‘เราเรียนไปเพื่ออะไรกันแน่?’ เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัว บางคนเลือกสิ่งที่ชอบ บางคนเลือกสาขาที่สนใจ บางคนมองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อตัวเอง เพื่อคนในครอบครัว หรือเพื่ออุดมการณ์บางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะรู้คำตอบที่ชัดเจนกระจ่างแจ้ง เพราะจากสถิติแล้ว1 ใน 3 ของเด็กจบใหม่ทั่วโลก ทำงานไม่ตรงสายที่เรียนมา
โดยเฉพาะเด็กไทยที่ต้องคลุกคลีอยู่กับค่านิยมการยกย่องปริญญามากกว่าวิชาชีพ ทำให้การเรียนการสอนในบ้านเรา บิดเบนเป้าหมายจากการเรียนรู้ความสามารถในการทำงาน กลายเป็นการเรียนไปเพื่อให้สอบติดมหาวิทยาลัยแทน จึงไม่น่าแปลกใจที่เรามักเห็นคนใกล้ตัวลาออกจากงานที่เพิ่งพบว่าไม่ใช่ หรือออกจากระบบการศึกษาที่เพิ่งพบว่าไม่ชอบ เพราะยังไม่อาจตอบคำถามกับตัวเองได้ว่า ‘เรียนแล้วไปไหน?’
แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่การชี้หาว่าใครผิด ใครพลาด แต่อาจเป็นเพียงการสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพจากการนำศาสตร์และศิลป์บนหน้ากระดาษมาทดลองทำจริง แก้ปัญหาจริงๆ ของชุมชนและสังคมด้วยตัวของพวกเขาเองมากกว่า
หนทางที่นำเราไปสู่คำตอบนั้นอาจใกล้ตัวกว่าที่คิด เพียงแค่เราลุกขึ้นมาลงมือทำจริง ไม่ต้องรอจนเรียนจบพ้นไปจากห้องเรียน แต่เราสามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ของการลงมือทำจริงตั้งแต่ยังเป็นนิสิตนักศึกษาไม่ว่าจะระดับปริญญาหรืออาชีวะ เพื่อพัฒนาตนเองจนถึงจุดที่สามารถขยับขยายออกไปสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้ด้วยวิชาความรู้ที่ตัวเองถนัดและทำได้ดี ขยับขยายพื้นที่ของความรู้ออกนอกตำรา
จากแฟชั่นสู่ฟังก์ชั่น
ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องผ้าของชาวอีสานนั้นไม่ต้องเท้าความกันให้มากมาย เพราะแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชนล้วนมีเอกลักษณ์ มีเทคนิคการเปลี่ยนเส้นใยธรรมดาให้กลายเป็นงานศิลปะในรูปแบบของตัวเองได้อย่างน่าอัศจรรย์ น้องๆ จากสาขาวิชาเทคโนโลยีออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี จึงนำความรู้ด้านแฟชั่นที่เรียนมาผสมผสานกับมรดกของปู่ย่าตายาย ในพื้นที่ชุมชนบ้านแสงบูรพา ต.หนองอ้อ อ. หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของแหล่งหัตถกรรมผ้าทอที่มีชื่อ มีผ้าหมี่ขิดซึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองที่เลื่องชื่อของอุดรฯ โดยนำเศษผ้าไหม ผ้าฝ้ายและผ้าขิด เหลือทิ้งซึ่งเป็นส่วนเกินของผืนผ้า มาสร้างสรรค์เป็นกระเป๋าผ่านวิชาการตัดเย็บ นำความรู้ในห้องเรียนมาถ่ายทอดให้เยาวชนในพื้นที่ชุมชนที่มีอายุ 9-25 ปี ซึ่งมีความสนใจและความอดทนที่แตกต่างกัน จนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบกว่า 10 รายการ ที่เหมาะสมกับทุกช่วงวัย วางกระบวนการให้ครอบคลุมตั้งแต่ลงมือทำ ไปจนถึงการตรวจสอบคุณภาพ และมีการรับรองมาตรฐาน สอนวิธีการคำนวณต้นทุนและกำไรซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะวางรากฐานให้คนในชุมชนสร้างรายได้ได้จริงอย่างยั่งยืน
สมองกลรู้ทันน้ำท่วม
ตำบลกึ้ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขาป่าดิบชื้น อันอุดมสมบูรณ์ แต่ชาวบ้านต้องประสบกับน้ำป่าไหลหลากทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน น้องๆ นักศึกษา ปวส.1 สาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสารภี มองเห็นว่า การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือจึงเป็นสิ่งเดียวที่มนุษย์ทำได้ดีที่สุด จึงนำความรู้จากในตำรามาช่วยคิดหาทางออกในชีวิตจริง ผ่าน ‘เครื่องแจ้งเตือนอุทกภัย โดยใช้ระบบสมองกลฝังตัว (Embedded Software)’ ซึ่งอาศัยพลังงานจากแสงอาทิตย์และร่วมกับแบตเตอรี่ คอยตรวจสอบประมวลผลระดับน้ำ วางกระจายตัวภายชุมชน ในระยะห่างทุกๆ 500 เมตร บริเวณสะพานข้ามคลอง ข้ามแม่น้ำ ซึ่งเป็นบริเวณที่สามารถวัดระดับของน้ำได้แม่นยำที่สุด หากสถานการณ์ไม่ชอบมาพากล เสียงไซเรนและไฟกะพริบบนตัวเครื่องจะเตือนให้ชาวบ้านในละแวกนั้นเตรียมรับมือกับปริมาณของน้ำที่กำลังมากขึ้น แต่ไม่ใช่เพียงสร้างเครื่องมือแล้วมอบให้เพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือการทำให้คนในชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของเครื่องมือนี้ด้วยการชักชวนให้ชาวบ้านคอยตรวจเช็คสภาพ เมื่อชาวบ้านมีส่วนในการดูแลรักษา ทำให้พวกเขาไม่มองว่าเครื่องมือนี้เป็นสิ่งแปลกปลอม แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาปลอดภัยยิ่งขึ้น
รีไซเคิลชุมชนด้วยกลไก
บ้านซากยายจีนเป็นชุมชนใหญ่ที่ตั้งอยู่ใกล้เขตนิคมอุตสาหกรรมท่าเรือแหลมฉบัง และกำลังประสบกับปัญหาข้างต้น ปริมาณขยะชุมชนมีสูงถึง 5,000 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่คุกคามคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะขวดพลาสติกที่มีปริมาณมากเป็นอันดับหนึ่ง นักศึกษาชั้นปวส. 2 สาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคโนโลยีวิศวกรรมแหลมฉบัง (EN-TECH) จึงลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนคิดค้นวิธีการกำจัดขวดพลาสติกด้วยการรวมศาสตร์เครื่องกลไฟฟ้า และวิชาเมคคาทรอนิกส์ซึ่งเป็นการเรียนเกี่ยวกับการออกแบบและสร้างเครื่องจักรกล ในการผลิตเครื่องย่อยสลายขวดพลาสติก ให้กลายเป็นพลาสติก ซึ่งช่วยเพิ่มราคารับซื้อจาก กิโลกรัมละ 13 บาท เป็นกิโลกรัมละ 21 บาท จนทำให้ทุกวันนี้จุดตั้งเครื่องย่อยสลายขวดพลาสติกกลายเป็นพื้นที่นัดพบใหม่ของคนในชุมชนไปแล้ว
พื้นที่และโอกาสที่จะให้คนรุ่นใหม่ได้ศักยภาพและพัฒนาตนเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้ความเข้าใจในตัวเอง หลายประเทศให้ความสำคัญกับเยาวชนและเชื่อมั่นในความสามารถของพวกเขามากพอที่จะมอบประสบการณ์ที่จะติดตัวพวกเขาไปตลอด
ด้วยการมอบโอกาสในการสร้างสรรค์สิ่งที่พวกเขาสนใจ เช่นเดียวกับโครงการเยาวชน คนทำดี โดย มูลนิธิเอสซีจี ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แล้ว และยังคงผลักดันให้เยาวชนได้ทำประโยชน์เพื่อสังคมโดยใช้ความรู้จากในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ให้ได้มากที่สุด ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.scgfoundation.org สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 0 2586 5218 และ 0 2586 5506
Content by Suwicha Pitakkanchanakul
Illustration by Thanaporn Sookthavorn