ถ้าพูดถึงสถานการณ์น้ำในประเทศไทย คำว่า ‘ภัยแล้ง’ น่าจะเป็นคำแรกๆ ที่หลายคนคิดออก เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลต่อถึงชีวิตทุกด้าน ทั้งการบริโภคโดยตรงในฐานะปัจจัยสี่และการใช้งานในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม และยังอาจกินเวลายาวนานเป็นหลักเดือนหรือปีจนส่งผลมวลรวมในวงกว้าง
พอสืบย้อนกลับไปหาสาเหตุของภัยแล้งเพื่อจะนำมาสู่การแก้ปัญหา เราพบว่าภัยแล้งเกิดขึ้นจากปัจจัยทั้งจากธรรมชาติ อย่างสภาพภูมิอากาศโลกที่แปรปรวนจนเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งมาพร้อมกับคลื่นความร้อนและความแห้งแล้ง รวมทั้งพฤติกรรมของมนุษย์ที่ยิ่งเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ทั้งโลกกำลังให้ความสนใจและเร่งแก้ไข
ภัยแล้งอยู่ใกล้ตัวพวกเรามากกว่าที่คิด โดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เกิดขึ้นเฉลี่ยทุกห้าปี น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณน้อยประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูงจะได้รับผลกระทบเรื่องค่าความเค็มส่งผลต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นโจทย์ของการบริหารจัดการน้ำที่ต้องใช้แหล่งน้ำต้นทุนจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อการเกษตร 1,495 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ปริมาณน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 300 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี นอกจากนี้ยังสามารถ นำไปผลิตพลังงานไฟฟ้าได้กว่า 417 ล้านหน่วย/ปี (ข้อมูลจากกรมชลประทาน)
โครงการผันแม่น้ำยวมจึงเป็นหนึ่งในวิธีการที่ช่วยบรรเทาทั้งปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัย ด้วยการผันน้ำผ่านอุโมงค์ส่งน้ำจากแม่น้ำยวมซึ่งเป็นสายน้ำในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ไหลลงแม่น้ำเมย แล้วไหลต่อไปยังแม่น้ำสาละวินที่ประเทศเมียนมาโดยที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการกักเก็บน้ำต้นทุนมายังอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลเท่าที่ควร โครงการผันน้ำผ่านอุโมงค์ส่งน้ำจากแม่น้ำยวมคาดการณ์ว่าจะผันน้ำมาเติมให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลได้ถึงปีละ 1,795 ล้านลูกบาศก์เมตร จะส่งผลให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชนและการสร้างความมั่นคงของน้ำในบทบาทของทรัพยากรสำคัญ
สายน้ำจากภาคเหนือ สู่ชีวิตของผู้คนในประเทศ
แล้วแม่น้ำยวมจากภาคเหนือจะเกี่ยวข้องอะไรกับแม่น้ำเจ้าพระยา มาเดินตามเส้นทางน้ำไปด้วยกัน
แม่น้ำยวมเป็นแม่น้ำสายสำคัญในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีเส้นทางน้ำที่ไหลต่อลงสู่แม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวิน พอเข้าช่วงฤดูฝนที่น้ำหลากโดยเฉพาะกับแม่น้ำสาละวินที่มีปริมาณน้ำมหาศาล การเปลี่ยนบทบาทของน้ำปริมาณมากเหล่านี้มาเป็นน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนภูมิพลจึงนับว่าเป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้คนวงกว้าง จากการประเมินพบว่าปริมาณน้ำจากแม่น้ำสาละวินที่กลับมาเติมให้เขื่อนภูมิพลได้มากถึงปีละ 1,795 ลูกบาศก์เมตร จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด
เราเดินทางมาถึงเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เขื่อนอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ที่ตอบความต้องการรอบด้านของชีวิตผู้คน จากสถิติพบว่า ปริมาณน้ำเฉลี่ยต่อปีที่ไหลเข้าเขื่อนอยู่ที่ 5,626 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุใช้งาน 9,662 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 3 ปีเท่านั้นที่น้ำเต็มเขื่อน คือ พ.ศ.2545, 2549 และ 2554 ซึ่งแนวโน้มของน้ำเข้าเขื่อนก็ยิ่งน้อยลงไปอีกอันเนื่องมาจากความต้องการใช้น้ำเหนือเขื่อนที่เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกันกับปลายทางอย่างลุ่มแม่น้ำปิงและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีความต้องการใช้น้ำที่มากขึ้นเช่นกัน
แม่น้ำเจ้าพระยาเปรียบเสมือนกับเป็นศูนย์กลางของน้ำจากทั่วสารทิศ แต่กับเขื่อนหลักขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพลซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญด้วยความจุปริมาณมากที่หากปริมาณน้ำลดลงก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำประปาที่จะส่งถึงผู้บริโภค การบริหารจัดการน้ำผ่าน ‘โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือ โครงการผันแม่น้ำยวม’ จึงเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)
การศึกษาระบบนิเวศ ชุมชน และประชาชน
ตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 จนถึงเดือนตุลาคม 2561 ทางกรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาทบทวนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล โดยดำเนินการตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงาน ด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทั้ง 4 ด้านที่ต้องฟังเสียงของผู้คนในพื้นที่ ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต โดยครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้ไร้สัญชาติ และกลุ่มประชาชนในพื้นที่
การกำหนดมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อทั้งสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ตั้งแต่ระหว่างการก่อสร้างที่มีการจัดการพื้นที่ทิ้งวัสดุขุดให้ห่างจากลำน้ำสายหลักและชุมชน ไปจนถึงตลอดระยะเวลาของโครงการเป็นไปตามแนวทางในการรับมือด้านป่าไม้และระบบนิเวศ การปลูกป่าทดแทนป่าไม้ที่สูญเสียไปอย่างน้อย 2 เท่า และจัดตั้งสถานีเพาะพันธุ์ปลาเพื่อปล่อยคืนสู่แม่น้ำยวมทั้งในบริเวณเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน พร้อมกับมีการออกแบบอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้ปลาเข้าใกล้สถานีสูบน้ำซึ่งอาจหลุดเข้าไปในอุโมงค์ส่งน้ำได้
ขณะเดียวกัน ในส่วนมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับประชาชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียงให้ดียิ่งขึ้นก็เป็นอีกหัวเรื่องสำคัญที่ต้องลงมือทำเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ด้วยการส่งเสริมกลุ่มเป้าหมายที่กลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคมให้ได้รับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานและได้รับการพัฒนาศักยภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติตามแนวทางสันติวิธีหลักมนุษยธรรม หลักสิทธิมนุษยชน และความมั่นคงของมนุษย์
สถานะของโครงการ และอนาคตของคนไทย
จากการคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะกับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างจริงจังจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทำ โดยจำเป็นจะต้องคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อให้ความเหมาะสมเกิดขึ้นทั้งกับการพัฒนาโครงการและการใช้งบประมาณอย่างสมเหตุผล โดยมีแนวคิดที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและดำเนินงาน ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
ในส่วนของประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เป็นผลตามมาจากโครงการ นอกจากการช่วยผลักดันน้ำเค็มให้กับแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้ง และการเพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นผลมวลรวมแล้ว ยังส่งผลต่อผู้คนในพื้นที่ ทั้งการเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวในฤดูแล้งจำนวนกว่า 1.6 ล้านไร่ให้กับจังหวัดกำแพงเพชรและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาใหญ่ การสร้างอาชีพประมงในอ่างเก็บน้ำ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของกิจการแพท่องเที่ยวซึ่งขยายระยะเวลาขึ้น จากเดิมที่สามารถประกอบกิจการได้เฉพาะเดือนที่มีน้ำเท่านั้น สู่การประกอบกิจกรรมได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งการเป็นแหล่งนันทนาการของผู้คนในชุมชนและนักท่องเที่ยว
ปัจจุบัน โครงการผันแม่น้ำยวมยังอยู่ในขั้นตอนการอนุมัติเปิดโครงการ โดยมีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 6 ปี และส่วนของการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจะดำเนินการทันทีเมื่อเริ่มเปิดโครงการ
บทบาทของพวกเราในฐานะประชาชน การสร้างความตระหนักถึงการประหยัดน้ำ การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดเป็นสิ่งที่ควรอยู่ในหัวใจของทุกคน เพียงปรับพฤติกรรมเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน จากมือของหนึ่งคนสู่พลังของผู้คน
ก็นับเป็นความร่วมมือร่วมใจที่ช่วยผ่อนคลายความรุนแรงของวิกฤตการณ์น้ำ เรียกว่ากันไว้ก่อนที่ภัยแล้งจะมาถึง