หากยื่นไมค์ใส่วัยทำงานแบบสุ่ม ถามว่างานไหนยากที่สุด? หลายคนคงเลือกตอบว่า งานแรกนี่แหละที่ยากเสมอ
ไม่ใช่แค่เรื่องของความยากง่ายในเนื้องาน แต่เป็นยากทั้งการปรับตัวจากชีวิตวัยเรียนสู่วัยทำงานเต็มตัว ยากที่จะมีที่ไหนสักที่ให้โอกาสเด็กจบใหม่ไม่มีประสบการณ์ ยากที่จะได้งานแล้วเป็นงานที่เราอยากทำจริงๆ งานแรกจึงเป็นเหมือนการตัดสินใจเดินไปสู่เส้นทางไหนสักทาง เราเลยครุ่นคิดและใช้เวลากับมัน จนรู้สึกว่าสิ่งนี้มัน(ตัดสินใจ)ยากนั่นเอง
แล้วตอนเราเป็นเด็กจบใหม่ หรือใครที่กำลังเป็นอยู่ จะเลือกงานแบบไหนให้ตัวเองกันล่ะ?
พ่อแม่หลายบ้านอาจยังมีความหวังกับงานราชการ องค์กรใหญ่ มีชื่อเสียง ที่ช่วยให้หยาดเหงื่อในตอนทุ่มเทส่งเราเรียนมหาวิทยาลัย ผลิดอกออกผลมาให้ชื่นใจ ด้วยการได้บอกใครต่อใครว่าลูกฉันได้ทำงานธนาคารนี้นะ กำลังสอบบรรจุหน่วยงานนี้ด้วยล่ะ และที่สำคัญคือได้เห็นลูกมีความมั่นคงกับองค์กรที่จะไม่มีวันล้มหรือประกาศเลิกจ้างกระทันหัน
ถ้าถามตัวเราเองล่ะ เอาความต้องการของเราเป็นที่ตั้ง เราจะอยากมีก้าวแรกเป็นแบบไหน? พอรู้สึกว่าตัวเองยังเป็นหน้าใหม่ในวงการทำงาน ไม่ได้มีประสบการณ์ในโลกการทำงาน หลายคนเลือกที่จะเริ่มกับพื้นที่เล็กๆ อย่างบริษัทสตาร์ตอัปหรือบริษัทขนาดกลาง ที่ทุกอย่างจะดูง่ายๆ สบายๆ มีความใกล้ชิดกันมากกว่า แต่อาจจะต้องแลกมากับการทำงานที่ไม่ได้เป็นระบบเป๊ะ 100% และความมั่นคงอย่างองค์กรใหญ่
ตัวเลือกทั้ง 2 อย่างนี้ค่อนข้างเป็นทางเดินคนละสาย หากเราคุ้นชินกับแบบใดไปแล้ว หากก้าวไปทำในองค์กรที่ต่างกันในอนาคต ก็ต้องปรับตัวกันยกใหญ่ การเลือกก้าวแรกของเราในวันนี้เลยเป็นเรื่องที่คิดไม่ตก ทั้ง 2 อย่างก็ดูจะมีข้อดีแตกต่างกันไป งั้นเราลองมาชำแหละดูก่อนว่า จริงๆ แล้วแล้ว แต่ละที่ ต่างกันตรงไหน ใครเป็นใครในโลกการทำงาน
องค์กรขนาดใหญ่ (Corporate)
ธุรกิจที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ อาจเป็นเจ้าใหญ่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่างวิสาหกิจขนาดใหญ่ บริษัทมหาชน เอกชน ที่นี่จึงเด่นในเรื่องความมั่นคง ความน่าเชื่อถือ
หากมองในแง่วัฒนธรรมองค์กร พอมันมีขนาดใหญ่มากๆ แล้วมันจะตามมาด้วยโครงสร้างการทำงานที่เป็นลำดับขั้นชัดเจน ใครอยู่ใต้บังคับบัญชาของใคร ไล่เรียงลงมาตั้งแต่ผู้มีอำนาจสูงสุด ใครมีหน้าที่อะไร ก็จะทำแค่ในหน้าที่ของตัวเองเท่านั้น ทุกฝ่ายต่างมีหน้าที่ในมืออย่างชัดเจน และจะไม่ก้าวก่ายหน้าที่คนอื่นเด็ดขาด เราจึงมีโอกาสได้ร่วมงานกับคนที่มีความสามารถเฉพาะด้าน
ข้อเสียก็อาจเป็นเรื่องของความเป็นทางการ ที่ทำอะไรเป็นขั้นเป็นตอนอยู่ตลอดเวลา อยากคุยกับหัวหน้าคนนี้ ต้องผ่านคนนั้นคนนี้ก่อน นัดหมายเป็นเวลาอย่างชัดเจน จะเบิกอะไรสักชิ้น จะแจ้งอะไรสักอย่าง ก็ต้องเป็นขั้นเป็นตอนและใช้เวลานานกว่าจะผ่านด่านทั้งหมดไปได้
บริษัทขนาดเล็ก (SMEs) หรือสตารท์อัป
ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่เริ่มต้นกันตั้งแต่พนักงานจำนวนน้อย หรือเริ่มต้นในครอบครัว หรืออย่างสตาร์ทอัปก็จะเป็นธุรกิจที่ริเริ่มผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน แล้วเริ่มต้นพัฒนาสิ่งนั้นให้ติดตลาด
หากมองในแง่วัฒนธรรมองค์กร พอเป็นบริษัทขนาดเล็ก ที่เราสามารถเดินทักทายคนทั่วทั้งบริษัทได้ นั่นทำให้มีความใกล้ชิดกันมากกว่า เลยไม่ได้มีการวางโครงสร้างแข็งแรงหรือเป็นทางการอย่างองค์กรใหญ่ จึงมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากกว่า ได้ลองทำอะไรที่อยากทำ หากเราทำได้ดี จะได้รับการยอมรับ เห็นคุณค่า ในผลงานและตัวตนของเรา มากกว่าเป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งในองค์กรใหญ่
แม้จะฟังดูช่างเหมาะกับคนที่ชอบความง่ายๆ สบายๆ แต่ข้อเสียของที่นี่ คือ ความยืดหยุ่นของมันเช่นกัน พอทรัพยากรคนน้อย หากริเริ่มโปรเจ็กต์ใหม่ หรือต้องการใครสักคนไปทำหน้าที่อื่นๆ ก็ต้องหยิบจับเอาจากคนที่มีอยู่แล้ว ใครที่เห็นแววว่าพอจะทำได้ ก็ต้องไปลองทำอะไรใหม่ๆ ทั้งที่อยากทำและไม่อยากทำ ว่ากันง่ายๆ เหมือนต้องยอมทำงานจับฉ่ายในบางครั้ง
พอเห็นภาพมากขึ้นแล้ว นอกจากขนาดของบริษัทที่ต่างกัน วัฒนธรรมองค์กรด้านในก็ต่างกันไปด้วย และต่างกันจนเหมือนยืนอยู่กันคนละแนวทางเลยล่ะ ฝั่งหนึ่งมีคนเยอะ ก็ต้องมีโครงสร้างที่แข็งแกร่ง ทำทุกอย่างเป็นระบบ อีกฝั่งมีคนน้อย ย่อมมีความใกล้ชิดและความยืดหยุ่นมากกว่า แต่ก็มีข้อเสียที่ต้องแลกด้วยกันทั้งคู่ งั้นลองมาดูเป็นข้อๆ หมัดต่อหมัด ว่าฝั่งไหนมีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร แบบไหนจะเหมาะกับเรามากกว่ากัน
องค์กรขนาดใหญ่
ข้อดี
- ขอบเขตหน้าที่ ระบบการทำงาน นโยบายชัดเจน
- มีความมั่นคงในผลประกอบการ ส่งผลไปถึงรายได้ที่เติบโตขึ้นแน่นอนในแต่ละปี
- มีความมั่นคงในสายงาน มีตำแหน่งรองรับในองค์กร
- สวัสดิการพื้นฐานครบถ้วน ครอบคลุมในทุกด้าน
- สามารถโยกย้ายตำแหน่งภายในองค์กรได้โดยไม่ต้องลาออก
- เป็นประสบการณ์ที่ดีในการทำงาน หากยื่นสมัครงานในที่ต่อไป
ข้อเสีย
- เข้มงวด เป็นทางการ และไม่ยืดหยุ่น
- มีระบบอาวุโส ที่ส่งผลกับทั้งการทำงาน และการเลื่อนตำแหน่ง
- สวัสดิการเน้นครอบคลุม มากกว่าปรับให้เข้ากับคนรุ่นใหม่
บริษัทขนาดเล็ก
ข้อดี
- มีความยืดหยุ่นสูง ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เข้ากับตัวบุคคลได้มากกว่า
- มีโอาสได้ลองทำงานหลายด้าน ได้พัฒนาตัวเองในด้านที่ไม่ถนัดหรือไม่เคยลองมาก่อน
- มีโอกาสได้ค่าตอบแทน โบนัส สูงกว่า ในกรณีที่บริษัทรายได้ดี
- มีโอกาสเติบโตได้เร็วกว่า จากโครงสร้างที่ลำดับขั้นน้อยกว่า และไม่อิงกับระบบอาวุโส
ข้อเสีย
- ไม่มีขอบเขตหน้าที่ที่ชัดเจน อาจส่งผลกระทบไปถึง work-life balance ด้วย
- หากเป็นองค์กรที่มีขนาดเล็กมากๆ อาจไม่มีฝ่ายเฉพาะทางที่จัดการเรื่องต่างๆ ครบถ้วน อย่าง ทรัพยากรบุคคล ไอที
- เสี่ยงกับการจัดการสวัสดิการ สัญญาจ้าง อย่างไม่เป็นระบบและไม่เป็นธรรม
- เสี่ยงต่อผลประกอบการที่ไม่แน่นอน
หากเราเป็นคนที่ทำงานมาแล้วสักพักหนึ่ง คงไม่ลำบากใจเท่าไหร่ เพราะเรายังมีประสบการณ์ในมือที่ช่วยไตร่ตรองว่าตัวเลือกไหนจะเหมาะกับก้าวต่อไป แต่สำหรับเด็กจบใหม่ที่ยังไม่เคยมีสักก้าวในโลกการทำงานเลยล่ะ จะรู้ได้ยังไงว่าบริษัทแบบไหนเหมาะกับเรา งั้นมาฟังคำแนะนำจาก ‘ดีนี่’ HR Officer (Recruiter) และ ‘JobThai’ แพลตฟอร์มหางาน สมัครงาน ยอดนิยมของคนทำงาน ว่าบริษัทแบบไหน เหมาะกับเด็กจบใหม่มากกว่ากัน
จากการพูดคุยกับคุณดีนี่ และ JobThai ทั้งคู่ต่างยืนยันว่า สิ่งนี้ไม่มีคำตอบตายตัวว่าเด็กจบใหม่ต้องทำบริษัทแบบนี้เท่านั้นนะ ทำแบบอื่นไม่เหมาะหรอก ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเหมาะสมมากกว่า เพราะองค์กรทั้ง 2 แบบ ต่างก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังมองหาตัวเลือกแบบไหน งั้นมาดูกันดีกว่าว่าเราควรพิจารณางานแรกของเราจากอะไรบ้าง?
จากมุมมองของฝ่ายทรัพยากรบุคคล ที่ทำงานมาแล้วทั้ง 2 แบบ คุณดีนี่แนะนำว่า “แม้ว่าเดี๋ยวนี้แต่ละองค์กรจะมีนโยบายไม่เลือกปฏิบัติกับผู้สมัคร แต่ถ้าเห็นประสบการณ์ทำงานที่มีจากองค์กรที่คุ้นเคย ก็จะถือว่าเป็นประโยชน์ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าเหมือนการันตีมาแล้วว่าผู้สมัครเข้าใจวิธีการทำงานเป็นระบบมากกว่า ในขณะที่องค์กรเล็กๆ อาจจะมีการทำงานที่ค่อนข้างยืดหยุ่น อะลุ่มอล่วย แต่ก็เข้าใจได้ว่า ถ้าเป็นเด็กจบใหม่ ไม่มีประสบการณ์เลย จะต้องเข้าไปในการแข่งขันที่สูงมากๆ เพื่อให้ได้ทำงานกับองค์กรชั้นนำ ทุกคนเลยเลือกทีจะมองหาอะไรทีคล่องตัวมากกว่า
แต่หากจะต้องแนะนำจริงๆ อยากให้เด็กจบใหม่เลือกองค์กรที่พอเป็นที่รู้จัก อาจจะมีขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็กก็ได้ แต่ควรเป็นลักษณะงานน่าเชื่อถือ มี job description ที่ชัดเจน เพราะเราจะได้ทำงานอย่างเป็นระบบ ได้รับค่าจ้างที่ชัดเจน เป็นธรรม และได้ประสบการณ์ดีๆ เพราะมีหลายคนที่เลือกงานที่แรกผิด ก็จะมีอคติกับงานที่อื่นๆ ไปด้วย จนรู้สึกว่างานประจำเป็นสิ่งที่ไม่ตอบโจทย์ ซึ่งจริงๆ สิ่งเหล่านี้เราสามารถสังเกตได้ตั้งแต่วิธีการสัมภาษณ์ การพูดคุยกับหัวหน้างาน ถ้าหากรู้สึกว่ามี red flag ให้เลี่ยงจะดีกว่า
บางอย่างไม่สามารถตัดสินได้จากขนาดองค์กร เช่น บางที่เคร่งกับเรื่องขาด ลา มาสาย หักเงินถ้าเกิดแสกนนิ้วไม่ทัน หรือบางทีสามารถ work from home ได้ แต่สุดท้ายต้องเช็กอินบอกพิกัดห้ามไกลเกินที่พัก สิ่งเหล่าสามารถเกิดขึ้นในองค์กรทั้งสองแบบเหมือนกัน”
จากฝั่งแพลตฟอร์มหางานอย่าง JobThai ที่คลุกคลีอยู่กับตลาดแรงงาน เป็นตรงกลางที่พาองค์กรและผู้สมัครงานมาเจอกัน ได้แนะนำไว้ว่าเราควรพิจารณาสิ่งไหนบ้างสำหรับเลือกงานแรกให้ตัวเอง
- เป้าหมายในชีวิตของแต่ละคน
ตอนนี้เราต้องการอะไร และในอนาคตเราอยากเติบโตไปในเส้นทางแบบไหน เช่น ถ้าอยากทำงานการตลาดซึ่งเป็นสายงานที่มีสายงานแยกย่อยลงไปอีก และในแต่ละธุรกิจก็แตกต่างกัน เด็กจบใหม่ที่ยังไม่แน่ใจว่าอยากไปสายไหน อยากลองทำงานการตลาดแบบกว้าง ๆ เพื่อเรียนรู้งานในสาขาต่าง ๆ ของการตลาดก่อนก็อาจจะไปเริ่มที่องค์กรขนาดเล็ก แต่ถ้ามีเป้าหมายชัดเจนว่าอยากทำงานสาย corporate branding การเลือกทำงานกับองค์กรใหญ่ก็อาจจะตอบโจทย์กว่า
หากเรามีเป้าหมายในใจที่ชัดเจนแล้ว จะช่วยให้เราเลือกสายอาชีพและประเภทธุรกิจที่เราต้องการทำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น บางอาชีพอาจจะมีข้อจำกัดที่เป็นการกำหนดทั้งขนาดองค์กร และ กลุ่มธุรกิจไปในตัว เช่น sustainability หรือบางคนที่ต้องการทำงานในธุรกิจบางประเภทเป็นพิเศษ เช่น ธุรกิจพลังงาน/น้ำมัน ก็จะต้องทำงานในองค์กรขนาดใหญ่
- ไลฟ์สไตล์ และเงื่อนไขต่าง ๆ ในชีวิต
การจะเลือกทำงานที่ใดที่หนึ่งนอกจากตำแหน่งงานและตัวองค์กรแล้ว เราต้องพิจารณาด้วยว่ารูปแบบการทำงานหรือวัฒนธรรมองค์กรนั้นเหมาะกับเราไหม เงินเดือนเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเราหรือไม่ รวมถึงสถานที่ตั้งและการเดินทางต่าง ๆ ด้วย
จากข้อดีข้อเสียทั้งหมดที่กล่าวมา ลองพิจารณาดูว่าเรากำลังมองหาก้าวแรกแบบไหน และเราเหมาะกับการทำงานแบบไหนมากกว่ากัน ถึงครั้งแรกจะยังก้าวอย่างลังเล ไม่มั่นใจไปบ้าง แต่มันก็ไม่แปลกเลยที่เราจะยังไม่เจองานที่ใช่ในครั้งแรก เรายังต้องลองผิดลองถูกไปอีกหลายครั้ง หากเจอเร็วก็ถือว่าโชคดีกว่าใคร หากวันนี้รู้สึกว่าตัวเองตัดสินใจผิดก็ไม่เป็นไร ขอเพียงเราให้โอกาสตัวเองในการเลือกก้าวใหม่อีกครั้งก็เพียงพอแล้ว
อ้างอิงจาก