ทุกวันนี้เราใช้รถแบบไหนกันอยู่?
แล้วถ้าเลือกได้อยากจะใช้แบบไหน?
ปัจจุบัน ‘พลังงานทดแทน’ เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางและถูกนำมาใช้อย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์
ย้อนกลับไปหลายปีก่อน อีกหนึ่งพลังงานที่ถูกพูดถึงเสมอๆ ก็คือ ‘แก๊ส’ ที่ทำให้บรรยากาศศูนย์ติดตั้งคึกคัก จนแบรนด์รถยนต์บางค่ายต้องผลิตรุ่นติดแก๊สมาจำหน่าย ด้วยราคาค่าเชื้อเพลิงที่ถูกลงกว่าครึ่ง-ครึ่ง และระยะเวลาในการเติมเชื้อเพลิงที่รวดเร็วพอๆ กับน้ำมัน การนำรถยนต์ไปติดแก๊สจึงเป็นอีกทางเลือกที่เหล่าผู้ใช้รถนิยม ณ ขณะนั้น
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ราคาค่าแก๊สก็ปรับตัวสูงขึ้นจนผู้ใช้รถติดแก๊สเป็นส่วนใหญ่อย่าง ‘แท็กซี่’ ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ราคาไปจนถึงช่องทางการเติมเชื้อเพลิง จนกระทั่งในปี 2565 มีการประท้วงเรื่องราคาแก๊สหลังจากที่รัฐบาลปล่อยลอยตัวราคาแก๊สมานาน และเรียกร้องให้รัฐลดราคาเหลือไม่เกิน 14 บาทต่อกก. เพื่อช่วยลดต้นทุนในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ยังให้ระงับการปิดปั๊มแก๊ส และให้ปั๊มแก๊สที่ถูกปิดกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง
แม้ในปัจุบันทางเลือกใหม่อย่าง ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ จะถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าทางเลือกนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เสมอ ทั้งในหมู่ผู้ใช้เองและผู้ที่กำลังอยู่ระหว่างตัดสินใจเกี่ยวกับราคา คุณภาพ และความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้งานทั่วประเทศ
สิ่งนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามท่ามกลางการเข้ามาของพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ ว่ามันถึงคราวที่พลังงานทดแทนอย่างแก๊สจะต้องถดถอยลงแล้วหรือยัง และอนาคตของมันต่อจากนี้จะเป็นยังไง?
The MATTER มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนบทสนทนาสั้นๆ กับผู้ที่ใช้งานรถยนต์ติดแก๊สในหลากอาชีพ เกี่ยวกับภาระค่าเชื้อเพลิงของพวกเขาในปัจจุบัน รวมถึงมุมมองที่มีต่อทางเลือกใหม่ ที่บางคนก็ยังคงเอื้อมไม่ถึง และกับบางคนที่แม้ว่าจะสามารถเป็นเจ้าของได้แล้ว ทว่าทางเลือกเหล่านั้นก็ยังไม่สร้างความเชื่อมั่นให้กับพวกเขา
คนแรกที่เราได้พูดคุยด้วยคือ ‘ลุงประกิจ’ คนขับแท็กซี่วัย 62 ปี
“ขับแท็กซี่มานานหรือยังลุง?” เราเปิดบทสนทนาทำลายความเงียบ ลุงประกิจเงยหน้ามองผ่านกระจกพร้อมกับยิ้มๆ ตอบเราว่า เขาขับแท็กซี่มาประมาณ 20 ปีแล้ว
เราถามลุงประกิจต่อเกี่ยวกับตัวรถแท็กซี่ที่แกขับและค่าใช้จ่ายที่แกแบกรับอยู่ ณ ปัจจุบัน
“ได้เป็นรถติดแก๊สมาตั้งแต่แรก เมื่อก่อนราคาแก๊สถูกกว่านี้ ตอนนี้ก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เพราะมันแพงขึ้นจริงๆ จากเดิมที่วิ่งรถมาทั้งวันหักค่าใช้จ่ายออกก็แทบไม่ได้อะไรอยู่แล้ว” ลุงประกิจเล่า
เราถามต่อเกี่ยวกับทางเลือกอื่นๆ อย่างการเปลี่ยนไปใช้รถแท็กซี่ไฟฟ้า ซึ่งลุงประกิจตอบทันทีว่า ทางเลือกนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นสำหรับตัวเขา
“ก็ต้องทนใช้ไป เพราะถ้าเป็นน้ำมันล้วนเลยเราก็สู้ไม่ไหว เพราะเราขับต่อวันค่อนข้างเยอะด้วย เขาเรียกให้ไปที่ไหนเราก็ไป ก็เลยต้องใช้ไปแบบนี้แล้วก็ไปประหยัดส่วนอื่นเอา เพราะไม่มีทางเลือก จะเปลี่ยนไปขับไฟฟ้าก็ไม่มีตังเช่าเพราะมันแพง” ลุงประกิจเล่าเรื่องรถจบก็ชวนคุยไปถึงเรื่องชีวิตของแก กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ถึงที่หมายแล้ว เราขอบคุณคุณลุงใจดีคนนี้สำหรับบทสนทนาและแยกย้ายจากกันไป
คนต่อมาที่เราได้พูดคุยด้วยคือ ‘สุริยา’ พนักงานบริษัทขนส่งเอกชน วัย 45 ปี ที่ตัดสินใจเอารถตัวเองไปติดแก๊สตั้งแต่วันแรกๆ ที่ออกรถมาใหม่
“ใช้รถติดแก๊ส LPG มาประมาณ 13-14 ปีแล้ว เอาไปติดแก๊สตั้งแต่ยังเป็นรถป้ายแดง เพราะเน้นประหยัด และมันก็ถูกกว่าน้ำมัน
เทียบกับน้ำมันแล้วมันก็ประหยัดกว่า (น้ำมัน)เติมเต็มถังก็ประมาณ 1,500-1,600 บาท แต่เติมแก๊สประมาณ 700 บาท ราคามันก็จะครึ่งต่อครึ่งเลย เมื่อก่อนเคยเติมถูกสุด 10 บาท/กก. แต่ปัจจุบันขึ้นเป็น 15 บาท/กก.แล้ว ซึ่งปั๊มแก๊สตามต่างจังหวัดอาจจะราคาแพงกว่าในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑลหน่อยเพราะค่าขนส่ง” สุริยาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเอารถไปติดแก๊สให้เราฟัง
“ถ้าพูดถึงตัวรถ มันก็จะเสื่อมสภาพเร็วกว่ารถน้ำมัน แต่เราก็ดูแลรถตามระยะทาง ตามรอบที่ควรจะทำปกติ แต่ก็ต้องทำใจเพราะโอกาสเสื่อมมันก็จะมีมากกว่า และเร็วกว่ารถน้ำมัน ส่วนค่าบำรุงก็ต้องเตรียมเผื่อไว้ด้วย ทั้งเงิน ทั้งใจ” สุริยาเล่าต่อ
เราถามถึงทางเลือกอื่นๆ อย่างการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่นเดียวกับที่เราถามลุงประกิจ ซึ่งสุริยารู้สึกว่าการเข้ามาของรถไฟฟ้ายังมีความไม่พร้อมอีกหลายอย่าง
“เรื่องรถไฟฟ้ามันถูกกว่าจริงๆ ถ้าเทียบกับทั้งรถแก๊สและรถน้ำมัน ส่วนตัวคิดว่าถ้ารถไฟฟ้าเริ่มเข้ามาในตลาดรถมากขึ้นเรื่อยๆ รถแก๊ส รถน้ำมันก็จะค่อยๆ หายไป แต่การมีรถไฟฟ้ามันต้องอาศัยความพร้อมหลายอย่าง ทั้งระบบการชาร์จ จุดชาร์จมีพอรองรับไม่ต้องไปต่อคิวรอนานๆ แบตเตอรี่ที่คงทนไม่มีปัญหาในระยะยาว และราคารถกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา” สุริยาตอบ
“สุดท้ายถ้าย้อนกลับไปได้ก็ยังจะติดแก๊สอยู่ เพราะรู้สึกว่าไม่ผิดหวังอะไร แม้ว่าราคาจะขึ้นจากเดิมเรื่อยๆ แต่สุดท้ายก็ประหยัดกว่าการเติมน้ำมันอยู่ดี” สุริยากล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ ‘เม’ วิศวกรวัย 28 ปี ที่ตัดสินใจซื้อรถที่ติดตั้งแก๊สมาจากโรงงาน (CNG – แก๊สธรรมชาติอัด เป็นพลังงานทดแทนรูปแบบหนึ่ง) บอกกับเราถึงการตัดสินใจของเขา
“ซื้อรถคันนี้มานานแล้วก่อนที่รถยนต์ไฟฟ้าจะบูม แต่ตอนนั้นก็เริ่มมีข่าวเกี่ยวกับรถไฟฟ้าแล้วแต่เรายังไม่ได้สนใจ ซึ่งตอนนั้นการเลือกแก๊สเป็นทางออกที่ดีระดับนึง เพราะว่ามันตก กิโลเมตรละประมาณ 0.5 บาท คือ 1 บาทไปได้ 2 กิโลเมตร ก็เหมือนเติม 200 บาทวิ่งได้ถึงจันทบุรี มันประหยัดกว่าน้ำมันค่อนข้างเยอะ” เมเริ่มเล่า
“CNG ที่เราขับมันมาจากศูนย์รถเลย ซึ่งเป็นรุ่นของเขาเลย ถ้าเปรียบเทียบภาพรวมแล้ว ค่าบำรุงรักษาเพิ่มมาปีละไม่กี่พันบาท เช่น พวกค่ากรองแก๊สที่ต้องเปลี่ยนทุกปี หรือถังแก๊สที่ต้องเปลี่ยน แต่อันนี้นานๆ เปลี่ยนที ราคาประมาณหมื่นนิดๆ
ปัจจุบันค่าแก๊สตกลิตรละ 18 บาท จาก 5-7 ปีที่แล้วที่ราคา 12 – 13 บาท ก็ถือว่าขึ้นอยู่แต่ไม่มาก ทุกวันนี้ก็ยังสามารถขับรถจากกรุงเทพฯ ไประยองแบบถังเดียวได้” เมเล่า
“คิดยังไงถ้าวันนึงพลังงานทดแทนอย่างแก๊สจะหายไป?” เราถามเม
“ก็ตามกาลเวลานะ เทคโนโลยีมันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันก็ไม่แปลกหรอกที่เขาจะเอาเทคโนโลยีบางส่วนออกไป เพราะหลายๆ อย่างมันก็ต้องเปลี่ยน
มีความคิดที่จะเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า แต่ยังไม่ใช่เร็วๆ นี้ เพราะว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาในไทยเพิ่งจะมาบูมเมื่อไม่นานนี้ และเราเชื่อว่าจะยังมีปัญหาการหั่นราคาอยู่อีกสักพัก แล้วก็อีกเรื่องที่ทำให้ตัดสินใจยังไม่ซื้อคือเรื่องแบตเตอรี่
ถึงปัจจุบันเทคโนโลยีมันจะมาไกลจากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่คิดว่ามันจะยังไปได้อีก อนาคตมันก็อาจจะมีวัสดุที่เสถียรและทนกว่านี้ ก็เลยคิดว่าอีก 4 – 5 ปี ค่อยซื้อดีกว่า” เมตอบ
เราถามเมคำถามสุดท้ายว่า คิดไหมว่าวันหนึ่ง รถยนต์ไฟฟ้าอาจจะมีชะตากรรมเดียวกับรถยนต์ติดแก๊ส
“มีอยู่แล้ว รถไฟฟ้าวันนึงยังไงก็ต้องกลายเป็นเหมือนรถแก๊ส พลังงานบางอย่างบนโลกเรายังไงก็ต้องสูญหายสักวันหนึ่ง ซึ่งมันก็จะวนแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราเชื่อว่าอีกสัก 10 – 20 ปี ก็จะมีพลังงานอื่นเข้ามาแทนที่พลังงานไฟฟ้า และไฟฟ้าก็จะกลายมาเป็นคล้ายๆ แก๊สนี่แหละ” เมตอบ
แม้ว่าเราจะยังไม่เห็นความเชื่อมั่นในรถยนต์ไฟฟ้าจากบทสนทนาของทั้ง 3 คน แต่เราได้เห็นการขับเคลื่อนของรัฐบาลในการพยายามสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ไฟเขียวเกี่ยวกับมาตรการรถยนต์ไฟฟ้า เช่น มาตรการให้เงินอุดหนุน 1 แสนบาท/คัน ทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยพุ่งสูงขึ้น
สถิติจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าจากกรมขนส่งเทียบจากปี 2565 พบว่ามียอดจดทะเบียน 20,817 คัน จนกระทั่งในปี 2566 พบว่ามียอดจดทะเบียนกว่า 77,741 คัน แสดงให้เห็นแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น
ทว่าความปั่นป่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก็ยังคงมีอยู่ ทั้งการปิดโรงงานของค่ายญี่ปุ่น ไปจนถึงยอดขายบางเจ้าที่ลดลง และการหั่นราคาของรถยนต์ไฟฟ้า