ในยุคที่เราเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การทำงานในระบบดิจิทัลกันเต็มตัว การยึดติดการทำงานในรูปแบบเก่าๆ แต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว
เพราะโลกเปลี่ยน หนทางเดียวที่เราจะอยู่รอดได้คือการปรับตัว เรียนรู้ และรับเอาเทคโนโลยี องค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาผสมผสานให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร จนเกิดเป็นการทำงานลักษณะเฉพาะตัวให้ทรงประสิทธิภาพที่สุด เร็วที่สุด และโดยเฉพาะในยุคที่ทุกอย่างวัดกันเป็นวินาที การก้าวช้าเพียงก้าวเดียวก็อาจหมายถึงความเสียเปรียบในเชิงธุรกิจระดับที่ประเมินค่าไม่ได้
เพราะเข้าใจในจุดนี้ดีกลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม เพียวริคุ ซันสแนค และวอริเออร์ จึงประกาศแผนการปรับโฉมองค์กรครั้งใหญ่ที่สุด ด้วยการลงทุนมูลค่ากว่า 1,300 ล้านบาท เพื่อให้คนรุ่นใหม่และคนรุ่นปัจจุบันมาร่วมเป็นครอบครัว TCP และก้าวไปสู่การเป็นบริษัทข้ามชาติอย่างแท้จริง
โลกเปลี่ยนไป ใครบ้างไม่เปลี่ยนแปลง
จากชีวิตแต่ละวันของเหล่ามนุษย์ออฟฟิศที่ต้องฝ่ารถติดบนท้องถนนกว่าชั่วโมง เพื่อไปให้ทันประชุมยามเช้า นั่งแช่อย่างไร้แรงบันดาลใจในออฟฟิศสี่เหลี่ยม ก่อนจะใช้เวลาบนท้องถนนอีกสองชั่วโมงเพื่อกลับบ้านมานอนหมดแรงรอตื่นไปทำงานวนลูปเหมือนเดิมในวันต่อไป ใครบ้างจะไม่อยากเปลี่ยนเมื่อรู้ว่าเทคโนโลยีสมัยนี้นั้นเอื้อให้เราสามารถหิ้วคอมไปนั่งทำงานชิคๆ ในร้านกาแฟใกล้บ้าน หรือวิดีโอคอลประชุมทางไกลจากริมทะเลที่ไหนในโลกก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องฝ่าฟันปัญหารถติดทุกวันให้เสียสุขภาพจิต
ด้วยความเข้าใจทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงก่อเกิดเป็นไอเดียให้กลุ่มธุรกิจ TCP นำมาใช้ดีไซน์รูปแบบการทำงานภายในองค์กรขึ้นมาใหม่ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการสอดรับกับวิวัฒนาการของโลก สร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ทั้งยังสนับสนุนการทำงานด้านการตลาดโกลเบิลกับสาขาต่างประเทศ แต่ผลพวงที่ได้ก็คือยังเป็นการติดอาวุธใหม่ๆ ให้กับพนักงานเดิมพร้อมพุ่งชนกับตลาดโลกในอนาคต ทั้งยังเป็นเหมือนแม่เหล็กช่วยดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพให้เข้ามาร่วมงานกับทางองค์กรมากขึ้น ซึ่งการปรับโฉมองค์กรครั้งนี้สามารถเล่าได้คร่าวๆ ภายใต้คอนเซปต์ 3C (3 Changes) คือ เปลี่ยนรูปแบบสำนักงานใหม่ เปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่และเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่
C1: พื้นที่ของการใช้ชีวิต
เชื่อหรือไม่ว่านอกจากตัวเนื้องาน หรือเพื่อนร่วมงานแล้ว หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำงานในทุกวันนั่นก็คือสถานที่ทำงาน Facebook, Twitter, Google ตลอดจนบริษัทใหญ่ๆ ที่ประสบความสำเร็จในโลกนั้นต่างก็ให้ความสำคัญกับการจัดสรรพื้นที่ทำงานให้เอื้อต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์ และการรังสรรค์สิ่งใหม่ด้วยกันทั้งนั้น นั่นก็เพราะในแต่ละวันพนักงานต้องใช้เวลาขั้นต่ำวันละกว่า 8 ชั่วโมงอยู่ในที่ทำงาน สถานที่ทำงานที่ถูกออกแบบมาโดยคำนึงถึงพนักงานเป็นสำคัญจึงเป็นหัวใจสำคัญของออฟฟิศ
TCP จึงได้ทุ่มทุนกว่า 740 ล้านบาท เพื่อสร้างออฟฟิศใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยนอกเหนือจากตัวออฟฟิศเดิมที่ยังคงใช้งานอยู่แล้ว อาณาจักรแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ ที่กำลังสร้าง จะเป็นตึก 4 ชั้นบนเนื้อที่กว่า 6 ไร่ ภายใต้แนวคิด Open Office ออฟฟิศที่เปิดโล่ง โดยจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางมากถึง 30% ให้พนักงานได้ใช้สำหรับพบปะ แลกเปลี่ยนความคิด จัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนการสันทนาการนอกเวลาทำงาน ทั้งยังเสริมทัพด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เชื่อมต่อการทำงานในแต่ส่วนให้เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
C2: รูปแบบการทำงานแห่งอนาคต
เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป จึงไม่น่าแปลกใจที่รูปแบบการทำงานของหลายๆ อาชีพในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย การเข้ามาของเทคโนโลยีช่วยให้เราสามารถเอาชนะปัญหาหลายๆ อย่างได้ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของ TCP จึงไม่ได้เป็นไปเพื่อสร้างผลกำไรให้กับทางกลุ่มธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาให้กับพนักงาน เพิ่มความสะดวกสบาย ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลง หรือกล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น แต่ทรงพลังมากขึ้น
ตัวอย่างเด่นๆ ที่สามารถยกขึ้นมาให้เป็นภาพจากการปรับรูปแบบการทำงานครั้งนี้ก็คือ การเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถมีออฟฟิศเคลื่อนที่ สามารถประชุม สื่อสาร ส่งเอกสาร ตลอดจนติดต่องานด้านต่างๆ ผ่านทางออนไลน์จากที่ไหนในโลกก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ ทางบริษัทจึงสามารถกระจายพนักงานลงสู่พื้นที่ต่างๆ ทั้งยังสามารถเก็บพนักงานที่มีศักยภาพไว้กับองค์กรได้อย่างยาวนานอีกด้วย
ในส่วนของแนวคิดการทำงาน ทางองค์กรยังได้มีการนำแนวคิดแบบ Agile และการดำเนินงานแบบ Scrum ซึ่งเป็นแนวคิดยอดฮิตในหมู่ Tech Startup company เข้ามาผสมผสานด้วย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับสามารถมีส่วนในการรังสรรค์แต่ละโปรเจ็กต์ได้อย่างทั่วถึงนั่นเอง
C3: บ้านแห่งนวัตกรรม
และส่วนสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยในการกระโจนเข้าสู่สมรภูมิโลกยุคดิจิทัลก็คือการติดอาวุธด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยกับกระแสโลกในยุคนี้ ทางกลุ่มธุรกิจ TCP จึงเลือกจะทุ่มงบกว่า 560 ล้านบาทเพื่อนำเทคโนโลยีสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การทำ Virtual Office หรือการนำ AI Chatbot มาใช้ในการสื่อสารกับพนักงาน ตลอดจนลูกค้าของบริษัท เพื่อเชื่อมโยงทุกคนมาไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์เดียวกัน
แต่สิ่งที่เป็นไฮไลท์ที่สุดก็เห็นจะหนีไม่พ้นการจัดตั้งทีมงาน ‘Incubator’ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาส และสนับสนุนให้พนักงานได้เรียนรู้ สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ของผลิตภัณฑ์หรือบริการต้นแบบ และทดลองผ่านระบบจำลอง ซึ่งอาจนำไปสู่การผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากที่สุด
เพราะในโลกของธุรกิจทุกวันนี้ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการคัดสรรค์ทางธรรมชาติ ผู้ที่ปรับตัวได้เท่านั้นจึงจะได้อยู่ต่อ และวิวัฒนาการสู่ขั้นต่อไป และเพราะรู้ดีว่าสมรภูมิแห่งนี้ไม่มีพื้นที่ให้หยุดนิ่งอยู่กับที่อีกต่อไปแล้ว ทางกลุ่มธุรกิจ TCP จึงเลือกที่จะลงทุนปรับโฉมองค์กรใหม่เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เมื่อเหล่ากองทัพดิจิทัลแห่ง TCP กองนี้ลงสู่สนามในฐานะบริษัทข้ามชาติระดับโลก จะสามารถวิ่งสู่ตำแหน่งผู้นำ ตลอดจนรักษาตำแหน่งได้
การเติบโตที่แท้จริงขององค์กรจะต้องเป็นการเติบโตในทุกๆ ด้าน ธุรกิจ รายได้ ไปจนถึงพนักงาน ทั้งสุดท้ายแล้วยังจะต้องเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน