ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต่างคุ้นเคยกันดีกับ สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน และล่าสุดกับ ไอคอนสยาม โครงการที่หลายคนได้ไปสัมผัสกันมาแล้วว่าเป็นมากกว่าห้างสรรพสินค้า
ด้วยการนำเสนอศิลปะและวัฒนธรรมไทย ผสานเข้ากับการช้อปปิ้ง การกินดื่ม ความบันเทิง และสิ่งที่ดีที่สุดในมิติต่างๆ จากทั่วไทยและทั่วโลกกลายเป็นจุดหมายปลายทาง ที่น่าตื่นเต้นสำหรับผู้คนต่างๆ จนสร้างกระแสในระดับ Talk of the town ไปทั่วโลกเมื่อปลายปีก่อน
หากมองแบบกว้างๆ ในเชิงธุรกิจ จากความสำเร็จดังกล่าว จะเห็นได้ว่า นั่นคือจุดโดดเด่นที่พิเศษ และแตกต่างของสยามพิวรรธน์ คือการดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นในเรื่องการนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และพลิกโลกของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย และระดับโลกมาโดยตลอด มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์อันล้ำสมัย การนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้าอยู่เสมอ
และในอีก 5 ปี นับจากนี้ สยามพิวรรธน์ได้ประกาศจุดยืนเดินหน้าและตอกย้ำการเป็น “ผู้นำแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)” ซึ่งก้าวข้ามการแข่งขันภายในประเทศ ไปสู่การมองบริบทระดับโลกเท่านั้น โดยมุ่งเน้นการร่วมมือกับพันธมิตรที่ดีที่สุดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกับการตั้งเป้าหมายที่ใหญ่มากกว่าการทำเพื่อองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่ทุกอย่างที่ทำจะต้องกระจายผลประโยชน์ไปยังสังคมทุกระดับทั่วประเทศด้วย และเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างชื่อเสียงที่ดีงามให้กับประเทศไทยบนเวทีระดับโลก
ภายใต้เป้าหมายอันยิ่งใหญ่นี้ เราลองไปสำรวจดูกันว่าสยามพิวรรธน์จะใช้กลยุทธ์อะไรในการขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ
กลยุทธ์ที่ 1 เดินหน้าสร้างมหาปรากฏการณ์โครงการระดับโลกทั้งในและต่างประเทศ
ด้วยวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมือง และเป้าหมายในการปฏิวัติวงการค้าปลีก (Retail revolution) และต้องเป็นโครงการที่สร้างสรรค์โดยเฉพาะ (Tailor made) ทำให้ทุกโครงการที่ผ่านมาของสยามพิวรรธน์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จนถึงขั้นได้รับการติดต่อจากผู้ประกอบการในต่างประเทศให้ไปร่วมลงทุนและเป็นที่ปรึกษาในการทำโครงการต่างๆ มากมาย และล่าสุด การเกิดขึ้นของไอคอนสยาม ได้สร้างแรงบันดาลใจและทำให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกต้องเดินทางมาเรียนรู้การพัฒนาโครงการที่นำเอาเอกลักษณ์ และตัวตนของประเทศตนเองถ่ายออกมาในทุกๆ มิติได้อย่างลงตัว ดังนั้นกลยุทธ์ที่ 1 ของสยามพิวรรธน์คือ มุ่งเน้นการพัฒนาและต่อยอดแนวคิด ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการให้ประสบความสำเร็จมาแล้วทุกโครงการ นำมาต่อยอดใช้ในการพัฒนาโครงการใหญ่ระดับชาติ และระดับโลกในอนาคตต่อไป ตั้งเป้าที่จะสร้างความแปลกใหม่ในระดับมหาปรากฏการณ์ให้ได้เช่นเดียวกับที่ไอคอนสยาม
นอกจากนี้สยามพารากอนสยามเซ็นเตอร์และสยามดิสคัฟเวอรี่ ที่นักท่องเที่ยวและขาช้อปต่างคุ้นเคย ได้เดินหน้าผนึกกำลังในชื่อ วันสยาม (One Siam) ที่เป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างการจดจำให้เป็นที่หนึ่งในใจของลูกค้า และตอกย้ำความสำเร็จในฐานะหนึ่งเดียวในเอเชียและวงการค้าปลีกของโลกที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของสถานที่ยอดนิยมระดับโลกอันดับ 1 ใน Instagram และอันดับ 6 ใน Facebook เปลี่ยนกระแสของโซเชียลเน็ตเวิร์กให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้จริง
กลยุทธ์ที่ 2 จับมือพันธมิตรแถวหน้าระดับโลก ร่วมพัฒนาธุรกิจค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์
การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ คือวิสัยทัศน์ที่สยามพิวรรธน์ให้ความสำคัญเสมอ ด้วยแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เป็นกลางจึงจะทำให้สยามพิวรรธน์สามารถจับมือได้กับทุกพันธมิตรโดยเมื่อปี 2561 ก็ได้ลงทุนร่วมกับไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้านค้าปลีกอันดับหนึ่งของโลกจากอเมริกา จับมือกันเตรียมเปิด Luxury Premium Outlets แห่งแรกในประเทศไทยในปลายปีนี้ และเตรียมขยายเพิ่มไปนอกกรุงเทพฯ อีก 2 แห่ง
ด้านการค้าปลีก การเปิด Siam Takashimaya ห้างสรรพสินค้าชื่อดังจากญี่ปุ่น และการเปิด @cosme store แห่งแรกในประเทศไทยที่ไอคอนสยาม ก็ได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าชาวไทย หรือจะเป็นร้าน Loft ที่ปัจจุบันมีอยู่ถึง 5 สาขา และร้าน ALAND มัลติแบรนด์สโตร์จากเกาหลี ก็เตรียมขยายแฟรนไชส์เพิ่ม รวมถึงการเปิดร้าน ICONCRAFT ที่เป็นพื้นที่รวมดีไซเนอร์คราฟต์ของไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่สยามพิวรรธน์ตั้งเป้าว่าจะมีการขยายไลน์ธุรกิจค้าปลีกให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งการขยายธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบแฟรนไชส์ และการร่วมทุนกับบริษัทค้าปลีกชั้นนำจากต่างประเทศ
นอกจากการจับมือกับต่างประเทศแล้ว ในไทยเองสยามพิวรรธน์ก็ยังให้การสนับสนุนดีไซเนอร์ไทยและผู้ประกอบการ SME รายย่อย ด้วยการสร้าง Platform การจัดจำหน่ายสินค้าอย่างครบวงจร เพื่อกระตุ้นตลาดภายในประเทศ และสนับสนุนให้สามารถผลิตสินค้าคุณภาพออกมาได้อย่างต่อเนื่อง
กลยุทธ์ที่ 3 ลงทุนธุรกิจใหม่สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลัก
ในโลกธุรกิจที่มีปัจจัยเสี่ยงและความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สยามพิวรรธน์จึงมีเป้าหมายในการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ อยู่เสมอ อย่างเช่นธุรกิจที่เป็นการแตกไลน์อย่าง Royal Paragon Hall ผ่านการดำเนินงานของ บริษัท สยามอัลไลแอนซ์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ก็พร้อมพัฒนาให้เป็นศูนย์การประชุมและศูนย์แสดงนิทรรศการที่ดีสุด หรือการเปิด TRUE ICON HALL ศูนย์ประชุมพร้อมนวัตกรรมล้ำยุคแห่งแรกในกรุงเทพฯ ณ ไอคอนสยาม ที่สามารถรองรับการจัดงานประชุมระดับชาติ และจัดแสดงโชว์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกได้ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการประชุมนานาชาติได้ในอนาคต
นอกจากนั้น ยังเดินหน้าธุรกิจให้บริการด้านกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดอย่างครบวงจร อย่างเช่นผลงานของบริษัท ซูพรีโม่ จำกัดที่สร้างสรรค์งาน Amazing Thailand Countdown ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างยิ่งใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา จนสร้างกระแสให้งานนี้เป็นอีกหนึ่ง destination ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ต้องมาเยือน และยังมีธุรกิจให้คำปรึกษาและบริการเกี่ยวกับการจัดการอาคารของบริษัท สยามโปรเฟสชั่นแนล แมเนจเม้นท์ จำกัดซึ่งได้ให้บริการแก่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาแล้วหลายราย ธุรกิจทั้งหมดนี้ ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักของสยามพิวรรธน์ได้เป็นอย่างดี
กลยุทธ์ที่ 4 นำ Big Data มาใช้เต็มรูปแบบขับเคลื่อนกลยุทธ์ทางการตลาดแบบครบวงจร
ด้วยแนวคิดการทำงาน Customer Centric หรือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง สยามพิวรรธน์ได้นำนวัตกรรมเข้ามาช่วยศึกษาความต้องการ สร้างประสบการณ์ และให้บริการกับลูกค้าอย่างดีที่สุด ด้วยการนำระบบสารสนเทศทางการตลาด (Marketing Intelligence System) ที่ได้พัฒนามานานกว่า 5 ปีด้วยงบประมาณกว่า 500 ล้านบาท มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
โดยการทำงานของระบบฐานข้อมูลนี้ จะใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่จาก 4 ศูนย์การค้าที่มีจำนวนผู้ใช้บริการสูงที่สุด มาวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า เพื่อสร้างสรรค์บริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น โดยใน Front-end ใช้การทำ Location awareness และ Member awareness ผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนของลูกค้า และมีการทำ Web Centralization พร้อมพัฒนา Electronic Digital Marketing (EDM) เพื่อเข้าถึงลูกค้าผ่านทางช่องทางบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ในส่วน Back-end ได้พัฒนาระบบ Data Infrastructure เพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าในหลายมิติ และใช้ Advanced data analytics ในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าแต่ละบุคคล เพื่อนำไปต่อยอดทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดได้ตรงใจลูกค้าและได้ผลตอบแทนมากที่สุด
ส่วนด้านการค้าปลีกออนไลน์ ทั้ง E-Commerce และ S-Commerce สยามพิวรรธน์ก็พร้อมขยายไปยังช่องทางเหล่านี้ เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ ทั้งในต่างจังหวัดและต่างประเทศ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ทุกกลุ่ม
กลยุทธ์ที่ 5 สร้างคุณค่า และประโยชน์ร่วมกับทุกฝ่ายสู่ความยั่งยืน
สยามพิวรรธน์มีแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability) ด้วยการดำเนินงานแบบ ร่วมกันรังสรรค์ (Co-creation) และสร้างคุณค่าสมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย (Creating Shared Value) ผ่านการร่วมมือกับทุกภาคส่วน ซึ่งภาพของการร่วมมือกันที่ชัดที่สุดคือ ไอคอนสยาม นับเป็นการ Co-creation ในสเกลระดับชาติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตั้งแต่การรวมพลังความคิดสร้างสรรค์ทุกแขนงจากทุกชุมชนทั่วประเทศ ร่วมกับภาคธุรกิจและภาครัฐบาล รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จากหลายประเทศ จนกลายเป็นความสำเร็จที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ด้านการทำงานร่วมกับภาครัฐ มีการฝึกสอนคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในทุกสาขาอาชีพอย่างเช่นการสนับสนุนโครงการ DEmark Show, โครงการ Talent Thai & Designers’ Room และการเปิดร้าน Objects of Desire Store (ODS) ที่ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อผลักดันผลงานของดีไซเนอร์ไทยสู่ตลาดโลก รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นรายย่อยในโครงการสุขสยาม ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ทั้งหมดนี้ จึงเป็นความตั้งใจของสยามพิวรรธน์ ที่จะผลักดันฝีมือคนไทยปั้น Local Heroes ให้กลายเป็น Global Heroes เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย พร้อมยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างสง่างาม
กลยุทธ์ที่ 6 ปรับโครงสร้างบริหาร และพัฒนาองค์กร ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ
เพื่อให้ทันกับกระแสของการเปลี่ยนแปลง แผนการขยายธุรกิจที่ต้องต่อเนื่อง และการเติบโตขององค์กรอย่างรวดเร็ว ทำให้สยามพิวรรธน์มีแผนปรับโครงสร้างบริหารและพัฒนาองค์กร โดยต่อยอดความแข็งแกร่งจากการที่มีทีมผู้บริหารด้านต่างๆ ที่มีความสามารถสูงอยู่อย่างครบครันแล้ว
จึงสร้างสยามพิวรรธน์ Next-Gen Leader ผ่านหน่วยงาน Think Tank เพื่อปั้นคนรุ่นใหม่ให้ได้ทำงานร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารระดับสูงอย่างใกล้ชิด เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านประสบการณ์ของผู้บริหาร สร้างโอกาสให้เติบโตในสายงานได้แบบก้าวกระโดด
แนวทางการพัฒนาบุคลากรภายนอก ยังมี โครงการสยามพิวรรธน์ อคาเดมี (Siam Piwat Academy) หลักสูตรการบริหารจัดการที่นำองค์ความรู้ในการบริหารศูนย์การค้าและการค้าปลีกของสยามพิวรรธน์ที่สั่งสมมากว่า 60 ปี มาถ่ายทอดให้กับสังคม ซึ่งมีการทำงานร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมให้ความรู้ด้าน Sustainable Shopping Mall Management และมีการขยายความร่วมมือไปยังสถาบันชั้นนำอื่นๆ อย่าง สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ เพื่อเป้าหมายในการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ และเป็นกำลังสำคัญต่อตลาดแรงงานและองค์กรในอนาคตได้
และสุดท้ายคือการปรับโครงการสร้างองค์กรด้วยการใช้ Center of Excellence หรือการสร้างหน่วยงานกลางที่รวมเอาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในสาขาต่างๆ ขึ้นมาเป็นผู้กำกับดูแลและให้การสนับสนุนบริษัทลูกในเครือทั้งหมด และที่สำคัญคือการนำเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่นการใช้ Chatbot, Robotic และ AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ Productive มากขึ้น และตอบสนองความต้องการ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งหมดนี้คือ 6 กลยุทธ์สำคัญที่จะนำพาให้สยามพิวรรธน์ ก้าวสู่การเป็นผู้นำแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) สร้างประโยชน์กระจายสู่สังคมทุกระดับและนำพาประเทศไทยไปสู่ความยิ่งใหญ่บนเวทีโลกได้สำเร็จ