จากสถานการณ์ของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาในภาพรวมอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ทำให้เด็กๆ ต้องหลุดจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก
เป็นผลมาจากเรื่องปากท้อง ค่าใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอ ระบบการเรียนรู้ที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งกินระยะเวลายาวนานตลอดการแพร่ระบาดของโรค กระทั่งในช่วงวิกฤตที่สุดอย่างช่วงปิดเทอมที่กำลังจะมาถึง เด็กๆ ต้องเผชิญกับทางแยกของชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จึงได้ติดตามความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวมทั้งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ด้วยการนำเสนอแนวทางปฏิรูปด้วย Area-based Education หรือ กลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ตั้งเป้าหมายเป็นกลุ่มเด็กยากจน ด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบาง ดำเนินการผ่านกลไกต้นแบบ ‘สวนผึ้งโมเดล’ ปักหมุดอำเภอแรกของ จ.ราชบุรี ภายใต้โครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างอำเภอสวนผึ้ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี)
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันลงพื้นที่ ณ โรงเรียนสินแร่สยาม อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เพื่อเจาะลึกเส้นทางและการดำเนินงานของ สวนผึ้งโมเดล เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้อย่างมีความสุข และไม่หลุดจากระบบการศึกษา
สองปีที่ผ่านมาวิกฤตโควิด-19 ทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เด็กที่ได้รับผลกระทบสูงสุดในทุกประเทศคือเด็กยากจน ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ผลกระทบที่รุนแรงที่สุด คือการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กเป็นจำนวนมาก ทั้งสาเหตุจากความจำเป็นในชีวิต ปัญหาปากท้อง ปัญหาการเรียนไม่ทัน ความรู้ถดถอย และกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงปิดเทอมที่วิกฤต ประเทศไทยมีโอกาสจะสูญเสียเด็กๆ ที่ไม่ได้ไปต่อในเส้นทางการศึกษา และจะกระทบตลอดช่วงชีวิตของคนรุ่นนี้
“ต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ชุมชน และสังคมว่าการปล่อยให้เด็กหลุดออกไปจากการศึกษา ถือเป็นอาชญากรรมของสังคม เพราะเด็กเหล่านี้จะลืมตาอ้าปากได้ลำบากมากในอนาคตข้างหน้า การอ่านหนังสือไม่ออกจะทำให้เด็กไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมกับหน่วยงานรัฐ หรือแม้กระทั่งการใช้ขนส่งมวลชน ดังนั้นเราจึงต้องช่วยให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาให้น้อยที่สุด” รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษากล่าว
แนวทางการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงต้องปรับเพื่อแก้ปัญหาให้ทันสถานการณ์ และต้องอาศัยการจัดการที่รวดเร็ว โดยใช้กลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) ส่งเสริมการกระจายอำนาจการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งท้องถิ่นและทุกจังหวัดทั่วประเทศ ต้องเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะมีความยืดหยุ่นในการออกแบบเป้าหมาย สามารถสร้างระบบเอื้ออำนวยต่อการจัดการแก้ปัญหาได้มากกว่าส่วนกลาง และมีอิสระในการใช้ทรัพยากรทางการบริหารมากกว่า
สวนผึ้งโมเดล Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน เป็นหนึ่งในต้นแบบที่สะท้อนให้เห็นว่า หากในแต่ละพื้นที่มีความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง ตระหนักว่าต้องปฏิรูปทั้งการสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปพร้อมกัน เพื่อให้เด็กทุกคนเรียนรู้อย่างมีความสุข ด้วยระบบการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต จะช่วยป้องกันการหลุดจากระบบซ้ำ สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ จนเด็กๆ สามารถพึ่งพาตัวเองในการดำรงชีวิตได้
การระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ครัวเรือนที่ยากจนที่สุดร้อยละ 15 ของประเทศมีรายได้ลดลงราว 1 ใน 5 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งการถูกเลิกจ้างชั่วคราวและถาวร รวมถึงรายได้จากการประกอบอาชีพค้าขายหรือรับจ้างมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้จำนวนนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นราว 3 แสนคน อยู่ที่ราว 1.2 ล้านคนในปีการศึกษา 2564 นี้ และเมื่อรวมกับจำนวนนักเรียนยากจนอีกราว 7 แสนคนแล้ว ทำให้ปัจจุบันมีเด็กยากจนและยากจนพิเศษมีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนกว่า 1.9 ล้านคนทั่วประเทศ การปิดเทอมใหญ่ที่กำลังจะถึงนี้จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงรอยต่อระหว่างปีการศึกษา จากการลงพื้นที่พบว่า มีเด็กจำนวนมากที่แม้จะเรียนอยู่เพียงชั้นประถมศึกษาตอนปลาย แต่ต้องตัดสินใจออกมาทำงาน เลี้ยงปากท้องช่วยครอบครัว เพราะความยากจนที่รุนแรงขึ้น จึงต้องเลือกระหว่างการเรียนที่มีต้นทุนต้องใช้จ่าย และค่าเสียโอกาสในการหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว ทั้งที่อายุยังไม่ถึงวัยทำงาน ทำให้เด็กเหล่านี้กลายเป็นแรงงานนอกระบบเฉียบพลัน มีความเสี่ยงในชีวิตทุกด้าน และมีโอกาสสูงที่จะยังคงตกอยู่ในวงจรความยากจนข้ามชั่วคนต่อไปอีกหนึ่งรุ่น
“ช่วงปิดเทอมเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่เด็กจะได้รับการดูแลจากครูและสถานศึกษาที่รู้จักเด็กเป็นอย่างดี บางโรงเรียนรู้จักเด็กมาตั้งแต่อนุบาล ทำให้รับรู้สถานการณ์ว่าแต่ละบ้าน เด็กจะมีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือไม่ โดยเฉพาะช่วงรอยต่อจากประถมศึกษาไปสู่มัธยมศึกษา หรือช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการจะไปเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรืออาชีวศึกษา ดังนั้นช่วงปิดเทอมคือช่วงสำคัญที่สุดที่เราต้องเปิดโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ เพราะใน 2 เดือนข้างหน้านี้ไปจนถึง 15 พฤษภาคม เป็นเหมือนการนับถอยหลัง 2 เดือนอันตราย ที่จะมีเด็กจำนวนมากที่เลือกไม่กลับมาสู่ระบบการศึกษา ส่วนสถานศึกษามีเส้นตายในวันที่ 10 มิถุนายนที่จะต้องนับจำนวนเด็กที่ยังอยู่ในระบบ เพื่อใช้คำนวณงบประมาณที่ยังคงเหลือในการจัดสรรการเรียนการสอนในตลอดทั้งปี จากตัวเลขของเด็กที่จะเพิ่มหรือลดในช่วงนี้เช่นกัน” ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวถึงช่วงเวลาที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
กสศ. มีภารกิจเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ในการป้องกันปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา การแก้ไขปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) และการสนับสนุนการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในภาคนโยบาย และภาคปฏิบัติให้กลุ่มเป้าหมายต่างๆ สามารถฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปสู่ปีการศึกษา 2565 โดยใช้การวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ ฐานข้อมูล และนวัตกรรมการจัดการ ที่สามารถช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่ยั่งยืนได้ โดยปัจจุบัน กสศ. ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัดทางการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษาฯ รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อพัฒนาพื้นที่นำร่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในหลายแห่งทั่วประเทศไทย ทั้งระดับสถานศึกษา ชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด ทั้งนี้ กสศ. พร้อมสนับสนุนการทำงานของกลไกจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) ร่วมกับพื้นที่ ท้องถิ่น จังหวัดที่ต้องการร่วมขบวน เป็นผู้นำการปฏิรูปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่อย่างยั่งยืน
ด้าน นายสมัชชา พรหมศิริ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และประชาชนจะต้องผนึกกำลังกันสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ให้เด็กที่มีความเสี่ยงกว่า 1.9 ล้านคนทั่วประเทศต้องหลุดจากการศึกษา แสนสิริในฐานะองค์กรเอกชนที่ระดมทุนเพื่อบริจาคเงินจำนวน 100 ล้านบาทให้กับ กสศ. เพื่อใช้ในโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ มีความยินดีที่ได้เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในการร่วมผลักดัน ‘สวนผึ้งโมเดล’ ให้เกิดเป็นรูปธรรมและเป็นกลไกต้นแบบในการแก้ปัญหาความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืนต่อไป”
นายศุเรนทร์ ฐปนางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า “จากการทำงานร่วมกับโรงเรียนในอำเภอสวนผึ้ง ซึ่งมีเด็กยากจนและอยู่ในความเสี่ยงหลุดออกจากระบบจำนวนมาก ทำให้มองเห็นถึงปัญหาของเด็กแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันไป จำเป็นต้องมีกลไกในการดูแลรายบุคคลอย่างใกล้ชิด มจธ. ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่มองว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมรับผิดชอบ และไม่ปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของโรงเรียนเพียงผู้เดียว จึงได้ดำเนินงานภายใต้เป้าหมายการช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในอำเภอสวนผึ้ง โดยอิงความต้องการของเด็กและโรงเรียน เริ่มจากการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง และให้การสนับสนุนในเรื่องที่โรงเรียนต้องการ เช่น การส่งเสริมโครงการทักษะอาชีพให้กับเด็กที่มีปัญหาด้านรายได้ และส่งเสริมการพัฒนาทักษะต่างๆ ตามความต้องการของครูและโรงเรียน การสร้างสังคมการเรียนรู้อย่างมีความสุข เป็นเรื่องของทุกคน เป็น All For Education ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ โรงเรียน ชุมชน และผู้ปกครอง สำหรับเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล การศึกษาเพื่อนำไปสู่การมีงานทำเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ต้องให้เด็กมีความรู้ มีทักษะอาชีพติดตัวไป ควบคู่ไปกับการเรียนวิชาการในห้องเรียน”
การดำเนินงานเพื่อนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและวางแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เด็กหลุดซ้ำ ในส่วนการทำงานในพื้นที่ จ.ราชบุรี มีการดำเนินงานตาม 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1) สร้างการรับรู้และสร้างความตระหนักต่อผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้ปกครองให้เห็นความสำคัญและแนวทางในการนำเด็กกลับสู่ระบบร่วมกัน 2) สำรวจรายชื่อเด็ก สภาพปัญหา และปัจจัยที่ทำให้เด็กไม่กลับเข้าสู่ระบบเป็นรายคนและทำทุกโรงเรียน 3) แบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มตามสภาพปัญหา เช่น กลุ่มรุนแรงที่ออกจากระบบแล้ว, กลุ่มมีแนวโน้มจะหลุดออกจากระบบ และกลุ่มเด็กปกติที่ยังไม่พบปัญหา 4) ออกแบบแนวทางแก้ปัญหาเด็กแต่ละกลุ่ม ซึ่งปลายทางของเด็กทุกกลุ่มคือสามารถเรียนจนจบการศึกษาในแต่ละขั้น 5) เตรียมความพร้อมของแต่ละโรงเรียน โดยเฉพาะพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่สามารถดึงเด็กให้อยู่ในระบบ สนับสนุนผู้ปกครอง และระดมทุกภาคส่วนเข้ามาขับเคลื่อนทั้งสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน 6) ดำเนินการช่วยเหลือเด็กแต่ละคนตามแนวทางที่วางไว้ และ 7) ติดตาม ประเมินผล และสรุปผลโครงการ
“ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ บุคลาการทางการศึกษาทุกภาคส่วน ต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง รวมถึงผู้ปกครองต้องเห็นความสำคัญของการศึกษาของบุตรหลาน ส่วนภาคเอกชนหรือหน่วยงานที่เข้ามาก็ต้องมีแนวทางช่วยเหลือที่ชัดเจนและต่อเนื่อง แต่ที่สำคัญนักเรียนต้องได้เรียนอย่างมีความสุข พวกเขาต้องได้รับการศึกษาในหลายรูปแบบตามความเหมาะสม อย่างเช่น เด็กบางคนเรียนในระบบไม่ได้ อาจต้องสนับสนุนการเรียน กศน. หรือมีการส่งเสริมด้านอาชีพ โดยผลที่ได้ต้องทำให้เด็กสำเร็จการศึกษาและคำนึงถึงสภาพปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่เด็กต้องเผชิญ” นายยรรยงค์ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 กล่าว
นายอดุลย์ ถาวรกุล นายอำเภอสวนผึ้ง ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “แม้แต่เดิมจะมีการดำเนินงานด้านการศึกษาในพื้นที่อยู่แล้วตามภารกิจงานทั้งศูนย์เด็กเล็ก, โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, โรงเรียนในกระทรวงศึกษาธิการ และการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) แต่การจะนำเด็กกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาได้อย่างเห็นผล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีภาคส่วนอื่นเข้ามาร่วมกันทำงานไม่เพียงเฉพาะภาคการศึกษา รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะต้องเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ในฐานะชุมชนเจ้าของพื้นที่ โครงการ Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน จะเป็นอีกโครงการนึงที่จะช่วยเติมเต็มให้น้องๆ ใน อ.สวนผึ้ง ได้มีโอกาสกลับเข้ามาสู่การเรียนอีกครั้งหนึ่ง ผมขอเป็นตัวแทน อ.สวนผึ้ง ขอบคุณทุกภาคส่วน จากนี้หน่วยงานทุกด้านจะร่วมมือกันดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา”