึง กระดูกหักไปทิ่มปอด เลือดออกไม่หยุด คราวนี้เป็นเรื่องใหญ่แน่
#เร็ว คือ การกดแล้วปล่อยให้ได้ความเร็วอย่างน้อย 100 – 120 ครั้งต่อนาที
#ต่อเนื่อง จำไว้ว่าการกดต้องกดอย่างต่อเนื่องเป็นจังหวะ โดยจะกด 30 ครั้งสลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง
หมายเหตุ – การเป่าปากทำได้โดยการดันคางผู้ป่วยให้แหงนเงยขึ้น บีบจมูก หายใจเข้าลึกๆ แล้วกระกบปากถ่ายทอดลมหายใจที่มีออกซิเจนประมาณ 16 – 17% เข้าไปในปอดของผู้ป่วยให้เต็มที่ ถึงจุดนี้ถ้าพระเอกบังเอิญลืมตัวไปกินส้มตำปูปลาร้า หรือทุเรียนมาก่อนเข้าฉาก ก็ตัวใครตัวมันละกัน
เครื่อง AED พระรองผู้สตรองไม่แพ้พระเอก
เมื่อตัวประกอบที่สั่งให้ไปเอาเครื่อง AED นำเครื่องมาถึง ก็ใจชื้นขึ้นมาได้อีกหน่อยว่างานนี้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตขึ้นสูงมาก เพราะเจ้าเครื่องนี้มีคุณสมบัติหลักๆ คือ สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้อัตโนมัติ รวมไปถึงยังสามารถให้การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจ เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นในจังหวะที่ถูกต้องใหม่ได้ ซึ่งไม่ต้องกลัวไปว่า งานนี้จะต้องหลีกทางให้เฉพาะพระเอกที่เป็นหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้นหรือเปล่า เพราะเครื่อง AED ถูกออกแบมาให้ใช้งานง่าย เพียงปฏิบัติตามขั้นตอนที่เครื่องสั่ง ไม่ว่าจะเป็นพระเอกสายยอดฮิตอย่าง นักธุรกิจ ตำรวจ ทหาร หรือจะข้ามภาพแนวพีเรียดไปเป็น ท่านเจ้าคุณ หรือคุณหลวงเรือนไหน ถ้ายุคนั้นหาเครื่องนี้ได้ ก็รับรองว่าใช้เป็นแน่นอน
ขั้นแรกสุดในการใช้งานเครื่อง AED คือการเปิดฝาเครื่อง แล้วจึงฉีกซองนำแผ่นขั้วไฟฟ้า (Electrode pads) สองแผ่นออกมาแปะที่บริเวณหน้าอกของผู้ป่วย แผ่นหนึ่งแปะที่บริเวณเหนือหน้าอกด้านขวา อีกแผ่นแปะที่ใต้หน้าอกด้านซ้ายค่อนไปทางข้างลำตัว ซึ่งไม่ต้องกลัวว่าจะแปะผิด เพราะบนแผ่นมีรูปภาพอธิบายไว้อย่างชัดเจน หลังจากนั้นจึงถอยออกมาจากตัวผู้ป่วยในขณะที่เครื่องกำลังตรวจสอบคลื่นหัวใจ ย้ำ แม้จะอยากสร้างซีนชวนน้ำตาคลอแค่ไหน แต่ในระหว่างเครื่องตรวจสอบคลื่นหัวใจอยู่อย่าได้เข้าไปแตะตัวรำพึงรำพันให้นางเอกฟื้นเด็ดขาด
หลังจากที่เครื่องทำการตรวจสอบโดยอัตโนมัติแล้วว่าสถานการณ์ของผู้ป่วยสามารถทำการช็อกไฟฟ้าได้หรือไม่ เครื่องจะออกคำสั่งให้เราทำตาม ถ้าเครื่องสั่งให้ช็อก สิ่งที่ต้องทำก็คือการกดปุ่ม Shock ที่มีไฟสัญญาณสว่างขึ้น แต่ถ้าเครื่องวินิจฉัยแล้วว่าไม่สามารถทำได้ เครื่องจะสั่งให้เรากดหน้าอกต่อไป ซึ่งหลังจากนี้สิ่งที่เราต้องทำก็คือการกดหน้าอก สลับกับใช้เครื่อง AED ตามคำสั่งของเครื่อง ไปจนกว่าเจ้าหน้าที่ที่โทร.เรียกไปข้างต้นจะเดินทางมาถึง
แล้วพวกเขาทั้งคู่ก็จูงมือกันไปเรียน CPR อย่างมีความสุขตลอดไป
หากสามารถปฏิบัติตามขั้นตอนที่ว่ามาได้อย่างครบถ้วน รับประกันเลยว่ามีโอกาสสูงที่นางเอกจะฟื้นคืนมาแสดงความซาบซึ้งและตอบตกลงแต่งงานกับพระเอกในตอนสุดท้าย เรียกว่าคราวนี้จะไปเป่าปากกันที่ไหน ริมเตียง ระเบียง บันได ก็เอาที่ขุ่นพี่สบายใจกันเลยข่ะ
ทว่าแม้การช่วยชีวิตคนที่หัวใจหยุดเต้นฉับพลันด้วยการ CPR จะสามารถเรียนรู้เบื้องต้นได้ด้วยการอ่านขั้นตอนหรือดูคลิปการเรียนการสอนประกอบ แต่สำหรับคนที่อยากเรียนรู้แบบจริงๆ จังๆ ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติกับผู้เชี่ยวชาญล่ะก็ ปัจจุบันมีการเปิดสอนเรื่องการทำ CPR ที่ถูกวิธีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น
หลักสูตรการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไป (BLS Provider for Non-HCP) โดย คณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิตสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ใช้เวลาเรียนครึ่งวันที่โรงพยาบาลตำรวจ ดูรายละเอียดได้ที่ thaicpr.org/?mod=course
การฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดย ศุนย์โรคหัวใจสิรินธร โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พร้อมรับใบประกาศนียบัตรจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ดูรายละเอียดได้ที่ www.pmkheartcenter.com/index.php?mo=10&art=42093241
หรือหลักสูตรอื่นๆ ที่แตกต่างกันไปตามสถานที่เรียน ตลอดจนค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถเซิร์จหา และเลือกสมัครได้ตามความพึงพอใจและกำลังทรัพย์
เพราะทุกหัวใจควรได้เต้นต่อ คอนโด AP กับการติดตั้งเครื่อง AED เพื่อช่วยชีวิต
อย่างที่เห็นไปแล้วว่านอกจากการ CPR ที่ถูกวิธีจะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดมากขึ้นแล้ว การมีเครื่อง AED ไว้ประจำสถานที่ที่คนพลุกพล่านต่างๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน โรงแรม สวนสนุก ฯลฯ หรือแม้แต่การมีไว้ในสถานที่พักอาศัยที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากอย่าง คอนโดมิเนียม ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้หัวใจได้มีโอกาสกลับมาเต้นต่อ
ซึ่งปัจจุบัน สถานที่สำคัญหลายแห่งในประเทศไทยก็เริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำเครื่อง AED ดังกล่าวมาติดตั้งไว้มากขึ้น โดยคอนโดมิเนียม ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทในเครือ เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) เองก็เป็นหนึ่งในนั้น กับการนำร่องเป็นคอนโดรายแรกๆ ที่ติดตั้งเครื่อง AED ประจำทุกคอนโด
เพราะหลายครั้งที่เราไม่รู้ว่าเหตุฉุกเฉินจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่การเตรียมพร้อมไว้เพื่อให้หัวใจทุกดวงที่อยู่ภายใต้การดูแลปลอดภัยขึ้นแม้อีกนิด ก็ย่อมสร้างความอุ่นใจได้ดีกว่าเสมอ