เพียงพริบตาเดียวเทคโนโลยี หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ใกล้สมบูรณ์แล้ว
งานหลายอย่างที่คุณทำอยู่ในปัจจุบันอาจไม่เป็นที่ต้องการในอนาคต หลายคนมองเทคโนโลยีเสมือนการคุกคามศักยภาพของมนุษย์ที่ทำกันมาหลายร้อยปี การเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตคุณในอนาคตอย่างแน่นอน และที่สำคัญจะส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาในระดับโลก
คำถามที่ท้าทายการจัดการศึกษาทั่วโลกต่อไปนี้คือ เราจะต้องจัดการศึกษาแบบใด เพื่อเตรียมผู้เรียนให้พร้อมรับมือกับการใช้ชีวิตและทำงานในโลกซึ่งเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง และคำตอบที่ได้ ก็นำไปสู่แนวคิดการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียน
ห้องเรียนแบบไหนถึงจะส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่วิถี STEM ที่จัดว่าเป็นนวัตกรรมการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างเต็มภาคภูมิ
เราได้รับเกียรติจากนักวิทยาศาสตร์สาวผู้มีผลงานระดับนานาชาติที่ประสบความสำเร็จในเส้นทาง STEM อย่างงดงามของ ดร.ต่าย นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ที่จะมาขยายพื้นที่ของการเล่นที่เข้าใจธรรมชาติ สู่การส่งต่อแนวคิด “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ที่จะเปลี่ยนความเบื่อหน่ายของวิชาการให้เป็นการเล่นอย่างเข้าอกเข้าใจ เพราะอย่างที่ดร.ต่าย กล่าวไว้
“ปล่อยให้เด็กไปเล่น เดี๋ยว STEM จะเข้าหาเอง”
ทราบว่า ดร.ต่าย เติบโตจากครอบครัวสายวิชาการมาตลอด พ่อแม่เป็นครู แต่ได้มีโอกาสเล่นเหมือนเด็กคนอื่นๆบ้างไหม คิดอย่างไรกับประโยคที่กล่าวว่า “ธรรมชาติของการเรียนรู้ของเด็กคือ การเล่นสนุก”
ตอนเด็กๆต่ายเป็นคนห่วงเล่นมากนะ ต้องหาเวลาไปเล่นเสมอ หรือทำกิจกรรมตลอด โดยพ่อแม่เองเปิดให้ทำเต็มที่ เพราะ การเล่น คือหัวใจของการเรียนรู้อันเป็นวิถีธรรมชาติของเด็กๆ หากเราปล่อยให้เด็กเล่นไป พวกเขาจะเอาความสนุกมาสอดแทรกในการเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมเรามักมองข้ามกันมาตลอด
เราโชคดีที่แม้จะเกิดมาในครอบครัวนักวิชาการ แต่คุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้เล่นอย่างอิสระ เพราะระหว่างนั้นจะสอดแทรกกระบวนการคิดและความรู้ไปในตัว ยกตัวอย่างในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนที่เราต้องอยู่บ้านพักวิทยาลัยครูนครสวรรค์ ด้วยความที่เป็นเด็กชอบทานกิมจ๊อ บ๊วยเค็มมาก คุณพ่อคุณแม่เลยถามว่าให้เราลองขายดูบ้างไหม
เราเลยนึกสนุกไปซื้อกิมจ๊อห่อใหญ่ๆจากตลาด แล้วมาแบ่งขายในถุงเล็กๆ ดูว่าแต่ละถุงใส่กิมจ๊อได้กี่เม็ด และเราควรแบ่งอย่างไร ขายกี่บาทถึงจะเหมาะสม แถมเราต้องเอามาใส่ถุงแบ่งเอง ใช้ไฟลนปิดปากถุง เราจึงได้รู้ว่าพลาสติกเมื่อเจอความร้อนมันจะหลอมละลาย กลายเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ขึ้นมา พอเอากิมจ๊อไปขายจริงก็ต้องอาศัยหลักคณิตศาสตร์ช่วยคำนวณให้ขายกิมจ๊อได้หมดถึงจะได้กำไร
ที่สำคัญเราจะได้ Soft Skill อื่นๆเพิ่มขึ้นมา เพราะเมื่อเราเดินไปขายพี่ๆนักศึกษา ก็จะถูกต่อราคาอีก ขายอย่างไรให้ได้กำไรแต่ต้องไม่เสียลูกค้าด้วย กลายเป็นว่าเราต้องรู้จักติดต่อสื่อสารกับคนอื่นๆเพิ่มมากขึ้น การเล่นในวัยเด็กนี้เองที่ค่อยๆแทรกซึมกระบวนการความรู้ไปด้วย ทำให้เราเป็นคนชอบคณิตศาสตร์ไปโดยปริยาย
ตอนโตมาหน่อยได้มีโอกาสทำโครงงานวิทยาศาสตร์ คุณครูให้ไปหาโจทย์ว่าจะทำเรื่องอะไรดีที่ต้องทำกันเป็นทีม
เราจึงไปดูว่าในพื้นที่นครสวรรค์มีโจทย์อะไรน่าสนใจบ้าง เพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มที่บ้านทำฟาร์มกล้วยไม้ส่งออกต่างประเทศ แต่ไม่ได้ส่งออกได้ดีทุกเดือน บางช่วงจะมีกล้วยไม้เหลือ เราจึงได้โจทย์ว่า จะนำกล้วยไม้ที่เหลือมาสกัดหาสารที่จะมาช่วยยืดอายุกล้วยไม้ให้อยู่นานขึ้น ทำให้ส่งในประเทศที่ไกลห่างไกลได้อีก
ความสนุกจึงไม่ใช่แค่ได้ผลลัพธ์ มันสนุกที่ทีมของเราคิดได้อย่างไรที่จะแก้ปัญหา เพื่อนบางคนอาจไม่เก่งวิทยาศาสตร์ แต่ติดต่อสื่อสารกับเกษตรกรได้ถึงตัว นำเสนอเก่ง ส่วนเราเรียนวิทยาศาสตร์จึงไปค้นหาสารในกล้วยไม้มีอะไรบ้างที่ชะลออายุของกล้วยไม้ได้ เมื่อแต่ละคนมีจุดแข็งจุดอ่อนต่างกัน แต่เมื่อทำงานด้วยกันจึงประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้ ต่ายจึงเปิดใจยอมรับความแตกต่างของคนอื่นๆ เพราะเราเชื่อมาตลอดว่า เด็กๆทุกคนเก่ง
การเล่นอย่างเข้าอกเข้าใจทำให้ ดร.ต่าย มั่นใจที่จะเดินทางสู่สาย STEM อย่างไร?
จริงๆ แล้ว ต่ายชอบทำกิจกรรม เพราะการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ทำให้เรารู้ว่าเราชอบอะไร โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ ในสมัยก่อนยังไม่มีแนวคิด STEM โรงเรียนมีสอนแค่เป็นรายวิชา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ไม่มีการผนวกรวมแบบบูรณาการ
เมื่อเรียนผ่านกิจกรรมบ่อยๆ ทำให้เรามีแรงบันดาลใจ ต้องนำศาสตร์ต่างๆมาผสมกัน ยิ่งทำให้มันสนุก ตอนยังเป็นเด็กมัธยมเราก็ไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแค่ว่าอยากเรียนเก่งๆ จะได้เอ็นทรานซ์เข้าคณะดีๆ มีงานทำ
แต่ต่ายเป็นลูกข้าราชการ เราเติบโตมาจากเงินของรัฐที่ให้พ่อแม่ เรียนโรงเรียนรัฐจากภาษีประชาชน ดังนั้นการที่เราเติบโตขึ้นมาได้เปรียบเสมือนติดหนี้บุญคุณแผ่นดินนี้อยู่ จึงอยากทำอาชีพอะไรก็ได้ที่ทดแทนคุณแผ่นดิน ในตอนเรียนต่ายยังจำได้ว่า ข้างหลังห้องมีคำกล่าวของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ท่านดำรง ลัทธพิพัฒน์ กล่าวไว้ว่า ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองเศรษฐกิจ ผู้ใดครองเศรษฐกิจ ผู้นั้นครองอำนาจ
เมื่อเห็นคำกล่าวนี้แล้วเลยเกิดแรงบันดาลใจ หากเราจะเป็นประเทศที่ครองอำนาจได้ เราต้องสร้างเทคโนโลยี ยิ่งเสริมความมั่นใจเราให้บูรณาการศาสตร์วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เข้าด้วยกันเพื่อที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมาให้ประเทศไทย
ภาพนั้นยังติดตาอยู่เสมอ แต่กลับไปโรงเรียนอีกครั้งคำกล่าวนั้นก็ไม่อยู่แล้ว แต่ภาพนั้นยังจำขึ้นใจ เมื่อเวลาท้อก็จะนึกถึงคำกล่าวนี้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงเลือกเรียนสาย STEM
เป็นไปได้ไหมที่เราจะสร้างบรรยากาศการเรียน STEM ที่เป็นมิตร แน่นอนมีเด็กมากมายอยากเดินทางสายนี้ แต่ส่วนใหญ่หัวใจที่พองตัวของพวกเขากลับถูกทำให้ยุบลงเรื่อยๆ เมื่อเรียนในเนื้อหาที่ซับซ้อนขึ้นและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป
การศึกษา STEM ในบ้านเรามันยังไม่ใช่ “ของแท้” เราเรียนกันเป็นรายวิชาหรือที่เรียกว่ากลุ่มสาระ ซึ่งมันไม่ได้ผนวกให้เห็นภาพใหญ่ว่าเมื่อแต่ละวิชารวมกันแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น คล้ายตัวต่อปริศนาที่จะทำให้เห็นภาพใหญ่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กไปเรียนแต่ละวิชาแยกออกจากกัน ในความเป็นจริงนั้นหากเราจะเข้าใจอะตอม ต้องเข้าใจฟิสิกส์ หากจะเข้าใจฟิสิกส์ก็ยังต้องเข้าใจชีววิทยา เพื่อเผยให้เห็นว่าสารต่างๆที่อยู่ในชีวิตเราจะดำเนินภายใต้กลไกทางเคมีอะไรที่ต้องใช้การคำนวณทางคณิตศาสตร์
เด็กส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าท่องสูตรไปจะใช้ทำอะไรได้บ้าง หรือถ้าไม่ชอบวิชาเคมีแล้วก็จะไปเรียนต่อสายวิทยาศาสตร์ไม่ได้เลย พวกเขาจึงหันหลังให้กับความรู้ หัวใจที่เคยพองโตกลับยุบลง แถมยังวิ่งหนีอีก อันเป็นผลจากระบบการศึกษาของบ้านเราที่ล้มเหลว
แต่การศึกษา STEM ที่แท้จริง ไม่ได้บอกว่าอะไรเป็นวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการสร้างโจทย์ขึ้นมาแล้วต้องดึงศาสตร์ต่างๆมาบูรณาการเพื่อการแก้ปัญหา หากเราสามารถสร้างการศึกษาแบบ STEM ที่แท้จริงได้ เด็กทุกคนจะดึงศักยภาพของตัวเองออกมาว่าพวกเขาชอบด้านนี้หรือไม่
บรรยากาศการเรียนรู้ในแนว STEM โดยปกติแล้วต้องสนุก และไม่ควรบั่นทอนกำลังใจเด็ก แต่จะกลับสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้เกิดการอยากเรียนรู้
ค่ะ ต่ายเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ คุณครูจึงไม่ควรมีหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นโค้ช ที่จะดึงศักยภาพของเด็กแต่ละคนให้เห็นจุดแข็งของตัวเอง ห้องเรียน STEM ที่ดีสำหรับต่าย ครูจะต้องเป็นโค้ชที่ดี เด็กทุกคนมีความกล้า เราจึงสามารถดึงความเก่งของแต่ละคนมาใช้อย่างถูกทางและถูกต้อง
ศาสตร์ทุกอย่างล้วนต้อง “บูรณาการข้ามศาสตร์” ด้วยกันทั้งสิ้น สำหรับ ดร.ต่ายได้ใช้จุดยืนนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
การทำงานในทุกสายอาชีพจะเก่งเฉพาะสายงานตัวเองไม่ได้ STEM เองก็เช่นกัน ต่ายเป็นนักวิจัยที่ต้องเชี่ยวชาญด้าน STEM แน่นอน ต้องใช้คณิตศาสตร์ผ่านกระบวนการวิศวกรรม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ โจทย์ที่เข้ามาเป็นโจทย์โดยตรงจากเกษตรกรบ้าง จากภาคอุตสาหกรรมบ้าง ถ้าเราไม่มี Soft Skill เลย ไม่มีทักษะแห่งอนาคต เราจะไม่มีทางสื่อสารกับพวกเขารู้เรื่องเลย
Soft Skill เหล่านี่เองจะเป็นหัวใจของการทำงานเป็นทีม เป็นผู้นำและเป็นผู้ตามได้ ผ่านการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ
มีแนวโน้มอะไรบ้างที่จะทำให้ผู้หญิงมั่นใจที่จะเติบโตในสาย STEM เพราะเมื่อสายนี้เหมือนไม่ค่อยมีพื้นที่ให้มากเสียเท่าไหร่
จริงๆมันดิ้นรนตั้งแต่ตอนเรียนเลยนะ ทุกคนทราบดีว่าสายวิศวกรรมเป็นสายที่มีผู้ชายเรียนเยอะ มีอคติทางเพศเกิดขึ้น เช่น เรามักบอกว่า สายสังคมผู้หญิงเรียนได้ดีกว่าผู้ชาย ถ้าเรียนวิทยาศาสตร์ผู้หญิงจะสู้ผู้ชายไม่ได้ จริงๆแล้วไม่ว่าจะผู้หญิงผู้ชายหรือจะเพศไหนๆก็ตาม เราล้วนเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพทางสมองเท่าเทียมกัน เอาเข้าจริงมันไม่มีหรอกที่ศาสตร์ไหนที่ใครจะเก่งกว่าใคร เป็นแค่สิ่งที่สังคมเขียนขึ้นมาทั้งนั้น หากเราไม่เดินตามสิ่งที่สังคมวาง Stereotype ไว้ เราก็จะไม่ตกเป็น “เหยื่อทางมันสมอง”
ปัจจุบันมีน้องๆหลายคนไม่มั่นใจว่าจะทำงานสาย STEM ต่อไปอย่างไร แม้ว่าเขาจะชอบมากแค่ไหนก็ตาม แต่กลับไม่เห็นเส้นทางที่จะประสบความสำเร็จ เราเลยบอกเสมอว่า ต้องหา Role Model ที่ประสบความสำเร็จให้ได้ เพราะคนเหล่านั้นก็ผ่านสายงานประเภทนี้มา เจออุปสรรคมาเช่นกัน ดังนั้นเราเองก็มีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จด้วย
สภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของ ดร.ต่าย ควรจะเป็นเช่นไร
ศตวรรษที่ 21 ต้องการอะไร ซึ่งเป็นศตวรรษแห่งนวัตกรรม จำเป็นต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ และเราต้องใช้มันเป็น อยู่กับมันได้ สร้างนวัตกรรมด้วยตนเอง เราต้องการคนที่มีความเก่งแบบองค์รวม จะพึ่งพาเพียงความเก่งของใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ หากเราต้องการเช่นนี้ การศึกษาจึงต้องควรสะท้อนศตวรรษที่ 21 ต้องการคนแบบไหน และต้องสร้างคนเหล่านั้นให้ได้
การศึกษาจึงจำเป็นต้องเอาเทคโนโลยี เข้ามามีส่วนช่วยในการเรียนรู้ เพราะเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และที่ขาดไม่ได้เลย การศึกษายุคต่อไปจะต้องเน้น Soft Skill ที่จัดว่าเป็นทักษะแห่งอนาคต ที่ช่วยให้เราคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่ทักษะในการจดจำ
ที่ผ่านมาเราจำเพียงองค์ความรู้ แต่เราต้องเอาองค์ความรู้มาวิเคราะห์ให้เป็น เพราะเพียงปลายนิ้วเราสามารถเข้าถึงความรู้มากมาย ที่แทบจะไม่ต้องเข้าห้องสมุดแล้ว แต่เราจะต้องสร้างห้องสมุดดิจิตอลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แต่เป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีม คุยกับคนอื่นให้รู้เรื่อง นำเสนอให้คนทั่วไปได้ เหล่านี้เป็นทักษะที่ห้องเรียนต้องนำมาผนวกเข้ากับให้ได้
เมื่อไหร่การศึกษาไทยจะเปิดโอกาสให้ “เด็กหลังห้อง” มากกว่านี้
ผิดตั้งแต่เรามีคำว่า “เด็กหลังห้อง” แล้ว มันเป็นตัวที่บอกว่าการศึกษาของเรานั้นล้มเหลว เด็กทุกคนมีศักยภาพในแบบตัวเขาเอง ห้องเรียนในฝันของต่ายจะไม่มีหน้าห้องหลังห้อง ไม่มีกระดานดำที่ครูจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ที่เอาแต่พูดอยู่ตลอดเวลา และเด็กต้องฟังตลอดขยับตัวไม่ได้ ทำอะไรนอกเหนือกว่านั้นถือว่าผิด สิ่งเหล่านี้เป็นการตีกรอบทางความคิด พฤติกรรม และความฉลาดของเด็กๆ
ห้องเรียนที่ต่ายอยากให้เป็น คือเด็กสามารถทำงานกันเป็นทีม ทุกคนได้ใช้ศักยภาพของตัวเอง ยอมรับความเก่งที่แตกต่างซึ่งกันและกัน คุณครูมีหน้าที่ให้คำปรึกษา เป็นโค้ชที่นำเด็กๆไปสู่คำตอบ ยื่นเทคโนโลยีใหม่ๆให้เด็กได้ใช้สำรวจ
หลังจากที่ ดร.ต่ายได้เห็นโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต โครงการที่สนับสนุนการเรียนรู้จากการตั้งคำถามและการสร้างทักษะศตวรรษที่ 21 รู้สึกอย่างไรบ้าง
ส่วนตัว ต่ายชื่นชมโครงการ Samsung Smart Learning Center เป็นโครงการที่ทันสมัยหรือล้ำสมัยไปด้วยซ้ำ เพราะได้ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลช่วยในการเรียนรู้ อย่างที่บอกว่าเราปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้แล้ว ทำอย่างไรเราถึงจะใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
ทำให้เด็กที่เกิดในยุคดิจิตอลที่เรียกว่า Digital Native ที่เกิดมาก็มีดิจิตอลรายล้อมแล้ว ทำให้เขาเห็นว่า มันเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่นำไปสู่กระบวนการคิดวิเคราะห์ ความรู้ใหม่ๆที่ไม่ได้จำกัดอยู่ในตำรา ไม่ได้จำกัดในประเทศไทย พวกเขาสามารถไปลงคอรส ออนไลน์ของสถาบันระดับโลกและองค์กรนานาชาติได้ เข้าไปสู่ความรู้ที่นำสมัยมากว่าที่คุณครูมีอยู่ในมือด้วยซ้ำ
Samsung Smart Learning Center เน้นการทำโครงการที่ต้องทำงานร่วมกัน ส่งเสริมทักษะแห่งอนาคตที่ต้องทำงานเป็นทีม บางครั้งโจทย์ที่ต้องทำ เป็นโจทย์ที่ส่งตรงมาจากชุมชนกำลังต้องการ ทำให้พวกเขารู้ว่า สิ่งที่เรียนมาสามารถทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ จะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีส่วนร่วมในการช่วยคุณครู ให้เข้าใจกระบวนการเรียนรู้แบบ STEM ที่แท้จริง เพราะคุณครูเป็นแม่แบบที่ผลิตทรัพยากรมนุษย์ของเรา ให้ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ซึ่งจะมาช่วยกันพัฒนาประเทศอย่างที่ต่ายใฝ่ฝันไว้ค่ะ”
บทเรียนจากการเข้าใจธรรมชาติตัวเองและการศึกษา สอนอะไรให้กับ ดร.ต่าย ถึงทุกวันนี้
ธรรมชาติคือทุกอย่างของชีวิต การที่เราเข้าใจธรรมชาติบุคลิกภาพของเราเอง ความรักและหลงใหลของเราอยู่ตรงไหน ทำให้ชีวิตพบความสุข ต่ายจะบอกทุกคนเสมอว่า ไม่ว่าใครจะเลือกอะไรในชีวิต จะต้องเลือกในสิ่งที่ตัวเองรัก ไม่ว่างานนั้นจะยากเย็นแค่ไหน แต่เราจะก้าวข้ามอุปสรรคไปได้อย่างมีความสุข
บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก ริเริ่มโครงการ Samsung Smart Learning Center
“ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศ ผ่านแนวคิด “ห้องเรียนแห่งอนาคต”
ห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุง คือ พื้นที่การเรียนรู้ที่นาเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของซัมซุง มาหนุนเสริมผู้เรียน ร่วมกับการใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม (Active Learning) ในพื้นที่ทางกายภาพที่เอื้ออำนวยให้เกิดการทำงานร่วมกับผู้อื่น และสามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้อย่างไม่มีข้อจากัด
ในห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุง ผู้เรียนจึงเป็น Active Learner และครูทำหน้าที่เป็นโค้ชหรือผู้อานวยกระบวนการเรียนรู้ (Coach/Facilitator) ผู้เรียนสามารถสืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียน เปิดพื้นที่ให้เกิดการตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ ทางานร่วมกับผู้อื่นในสหสาขาวิชา เพื่อค้นหาคำตอบ สร้างการค้นพบ รวมทั้งสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสื่อสารแบ่งปันสิ่งที่ตนค้นพบ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น
https://www.samsungslc.orghttps://www.facebook.com/samsungslc/