ไม่มีใครปฏิเสธว่าเทคโนโลยีมีพลังมหาศาล พุ่งฉุดให้โลกหมุนไปไวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หากจะก้าวไปต่อข้างหน้าก็ต้องปรับตัวให้ทัน
ยิ่งเมื่อโลกทั้งใบต้องพบกับภาวะโรคระบาดจากเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ทำให้วิถีชีวิตของทุกคนต้องเปลี่ยนไปก็ดูเหมือนกับว่าไม่มีสิ่งใดในโลกที่ได้รับการอนุญาตให้นิ่งเฉยหรือหยุดพัฒนาตัวเองอีกต่อไป
แม้กระทั่งองค์กรรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่อย่าง MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง ก็ต้องเร่งพัฒนาตัวเองเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจพลังงานและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ใช้ไฟฟ้าในยุค Digital Transformation
ก้าวแรกของการปรับตัวคือก้าวที่สำคัญ เพราะเป็นก้าวที่กำหนดทิศทางขององค์กรในอนาคต หากไม่มีเป้าหมายหรือกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจน จะส่งผลเสียภายหลัง เพราะการแก้ไขมักใช้เวลาและต้นทุนมากกว่าการสร้างใหม่เสมอ ดังนั้น MEA จึงมีการวางโครงสร้างการทำงานให้สอดรับกับอนาคต โดยเน้นการทำงาน 3 เฟส คือ Smart Energy, Innovative Utility และ Sustainable Utility
ส่วนที่มาของกรอบการดำเนินงานทั้งสามข้อนั้น มาจากวิสัยทัศน์และประสบการณ์การทำงานกับ MEA ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้ากว่า 30 ปีของว่าที่ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงคนล่าสุด คุณวิลาศ เฉลยสัตย์
เมื่อก้าวแรกมั่นคงและทุกคนในองค์กรเห็นภาพอนาคตตรงกันแล้ว ก็ถึงเวลาขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้เร็วที่สุด
คุณวิลาศเล่าว่า กรอบการดำเนินงานทั้งสามข้อนั้น เกิดจากการวางแผนร่วมกันของผู้บริหาร ซึ่งตนก็ได้ร่วมทำงานกับทีมบริหารมาโดยตลอด จึงได้มีโอกาสรับรู้และวางแผนการดำเนินการต่างๆ อยู่เสมอ เมื่อเข้ารับตำแหน่งจึงสามารถรับช่วงต่อได้โดยไม่สะดุด แต่ถึงจะมีกรอบการทำงานที่ชัดเจน คุณวิลาศกลับมองอีกด้านหนึ่งว่า MEA จำเป็นจะต้องยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ เนื่องจากวิถีชีวิตในเมืองนั้นมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
เมื่อเกิดการขยายตัวของเมือง ที่ประชากรย้ายไปอาศัยแถบชานเมืองเป็นส่วนใหญ่ ทำให้แนวคิด Smart City หรือ การก้าวกระโดดของเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดเทรนด์ย่อยๆ อย่าง Internet of Things หรือ Blockchain เข้ามามีบทบาทกับชีวิตพวกเรามากขึ้น ยังไม่นับรวมเรื่องสังคมไร้สัมผัส (Touchless Society) และการทำงานที่บ้าน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการระบาดของโรค COVID-19 ทั้งหมดนี้คือ Mega Trend ที่คุณวิลาศมองว่าต้องจับให้ทัน เพื่อนำมาปรับมุมมองการทำงาน และทำให้ MEA เป็นองค์กรเพื่อวิถีชีวิตมหานครอย่างแท้จริง
การเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่ปรับตัวโดยอิงกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกนี้ก็ตรงกับค่านิยม ‘CHANGE’ ที่ MEA ยึดมั่นเป็นวัฒนธรรมขององค์กร ประกอบได้ด้วย C—Customer Focus (มุ่งเน้นลูกค้า) H—Harmonization (ทำงานสอดประสาน) A—Agility (ปรับเปลี่ยนทันการณ์) N—New Ideas (สรรสร้างสิ่งใหม่) G—Governance (โปร่งใสคุณธรรม) และ E—Efficiency (ล้ำเลิศประสิทธิภาพ)
ทั้งนี้ ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่เป็นโฟกัสหลักของ MEA ก็คือการให้บริการประชาชน ดังนั้นเมื่อนำเอาความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยกับแนวคิด Digital Transformation แล้ว MEA จึงยกระดับการบริการไปอีกขั้นเป็น Fully Digital Service ที่สามารถให้บริการลูกค้าแบบออนไลน์เต็มรูปแบบ รวมถึงวางโครงสร้างสถาปัตยกรรมของระบบ (Enterprise Architecture) ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคอีกด้วย
สำหรับชาว MEA แล้ว ปี 2021 คือปีที่แนวคิดสมัยใหม่เบ่งบานเต็มที่ องค์กรและบุคลากรต่างต้องปรับตัวให้พร้อมกับ Fully Digital Service มีแผนพัฒนาความยั่งยืน และยังมุ่งเน้นไปที่ทรัพยากรบุคคล ในการจัดการระบบเพื่อรองรับ Gen ที่ต่างกัน รวมถึงได้เปลี่ยนเป้าหมายในการหาคนเข้าทีมที่พร้อมสู้กับงาน พร้อมลุยไปกับ MEA มากกว่าจะหาคนที่ยืนระยะได้ยาวเพื่อรอรีไทร์
และที่สำคัญคือการเตรียมตัวรับภารกิจใหม่ๆ หลังจากเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติเห็นชอบแผนธุรกิจและการจัดตั้งบริษัทในเครือของ MEA ที่ชื่อว่า บริษัท MEA Smart Energy Solutions จำกัด หรือ MEAei (เอ็มอีเออีไอ)
ด้วยความตั้งใจที่อยากมีบริษัทลูกคอยให้บริการเกี่ยวกับ Smart Energy โดยเฉพาะ MEAei จึงมีเป้าหมายที่จะให้บริการเป็นที่ปรึกษา ออกแบบ ติดตั้ง และลงทุนด้านการบริหารจัดการระบบพลังงานอัจฉริยะแบบครบวงจร 2 ด้านหลัก คือ
1. Smart Energy สำหรับลูกค้าที่ต้องการระบบไฟฟ้าที่เอื้อให้กับธุรกิจยุคใหม่ เช่น ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid System) ระบบทำความเย็นแบบรวมศูนย์ (District Cooling) และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage)
2. Renewable Energy เป็นบริการครบวงจรเกี่ยวกับระบบพลังงานทดแทน เช่น Solar
มีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดของกระแสพลังงานทางเลือกจะพุ่งสูงขึ้นมากๆ ในราวสิบปีข้างหน้า ดังนั้นเพื่อความคล่องตัวในการจัดการ MEA จึงจัดตั้งบริษัทลูกอย่าง MEAei ขึ้นมาเพื่อส่งลงสู่สนามการแข่งขันแห่งอนาคต
ถัดมาในเฟสที่สอง ช่วงปี 2566-2570 ซึ่งตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้คือการมุ่งเน้นเรื่อง Innovative Utiliity โดยต่อยอดจากรากฐานผ่านนวัตกรรมใหม่ เพื่อขับเคลื่อน MEA ให้ไปได้ไกลกว่าเดิม
ส่วนในเฟสที่สาม ช่วงปี 2571-2580 จะเป็นการใช้ระบบที่มีและนวัตกรรมที่สรรสร้างขึ้น เป็นเหมือนสปริงบอร์ดที่ทำให้ MEA สามารถลอยอยู่บนวงโคจรได้อย่างยั่งยืน ตามที่ผู้บริหารได้วางไว้ว่า นี่จะเป็นทศวรรษแห่ง Sustainable Utility ที่ MEA จะทำธุรกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็น Mega Trend ที่สำคัญอย่างยิ่งของโลก
อย่างไรก็ตาม ถึง MEA จะมี Roadmap ระยะยาว มีคอนเซปต์ในการดำเนินงานที่ชัดเจน แต่ก็อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ในยุคสมัยที่ธุรกิจพร้อมจะถูก Disrupt ตลอดเวลา Mega Trend ที่พร้อมจะตกยุคและเกิดขึ้นใหม่ได้ในพริบตา อีกทั้งเหตุการณ์ไม่คาดฝันระดับที่พลิกโลกทั้งใบได้อย่าง COVID-19 ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นอีก
แต่ภายใต้แนวคิดขับเคลื่อนองค์กรแบบใหม่ และวิสัยทัศน์ของว่าที่ผู้ว่าการคนใหม่อย่างคุณวิลาศ เฉลยสัตย์ ที่เข้าใจความเป็นไปของธุรกิจพลังงานมากว่า 30 ปี MEA จึงพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลกเสมอ
และแน่นอนว่าพวกเขาพร้อมที่จะให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างดีที่สุดในยุคที่พลังงานคือปัจจัยที่สำคัญของชีวิตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ให้สอดรับกับการที่ MEA เป็น ‘พลังงานเพื่อชีวิตวิถีมหานคร’ อย่างแท้จริง