“โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร” สมัยเด็กๆ เคยโดนคุณครูถามเรื่องนี้ในโรงเรียนกันบ้างไหม? แล้วยังจำคำตอบในตอนนั้นได้รึเปล่า?
หลายคนอาจบอกว่า ตอนเด็กๆ นั้นอยากเป็นอาชีพในฝันเช่น เป็นคุณครู หมอ พยาบาล นักบิน ตำรวจ ทหาร หรือแม้แต่นักกีฬาทีมชาติไทย เอาเข้าจริง แม้มันจะเป็นเรื่องของความฝัน แต่เราก็ปฏิเสธได้ยากว่า ในแง่หนึ่ง มันก็คือจินตนาการแรกๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนกันเลย
ถึงอย่างนั้น แม้ว่าโจทย์ ‘ปลายทาง’ อันสำคัญของการจัดการศึกษาคือการทำให้เยาวชนได้ต่อยอดจินตนาการ เติมเต็มความฝัน และเป็นการช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการค้นพบตัวเอง หากแต่ในความเป็นจริง ‘ระหว่างทาง’ ที่เหล่าเยาวชนคนวัยเรียนต้องเจอเรื่อยมาตั้งแต่ห้องเรียนแรกในชีวิต เรื่อยไปจนถึง คลาสสุดท้ายก่อนออกไปเผชิญโลกแห่งความจริง กลับเต็มไปด้วยข้อจำกัดอันมากมายที่ต่อจิตนาการของเรา
หลายคนอาจเดินไปสู่เป้าหมายได้ตรงตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ขณะเดียวกัน อีกจำนวนไม่น้อยนั้น ความฝันของพวกเขาต้องร่วงหล่นไประหว่างทาง
สิ่งที่น่าสนใจคือ ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน หากยังรวมไปถึงวัฒนธรรมการเรียนการสอนที่ระบบการศึกษาบ้านเราทำกันจนเคยชิน ผลิตกันซ้ำๆ จนเห็นเป็นเรื่องปกติ ขณะที่เยาวชนก็ได้รับผลกระทบไปโดยตรงๆ
ระบบการศึกษาเน้นแค่ท่องจำ ทำเด็กกลายเป็นหุ่นยนต์
เคยเจอกันบ้างไหม กับวิชาที่ต้องท่องจำเนื้อหาเยอะๆ ไหนจะต้องจำแล้วออกไปท่องให้คุณครูฟังหน้าชั้นเรียน ใครท่องทุกคนถูกต้องตรงตามหนังสือก็เอาคะแนนไปแบบเต็มๆ แต่พอออกมานอกห้องแล้ว เรากลับไม่สามารถตอบตัวเองได้ว่า แล้วสิ่งที่ท่องไปจนได้คะแนนสวยๆ กลับมานั้น สามารถเอาไปประยุกต์ใช้อะไรได้บ้าง
ปัญหานี้ฝังลึกลงไปในระบบการศึกษาไทยมายาวนานมาก ตั้งแต่พวกเรายังเป็นผู้ได้รับประสบการณ์โดยตรง หลายคนเรียนจบมาแล้วหลายปี แต่น้องๆ หลานๆ ในยุคสมัยนี้ก็ยังต้องวนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านั้นอยู่ เสมือนว่ามันได้กลายเป็นเนื้อเดียวกับการเรียนการสอนไปแล้วจนแยกจากกันไม่ได้
ขณะเดียวกัน เมื่อการเรียนกลายเป็นการท่องจำกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทักษะชีวิตที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เช่น การตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต คิดวิเคราะห์กับสิ่งที่อยู่รอบตัวก็ยิ่งดูเหมือนว่าจะไกลห่างออกไปจากนักเรียนมากขึ้นด้วยเช่นกันผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา วิเคราะห์ว่า จริงอยู่ที่การท่องจำในตัวมันเองก็มีข้อดี คือทำให้จำเรื่องต่างๆ ได้และอาจช่วยได้ผลแค่ได้คะแนนดี (เพราะจดจำได้ดี) แต่ทักษะที่จำเป็นต่อนักเรียนโดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์ และคิดวิพากษ์กลับถูกกลบหายไป ยิ่งมัวแต่ท่องจำเยอะๆ นักเรียนแทนที่จะสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ได้ กลับถูกทำให้เป็นเหมือนเครื่องจักร ที่ตอบทุกอย่างตรงตามแบบแผนที่ถูกกำหนดมาให้แล้ว ต่างจากโลกแห่งความเป็นจริงที่ทุกอย่างไม่มีคำตอบตายตัว
งานวิจัย งานประเมิน กองงานครูเท่าภูเขา หลุดโฟกัสจากเด็ก
แม้ปัญหาในห้องเรียนจะมีมากมาย แต่เราก็ไม่อยากโยนความผิดไปให้กับครูได้โดยง่ายๆ เพราะในขณะเดียวกัน ครูในยุคปัจจุบันเองก็ถูกบีบรัดจากภาระที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง
ไหนจะโครงการใหม่ๆ ที่ต้องรีบส่งผลประเมิน โครงการเดิมก็ยังเหลืออีกมากที่ยังทำต่อไม่เสร็จ มิหนำซ้ำ ครูในยุคนี้ยังต้องทำวิจัยให้ได้ตามกฎเกณฑ์ที่กระทรวงกำหนดเอาไว้
ประเด็นนี้ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ครูหลุดโฟกัสออกไปจากเด็กและห้องเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นปัญหาที่น่าเห็นใจครูไม่น้อยเหมือนกัน ครูหลายคนแม้มีความตั้งใจดีที่อยากเข้าไปใส่ใจเด็กเป็นรายคน แต่ภารกิจกองงานเอกสารล้นโต๊ะที่ต้องเผชิญหน้าก็ต้องผ่านไปให้เหมือนกัน
บทบาทของครูที่อยากเข้าไปช่วยให้คำปรึกษาหรือต่อยอดแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ เป็นรายบุคคลในช่วงเวลานอกห้องเรียนก็หดหายเป็นเงาตามตัว
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ความเห็นเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ช่วงเวลาที่หายไปของครู มันอาจมีผลกระทบไปไกลถึงคุณภาพการศึกษาและความรู้ต่างๆ ที่นักเรียนควรจะได้รับ
“ภาระการทำเอกสาร การอบรม และงานสัมมนา ทำให้งานสอนมีแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น รัฐบาล กระทรวงศึกษา และเขตพื้นที่จึงไม่ควรสร้างภาระงานที่กระทบต่อการสอน ต้องทบทวนว่ากิจกรรมเหล่านี้เกิดประโยชน์ไปถึงตัวเด็กหรือไม่” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวมันจึงไม่น่าจะเกินเลยไปนัก หากมันจะกลายเป็นข้อกังวลว่า การศึกษาที่บทบาทของครูในฐานะผู้จุดประกายแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนจะเริ่มหายไปเรื่อยๆ หรือไม่
ทรัพยากรในโรงเรียนขาดแคลน แหล่งที่มาความรู้ไม่เพียงพอ
เรามักได้ยินคำว่า ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ (Educational inequality) กันอยู่บ่อยๆ รายงานข่าวของสื่อต่างๆ หลายครั้งก็ชี้ชวนให้เราเห็นถึง ‘ช่องว่าง’ ระหว่างคนที่มีต้นทุนในการศึกษากับคนที่มีต้นทุนน้อยกว่ากันอยู่เสมอๆ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นแก่นใหญ่อันสำคัญ ที่เป็นรากฐานของปัญหาที่ทำให้การเรียนการสอนไม่ได้เกิดความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
พูดให้ถึงที่สุดก็คือ คนที่มี (และสามารถเข้าถึง) ทรัพยากรทางการศึกษาได้มาก ก็ย่อมมีโอกาสในการประสบความสำเร็จในการเรียนได้มากกว่าคนที่มีโอกาสน้อยกว่า
เรื่องราวของทรัพยากรทางการศึกษาที่ขาดแคลนก็ยังเป็นเรื่องที่ผู้กำหนดนโยบายทั้งในภาพใหญ่ ตลอดจนบุคลากรในโรงเรียนจะละสายตาออกไปไม่ได้ เนื่องจากมันสะท้อนได้ถึงภาพปัญหาได้อย่างค่อนข้างชัดเจน และใกล้ตัวเด็กนักเรียนเป็นอย่างมาก
ยกตัวอย่าง ปัญหาห้องสมุดที่ขาดแคลนหนังสือ ยิ่งในกรณีที่ครูมอบหมายให้นักเรียนหนึ่งห้องต้องไปค้นคว้าด้วยแล้ว แต่หนังสือต้นทางความรู้ในชั้นวางนั้น กลับมีจำนวนไม่เพียงพอต่อผู้เรียน คำถามคือจะเกิดอะไรขึ้น? นักเรียนอาจต้องสลับเวลากันอ่าน หรือไม่ก็ต้องพึ่งพาการถ่ายเอกสาร ทั้งที่มันเป็นทรัพยากรที่เด็กนักเรียนควรจะได้โดยมีข้อจำกัดน้อยที่สุด
มิหนำซ้ำ ในสภาพความจริงของระบบการศึกษาไทยก็คือ ปัญหาความแตกต่างระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลออกไปนั้นก็ยังคงอยู่ เงินทุนในการจัดการศึกษา ตลอดจนทรัพยากรต่างๆ ทั้งจำนวนหนังสือ จำนวนห้องเรียน จำนวนครู มักจะน้อยกว่าโรงเรียนในเมือง อาจไม่เกินเลยไปนักที่จะเกิดคำถามว่า สภาพการศึกษาในตอนนี้ ยังกระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนในเมืองมากเกินไปหรือไม่
เมื่อเป็นเช่นนี้ ความรู้ที่นักเรียน (ไม่ว่าเขาจะอยู่ในพื้นที่ใดๆ) ควรรับได้อย่างเท่าเทียม ที่จะเป็นตัวช่วยต่อยอดความฝันของเด็กๆ จึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
สภาพปัญหาแม้ดูยิ่งใหญ่ คือมองไปทางไหนก็มีเรื่องให้น่ากังวลใจ ขณะเดียวกัน เรื่องเหล่านี้ก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้เสียทีเดียว แสงสว่างยังคงมีอยู่ ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดียังคงเกิดขึ้นได้
เมื่อปัญหาหลายอย่างนั้นเป็นปัจจัย ‘ภายนอก’ โดยเฉพาะการจัดการศึกษา มากกว่าปัจจัย ‘ภายใน’ ของตัวนักเรียนเองด้วยแล้ว มันก็หมายความว่า ปัญหาเหล่านี้ย่อมเปลี่ยนแปลงได้ มันคงดีไม่น้อย ถ้าห้องเรียนแบบเดิมๆ เปลี่ยนไป ควบคู่ไปกับวัฒนธรรมการสอนใหม่ๆ เปลี่ยนจากการแค่ท่องจำเป็นสร้างแรงบันดาลใจ อีกทั้ง เติมทักษะใหม่ๆ ให้ได้คิดนอกกรอบและเพิ่มพูดความคิดเชิงสร้างสรรค์ที่จำเป็นต่อโลกในศตวรรษที่ 21
หากเราเชื่อว่านักเรียนทุกคนมีศักยภาพภายในตัวเอง ดังนั้น การเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้พัฒนาศักยภาพเหล่านั้น ย่อมเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย
Samsung จึงได้เริ่มต้นโครงการ ‘ห้องเรียนแห่งอนาคต’ หรือ Smart Learning Center ขึ้นมาเพื่อพยายามตอบโจทย์ปัญหาที่เด็กนักเรียนไทยกำลังเผชิญ โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เป็นตัวช่วยให้การเรียนการสอนหลุดออกไปจากปัญหาเก่าๆ ด้วยเป้าหมายสำคัญคืออยากให้นักเรียนไทยสามารถเดินไปสู่ความฝันของพวกเขาได้ พร้อมกับจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ภายในสภาพแวดล้อมแบบเดิมๆ อีกต่อไป
https://www.samsungslc.orghttps://www.facebook.com/samsungslc/
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.thairath.co.th/content/672214
http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=39742&Key=news_research
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/742615