มองออกไปนอกหน้าต่าง ตอนนี้ท้องฟ้าครึ้มๆ ฝนตั้งเค้า แล้วก็ไม่พ้นฝนตกหนักจนหลายพื้นที่น้ำท่วมฉับพลัน
เป็นเวลาเดียวกันกับที่อีกจังหวัดกำลังเผชิญปัญหาน้ำแล้งที่ทำให้การเกษตรติดขัด เรื่องราวเกี่ยวกับน้ำวนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราในแทบทุกขณะ และหลายครั้งก็ทำให้เราเป็นกังวลเพราะเหตุที่คาดการณ์ไม่ได้ นำมาซึ่งผลกระทบทั้งต่อชีวิต เศรษฐกิจ จนถึงภาพใหญ่ในระดับความมั่นคงของประเทศ
การมาถึงของ Internet of Things ทำให้ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับข้อมูลเป็นไปได้ การบริหารจัดการน้ำในยุคนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเฉพาะพื้นที่อีกต่อไป แต่เป็นการเก็บสะสมข้อมูล การใช้งานเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด และการใช้ความแม่นยำเป็นตัวนำ ซึ่งเป็นภารกิจหลักของ ‘SWOC ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ’ จากกรมชลประทาน
การบริหารจัดการน้ำอย่างรอบด้านและเรียลไทม์ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำ เพื่ออัปเดตข้อมูลตั้งแต่การติดตามน้ำหยดแรก ไปจนถึงการแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนเตรียมรับมือให้ทันท่วงทีทั้งกับภัยแล้งและภัยน้ำท่วมที่อาจมาเยือน เราชวนทุกคนไปสนิทกับ SWOC เพื่อสร้างความมั่นใจให้ชีวิตคนไทยทุกคน และสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต เศรษฐกิจ และประเทศ
ติดตามและรวบรวมข้อมูลน้ำแบบเรียลไทม์
จากข้อมูลสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ จากแหล่งน้ำ อ่างเก็บน้ำ ลุ่มน้ำ และแม่น้ำสายสำคัญ SWOC ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ผู้ติดตามและรวบรวมข้อมูลแบบเรียลไทม์ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง ข้อมูลที่ถูกเก็บเข้าระบบแบบเรียลไทม์จำนวนมากจะถูกใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการประมวลข้อมูล นำไปสู่การประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ในแต่ละพื้นที่ ณ เวลาจริง ด้วยระบบที่ทันสมัยสามารถสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำของผู้บริหารได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ พร้อมทั้งเตรียมการเฝ้าระวัง และประชาสัมพันธ์ การเตือนภัย ตลอดจนประสานในการให้ความช่วยเหลือด้านเครื่องจักร-เครื่องมือ และบุคลากรในพื้นที่
นวัตกรรม IoT กับการเก็บข้อมูลแบบ Big Data
ข้อมูลจำนวนมหาศาลจากทุกแหล่งน้ำทุกวันทุกเวลา ถูกจัดเก็บในรูปแบบ Big Data ด้วยนวัตกรรม IoT หรือ Internet of Things ในการทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับน้ำทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ แล้วนำไปวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำล่วงหน้า ทั้งกับอุทกภัย อย่างการคาดการณ์ปริมาณฝน และความเสี่ยงน้ำท่วม หรือภัยแล้ง อย่างการประเมินโอกาสเกิดภัยแล้งในพื้นที่ทำการเกษตร ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนและตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด
ข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ (DSS)
ด้วยระบบ Decision Support System (DSS) หรือระบบสนับสนุนการตัดสินใจ ของ SWOC ทำหน้าที่เป็นตรงตัวกับชื่อ คือเปรียบเสมือนผู้ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถตัดสินใจวางแผนหรือลงมือแก้ปัญหาได้อย่างมีหลักการ ผ่านการจัดแสดงผลข้อมูลในรูปแบบแผนที่ กราฟ และ Dashboard ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ข้อมูลเหล่านี้เป็นผู้ช่วยในการตัดสินใจ อย่างการระบายน้ำจากเขื่อน การตั้งรับน้ำหลาก หรือการวางแผนป้องกันล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งเป็นประโยชน์ในทุกฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรม
การติดตามและประเมินผลสถานการณ์น้ำ
หลังจากฟังก์ชั่นต่างๆ ที่ผ่านไปข้างต้น เป็นผู้ช่วยในการวางแผนงานในการดำเนินการแล้ว ระบบของ SWOC ยังช่วยติดตามผลลัพธ์และประเมินสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นต่อเนื่องแบบเรียลไทม์ โดยหากพบข้อมูลที่ผิดปกติ ระบบจะทำการปรับคำแนะนำใหม่ได้ทันที เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ได้แบบทันท่วงที และแม่นยำ
สื่อสารและแจ้งเตือนข้อมูลสำคัญสู่ประชาชน
การสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์ระบบอัจฉริยะนี้ เพราะนอกจากจะเป็นการเก็บข้อมูลสำหรับการพยากรณ์โอกาสที่อาจเกิดขึ้นในครั้งต่อไปแล้ว ยังสามารถบอกเล่าผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น และเป็นระบบแจ้งเตือนพื้นที่เฉพาะตรงจุดสู่ประชาชนในพื้นที่ โดยความอัจฉริยะนี้ลงลึกไปถึงขั้นการระบุจุดเสี่ยง การแจ้งเตือนล่วงหน้า และการอัปเดตสถานการณ์ตลอดเวลาแบบเรียลไทม์ เมื่อประชาชนรับรู้ข้อมูลแล้ว จึงสามารถวางแผน จัดการ หรือเตรียมตัวได้ก่อนภัยมาเยือน ทั้งในแง่การใช้ชีวิตประจำวัน และการเกษตรที่ต้องใช้น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต
จากนี้ ข้อมูลทั้งหลายจึงไม่ได้ถูกเก็บไว้แต่ในคลังอีกต่อไป แต่มี SWOC เป็นผู้นำฐานข้อมูลมาจัดการผ่านองค์ความรู้ทางด้านนวัตกรรม เพื่อให้เข้าถึงประชาชนในพื้นที่จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงนับได้ว่า ระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะนี้ เข้ามาเปลี่ยนวิธีการจัดการน้ำของประเทศให้ทันสมัย ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์ และสนับสนุนการตัดสินใจต่อการรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจเกิดขึ้น
และที่สำคัญคือ ผลประโยชน์หลักของการพัฒนาครั้งนี้มาถึงมือประชาชนทุกคนได้ทันท่วงที ผ่านการสื่อสารจากภาครัฐมาถึงประชาชนอย่างแม่นยำและเป็นประโยชน์ ทั้งในแง่การแจ้งเตือนล่วงหน้า เพื่อช่วยเกษตรกรวางแผนเพาะปลูก ไปจนถึงการลดความเสียหายอันเนื่องมาจากพิบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น ช่วยให้หน่วยงานและภาคประชาชนเตรียมตัวรับมือได้อย่างเป็นระบบ