เรื่องของพลังงานทดแทนในตอนนี้ กำลังเป็นประเด็นในสังคมที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสำคัญ ซึ่งการเข้ามาของพลังงานทดแทนที่ว่า ไม่ใช่เพียงเพราะพลังงานหลักจากฟอสซิลที่ใช้อยู่จะหมดไปในเร็ววัน แต่ยังเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญกับวิกฤตอย่างหนัก
หากลงไปดูในรายละเอียดของสนธิสัญญาปารีสจะพบว่า วิกฤตเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นรุนแรงกว่าที่คิด จึงทำให้เกิดข้อตกลงในการพยายามไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น เพื่อควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศา โดยมีผลบังคับใช้ในปี 2020 ซึ่งอเมริกาในฐานะประเทศที่ปล่อยก๊าซสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ขอถอนตัวจากสนธิสัญญานี้ ส่งผลกระทบต่อภาพรวมในการรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกเป็นอย่างมาก ซึ่งภาคส่วนที่สร้างผลกระทบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือภาคของพลังงานนั่นเอง ทางออกของวิกฤตสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ จึงแทบไม่มีทางเลือกใดจะดีไปกว่าการพยายามลดการใช้พลังงานฟอสซิลลง และหันไปพึ่งพาพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งก็มีแนวโน้มที่การเข้าถึงจะง่ายขึ้นและราคาจะถูกลงอีกเรื่อยๆ
The MATTER ได้พูดคุยในประเด็นนี้กับ อมร ทรัพย์ทวีกุลรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะของบริษัทที่ผลิตพลังงานทดแทนโดยตรง ถึงประเด็นเรื่องวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น และทิศทางของโลกในอนาคตที่ต้องอาศัยพลังงานทดแทนในการขับเคลื่อน ในช่วงเวลาที่กำลังเปลี่ยนผ่านนี้ เราในฐานะของคนธรรมดาๆ จะได้มีส่วนร่วม และมีบทบาทมากน้อยขนาดไหน
ส่วนตัวมองว่าภาพรวมของการใช้พลังงานทุกวันนี้เป็นอย่างไร
คือผมมองว่าพลังงานในประเทศไทยทุกวันนี้ ถามว่าวิกฤตไหม ผมว่าเราไม่ได้วิกฤต คือวันนี้ถ้าดูตามตัวเลขที่ราชการให้มา สมมติว่าเรามีความต้องการใช้ 100 แต่วันนี้เรามีโรงไฟฟ้าที่สามารถผลิตไฟรวมกันได้อยู่ประมาณสัก 140 เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่เรานำเข้าจากเพื่อนบ้าน ทั้งพม่า มาเลเซีย ลาว แตกต่างกันไปตาม Source จากหลายๆ แหล่ง ปัจจุบันเราใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งต่างๆ กันเช่น จากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ แสงอาทิตย์ ลม เขื่อน ตอนนี้ส่วนใหญ่เรื่องพลังงานไม่พอ ที่เรามักได้ยินกันอาจจะเป็นในส่วนของภาคใต้ มันจะมีปัญหาเหตุการณ์ไฟไม่พอ ไฟดับ ทุกครั้งเวลาที่มาเลเซียเขามีการหยุดซ่อมบำรุง ถือว่าเป็นความเสี่ยงในบางช่วงเวลา แต่ถ้ามองภาพรวมประเทศต้องบอกว่า Supply ที่เรามีทั้งหมดทุกวันนี้มันยังเยอะกว่าความต้องการ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่ามันวิกฤตไหม มันก็ต้องบอกว่ามันยังไม่วิกฤต เพียงแต่การกระจายพลังงานไปยังภูมิภาคต่างๆ อาจจะยังไม่สมบูรณ์ ไม่เหมือนอย่างบางประเทศรอบๆ บ้านเรา ที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงอีกตั้งเยอะ หรือมีใช้เพียงครึ่งวัน ต้องสลับเพราะว่าไฟฟ้าไม่พอ แต่อย่างบ้านเรา เราลงทุนในเรื่องของระบบสายส่งค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นไฟฟ้าจึงสามารถเข้าไปถึงพื้นที่ที่เป็นชุมชนอาศัยอยู่ ครอบคลุมได้ค่อนข้างเยอะมาก
แสดงว่าปริมาณการใช้ก็ถือว่ายังไม่วิกฤต แต่สิ่งที่กำลังวิกฤตคือเรื่องสิ่งแวดล้อมใช่ไหม
ผมว่าวันนี้มุมที่เขากังวลกันจริงๆ มันเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่า อย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น พอมีเหตุปุ๊บเขาก็บอกไม่เอาแล้ว หรืออย่างประเทศในโซนยุโรปเขาก็เริ่มประกาศแล้วว่า เขาจะเลิกใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แล้วก็หันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น อย่างโซนยุโรป ลมค่อนข้างดี เขาก็จะไปพึ่งพาโรงไฟฟ้าพลังงานลมเป็นหลัก หรืออย่างในโซนของเอเชีย รวมทั้งไทย ถัดออกไปอย่างอินเดีย จะเป็นประเทศที่แดดค่อนข้างดี ก็จะพึ่งพิงโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก ทุกวันนี้มันเป็นเรื่องของภาวะเรือนกระจกที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เข้าขั้นที่แบบว่าเกือบจะเป็น Red Zone แล้ว ถ้าทุกคนไม่หันมาร่วมมือกันจริงจัง โลกเรามันก็จะอยู่ไม่ได้ ก็เลยเป็นที่มาของสนธิสัญญาปารีสเขาก็บอกว่าจะมีการบังคับจริงจังแล้วนะ ปี 2020 เป็นต้นไป ประเทศไหนที่รับปากว่า ฉันจะลดเท่านู้นเท่านี้คุณก็ต้องทำจริง เพราะฉะนั้นคนก็เลยเริ่มพูดเรื่องของพลังงานทดแทนมากขึ้น
ถ้าอธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้น วิกฤตเหล่านี้มันใกล้ตัวเราขนาดไหน
อย่างตอนที่เราพูดเรื่องโลกร้อนกันเมื่อสักเกือบ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นถามว่าวันนั้นโลกวิกฤตหรือยัง ก็ยังถูกไหม แต่นักวิทยาศาสตร์หรือคนที่เขาห่วงเรื่องนี้ก็จะทำการศึกษา เขาก็ Forecast ไปว่าถ้าคุณยังเป็นแบบนี้เรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งก็ไม่มีทางถอยแล้วนะ จึงเริ่มเตือนตั้งแต่ตอนนี้ แต่คนก็คงไม่ได้รู้สึกอะไรเพราะตอนนั้นเรารู้สึกไหมว่าโลกร้อนขึ้น ผมว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้สึก แต่พอเวลาผ่านไปโดยที่เรายังทำเหมือนเดิม ถึงจุดหนึ่งเราจะเริ่มเห็น อย่างพายุลูกใหญ่ๆ ที่บางทีมาผิดฤดูกาล แผ่นดินไหวสึนามิ คนก็เริ่มบอกนี่ไง เห็นไหมที่เขาเตือน ที่บอกว่าธรรมชาติมันเริ่มเพี้ยนไปๆ อย่างเราๆ ที่ทำงานในกรุงเทพฯ หน้าร้อนเมื่อก่อนเรายังพอเดินได้มีเหงื่อออกบ้างเพราะประเทศไทยมันร้อนชื้น แต่มาถึงช่วงนี้จะเดินก็ไม่ไหวแล้ว แล้วอย่างผมเห็นประจำเลยใต้ตึกออฟฟิศผมหน้าร้อนมีคนเป็นลมทุกปี เพราะเขาเดินมาจากร้อนๆ พอเข้ามาในตึกปุ๊บมันเย็น ร่างกายปรับตัวไม่ถูกคือผมว่ามันเริ่มใกล้ตัว เริ่มมากระทบชีวิตประจำวันเราแล้ว
นอกจากเรื่องโลกร้อนที่เห็นผลกระทบอย่างชัดเจนแล้ว อะไรที่ทำให้คนสนใจเรื่องของพลังงานทดแทนมากขึ้น
มันมาจาก 2 ส่วนที่ผมว่าคือหนึ่ง มันใกล้ตัวเรามากขึ้นแล้ว เราเริ่มสัมผัสได้ในชีวิตประจำวันที่กระทบกับเราโดยตรง กับสอง ราคาของพลังงานทดแทนที่ถูกลง ถ้าเราพูดถึงอะไรที่เป็นเรื่องของ Green หรือ Renewable จะให้ความรู้สึกว่าแพง แต่ตอนนี้เทคโนโลยีมันพัฒนาไปถึงจุดที่ทำให้สิ่งเหล่านี้ถูกลงจนเราไม่รู้สึกว่ามันต่างแล้ว การที่เราจะไปใช้อะไรที่เป็น Traditional แต่มันทำร้ายโลกกับอะไรที่เป็น Green เราไม่ได้จ่ายเงินต่างออกไปอย่างมีนัยยะแล้ว คืออย่างสมัยก่อน สมมติซื้อของอย่างหนึ่งราคา 10 บาท แต่ถ้าผลิตขึ้นมาจากอะไรที่เป็นการรักษ์สิ่งแวดล้อมราคาอาจจะ 20 บาท เราก็รู้สึกว่ามันแพง แต่ว่าวันนี้ช่องว่างมันแคบลงเยอะ ด้วยช่วงเวลาตอนนี้ที่โลกมันถูก Disrupt หลายอย่าง เป็นจังหวะที่คนเริ่มรับอะไรใหม่ๆ แล้วเขาก็ได้ผลประโยชน์ด้วย แล้วยิ่งถ้าอนาคตมันถูกลงๆ อย่างเรื่องของไฟฟ้าวันนี้สมมติถ้าคุณซื้อแผงโซลาร์เซลล์ไปติดหลังคาบ้านเอง แล้วต้นทุนมันถูกกว่าการที่ซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐ คนก็เริ่มติดเยอะขึ้นแน่นอน เมื่อก่อนอาจจะบอกต้นทุนหน่วยละ 10 บาท ซื้อรัฐมันหน่วยละ 4.50 บาทเอง แต่พอวันนี้ต้นทุนที่เราไปซื้อติดเอง มันเหลือหน่วยละประมาณ 2 บาทเท่านั้น
ในเมื่อมีปัจจัยที่ครบขนาดนี้แต่การรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมเท่าที่ผ่านมา ก็ไม่สำเร็จผลสักเท่าไร เพราะคนยังมองว่าการใช้พลังงานทดแทนเป็นเรื่องที่ไกลตัวอยู่ดี
เวลาเราพูดถึงเรื่องพลังงานหรือเรื่องโรงไฟฟ้า อย่างเราๆ ก็รู้สึกว่ามันไกลตัว เพราะโรงไฟฟ้ามันลงทุนเยอะ มันต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ต้องมีความรู้เฉพาะทาง เวลามีปัญหาสิ่งแวดล้อม เขาก็ต้องบอกว่าเป็นหน้าที่ของการไฟฟ้า ภาครัฐ บริษัทใหญ่ๆ ที่ทำไฟฟ้าก็ไปจัดการสิ แต่ผมว่าวันนี้โลกมันเริ่มเปลี่ยน เรื่องของไฟฟ้ามันใกล้คนขึ้นมาก อย่างที่ผมบอกเรื่องคนเริ่มติดแผงโซลาร์เซลล์เอง โลกกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่จะไม่มีโรงไฟฟ้าใหญ่ๆ ตั้งอยู่ที่หนึ่งแล้วใช้สายส่งกระจายแล้ว แต่อนาคตคนทั่วไปจะเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายไฟฟ้าในเวลาที่ต่างกัน ความหมายเช่น สมมติวันนี้กลางวันเราไม่อยู่บ้าน แต่บังเอิญเราติดแผงโซลาร์ไว้บนหลังคา มันก็ผลิตไฟฟ้าไป แต่เมื่อไม่ได้ใช้ เราก็ขายเข้าระบบให้คนที่เขาต้องการใช้ พอผมกลับมาบ้านตอนเย็น พระอาทิตย์ตกแล้ว ผมไม่มีไฟฟ้าที่ผลิตเองได้ ผมก็ต้องเป็นคนซื้อเองมันเป็นเรื่องของเทคโนโลยี Energy Storage หรือตัวที่เก็บไฟฟ้า ที่ทำให้รูปแบบของการบริหารจัดการไฟฟ้าเปลี่ยนไป เมื่อก่อนเราเป็นคนซื้ออย่างเดียว ต่อไปเราจะมีทั้ง 2 บทบาทในตัวเรา ทั้งซื้อ และขายผ่านระบบการจัดการที่ฉลาดขึ้น
แสดงว่าเรื่องของ Energy Storage เรียกได้ว่าเป็นตัวกำหนดทิศทางของการใช้พลังงานทดแทน
เมื่อก่อนการทำงานของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน จะไม่สามารถสั่งได้ว่าจะให้ผลิตไฟฟ้าเท่านี้ๆ เพราะเราไม่สามารถคุมลม คุมแดดได้ มันก็จะมาเป็นช่วงๆ อย่างที่เขาอยากจะมา เพราะฉะนั้นก่อนหน้านี้เขาก็เลยบอกว่า พลังงานแบบนี้จะเป็นพลังงานหลักไม่ได้ แต่ตอนนี้ตัว Energy Storage เริ่มมีราคาถูกลงมาก อย่างต่างประเทศก็เริ่มมีการทดลองมากขึ้น ด้วยการใช้โรงไฟฟ้าพลังงานลม บวกด้วย Energy Storage คือในช่วงที่คุณใช้ไฟน้อย ถ้าคุณผลิตได้ 100 แต่คุณใช้ 50 ส่วนที่เหลือก็เก็บไว้ก่อน แล้วพอถึงตอนที่คุณผลิตได้ 100 แต่คุณใช้ 150 คุณก็ดึงส่วนที่ขาดจากที่เก็บไว้มาใช้แทน มันก็เลยทำให้เราสามารถอยู่ได้ด้วยการที่ใช้โรงไฟฟ้า จากพลังงานทดแทนเพียงอย่างเดียว หรืออย่างหมู่บ้านจัดสรรหลายโครงการที่เขาเริ่มนำธีม Renewable มาชูบอกว่าบ้านใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ มี Energy Storage ให้ผมว่าอนาคตมีแนวโน้มว่าราคามันจะถูกกว่าโรงไฟฟ้า จากถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติด้วยซ้ำ แทนที่เราจะเอาก๊าซธรรมชาติมาปั่นไฟ ซึ่งมันเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ก็เอาไปทำอย่างอื่นที่ได้ราคาดีกว่า เพราะฉะนั้นวันนี้ผมว่าที่คนเริ่มกระจายความเสี่ยงไปใช้พลังงานทดแทนกัน เพราะเขาก็รู้แหละว่านานๆ ไป วันหนึ่งที่พลังงานไม่มีหรือแพงขึ้นเยอะ สุดท้ายภาระก็ตกอยู่ที่ผู้บริโภคเอง
อย่างที่ตอนนี้เริ่มมีการทดลองเทรดพลังงานกันแล้ว มองตรงนี้อย่างไร
ถ้าลองไปดูข้อมูลจะเริ่มเห็นว่าต่างประเทศเริ่มพูดถึงการเทรดพลังงานกันมากขึ้นแล้ว มันจะเริ่มใกล้ตัวเรามากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดคือค่าไฟฟ้ามันจะถูกลง เพราะมันเริ่มมีการแข่งขันกัน ซึ่งผมว่าประโยชน์มันได้ตรงกับผู้บริโภคเลย คือเมื่อก่อนมันไม่มีเทคโนโลยีพวกนี้ก็เลยทำไม่ได้ แต่พอวันนี้มันมีเทคโนโลยีเข้ามา ทุกคนก็เริ่มเข้ามามีบทบาทตอนกลางวันเราเป็นคนขาย กลางคืนเป็นคนซื้อ จากที่เมื่อก่อนซื้ออย่างเดียว ทุกคนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น ยิ่งมีเทคโนโลยีอย่าง Blockchain เข้ามาทำให้คนสามารถเทรดพลังงานได้อย่างเป็นระบบ ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะขายก็ไม่รู้ว่าใครจะซื้อ แต่ต่อไปจะเหมือนตลาดหุ้นเลย เพราะเราซื้อขายหุ้นก็ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเราซื้อหุ้นจากใครหรือเราขายหุ้นให้ใครตลาดพลังงานก็เริ่มจะพัฒนาตัวเองคล้ายๆ ตลาดหุ้นในอนาคต
รถ EV ในบ้านเราตอนนี้ คนตื่นตัวกันมากน้อยแค่ไหน
ผมว่าเริ่มตื่นตัวมากขึ้นนะ ถ้าเทียบกับเมื่อสัก 3-4 ปีที่แล้ว เราเริ่มเห็นมีบางค่ายผลิต Full EV เต็มรูปแบบออกมาจำหน่ายแล้ว โดยเฉพาะประเทศจีน แล้วก็เริ่มเอาเข้ามาในเมืองไทยแล้ว ล่าสุดเอามาทำเป็นแท็กซี่ด้วย มันเริ่มเข้ามาในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น แล้วผมเชื่อว่ามันก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าโดยตัวรถ EV เอง ถ้าเทียบกับรถที่ใช้น้ำมัน มองในแง่ของเงินในกระเป๋าก่อนก็ได้ จริงๆ มันถูกกว่าเยอะ เพราะว่าเราเสียแค่ค่าชาร์จไฟ อย่างเราเติมน้ำมันวันนี้ 1 ลิตรโดยเฉลี่ย 30 บาทในเมืองผมว่าถ้าวิ่งได้ 10 กิโลเมตรต่อลิตรก็เก่งแล้ว เพราะฉะนั้นจึงตกกิโลเมตรละ 3 บาท ในขณะที่รถ EV ชาร์จไฟครั้งหนึ่ง ตกต้นทุนในการวิ่ง 1 กิโลเมตรประมาณสัก 50-60 สตางค์ ซึ่งถูกกว่าเยอะ แล้วอย่างที่สองคือเรื่องของการ Maintenance ชิ้นส่วนมันไม่เยอะ ระบบเกียร์ไม่มี เครื่องไม่มี มันมีแค่มอเตอร์กับล้อ เพราะฉะนั้นการบำรุงรักษาจะไม่จุกจิกเท่ารถที่ใช้น้ำมัน ฉะนั้นคุณจึงลดภาระไปเยอะแล้ว แต่วันนี้ต้นทุนมันยังค่อนข้างแพง เลยอาจทำให้เรารู้สึกว่า เป็นแค่ตลาดของคนมีเงินถึงจะซื้อมาใช้ แต่เดี๋ยวสักพักมันจะถูกลงจนคนเริ่มเข้าถึงได้มากขึ้น เราเลยจัดทีมงานของเราศึกษาเทคโนโลยี EV กันจริงจัง จนกระทั่งออกแบบเสร็จ ทำรถต้นแบบเสร็จเรียบร้อย และเปิดตัวไปในงาน Bangkok International Motor Show 2018 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในยี่ห้อ MINE ที่มาจาก Mission no Emission เพื่อแสดงถึงการเป็นยานพาหนะแห่งอนาคตที่ไร้มลพิษจริงๆ
ต้องใช้ระยะเวลาอีกนานไหม กว่า EV จะแพร่หลายในวงกว้างจริงๆ
คือผมว่าทุกอย่างมันใช้เวลา เพราะเวลามีของใหม่เข้ามา คนเราจะกลัวก่อนเพราะเราไม่รู้จักมัน โดยธรรมชาติของคนจะยกการ์ดก่อน เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยการให้ข้อมูลจะผ่านโซเชียลฯ หน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทที่ทำธุรกิจต้องพยายามให้ข้อมูล แต่จะดีที่สุดเมื่อผู้บริโภคเห็นมันอยู่ในชีวิตประจำวันขึ้นเรื่อยๆสมมติเราไม่รู้จักรถ EV เลย แล้วไม่คิดจะหาข้อมูลมันด้วย แต่ถึงวันหนึ่งเราเดินลงไปตามถนน แล้วเห็นรถ EV วิ่งเต็มถนนเลย ผมว่าความรู้สึกมันจะเริ่มเปลี่ยนจะเริ่มเปิดใจแล้ว เริ่มคิดว่าถ้าคนใช้เยอะขนาดนี้ มันต้องมีข้อดีสิ ธรรมชาติของมนุษย์มักจะเริ่มจากการตั้งคำถามกับตัวเอง แล้วก็เริ่มหาคำตอบให้ตัวเอง ผมกำลังบอกว่าวันหนึ่ง โลกจะมีรถ EV เยอะขึ้นๆ ถามว่ามันจะไปทดแทนรถที่ใช้น้ำมัน 100% ไหม ผมว่าคงใช้เวลาอีกนาน แต่จะเริ่มรู้สึกว่ามันใกล้ตัวเรามากขึ้นๆ วันหนึ่งถ้าของมันผ่านการพิสูจน์แล้วว่ามันดี เดี๋ยวมันก็จะเริ่มเห็นมากขึ้น ทำให้เราตัดสินใจได้ว่า เราควรจะเลือกสิ่งไหน
สุดท้ายแล้วการจะทำให้คนหันไปใช้พลังงานทดแทน ก็ขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานแบบเดิมๆ จะมีวิธีการไหนที่สามารถจูงใจให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายที่สุด
วันนี้บริษัทที่ทำธุรกิจด้านพลังงาน เขาคิดค้น Solution ต่างๆ ได้เต็มไปหมด แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำให้คนเปิดใจก่อน ลบภาพความรู้สึกเก่าๆ ว่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมันแพง มันไม่เสถียร หรือพลังงานที่ได้จะเหมือนไฟฟ้าจากถ่านหินไหม คือเมื่อก่อนเราจะบอกว่าจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ต้องรอภาครัฐส่งเสริม รอภาครัฐโปรโมต แต่วันนี้เราต้องยอมรับก่อนว่า โลกมันหมุนเร็วมาก รัฐบาลเขาก็มีหน้าที่ที่ต้องดูแลทั้งประเทศ ฉะนั้นการจัดลำดับความสำคัญเขาก็ต้องดูเรื่องไหนที่คิดว่ามันกระทบกับคนส่วนใหญ่ก่อน แต่อย่างพวกผม เราทำธุรกิจพวกนี้ก็มีเครื่องมือในการที่จะส่งข้อมูลพวกนี้ออกไปอยู่แล้วอย่างแรก เราต้องพยายามทำให้คนรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องไกลตัวเขา อย่างที่สองคือการทำให้เขารู้สึกว่าถ้าเขาเลือกสิ่งนี้ ชีวิตเขาจะดีขึ้น ผมว่าคนโดยธรรมชาติเรามองตัวเองเป็นศูนย์กลางสังเกตสิเวลาอะไรที่มีผลกับเราโดยตรงเราจะให้ความสนใจ แล้วถึงวันหนึ่ง พอเขาเริ่มรู้สึกว่าเขาก็มีบทบาทกับเรื่องของพลังงานได้ด้วย ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ เขาจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ Nobody แต่เป็น Somebody เมื่อก่อนถ้าพูดถึงเรื่องไฟฟ้าก็เป็นเรื่องของการไฟฟ้าสิ ไม่เกี่ยวกับเราเลย แต่พอวันนี้เราก็มีบทบาท เรามีไฟฟ้าขายนะ อะไรก็ตามที่ทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญมากขึ้น คนก็จะให้ความสนใจเอง
มองว่าในอนาคตพลังงานทดแทนจะกลายเป็นพลังงานหลักได้จริงๆ ต้องอาศัยปัจจัยอะไรบ้าง
วันนี้คนจะพูดถึงเรื่องของ Smart City มากขึ้น แก่นแท้จริงๆ ที่จะผลักดันให้เราไปถึงตรงนั้น คือเราต้องการอะไรที่มันมีประสิทธิภาพแล้วก็ถูกด้วย ฉะนั้นเวลาจะปฏิวัติอะไรขึ้นมา ก็ต้องพยายามทำให้มันดีขึ้นและถูกลง เพื่อตอบสนองความต้องการของเราที่มันมีแต่จะเยอะขึ้น อย่างสมัยก่อนเราไม่ต้องการโทรศัพท์มือถือใช้แค่โทรศัพท์บ้านก็ได้ วันหนึ่งพอมันเริ่มมีโทรศัพท์มือถือเข้ามา แล้วมันอำนวยความสะดวกเรามากขึ้นๆ จากมือถือธรรมดาก็เปลี่ยนมาเป็นสมาร์ทโฟน จนกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนขาดไม่ได้ คือผมจะบอกว่าเทคโนโลยีมันตอบสนองความต้องการของคนนั่นแหละ ความต้องการของเราจะเข้าไปผลักดันให้คนที่เขาอยู่ในธุรกิจพวกนี้พยายามตอบสนองเรา Smart City ทุกวันนี้จึงเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ส่วนของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์มีแผนในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องพลังงานทดแทนอย่างไร
วันนี้ต้องบอกว่าเราก็กำลังขยายตัวเองเข้าไปอยู่ในขอบเขตธุรกิจที่เป็นเรื่องใหม่ๆ มากขึ้น จากแต่เดิมเราทำแต่โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์กับลม ไบโอดีเซลจึงอยากจะลองเข้าไปดูว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน แล้วบังเอิญว่าเป็นเรื่องที่ต่อยอดมาจากเรื่องของพลังงานที่เราเคยทำอยู่แล้ว เราเลยรู้สึกว่ามันไม่ได้ไกลตัวบริษัทมากนัก เราเริ่มเข้าไปบุกเบิกในด้านเทคโนโลยีมากขึ้น อย่างเช่นเรื่องของ Energy Storage รถ EV และสถานีอัดประจุไฟฟ้า เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่กำลังจะมาในโลกยุคถัดไป คือถึงจุดหนึ่งที่จังหวะมันเปิด ด้วยช่วงเวลาที่มันใช่ ผมว่าน่าจะทำให้มันเกิดได้ ในอดีตคนไทยอาจจะเคยชินกับการที่เป็นผู้ตาม แต่วันนี้ในจังหวะของการเปลี่ยนผ่านแบบนี้ เรื่องของพลังงานทดแทน ไทยเราควรจะเป็นผู้นำบ้าง
ผมว่าประเทศไทยก็มีโอกาส และยิ่งเด็กรุ่นใหม่ๆ สมัยนี้กล้าคิด กล้าทำ เข้าถึงอะไรได้มากขึ้น มีไอเดียแปลกใหม่ น่าจะช่วยกันผลักให้ประเทศไทยอยู่ในจุดที่ดีกว่านี้ได้