สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในบ้านเราตอนนี้ ต้องบอกว่ายังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในเด็ก นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ถึงปัจจุบัน ภายในเพียง 4 เดือน มีเด็กติดเชื้อรวม 234,790 คน
แบ่งเป็นกรุงเทพฯ สูงถึง 27,156 คน และส่วนภูมิภาค 207,634 คน ซึ่งยังมีสถิติที่ค่อนข้างสูงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ 3,500 คน เนื่องจากเป็นสายพันธุ์โอไมครอนที่ติดเชื้อได้ง่ายทำให้มีจำนวนเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากแม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในภาพรวมไม่สูงมาก แต่ปัญหาสำคัญคือ เด็กจำนวนไม่น้อยยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อเด็กหรือครอบครัวป่วย จำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดภัยและเข้าถึงระบบการรักษา ซึ่งการดูแลปกป้องคุ้มครองไม่สามารถดำเนินการได้โดยหน่วยงานเดียว
จึงเกิดเป็นความร่วมมือกันระหว่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), กรมสุขภาพจิต และองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ดำเนินงาน ‘ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด-19’ หรือ #savekidscovid19 รวมทั้ง ศูนย์โควิดชุมชนระดับอำเภอเพื่อแม่และเด็ก ‘บ้านปันยิ้ม’ เพื่อดูแลทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของเด็ก รวมถึงป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา“savekidscovid19 เป็นศูนย์ประสานและส่งต่อเพื่อเด็กกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นการให้คำแนะนำกรณีกักตัวที่บ้าน Home Isolation การส่งยา การประสานหาเตียง การคัดกรองเชิงรุก การปฐมพยาบาลเยียวยาจิตสังคม การแสวงหาอาสาสมัครดูแลเด็กและครอบครัวอาสาสมัคร และการจัดให้มีศูนย์พักคอยเพื่อแม่และเด็ก ‘บ้านปันยิ้ม’ เพื่อให้เด็กได้รับการดูแล คุ้มครอง ฟื้นฟู เยียวยา ในทุกมิติ จุดเน้นสำคัญคือความพยายามให้เด็กได้รับการดูแลโดยครอบครัวให้มากที่สุด” จตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวถึงรูปแบบการทำงานของศูนย์ฯ จากรายงานยอดรวมจำนวนของเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 สะสม จาก ศบค. ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ถึงมีนาคม 2565 สูงกว่า 521,393 คน ใกล้เคียงกับจำนวนเด็กไทยเกิดทั้งปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเด็กเกิดจำนวน 544,570 คน จึงจำเป็นต้องจับตา 3 เดือนอันตราย ที่การระบาดอาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสงกรานต์ ถึงเปิดเทอมปี 2565 โดยจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเด็กจำนวน 200 คน ในพื้นที่ 29 จังหวัด และกรุงเทพฯ (ข้อมูลระหว่างวันที่ 15 กันยายน 2564 – 1 กุมภาพันธ์ 2565) พบว่าร้อยละ 27 มีสภาพปัญหาที่มีความซับซ้อนมากกว่าหนึ่งปัญหา ต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง มีสภาวะเครียด และครอบครัวยากจน จนเด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ขณะที่ร้อยละ 73 มีแนวโน้มหลุดจากระบบการศึกษา ต้องการได้รับความช่วยเหลือทั้งด้านทุนการศึกษาและอุปกรณ์ทางการเรียน“ความร่วมมือครั้งนี้จะนำมาสู่ระบบคุ้มครองทางสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทั้งมิติสุขภาพกาย จิตใจ สังคม และการป้องกันไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา ให้แก่เด็กกลุ่มเปราะบางจากครัวเรือนยากจน ยากจนพิเศษ และกลุ่มด้อยโอกาส โดยอาศัยความร่วมมือจากชุมชน และครูอาสาเพื่อสำรวจเด็กหลุดนอกระบบการศึกษาให้ได้รับวัคซีนไม่มีใครตกหล่น” ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. อธิบายถึงความร่วมมือดังกล่าวทางด้านกรมสุขภาพจิต ได้สนับสนุนการวางแผนช่วยเหลือ ด้านการการรักษาและฟื้นฟูสภาพจิตใจให้แก่เด็กที่ได้รับผลกระทบรายบุคคล ผ่านการบูรณาการระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก (Child Protection and Information System : CPIS) เพื่อสร้างกลไกการส่งต่อเด็กและครอบครัวเข้าสู่ระบบบริการทางสุขภาพจิตทั่วประเทศ ในรูปแบบ 1 บ้านพักเด็กและครอบครัว กับ 1 โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต “ในวิกฤตโควิดเด็กมีความเสี่ยงทางจิตใจในหลายด้านไม่ว่าจะเป็น ความหวาดกลัวต่อการแยกจากครอบครัวหรือผู้ดูแล ความหวาดกลัวต่อการสูญเสียคนที่รัก การไม่ได้เล่นหรือพบเพื่อนๆ การไม่ได้ทำกิจกรรมยามว่าง หรือถูกกีดกัน ถูกรังเกียจจากเพื่อนหรือชุมชน ดังนั้นการปฐมพยาบาลทางจิตใจให้แก่เด็กๆ จึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยควรมีกิจกรรมเพื่อสร้างสัมพันธภาพระหว่างเด็กให้คลายความเหงาและความกังวล และส่งเสริมพัฒนาการเด็กในด้านต่างๆ ให้เป็นไปตามช่วงวัย แม้จะยังอยู่ในโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอย เราจึงสร้างพื้นที่เอื้อให้เด็กกลุ่มเปราะบางและคุณแม่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ให้ตระหนักถึงปัญหาของโรค แต่อย่าตระหนก” พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงบทบาทด้านการดูแลสภาพจิตใจของเด็กและแม่ผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่ร้อยละ 90 มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ การรักษาแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation จึงเป็นทางออก เพื่อลดการส่งผู้ป่วยเด็กเข้าโรงพยาบาล ไม่ให้จำนวนเตียงมีปัญหาสำหรับผู้ป่วยอาการหนักสีเหลือง สีแดง และยังช่วยให้เด็กได้อยู่กับพ่อแม่ซึ่งเป็นส่วนสำคัญทำให้เด็กหายเร็วขึ้น“สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เน้นดูแลผู้ป่วยเด็กสีเหลืองขึ้นไป และยังเป็นโรงพยาบาลคู่ขนานให้กับศูนย์พักคอยแม่และเด็ก ‘บ้านปันยิ้ม’ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ป่วยเด็กจากศูนย์พักคอยฯ เพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ที่มีอาการมากขึ้นจนต่อส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาล การทำงานรูปแบบบูรณาการเพื่อดูแลเด็กทุกมิติแบบนี้ ไม่ควรหยุดเพียงแค่ความร่วมมือสำหรับวิกฤตโรคโควิด-19 แต่ควรเป็นกลไกบูรณาการระบบช่วยเหลือสำหรับทุกโรคในเด็ก เพราะเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ควรได้รับการดูแลอย่างเสมอภาค” นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เน้นถึงความสำคัญของการดูแลเด็กอย่างเท่าเทียม“ในสถานการณ์ที่จำนวนเด็กติดเชื้อกำลังเพิ่มอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องมีมาตรการและกลไกปฏิบัติที่เหมาะสม ยูนิเซฟพร้อมสนับสนุนด้านเทคนิควิธีการเพื่อให้กลไกต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานนานาชาติ สิ่งที่ดีที่สุดคือการให้เด็กอยู่กับครอบครัวมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ไม่ว่าในช่วงการกักตัวและการรักษา ต้องคำนึงว่าสำหรับเด็กที่ติดเชื้อหรือได้รับผลกระทบ การถูกแยกจากครอบครัว จะเป็นการซ้ำเติมให้เด็กเกิดความเครียดความกังวล หวาดกลัว อาจถูกละเลยทอดทิ้ง เผชิญความรุนแรง อย่างไรก็ตาม บางครอบครัวที่อยู่รวมกันในห้องเล็กๆ การมีศูนย์กักตัวในชุมชน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ได้รับการอบรม มีความพร้อมในการดูแลเด็กได้อย่างเหมาะสมย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ดังนั้นการจัดบริการที่ครอบคลุมหลากหลายเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลตามบริบทของพื้นที่ จะช่วยลดผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยแนวทางของศูนย์พักคอยเพื่อแม่และเด็ก ‘บ้านปันยิ้ม’ จะเป็นตัวอย่างเพื่อให้พื้นที่อื่นๆ นำไปขยายผลได้” คยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ให้ความเห็นถึงการดูแลเด็กอย่างถูกต้องและการสนับสนุนขององค์การยูนิเซฟ“ส่วนใหญ่พ่อแม่จะมีความกังวลสูง เมื่อลูกติดเชื้อ ดังนั้นศูนย์ฯ จึงจัดให้มีหน่วยบริการเชิงรุกในชุมชน และอบรมอาสาสมัครเยาวชนเป็น Case Manager ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับคุณหมอ สื่อสารความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับชุมชน ด้วยการเปลี่ยนพ่อแม่ให้เป็นหมอ สำหรับศูนย์พักคอยเพื่อแม่และเด็ก ‘บ้านปันยิ้ม’ เราพยายามออกแบบระบบที่เป็นมิตรกับเด็ก โดยเป้าหมายคือการเป็นพื้นที่รองรับเด็กกลุ่มเปราะบาง มีบรรยากาศผ่อนคลาย มีห้องสมุดที่มีหนังสือนิทาน การ์ตูน มีของเล่น มีกิจกรรมเล่นเกมส์ ออกกำลังกาย เป็นพื้นที่ที่เด็กๆ จะได้รู้จักและดูแลกัน เหมือนมาเข้าค่ายรู้จักเพื่อนใหม่ ได้รับการดูแลอย่างอบอุ่น และเมื่อถึงวันที่กลับออกไป สิ่งที่เขาจะนำติดตัวไปด้วยก็จะเป็นความทรงจำที่ดีและประสบการณ์ประทับใจ” ศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง กล่าวถึงรูปแบบการดำเนินงานของบ้านปันยิ้ม ด้าน อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai ได้กล่าวถึงความร่วมมือของภาคเอกชน ที่จะเข้ามามีบทบาทในฐานะธุรกิจผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งสามารถนำจุดแข็งที่มีผู้ให้บริการไรเดอร์กระจายอยู่ในทุกพื้นที่เข้ามาสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานด่านหน้า ที่แต่เดิมมีปัญหาในการกระจายยาไปยังผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือกักตัวในศูนย์โควิดชุมชนระดับอำเภอ (Community Isolation ) โดยสนับสนุนในการส่งยา ส่งอาหาร และส่งเครื่องมือการแพทย์ไปยังผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยเติบเต็มการดำเนินงานของโครงการอย่างไร้รอยต่อ