ว่ากันว่าชีวิตของคนเรา ต้องมีช่วงหนึ่งที่เป็น coming of age หรือจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้เราเติบโตขึ้น การทำธุรกิจก็คงไม่ต่างกัน
ถ้าเปรียบธุรกิจหนึ่งเป็นชีวิตคน ก็ต้องเริ่มต้นตั้งแต่เกิด เติบโต ผ่านอุปสรรค ล้มลุกคลุกคลาน จนเดินทางมาถึง ‘จุดเปลี่ยน’ ทางธุรกิจที่พลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส โดยเฉพาะธุรกิจเล็กๆ อย่าง SMEs ที่น่าจะเห็นภาพชัดเจนของการเติบโตมากที่สุดและใกล้ตัวมากที่สุดจากจุดที่เคยขาดทุนจนเดินต่อไปลำบาก สู่การสร้างกำไรมหาศาลที่เปลี่ยนธุรกิจเล็กๆ ให้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้สำเร็จ
จุดเปลี่ยนที่ว่านั้นไม่ได้มาจากโชคชะตาหรือดวง แต่มาจากปัจจัยบางอย่างที่เจ้าของธุรกิจเองต้องเปิดใจรับและพร้อมพัฒนาร่วมกับโอกาสดีๆ ที่ได้มาจากผู้ร่วมธุรกิจหรือพันธมิตรทางธุรกิจนั่นเอง เหมือนเรื่องราวของ 5 ผู้ประกอบการ SMEs ต่อไปนี้เคสสำคัญของการสร้างจุดเปลี่ยนทางธุรกิจที่ไม่ว่าใครก็สามารถเรียนรู้จากความสำเร็จเหล่านี้ได้
กล้วยหอมทอง: กินง่าย ขายง่ายแบบกล้วยๆ
ก่อนหน้านี้คงไม่มีใครคิดว่า กล้วยหอมเป็นหวีๆ จะถูกแบ่งขายทีละลูก
เพราะแรกเริ่มเดิมที กล้วยหอมที่เราซื้อกินกันปกติก็มักจะขายเป็นหวีอยู่แล้ว ซึ่งบางครั้งการซื้อเป็นหวีก็อาจจะมากเกินไป แบ่งกินไม่หมด เนื่องจากปริมาณการกินต่อครั้งก็มักจะไม่เกินครั้งละลูกถึงสองลูกก็น่าจะอิ่มแล้ว ทำให้ส่วนที่เหลือต้องเก็บไว้อาจจะสุกเกินไปและไม่อร่อยได้
ซึ่ง pain point นี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ของ คุณสมยศ คำเพ็ง เกษตรกรจากสหกรณ์ท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ที่ได้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของ ซีพี ออลล์ ที่เล็งเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคบนช่องทาง 7-Eleven มักนิยมบริโภคสินค้าที่สะดวกรับประทานง่าย จึงพัฒนาจากการกล้วยเป็นหวีกลายเป็นกล้วยหอมผลเดี่ยว ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างมาก พร้อมคัดสรรคุณภาพของกล้วยหอมทองเพชรบุรี ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่ใช้วิธีการปลูกจากหน่อ รวมถึงทำเลในการปลูกที่มีดินน้ำที่ดีและปลอดสารพิษ ทำให้มีกลิ่นหอม รสชาติหวานและมีเนื้อละเอียดส่งผลให้กล้วยหอมทองสามารถมียอดขายจาก 900 ลูกต่อวันในช่วงแรก เพิ่มขึ้นไปถึง 40,000 ลูกต่อวันในปัจจุบัน เป็นจุดเปลี่ยนจากโอกาสดีๆ ที่สร้างความมั่นคง และสร้างรายได้ที่แน่นอนให้กับกลุ่มเกษตรกรของสหกรณ์การเกษตรท่ายางอีกด้วย
น้ำพริกป้าแว่น: แพ็คเกจจิ้งดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
ปัญหาอย่างหนึ่งของเจ้าของธุรกิจขายอาหารสำเร็จรูป คือยังไม่สามารถพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเพื่อเพิ่มยอดได้ พูดง่ายๆ คืออร่อย แต่ไม่รู้จะทำยังไงให้ขายได้มากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยไอเดียและนวัตกรรมในการทำแพ็คเกจจิ้งให้สวยงามน่าซื้อ และรักษาคุณภาพความอร่อยไว้ได้ด้วย อย่างเช่นเคสของ ป้าแว่น – บังอร วันน้อย เจ้าของน้ำพริกป้าแว่น น้ำพริกกระปุกอันเลื่องชื่อ ที่เริ่มต้นมาจากการขายน้ำพริกตามตลาดทั่วไป ถึงจะได้รับคำชมจากลูกค้าว่ารสชาติอร่อย มีลูกค้าประจำมากมาย แต่ยอดขายของป้าแว่นก็ยังไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายอยู่ดี
หลังจากที่ขายอยู่ในตลาดหลายปี น้ำพริกป้าแว่นก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงเกิดการผลักดันจากอำเภอให้ก่อตั้ง กลุ่มอาชีพน้ำพริกปรุงรส ขึ้นมา ก่อนจะเข้าประกวดสินค้า OTOP จนได้รางวัล 5 ดาว ถึง 5 ปีซ้อน เป็นคนแรกของจังหวัดชลบุรี จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อป้าแว่นพยายามหาช่องทางใหม่ๆ ในการขาย และได้นำเสนอสินค้ากับ ซีพี ออลล์ เพื่อวางจำหน่ายบนช่องทางของ 7-Eleven ที่มีกว่า 10,000 สาขา โดยสิ่งแรกที่ปรับหลังจากที่เข้าสู่กระบวนการพัฒนาสินค้ากับผู้เชี่ยวชาญซีพี ออลล์ ก็คือเรื่องของแพ็คเกจจิ้งหรือกระปุกสำหรับใส่น้ำพริก จากนั้นก็หันมาดูแลกระบวนการผลิตที่ต้องถูกหลักตามมาตรฐานสากล เมื่อความอร่อยรวมกับคุณภาพที่ผู้บริโภควางใจ จึงส่งผลให้น้ำพริกป้าแว่นขึ้นแท่นเป็นน้ำพริกขวัญใจคนไทย เพิ่มยอดขายเพิ่มกำไร พร้อมส่งต่อโอกาสดีๆ ให้กับพนักงานของน้ำพริกป้าแว่น ที่ส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชนอายุ 50-70 ปีให้มีรายได้อย่างมั่นคงไปด้วยกัน
สโตร์พาร์ทเนอร์เซเว่นฯ เจ้าแรก: ก้าวแรกมักยากแต่ก้าวต่อไปจะเดินหน้าไม่รู้จบ
เชื่อว่าความฝันอย่างหนึ่งของคนรุ่นใหม่ คือการได้เป็นเจ้าของร้านเซเว่นฯ ที่เปิดอยู่ทั่วทุกหัวมุมถนน แต่การเป็นเจ้าของธุรกิจระดับนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากต้องอาศัยการลงทุนที่สูงแล้ว ยังต้องการอาศัยการบริหารและกลยุทธที่ดีมากพอ อย่างเช่นเรื่องราวของ เฮียมิ้ง – บุญมี บุญยิ่งสถิตย์ สโตร์พาร์ทเนอร์ของ 7-Eleven รายแรกในไทยที่บุกเบิกร้าน 7-Eleven มากว่า 27 ปี โดยก่อนหน้านั้นเฮียมิ้งเคยเป็นเจ้าของร้านโชห่วยมาก่อน และได้รับโอกาสจาก ซีพี ออลล์ ที่ชักชวนให้มาร่วมธุรกิจด้วยกัน ประกอบกับเฮียมิ้งเองก็อยากพัฒนาร้านให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้นอยู่แล้ว จึงตัดสินใจเปิดร้าน 7-Eleven เป็นรายแรก
ซึ่งระบบจัดการต่างๆ ภายในร้าน ทั้งสต็อกสินค้า ราคาสินค้า และโปรโมชั่น ทางซีพี ออลล์จะส่งทีมงานมาช่วยดูแลในเริ่มต้น แต่โจทย์ใหญ่ที่เฮียมิ้งต้องจัดการคือบริหารเรื่องการบริการ และพนักงานในร้านที่ต้องเปิดตลอด 24 ชั่วโมง และจุดเปลี่ยนต่อมานั่นคือ การขยับขยายสาขาที่ 2 ที่ทางซีพี ออลล์เสนอมาให้ ด้วยทำเลที่อยู่ใกล้เคียงกันเกินไป ทำให้เฮียมิ้งกังวลว่าจะเป็นการแย่งลูกค้ากันเอง รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปด้วยสภาพของชุมชนที่หนาแน่นขึ้น สาขาที่ 2 กลับช่วยให้การบริหารร้านง่ายมากขึ้น เพราะมีอีกสาขามาช่วยเฉลี่ยลูกค้าไป ก่อนที่จำนวนของลูกค้าก็เพิ่มขึ้นตามมาทั้งสองสาขา ปัจจุบันเฮียมิ้งเป็นเจ้าของเซเว่นฯ ถึง 5 สาขาในบริเวณใกล้กันกลายเป็นหนึ่งในโมเดลวิธีการบริหารสาขาที่เปิดใกล้กันจนสำเร็จผลในเวลาต่อมา
วุ้นแม่ละมาย: อร่อยไม่พอ ต้องมีประโยชน์ด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 นอกจากทำให้เศรษฐกิจภาพใหญ่ของประเทศล่มสลายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาพเล็กอย่างธุรกิจ SMEs ด้วย ซึ่ง คุณวีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์ ที่กำลังทำธุรกิจโรงพิมพ์ในขณะนั้น ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงตัดสินใจหันกลับมาทำธุรกิจขายอาหารเล็กๆ ที่บ้านเกิดของภรรยาที่จังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากเป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้ว หลังจากที่ลองผิดลองถูกอยู่กับอาหารหลายชนิด จนมาค้นพบว่าการขายอาหารที่ต้องอร่อยแล้ว ก็ต้องมีประโยชน์ด้วย ซึ่งขนมอย่างวุ้นมะพร้าวน่าจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุด ทำให้เขาตั้งแบรนด์วุ้นแม่ละมายขึ้นมา
หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจให้สำเร็จ คือการสร้างความแตกต่างในตัวสินค้า คุณวีระจึงสร้างความแตกต่างด้วยการนำธัญพืชและผลไม้ผสมกับวุ้นมะพร้าว โดยเน้นไปที่วัตถุดิบแปรรูปทางการเกษตรที่มีคุณภาพ เกิดเป็นขนมหวานรูปแบบใหม่ที่ทั้งอร่อย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยจุดเปลี่ยนสำคัญคือการหาช่องทางขายอย่างร้านมินิมาร์ท ก่อนจะเริ่มติดต่อขายกับทาง 7-Eleven ด้วยเงินลงทุนเพียง 40,000 บาท ซึ่งตอนนั้นได้รับโอกาสจากทางซีพี ออลล์ พัฒนาสินค้าให้อร่อยได้คุณภาพ และวางจำหน่ายบนช่องทาง 7-Eleven กว่า 10,000 สาขา ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิมแบบก้าวกระโดด จนปัจจุบันวุ้นแม่ละมายวางขายในร้าน 7-Eleven มากว่า 20 ปีแล้ว พร้อมกำลังมีแผนตั้งเป้าการผลิตให้ได้ถึงวันละ 50,000 ถ้วยต่อวัน และเตรียมส่งออกไปยังหลายประเทศในเอเชีย
บ้านมะขาม: ถึงมาก่อน แต่ก็ห้ามหยุดนิ่ง
หากจะมองถึงด้านลบของวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 คงประเมินถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นได้มากมายมหาศาล แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากลองมองในด้านบวก วิกฤตที่เกิดขึ้นกลับเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ อย่างเช่นเรื่องราวของ คุณนิวัฒน์ โฆวงศ์ประเสริฐ เจ้าของธุรกิจบ้านมะขาม ที่ต้องประสบกับพิษเศรษฐกิจจนต้องปิดกิจการธุรกิจทำเฟอร์นิเจอร์ไป แต่กลับทำให้เขาและภรรยามองเห็นโอกาสใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ ด้วยการมองไปที่ขนมทานเล่นหรือสแน็ก เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะแย่อย่างไร อาหารก็ยังเป็นสิ่งที่คนยังบริโภคอยู่นั่นเอง ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความแปลกใหม่ให้กับสินค้า จนเกิดเป็นไอเดียในการนำมะขามหวานมาแปรรูปให้กลายเป็นขนมทานเล่นที่ถูกใจผู้บริโภค
หลังการเกิดขึ้นของสินค้าใหม่ในตลาด แน่นอนว่าผู้บริโภคย่อมให้ความสนใจเป็นพิเศษ แต่ก็ต้องพบเจอกับคู่แข่งที่เกิดขึ้นตามมา เกิดเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณนิวัฒน์ต้องรีบหาทางยกระดับสินค้า ทั้งการหาสูตรใหม่ๆ พัฒนาแพ็คเกจจิ้งให้น่าซื้อ รวมถึงหาช่องทางในการขายใหม่ๆ อย่างการวางขายในร้าน 7-Eleven เป็นต้น แต่ที่นอกเหนือกว่านั้นการได้เข้ามาร่วมธุรกิจกับ ซีพี ออลล์ ไม่ใช่ได้โอกาสแค่เพียงช่องทางการขายเท่านั้น ยังได้เรียนรู้พัฒนาสินค้า การตลาดจากผู้เชี่ยวชาญที่รู้ลึกความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง เป็นการช่วยยกระดับจากธุรกิจครอบครัวสู่ธุรกิจ SMEs อย่างเต็มตัวอีกด้วยพร้อมทั้งยังส่งต่อโอกาสสร้างเครือข่ายแปรรูปมะขามเพื่อให้ชุมชนต่างๆ ในจังหวัดเพชรบูรณ์มีรายได้ตลอดทั้งปี จนปัจจุบันเป็นหนึ่งในสินค้าติดอันดับขายดีในร้าน 7-Eleven ที่ลูกค้าต่างจดจำได้ดี
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของความสำเร็จที่ซีพี ออลล์ ร่วมสร้างสรรค์ และปันโอกาสให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย, เกษตรกร หรือผู้ร่วมธุรกิจกับ 7-Eleven ในทุกช่องทาง ด้วยการสร้างโอกาสจุดเปลี่ยนทางธุรกิจให้เกิดขึ้นจริงด้วยข้อมูลทางการตลาด ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญและช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมหลายช่องทาง
ยังมีอีกหลากหลายตัวอย่างกับโอกาสบนเส้นทางความสำเร็จจาก ซีพี ออลล์ สามารถติดตามรับชมทั้ง 11 ธุรกิจได้ที่ https://bit.ly/2wevvMY
รายละเอียดเพิ่มเติม :
Website: https://www.cpall.co.th/
Facebook: https://www.facebook.com/cpall7
YouTube: https://www.youtube.com/user/cpallseven