‘อัด-อวัช’ นักแสดงรุ่นใหม่ที่มีมุมมองต่อปัญหาการศึกษาน่าสนใจ มองยึดโยงไปถึงระบบเชิงโครงสร้าง ที่ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต ตั้งแต่ระดับสังคมไปจนถึงระดับครอบครัวและปัจเจคชน เราจึงอยากเชิญชวนทุกคนมาสำรวจระบบการศึกษาผ่านมุมมองของเขาไปด้วยกัน
The MATTER ชวน อัด-อวัช และคุณแม่ มาร่วมพูดคุยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแสดง – SKIT** เรื่อง ‘พ่อแม่รังแกฉัน…ในจักรวาลคู่ขนาน’ ผลงานจาก Salmon House ที่เล่าประเด็นการศึกษาไทย โดยเอาซีนภาพจำในหนังวัยรุ่นมาบิดและเล่าในมุมใหม่ที่คาดไม่ถึง
[ SKIT ย่อมาจาก Sketch Comedy หรือเรื่องตลกจบในตอน โดยเรื่องที่หยิบมาเล่าในรูปแบบ SKIT ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเสียดสีเชิงสังคมหรือเรื่องตลกที่อ้างอิง Insight บางอย่างจากผู้ชม งาน SKIT นั้นแตกต่างจากงานโฆษณาทั่วไปตรงที่งานโฆษณาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีลูกค้าอยากทำวิดีโอเพื่อโปรโมทสินค้าใดสินค้าหนึ่ง แต่ SKIT จะเป็นการคิดงานก่อนเขียนบทก่อนโดยไม่มีสินค้ามาอ้างอิงจากนั้นจึงนำบทและไอเดียไปหา Sponsor ]
ทำไมถึงเลือกเล่น SKIT ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาตัวนี้
คุณอัด : ผมสะดุดตากับงาน SKIT นี้ รู้สึกว่าเราอยากเล่น เพราะว่าเราติดตามผลงานของ Salmon House มาตลอด มันเป็นงานที่ Creative มีความเฉพาะตัว รสชาติจะมีความจิกกัด เสียดสี เบาๆ ผมชอบอะไรแบบนี้ แล้วผมก็เป็นแฟนคลับผลงานของพี่เบนซ์ ธนชาติ พอเราเห็นชื่อพี่เบนซ์กำกับงานนี้ เราก็อยากร่วมงานกับเขามาก ตอนที่อ่านบทครั้งแรก ยอมรับว่าขำออกมา แต่หลังจากที่ขำ มันจะมีแท็กไลน์ของหนังตอนจบว่า ถ้าคุณขำกับเรื่องนี้แสดงว่ามันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ก็ทำให้ยิ่งชอบไปใหญ่ เพราะรู้สึกว่ามันคือประเด็นความเป็นจริง ปัญหาที่มันเกิดขึ้นในสังคมจริงๆ
หลังจากที่ SKIT ถูกปล่อยไปแล้ว Feedback เป็นยังไงบ้าง
คุณอัด : Feedback ดีมากเลย ถือว่าเป็นงานแสดงที่คนแชร์เยอะมากตั้งแต่เคยเล่นมา ยอดแชร์แบบหลักหมื่น ซึ่งเราไม่เคยเจอยอดแชร์ที่เยอะขนาดนี้ในงานที่เรามีส่วนร่วม ซึ่งก็รู้สึกว่ามันคงเข้าถึงใจคนที่เขาดู คนก็มาคุยกับเราเยอะมาก ชมว่าดี ไม่ค่อยเห็นเราในมุมนี้ รวมไปถึงคนก็มาชมเรื่องของบทว่านั่นคือชีวิตจริง มันเป็นโลกคู่ขนาน ซึ่งผมก็ดีใจนะที่ผลงานออกมาเป็นแบบนี้
คุณแม่: เห็นครั้งแรก เราก็ โอ๊ย! โดน กระแทกใจมาก มันแตกต่าง เราไม่เคยเห็นมุมนี้เลย ไม่มีใครที่สะท้อนมุมนี้ออกมาแบบเป็นภาพให้เห็น แต่ก่อนเราจะเห็นในหนัง กีต้าร์จะเป็นอะไรที่ถูกกระทำมากที่สุด พอวันนี้กลับกันก็แปลกดี
SKIT ตัวนี้มันเป็นภาพสะท้อนความจริงของครอบครัวไทยในทุกวันนี้ยังไงบ้าง
คุณแม่: ในแง่มุมหนึ่งเราก็เห็นว่าลูกถูกกดดันเนอะ บทบาทเราคือพ่อแม่ ต้องการให้เขาปลอดภัย เราไม่รู้หรอกว่าโลกอนาคตเป็นยังไง สังคมยังต้องการคนทำงานที่ต้องมีวุฒิรับรอง ถ้าสังคมยังไม่เปลี่ยนแปลง เราก็ต้องหมุนตาม เพราะฉะนั้นบทบาทของคุณแม่คือมองอนาคตเหมือนกัน แต่มองคนละแบบ มองด้วยประสบการณ์และใช้องค์ความรู้ในมุมนั้น
คุณอัด : จริงๆ มันสะท้อนในหลายมิติมากๆ เลย ไม่ว่าจะอีกกี่ปีผ่านไป สังคมไทยก็ยังมีค่านิยมแบบนี้อยู่ คือยังมองว่าทุกอาชีพไม่ได้เท่ากันขนาดนั้น สังคมไทยยังมองว่าอาชีพอย่างการเป็นหมอ หรือการอยู่ในระบบราชการที่ได้รับสวัสดิการจากรัฐดีกว่าอาชีพอิสระหรือการทำอาชีพอื่นๆ SKIT ตัวนี้จึงเล่าในมุมกลับกันว่า ถ้าสมมติพ่อแม่เราอยากจะเปิดกว้างให้เราไปทำอย่างอื่นแบบที่เราอยากทำจริงๆ มันก็คงเป็นเรื่องที่ดีมากๆ
ถ้าระบบการศึกษาดี ก็จะไม่เกิดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ทุกคนจะสามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้ จะไม่เกิดค่านิยมที่อาชีพใดอาชีพหนึ่ง ถ้าประเทศมีระบบเชิงโครงสร้างดี จะทำให้ทุกอาชีพมีค่า มีศักดิ์ศรีเท่ากัน ผมรู้สึกว่าจริงๆ แล้วทุกอาชีพมั่นคงได้หมด ค่านิยมต้องเปลี่ยน เราไม่ควรให้ค่ากับกับอาชีพใดอาชีพหนึ่งมากเกินไป ทั้งที่จริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะอาชีพอะไร ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทุกคนควรจะเท่ากัน
ถ้าระบบการศึกษาดี…
คุณอัด : ถ้าระบบการศึกษาดี เราจะไม่มาโฟกัสว่าลูกเราต้องเข้าโรงเรียนนี้เท่านั้นถึงจะรู้สึกปลอดภัย ณ วันนี้มันไม่ใช่เรื่องของหลักสูตร เรื่องของชื่อเสียงโรงเรียน มันเป็นเรื่องของสังคม เรื่องของสภาพแวดล้อม เราอยากให้ลูกเราอยู่ในสังคมแบบไหน อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน ซึ่งสิ่งนี้มันก็เป็นสิ่งที่สำคัญ
ตอนนี้เหมือนระบบการศึกษามันเละเทะมากเลย สำหรับผมนะ ผมรู้สึกว่าไปโฟกัสอะไรที่มันผิดจุด แทนที่เราจะมาโฟกัสเรื่องของการคัดเลือกครูที่มีคุณภาพ หรือการกระจายการศึกษาออกไปให้ทั่วทุกหนแห่ง ชนบทควรจะต้องมีโรงเรียนที่ดี อีกอย่างคือสังคมไทยให้คุณค่ากับอาชีพของครูน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นอาชีพที่ได้รับค่าตอบแทนที่ดีกว่านี้ กลายเป็นว่าเด็กยุคนี้ไม่มีใครอยากเป็นครู เพราะเงินเดือนไม่ตอบโจทย์ ก็เลยทำให้รู้สึกว่าไม่มีแรงกระตุ้น แล้วก็ไม่มีใครอยากเข้าไปอยู่ในระบบ เพราะการได้เข้าไปทำงานตรงนั้นมันต้องจำยอมต่อระบบอำนาจนิยม ระบบศักดินา ระบบ Hierarchy แล้วเอาจริงๆ มันไม่ Practical ไม่เหมาะสมกับทุกคน
อีกอย่างหนึ่งที่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาคือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง พอลงมาดูดีๆ ก็จะพบว่าระบบการศึกษาไทย มันยังไม่ได้ทำให้ทุกๆ ที่สามารถเป็นสถาบันการศึกษาที่ดีได้ มหาวิทยาลัยที่ดีๆ หรือโรงเรียนดีๆ ส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพฯ หรือในหัวเมืองใหญ่ ทั้งๆ ที่จริงแล้วโรงเรียนทุกโรงเรียนควรจะมีมาตรฐาน ควรจะมีการเรียนการสอนที่ดี เพราะการศึกษาดีควรจะเป็นพื้นฐานในชีวิตของทุกคน
นอกจากจะมี พ่อ-แม่ รังแกฉันแล้ว ‘การศึกษา’ ก็ยังรังแกเราได้ด้วย
คุณอัด: ระบบการศึกษาไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย อยากให้ผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาไทย ลงมาฟังเด็กๆ ด้วยความเข้าใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียน หลักสูตร หรืออะไรก็แล้วแต่ อยากให้ลงมาทำความเข้าใจว่ายุคนี้เด็กเขามองโลกแบบไหน โลกมันเปลี่ยนทุกวัน สิ่งที่เราสอนอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์โลก ณ วันนี้
อีกอย่างเลยที่ต้องตั้งคำถามคือแล้วทำไมหลักสูตรถึงไม่สอนอะไรที่ควรจะต้องใช้ ในการไปสอบมหาวิทยาลัย มันกลายเป็นความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาอีกว่า แล้วคนที่เขาไม่มีต้นทุนในชีวิตที่จะสามารถเดินทางเข้ามาเรียนพิเศษเพื่อสอบ เขาก็หมดโอกาสในการที่จะได้รับการศึกษาดีๆ หรือเปล่าเลยเป็นค่านิยมว่าสุดท้ายแล้วชีวิตของเด็กไทย คือเรียนอย่างเดียว พอขึ้นมัธยมฯ ปลาย มันเหมือนชีวิตคือแทบจะมีแต่เรื่องเรียน ไม่มีโอกาสไปใช้ชีวิตเลย
เด็กทุกคนควรจะมีชีวิตวัยรุ่น ควรจะมีชีวิตที่ได้ออกไปเล่น ออกไปทำงานศิลปะ ออกไปเต้น ออกไปร้องเพลง ออกไปทำอะไรมากกว่านี้ เลยต้องกลับมาตั้งคำถามกับการศึกษาไทยว่ามีไว้เพื่ออะไร?
ถ้าดูจากเนื้อเรื่องใน SKIT จะเห็นว่า ทั้งระบบการศึกษาและสถาบันครอบครัว ล้วนทำร้ายตัวเด็กทั้งสิ้น ถ้าอยากให้ปัญหานี้หมดไป คิดว่าควรเปลี่ยนที่อะไรก่อนดี ระบบการศึกษา หรือ สถาบันครอบครัว ?
คุณอัด: ส่วนตัวนะ ผมคิดว่าเปลี่ยนระบบการศึกษาก่อน เพราะมันคือภาพใหญ่กว่า มันคือปัญหาเชิงโครงสร้างที่มันลึกกว่า ถ้าสมมติว่าระบบการศึกษาบ้านเราดี ผมรู้สึกว่าความกดดันผ่านทางครอบครัวจะลดลง เพราะฉะนั้นการที่ถ้าระบบการศึกษาไม่ดี ระบบอำนาจนิยมยังมี หรือแม้กระทั่งมีตัวเลือกให้เราน้อย ก็กลายเป็นว่าครอบครัวจะกังวลไปหมดไม่สบายใจในการที่จะปล่อยลูกไปตรงนู้นตรงนี้ เลยต้องกลับไปดูที่ปัญหาว่าระบบการศึกษาตอนนี้ ยังไม่ดีพอและยังไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทุกคนจริงๆ
คุณแม่: เรายังเชื่อว่าต้องเปลี่ยนที่ครอบครัวก่อน ทุกคนต้องรู้บทบาท หน้าที่ และสิทธิของตัวเอง เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ว่า ณ เวลานี้ต้องทำหน้าที่อะไร บทบาทวันนี้เราไม่เหมือนกัน วันนั้นเราเป็นเด็ก เราเคยรู้สึกแบบเขาเหมือนกัน
คุณอัด: ถ้าเราต้องทำหน้าที่ แต่ว่าระบบการศึกษามันไม่ดี มันไม่ตอบโจทย์ ก็แปลว่าต้องควรจะแก้ที่ปัญหาตรงนั้นหรือเปล่า
คุณแม่: มันก็มีส่วนหนึ่ง แต่ว่าในแง่ของสังคม เราปรับไม่ได้ ถ้าต้องเลือกอะไร เราว่ามันตอบยากจริงๆ
คุณอัด: ซึ่งจะต้องเป็นสิ่งที่รุ่นผมและรุ่นน้องๆ เราทุกคนต้องเปลี่ยนแปลง
ใครที่ยังไม่ได้รับชมผลงานการแสดง SKIT ของคุณอัด ‘พ่อแม่รังแกฉัน…ในจักรวาลคู่ขนาน’ จาก Salmon House เราขอเชิญชวนให้ไปชมได้ที่ https://fb.watch/2eyZxC0EvR/
ถ้าคุณดูจบแล้วหัวเราะ หมายความว่า เรื่องราวเหล่านี้คงจะดูไกลเกินเอื้อมในชีวิตจริงของเด็กไทยจนเกินไป เพราะถ้าระบบการศึกษาดี Bad Joke เรื่องนี้อาจจะไม่ได้น่าขันขนาดนั้น