ประเทศไทยถูกเรียกว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมมาโดยตลอด
จากข้อมูลสำมะโนการเกษตร สำนักงานสถิติแห่งชาติ (พ.ศ. 2566) มีเกษตรกรที่เป็นผู้ถือครองพื้นที่ทำการเกษตรมากถึง 8.7 ล้านราย คิดเป็น 37.5% ของครัวเรือนทั้งประเทศ แต่ถึงจะคร่ำหวอดในวงการเกษตรฯ มานานแค่ไหน เกษตรกรไทยก็ยังต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับน้ำเป็นประจำในทุกๆ ปีอยู่ดี ฤดูร้อนเผชิญภัยแล้ง หน้าน้ำหลากก็ผจญปัญหาน้ำท่วม ยังไม่รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานคนที่จะช่วยบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือไม่ว่าจะน้ำน้อย-น้ำมาก หรือขาดแรงงาน ล้วนส่งผลกระทบกับปริมาณพืชผลทางการเกษตรทั้งสิ้น
สำหรับกรมชลประทานสิ่งเหล่านี้คือพันธกิจในการคิดค้นนวัตกรรมชลประทานใหม่ๆ ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการช่วยลดทอนความเสียหายจากปัญหาเหล่านี้ รวมถึงเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้อย่างยั่งยืนในอนาคต วันนี้เราเลยอยากชวนทุกคนมาเจาะลึก 6 นวัตกรรมชลประทานจากกรมชลประทาน ว่าจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มความมั่นคงด้านทรัพยากรณ์น้ำได้อย่างไร
สารควบคุมกำจัดผักตบชวา : สารผสมสูตร สวพ.62 – RID No.1 ประกอบด้วยน้ำมันสกัดจากพืชตระกูลยูคาลิปตัสผสมกับฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ควบคุมการเจริญเติบโตของพืชและสารลดแรงตึงผิว มีประสิทธิภาพในการกำจัดผักตบชวา ข้อดีคือไม่ต้องรอระยะปลอดฝน ไม่ทิ้งสารตกค้าง ไม่ทำให้น้ำเน่าเสีย จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่สร้างมลพิษทางกลิ่น
เรือกำจัดผักตบชวา (แบบพ่นสาร) : เรือขนาดเล็กที่ออกแบบมาเพื่อกำจัดวัชพืชในแหล่งน้ำ โดยต่อยอดจากนวัตกรรม สารควบคุมกำจัดผักตบชวา สวพ.62 RID No.1 ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ฉีดพ่นสาร สวพ.62 RID No.1 ที่สามารถปรับมุมหัวฉีดได้หลากหลายแบบ จึงครอบคลุมทั้งการฉีดพ่นวัชพืชระยะไกลและระยะใกล้กับเรือได้อย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้การทำงานได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่กว้าง ลดการกีดขวางทางน้ำและการไหลเวียนของน้ำ รวมถึงลดผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำได้เมื่อใช้อย่างเหมาะสม
การกำจัดวัชพืชแบบใช้โดรนเพื่อการเกษตร : โดรนเพื่อการเกษตรใช้บินพ่นสารกำจัดวัชพืชได้ในหลากหลายพื้นที่การใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ แปลงนาข้าว หรือพื้นที่ที่แรงงานคนเข้าถึงได้ยาก เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ต่อยอดมาจากนวัตกรรมสารควบคุมกำจัดผักตบชวา : สารผสมสูตร สวพ.62 – RID No.1
ข้อดีคือสามารถกำจัดวัชพืชได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ มีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยลดระยะเวลาการทำงาน ลดจำนวนแรงงาน ที่สำคัญคือช่วยลดการใช้สารเคมีเนื่องจากใช้สารสกัดจากธรรมชาติที่ไม่ทิ้งสารตกค้าง และยังประหยัดน้ำเพราะเป็นระบบน้ำน้อยอีกด้วย
เรือกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก : ต้นแบบเรือที่พัฒนาขึ้นเพื่อกำจัดวัชพืชในแหล่งน้ำ โดยพัฒนาแขนตักแบบใหม่ที่สามารถกำจัดได้ทั้งวัชพืชลอยน้ำ ใต้น้ำ (ความลึก 1 เมตร) และวัชพืชริมน้ำ รวมถึงเก็บและกำจัดเศษขยะต่างๆ เช่น ท่อนไม้ ยางรถยนต์ โซฟา ที่อาจขวางทางระบายน้ำ ลดความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยทำลายพืชผลทางเกษตร เป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดแรงงานคน และช่วยรักษาสภาพแวดล้อมทางน้ำได้อย่างดี
โดรนชลพิศ 121 : โดรนเพื่อการเกษตรอเนกประสงค์ เป็นเทคโนโลยีด้านการสำรวจประสิทธิภาพสูง ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนงานชลประทาน เก็บข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศความละเอียดสูง สำรวจพื้นที่ชลประทาน นำไปสู่การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงใช้สำรวจพื้นที่ประสบอุทกภัย และยังสามารถประยุกต์ใช้ในการขนส่งอุปกรณ์จำเป็นแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่เข้าถึงยากได้
และในอนาคตอาจมีการประยุกต์ใช้ด้านการเกษตร เช่น การหว่านเมล็ด หรือการใส่ปุ๋ยผลผลิตอีกด้วย
ท่อวัดระดับน้ำในนาข้าว : อุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ในแปลงนาเพื่อเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมและระดับน้ำ ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้เป็นต้นแบบนำมาทำตามได้ง่าย ใช้ระบบ IoT ที่ช่วยให้เกษตรกรเป็น Smart Farmer ได้จากทุกที่ ทุกเวลา ช่วยในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ว่าควรปล่อยน้ำช่วงเวลาไหนในปริมาณเท่าไร สามารถประยุกต์ใช้กับการทำนาแบบ ‘เปียกสลับแห้ง’ ได้ อีกทั้งยังสามารถวัดค่าความชื้นในดินเพื่อปรุงดินให้เหมาะแก่การปลูกข้าวในแต่ละฤดูกาล ไปจนถึงตรวจจับสภาพอากาศเพื่อเป็นตัวช่วยการวางแผนควบคุม เฝ้าระวังโรคและแมลงศัตรูพืช
ทั้งหมดนี้คือนวัตกรรมของกรมชลประทานซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ที่เกษตรกรไทยต้องพบเจอในแต่ละปี นวัตกรรมชลประทานเหล่านี้จะช่วยลดความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง ช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้แรงงาน และส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน