อยากเรียนวิทยาศาสตร์ แต่ก็มักถูกดับฝันทุกครั้ง เมื่อใครๆก็ขู่ว่า “ยาก เรียนอย่างอื่นเถอะ” ทำไมเราถูกปลูกฝังความเชื่อผิดๆ เมื่อการเรียนรู้ที่แท้จริงมันควรจะสนุกหากเด็กๆได้เล่นอย่างเข้าอกเข้าใจ
ทักษะสำหรับคนรุ่นใหม่ไม่ใช่แค่ภาษาที่สองแล้ว แต่มันคือทักษะด้านเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ ซึ่งเปรียบเสมือนภาษาหรือการสื่อสารที่ใช้ร่วมกันทั้งโลกที่จะทำให้เราเจริญเติบโตอย่างโดดเด่น จนในวันหนึ่งเด็กๆอาจถูกคาดหวังให้ Coding ได้ และสร้างวัตกรรมใหม่เป็นโดยไม่ต้องรอการศึกษาภาคบังคับอีกแล้ว
สถานการณ์ในประเทศไทยปัจจุบัน การจัดการเรียนการสอนเพื่อผลักดันแนวคิดดังกล่าวในโรงเรียนยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ดังนั้นห้องเรียนแนวใหม่ที่เข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้ รวมถึงเนื้อหาทางด้าน STEM ของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ควรจะเป็นเช่นไร ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หรือ ดร.อ้อ นักวิชาการสาวมากความสามารถที่คว่ำหวอดในแวดวงธุรกิจ ทั้งในฐานะผู้ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ ผู้ดำเนินรายการข่าวทางทีวี อาจารย์มหาวิทยาลัย อดีตผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์แห่งรั้วแม่โดม และ CEO & Co-Founder ของบริษัท ICORA บริษัทที่ปรึกษาให้กับธุรกิจที่ต้องการจะระดมทุนด้วย disruptive technology เธออยากเห็นบรรยากาศของห้องเรียนในอนาคตเป็นแบบไหนเมื่อเทคโนโลยีมาเปลี่ยนทุกอย่าง
ดร.การดีมีความเห็นอย่างไรหากเราสร้างสภาพแวดล้อม “การเล่น” ที่ดีให้กับเด็กๆในช่วงแรกเริ่ม
เวลาเล่นของเด็กจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีกฎเกณฑ์ ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ พวกเขาสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างไร้ขอบเขต ถ้าเราถอดแบบวิถีในการเล่นได้ก็น่าจะทำให้เด็กเรียนรู้ได้กว้างขึ้น เร็วขึ้น แล้วก็มีประสบการณ์ที่เก็บไว้ในใจที่อาจจะเป็นประโยชน์กับเขาตอนโตได้
ถ้ามีประโยชน์ แต่ทำไมในสังคมบ้านเราไม่ค่อยปล่อยให้เด็กๆเล่นเลย
เวลาเล่นมีจำกัดมากสำหรับบ้านเรา ถือเป็นของมีค่า ซึ่งก็น่าแปลกนะคะ การเล่นนอกจากที่จะทำให้เด็กๆคิดเองเป็น มันทำให้เขาสามารถที่จะเปิดกว้างกับการร่วมมือกับคนอื่นๆ ถือเป็นการสร้างความร่วมมืออีกรูปแบบหนึ่งที่สังคมนี้ต้องการ
อย่างตัวเราด้วยความที่เป็นคนชอบเล่นผาดโผนตั้งแต่เด็ก (จนคุณแม่กังวล หัวเราะ) แต่ว่าจริงๆ แล้ว การปีนป่าย มันคือการเรียนรู้เชิงฟิสิกส์ทั้งสิ้น เราจะขยับขาได้อย่างไร ด้วยแรงอะไรต่างๆ ตอนเด็กๆชอบไปร้านโชห่วย ร้านขายฮาร์ดแวร์ ซื้อเซอร์กิตมาต่อเล่นเองเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบทำมาก ต่อได้เป็นวันๆ จนกระทั่งโตมาเป็นคนที่ชอบสร้างสิ่งของต่างๆ ชอบดูสัดส่วนโครงสร้าง ชอบชั่งน้ำหนักสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางคณิตศาสตร์ก็จะได้นำมาใช้กับวิศวกรรมเชิงโครงสร้างและเทคโนโลยีในการออกแบบด้วย มันแทบไม่แยกขาดกันเลย
หรือว่าตอนนั้นทำแล้วรู้สึกว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน
ใช่ มันเป็นเหตุเป็นผล มันได้ทดลองเสมอ ทดลองผิดแล้วก็ไม่เป็นไร พอทำถูกแล้วมันเห็นผลสำเร็จ มันก็เลยรู้สึกว่าสนุก แต่สิ่งที่เกิดขึ้น การรับรู้ทั้งคุณครูและเด็ก มักเข้าใจว่า STEM มันต้องยาก มันต้องเป็นวิชาสุดหิน หากง่ายไปไม่เรียก STEM (หัวเราะ) เคยจำได้ว่าเคยมีคนถามคุณครูว่า ทำไมเลขถึงยากจัง ครูก็ให้คำตอบว่า “ถ้าไม่ยากก็ไม่ใช่เลขสิจ้ะ” นี่เหรอคือคำตอบ! STEM มันทำให้สนุกได้นะ มันควรทำให้เราอยากรู้อยากเห็น พอยิ่งสงสัยยิ่งทดลอง ผิดพลาดไม่เป็นไรถือเป็นกระบวนการเรียนรู้สำคัญที่สุด
ดังนั้นการเรียนรู้ STEM อย่างเป็นธรรมชาติมันควรเป็นอย่างไร
อยากจะแชร์ประสบการณ์ตอนสมัยเรียนมัธยมที่อเมริกา จำได้เลยว่าม.4 ของที่นั้น มีการบ้านอยู่ชิ้นหนึ่งที่ต้องทำตลอดทั้งเทอม คุณครูจะให้ไม้จิ้มฟันมากล่องหนึ่งกับกาวลาเท็กซ์ โจทย์ต้องสร้างสะพาน ยาวประมาณฟุตครึ่ง แล้วต้องทำสะพานที่รับน้ำหนักได้เยอะที่สุด นักเรียนคนไหนทำได้จะเป็นผู้ชนะ คุณครูไม่ได้บอกเลยว่าต้องทำแบบไหน มันทำให้เราเรียนรู้ระหว่างทางควบคู่กับการสอน
โครงสร้างที่แข็งแรงที่สุดคือโครงสร้างสามเหลี่ยม กากบาทก็แข็งแรงดี แต่สี่เหลี่ยมไม่แข็งแรง กระบวนการเรียนรู้อย่างธรรมชาติทำให้เราจำ แล้วเราไม่ได้จำเพราะโดนบังคับ เราจำเพราะว่าได้ประสบการณ์ตรงที่เราได้ล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วนจากการทดลอง
STEM จึงไม่ใช่วิชาใดวิชาหนึ่งที่มีการวัดผลด้วยการสอบเท่านั้น แต่เป็นการรวมศาสตร์ต่างๆเข้ามา ให้สิ่งรอบตัวเรา Make Sense อันเป็นพื้นฐานชีวิตของทุกคน
คิดว่าปัญหาช่องว่างระหว่างวัย Generation Gap ระหว่างครูผู้สอนและนักเรียนทำให้บรรยากาศเรียนไม่น่าสนใจไหม
จริงๆ ประสบการณ์ที่เรามีกับคุณครูอาวุโสล้วนเป็นประสบการณ์ที่ดี ท่านเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลาแล้วมักรับฟัง พยายามให้แรงบันดาลใจให้เราคิดแปลกๆ เพราะฉะนั้นไม่อยากให้อายุเป็นเครื่องที่ทำให้เราจูนกันไม่ติดระหว่างคุณครูกับลูกศิษย์ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่เราก็สามารถเรียนรู้ไปร่วมกันได้ น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ในช่วงที่สอนนักศึกษา มีบางไหมที่นักศึกษาแย้งความคิดจนต้องไปทบทวนตัวเองอีกครั้ง
เป็นประจำเลยค่ะ เราชอบให้นักเรียนเถียง หลายครั้งทำให้เรารู้สึกทึ่งกับแนวคิดของเด็กๆ ประสบการณ์พื้นฐานของเราไม่เหมือนกัน ตัวเราเองก็รูปแบบหนึ่ง แต่เด็กเขาก็มีประสบการณ์อีกแบบหนึ่ง
เพราะฉะนั้นเวลาเราสอนเด็ก เราก็ไม่ควรจะเอาประสบการณ์ในอดีตของเราเป็นตัวตั้งเพียงอย่างเดียว เราควรจะเอาประสบการณ์ร่วมหรือว่าสิ่งที่เราต้องการสร้างร่วมกันในอนาคตเป็นตัวตั้ง แล้วเราก็เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
STEM เป็นพื้นฐานชีวิตผ่านตรรกะความคิด แต่การที่เราจะเติบโตไปในอนาคต จะสร้างประเทศร่วมกัน สร้างสังคมที่ดีร่วมกัน มันคงจะแค่เราเก่งใน STEM นี้ไม่ได้ ต่อไปเราต้องรู้จักทักษะแห่งการแบ่งปัน ทักษะสื่อสาร การทำงานร่วมกันที่เราจะแก้ปัญหาใหญ่ๆ น่าจะเป็น Soft Skill ที่สำคัญ จวบจนไปถึงความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาเดิมแต่ใช้ความคิดใหม่ ก็จะเป็นสิ่งที่สำคัญด้วยเหมือนกันค่ะ
มักมีความเชื่อว่า วิทยาศาสตร์มีความอคติทางเพศ สำหรับดร.การดีรู้สึกอย่างไร และเป็นไปได้ไหมที่จะทำให้ผู้หญิงมั่นใจที่จะเดินในเส้นทาง STEM ต่อไป
เรื่องนี้สำคัญเลย มีการศึกษาที่ชี้ว่า ผู้หญิงอยู่ในสายอาชีพ STEM น้อย อันนี้สถิติของทั้งโลกเลยนะไม่ใช่แค่เฉพาะไทย แล้วเมื่อโตไปเรื่อยๆ ความก้าวหน้าตรงนี้เป็นลักษณะโลกของผู้ชาย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่ดี แต่มันต้องมีเพศที่ผสมผสานด้วยกัน
เด็กผู้หญิงเรียน STEM ส่วนที่ต้องทำความเข้าใจ น่าจะเป็นสังคมที่เล็กที่สุดคือครอบครัว หากเรายังมีความเข้าใจเหมือนเดิมว่าสายวิทยาศาสตร์เป็นเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิงไม่ต้องเรียนหรอก อันนี้ฟังแล้วน่าเจ็บใจที่สุด แต่ทุกวันนี้ความเปิดกว้างมีมากขึ้น ถ้าพูดถึงสายวิศวกรรมที่เมื่อก่อนมีแต่ผู้ชาย วันนี้มีสัดส่วนของผู้หญิงเข้าไปเรียนเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นตอนเข้าเรียน เราต้องให้กำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจ
ที่สำคัญกว่านั้น เมื่อเรียนแล้วจะเข้าสู่ในการทำงานสาย STEM ได้ยังไงเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ใหญ่ไม่แพ้กัน แม้จะมีแรงบันดาลใจมาเต็มที่แล้ว แต่ Reality Check ข้อเท็จจริงเวลาเราไปทำงาน มันยังมีกลุ่มแบ่งแยกที่ทำงานมีแต่ผู้ชาย คือผู้ชายก็จะมีกลุ่มสังคมอีกแบบหนึ่ง หลังจากงานเสร็จก็มีการคุยนอกรอบต่างๆ ซึ่งในขณะที่เราไม่ได้อยากไป เราอยากกลับบ้าน มันก็เลยมีหลายเหตุการณ์ในอดีตทำให้รู้สึกว่าเหมือนเราพลาดโอกาส
ดังนั้นเราคงจะต้องเสียสละบ้าง ถ้าเกิดเรามีเป้าหมายจริงๆ กับงานนี้ เราต้องเอาชีวิตออกจากวิถีเดิมของตัวเองแล้วก็ไปอยู่ในตรงนั้นให้ได้ มันแปลว่าต้องพยายามมากขึ้นกว่าทุกอย่างอีก 20%
ในฐานะที่เป็นอาจารย์และผันตัวเป็นผู้บริหารธุรกิจเต็มตัว ดร.การดีเลือกจะ Recruit คนแบบไหนเพื่อให้เหมาะกับองค์กรในศตวรรษที่ 21
เวลาจะรับสมัครใครจะพยายามไม่ถามว่าจบอะไรมา เพราะไม่อยากจะใช้อดีตของเขามาตัดสินเรื่องของอนาคต ประเด็นแรกๆ เลยที่เรารู้สึกว่าจะไปต่อด้วยกันมี 2 อย่าง คือ ต้องเป็นคนที่มีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ดี มี ability to learn มีความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี ถ้าตรงนี้ไปรอดแล้ว เราก็จะมาคุยกันในเรื่องของทักษะในกลุ่มที่ 2 คือการคิดวิเคราะห์ การคิดเป็นตรรกะเชิงระบบ การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ
เมื่อไหร่การศึกษาไทยจะเปิดโอกาสให้ “เด็กหลังห้อง” มากกว่านี้ คิดว่า Digital Technology จะมาเติมเต็มพวกเขาอย่างไร
พอพูดถึงเด็กหลังแล้ว เราจะนึกภาพออกเลยว่า เด็กคนนั้นเขาจะเข้าใจไปเองว่าเขาทำไม่ได้ ไม่มีสิทธิ์ก้าวเข้าไปกับกิจกรรมทางวิชาการอะไรก็ตาม จากใบเกรดหรือการตีตราของระบบทางการศึกษาแบบโบราณ
เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ที่เขามีส่วนร่วมแบบ Team Based Approach โดยการการใช้ Digital Technology เราคิดว่ามันก็จะช่วยได้ ในการลบชั้นลำดับเกรดเด็ก A ถึง D ให้แยกออกไปแล้วทำงานร่วมกัน
ถ้าสมมติจะต้องเข้าไปในห้องที่มีบรรยากาศการเรียนในฝันที่อยากสอน บรรยากาศหน้าตามันเป็นยังไง
ถ้าในแบบฝันเลย อยากเข้าไปในห้องยังไม่ทันอ้าปาก เด็กยกมือถามหรือยกมือบอกว่าอยากเรียนรู้อะไร ซึ่งอ้อมักจะทำแบบนี้อยู่เรื่อยๆ เวลาตอนที่เราสอนหนังสืออยู่มักจะถามว่า วันนี้อยากรู้อะไร จนแรกๆ เด็กก็บอกว่าครูเป็นอะไรมากไหม แปลกจัง (หัวเราะ) ไม่ได้เตรียมตัวมาสอนเหรอ
คนเรียนเขาน่าจะมีส่วนในการตัดสินใจด้วยว่าอยากเรียนรู้อะไร แล้วเราเป็นโค้ช เราจะไม่ใช่คนบอกคำตอบ เราจะแนะนำแทน ช่วยให้ทุกคนไปค้นคว้าเรื่องนี้กัน เราต้องทำโปรเจคนี้ร่วมกัน มันเกิดพลังแห่งการเรียนรู้ที่ทรงพลังผ่านการเป็นโค้ช
เด็กรุ่นใหม่ที่เป็น Digital Native เกิดมาพร้อมกับโลก Digital เลย ดังนั้นเทคโนโลยีต่างๆ มันทำให้เกิดข้อได้เปรียบในการเรียนรู้อย่างไร
เด็กรุ่นใหม่ใช้งาน Technology อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เหมือนกับเราหรือพ่อแม่เราที่ต้องมานั่งเรียนทีละอัน การเปิดกว้างไปสู่ข้อมูลใหม่ๆ เป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่หน้าที่ของเราในฐานะคุณพ่อคุณแม่ อาจารย์ เราก็จะเป็นโค้ชที่ดีบอกว่าข้อมูลอันไหนน่าเชื่อถือ แล้วถ้าเกิดมันมีข้อมูลเยอะแยะไปหมดเลย เราจะใช้วิธีคิดยังไงในการที่จะวิเคราะห์ออกมาให้เหมาะกับ Context ของเรา หรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราได้ดีที่สุด
คุณมีความคิดเห็นอย่างไรต่อโครงการห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุง
โครงการ Samsung Smart Learning Center เป็นอะไรที่อ้อชื่นใจมาก รู้สึกว่าเหมือนฝันเป็นจริง อ้อมักจะพูดเสมอว่า เรื่องของการศึกษาที่ดีหรือระบบการศึกษาที่ดีมันเป็นหน้าที่ของทุกคน มันไม่ใช่หน้าที่ของรัฐอย่างเดียว กระทรวงเดียว แต่ว่ามันเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ ชุมชน คุณครู แล้วที่สำคัญก็คือภาคเอกชนด้วย
ฉะนั้นการร่วมมือของสถานศึกษาและของ Samsung ทำให้เห็นถึงความอุทิศที่จะมาร่วมให้สร้างสังคมที่ดีแห่งอนาคตไปร่วมกัน แล้วก็เริ่มต้นจากจุดที่สำคัญที่สุด นั่นคือจุดที่เราสร้างระบบการศึกษา วิธีการเรียนรู้ที่ดี สำหรับเด็กๆ
Samsung Smart Learning Center จะเปิดโอกาสให้เด็กเองที่อยากรู้เรื่องโลกกว้าง แล้วสามารถที่จะดึงมาคนที่มีความรู้ มีประสบการณ์โดยตรงกับสิ่งนั้นมาร่วมให้ข้อมูล คุณครูเองก็ร่วมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย แล้วก็เด็กเองจะได้ในความรู้ที่ทันสมัย up-to-date แล้วก็มีความหลากหลายในแง่ของที่มาของข้อมูล
ไม่ใช่เพียงแค่อ่านหรือค้นคว้าข้อมูลเท่านั้น แต่เขาต้องเข้าไปคุยกับคนที่รู้ คนที่มีความเชี่ยวชาญ ปราชญ์ชาวบ้าน คนที่อยู่ในชุมชน เพราะฉะนั้นกระบวนการที่เขาลงไปร่วมกัน เป็นการทำงานเป็นกลุ่ม แต่ละคนก็มีมุมมองที่หลากหลาย เข้ามาทำงานเป็น Project Base Learning จากนั้นก็เอาข้อมูลที่เขาได้มาปราชญ์ชาวบ้านเอง คนที่อยู่ในพื้นที่ คนที่มีประสบการณ์
ที่สำคัญโครงการนี้ยังมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพครู สร้างชุมชนการเรียนรู้ใหม่ของคุณครูเองด้วย เพราะฉะนั้นไม่ว่าเด็กจะจบไปกี่รุ่นก็ตาม คุณครูเองก็จะได้รับองค์ความรู้ใหม่ทุกวันแล้วคุณครูท่านเองก็จะให้ความรู้กับคนรุ่นต่อๆ ไปได้อย่างไม่รู้จบ การศึกษาในศตวรรษที่ 21 จะไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก ริเริ่มโครงการ Samsung Smart Learning Center
“ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศ ผ่านแนวคิด “ห้องเรียนแห่งอนาคต”
ห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุง คือ พื้นที่การเรียนรู้ที่นาเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของซัมซุง มาหนุนเสริมผู้เรียน ร่วมกับการใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม (Active Learning) ในพื้นที่ทางกายภาพที่เอื้ออำนวยให้เกิดการทำงานร่วมกับผู้อื่น และสามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้อย่างไม่มีข้อจากัด
ในห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุง ผู้เรียนจึงเป็น Active Learner และครูทำหน้าที่เป็นโค้ชหรือผู้อานวยกระบวนการเรียนรู้ (Coach/Facilitator) ผู้เรียนสามารถสืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียน เปิดพื้นที่ให้เกิดการตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ ทางานร่วมกับผู้อื่นในสหสาขาวิชา เพื่อค้นหาคำตอบ สร้างการค้นพบ รวมทั้งสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสื่อสารแบ่งปันสิ่งที่ตนค้นพบ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น
ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการได้ที่
https://www.facebook.com/samsungslc/