นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของโควิด-19 ได้ทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คำว่า New Normal หรือความปกติใหม่ ได้ถูกนำมาพูดถึงในสื่อสังคมต่างๆ มากมายตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาทั้งการป้องกันตนเอง การลดการแพร่เชื้อ ไปจนถึงการที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
จนเกิดเป็นคำถามที่ว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ความปกติใหม่เหล่านี้กลายเป็นสิ่งทำได้อย่างต่อเนื่อง ให้เรื่องของสุขภาวะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญและพร้อมจะปรับตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าวิกฤตด้านสุขภาพจะเกิดขึ้นอีกกี่ครั้งก็ตาม
เนื่องในโอกาสที่ สสส. ครบรอบ 19 ปี ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสุขภาวะของผู้คนและทำงานเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้โดยตรง The MATTER จึงได้ชวนพูดคุยกับ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ถึงบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากวิกฤตในปีนี้ เพื่อนำไปสู่แผนอนาคตเรื่องสุขภาวะ กับเป้าหมายในการสร้างวิถีชีวิตใหม่ที่ยั่งยืน
มองว่าปัญหาเรื่องสุขภาวะในภาพรวมของโลกตอนนี้เป็นอย่างไร
เรื่องสุขภาพเทรนด์ใหญ่ของโลกเปลี่ยนไปตั้งแต่ 30 ปีมาแล้ว คือผลสำเร็จของการแพทย์และสาธารณสุขชัดเจนว่า การดูแลสุขภาพและการจัดการโรคต่างๆ ทำได้ดี คนทั้งโลกมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น แต่พอทศวรรษหลังๆ ปัญหามันเริ่มเปลี่ยนไป กลายเป็นโรคที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต พฤติกรรมสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมเยอะขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าโรค NCDs หรือโรคที่ไม่ติดต่อ เป็นอัตราส่วนสูงสุดของการตายของพลเมืองโลก ของไทยเราก็สูงถึง 3 ใน 4 ของการตายทั้งหมด อย่างเช่นมะเร็ง เบาหวาน ความดัน หลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ ขณะที่โรคที่เกิดจากการติดเชื้อเหลือพื้นที่เพียงนิดเดียว คือทั้งโลกเป็นแบบเดียวกันหมด สิ่งที่จะช่วยป้องกันและขจัดได้ จึงกลับมาอยู่ที่วิถีชีวิตและการที่ต้องดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น
การเกิดขึ้นของโควิด-19 ได้ทำให้ผู้คนมองเรื่องสุขภาวะเปลี่ยนไปไหม
ถ้าเปรียบเทียบกับโรคระบาดในอดีตอย่างไข้หวัดสเปน แพทย์พบว่าการระบาดของโรคเกิดจากทหารกลับบ้าน ความเร็วมันก็ระดับหนึ่ง แต่การที่โลกหมุนเร็วขึ้น ในลักษณะของ digitalization หรือ globalization ทำให้โควิดแพร่ด้วยเครื่องบินชัดเจนว่าแพร่กระจายไปตามเส้นทางการบิน กรุงเทพฯ จึงเสี่ยงเพราะว่าสุวรรณภูมิเป็นพื้นที่เบอร์หนึ่งที่คนจากอู่ฮั่นเดินทางมาลง หรือแม้แต่การที่มนุษย์ไปคุกคามพื้นที่ของสัตว์ป่ามากขึ้น มันก็เป็นการกระตุ้นโรคอุบัติใหม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งการเกิดโควิดเหมือนเป็นแว่นขยาย และตัวคูณที่ทำให้ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นมันยิ่งชัดขึ้นไปอีก คือเชื้อไวรัสที่เกิดขึ้นใหม่ เรายังไม่มีวัคซีนป้องกันคนที่อ่อนแอกว่า อย่างเช่นผู้สูงวัย คนที่มีโรคประจำตัวคนที่เป็นเบาหวานหรือโรคปอดอยู่แล้ว จะมีภาวะของการติดเชื้อที่หนักกว่าและเสี่ยงมากกว่า ทำให้คนมองกลับมาที่เรื่องของวิถีชีวิตและพฤติกรรมการป้องกันมากขึ้น
เมื่อมองจากมุมของต่างชาติ จะเห็นว่าประเทศไทยจัดการโรคระบาดได้ดี แต่ยังมีสิ่งไหนที่ต้องระวังอยู่บ้าง
คือต้องชื่นชมว่าประเทศเราควบคุมได้ดี โครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณสุขของเรามีกว้างไปถึงคนทุกกลุ่ม อย่างโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล โครงสร้างของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่สร้างมาร่วม 40 ปีแล้ว เป็นพื้นฐานที่ใครมาเริ่มสร้างใหม่ตามไม่ทัน และเรื่องของการสื่อสารที่ก็ได้รับการชื่นชมว่าเราสร้างความเข้าใจให้คนได้มาก ทำให้ตระหนักแต่ไม่ตระหนก สุดท้ายคือความร่วมมือของสังคมไทยและทุกภาคส่วน ซึ่งคนไทยให้ความร่วมมือสูง เทียบกับบางประเทศเขาจะไม่ค่อยร่วมมือเลย จริงๆ บางอย่างมันก็เป็นปัจจัยเชิงสังคมของคนไทยที่อยู่เบื้องหลัง นอกจากนั้นคือเรื่องระบบการควบคุมโรคที่รับมือได้ถ้าจะต้องเจอคนป่วยใหม่หลายร้อยคนต่อวันก็จัดการได้หมด สิ่งที่ควรจะทำต่อก็คือ การรักษา Maintain สิ่งที่เราทำดีอยู่แล้วไม่ให้มันตก หรือที่เราบอก ‘การ์ดอย่าตก’ แต่ก็ยังน่าเป็นห่วงอยู่ เพราะมันเป็นธรรมชาติ เวลาที่เรารับรู้ว่าความเสี่ยงมันลดลง พฤติกรรมการป้องกันก็จะหย่อนลงไปบ้าง ส่วนนี้เองก็ต้องดูแล แล้วให้จังหวะในการสื่อสารกลับมากระตุ้นอย่างเหมาะสมและพอดี
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำให้ สสส. ต้องปรับแผนการทำงานใหม่อย่างไร
เพราะคนตระหนกกับเรื่องใหม่ที่มาคุกคามมากกว่า ทำให้งานที่ สสส. ทำอยู่ต้องปรับแผนทั้งหมด เพราะว่าตอนนั้นคนไม่ฟังเรื่องอื่น หรือว่ากิจกรรมของเราที่จะเกี่ยวข้องกับการผลักดันงานสร้างเสริมสุขภาวะต่างๆ ก็ทำแทบไม่ได้ เพราะว่าภาวะต้องที่ Distancing ต้องคุมโรค ลดการสัมผัส หรือต้องล็อกดาวน์ทำให้ สสส. ต้องเข้าไปช่วยเรื่องของการสื่อสารอย่าง ‘ไทยรู้สู้โควิด’ ซึ่งการประเมินจาก WHO ก็เป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคได้ หลังจากนั้นเราเองก็มาตั้งหลักในการที่จะปรับแผนต่างๆ ในช่วงวิกฤตของโรคระบาดใหม่นี้ด้วยการสื่อสารอีกแบบหนึ่ง อย่างเช่นเรื่องการสูบบุหรี่ คือเราอยากให้คนไทยสูบบุหรี่น้อยลงอยู่แล้ว จริงๆ มันสัมพันธ์กับโควิด เพราะว่าในคนที่ปอดอ่อนแอหรือระบบหายใจอ่อนแออยู่แล้ว จะเสียงต่อการติดเชื้อง่าย เมื่อติดแล้วอาการก็ทรุดเร็ว หรือแม้กระทั่งการสูบ การพ่นควัน ก็เป็นการกระจายเชื้อที่ไปได้ไกลกว่าการพูดด้วยซ้ำไป เรื่องเหล้าก็เหมือนกัน มันสัมพันธ์กับเรื่องการขาดสติที่จะป้องกัน การไปร่วมตั้งวงกันก็เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อได้ ฉะนั้นนี่จึงเป็นสารสุขภาพที่เราให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตสุขภาพต่างๆที่ถูกปรับเข้ากับโจทย์ใหม่ๆ
ถ้าให้ลองประเมินการทำงานของ สสส. ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ อะไรคือความท้าทายในการทำงาน
ในแผนที่เราวางไว้ในปีที่ผ่านมาคือ 2563 ต้องเรียกว่าต้องปรับตัวสูงเลย เพราะว่าโควิดมากระทบตั้งแต่ต้นปี ในภาวะที่ต้องหยุดกิจกรรมหลายอย่าง ในภาวะที่คนทำเองก็ต้องระวังตัวเองต่อการติดเชื้อ ในมิติสุขภาพความสนใจทั้งหมดมุ่งไปที่โควิด โดยที่เรื่องอื่นไม่มาเลย เราเองก็มีความยืดหยุ่นขององค์กรในช่วงที่ผ่านมา การปรับตัวทำได้เร็ว การวางแผนต่างๆ เริ่มมองหาช่องว่างที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับโควิดคือไปแข่งไม่ได้อยู่แล้ว แต่เป็นการขี่กระแสไปด้วย อย่างที่ยกตัวอย่างเรื่องบุหรี่ เหล้า และเรื่องของสุขภาพจิตก็ปรับจูนไปผสมกับโจทย์ใหม่ที่เข้ามา แล้วก็บางเรื่องก็พบว่าวิกฤตนี้เป็นโอกาสที่ทำให้การสื่อสารดีกว่าเดิมด้วย
มีส่วนไหนต้องปรับปรุงในปีต่อๆ ไปบ้าง
วัคซีนอาจมาไม่เร็วอย่างที่หลายคนหวังกัน ยังเชื่ออยู่ว่าปีหน้า 2564 น่าจะมา ซึ่งแนวโน้มก็คงจะไม่หนักหนากว่าปีนี้ ถ้าวัคซีนทยอยมาก็คงทำให้การแพร่กระจายไม่มากไปกว่านี้มากนัก เพราะการเคลื่อนไหวคือปัจจัยของการแพร่กระจายของโรค ฉะนั้นผลกระทบที่ไปถึงการท่องเที่ยว 1 ปีคือขั้นต่ำที่อาจจะต้องเผชิญอยู่ ทำให้กระทบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นตัวแปรที่กระทบสังคม และกระทบต่อสุขภาพต่อเนื่อง เราก็วางแผนปีหน้าโดยคำนึงที่เรื่องต่างๆ ที่เป็นปัจจัยไว้อยู่แล้วข้อดีคือเราปรับตัวมาเกือบทั้งปี 2563 ฉะนั้นโดยรวมในปีหน้าบทบาทของ สสส. เราได้หา Positioning ต่อเรื่องโควิดได้ชัดเจนแล้ว อย่างเช่นพูดถึงเรื่อง New Normal เราก็เน้นเรื่องชีวิตวิถีใหม่ซึ่งเป็นวิถีเดียวกับการที่เราจะมีสุขภาพดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ชีวิตวิถีใหม่อย่างยั่งยืนที่ว่าประกอบไปด้วยปัจจัยอะไรบ้าง
ชีวิตวิถีใหม่คือไม่ใช่มิติของพฤติกรรมสุขภาพบุคคลเท่านั้น แต่เป็นการพูดถึงสังคมโดยรวมว่าจะต้องปรับตัวยังไงด้วยถ้าพูดถึงเรื่องเพื่อสุขภาพที่ดีและการรับมือกับโควิด เราแบ่งเป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกพื้นฐาน คือเรื่องของระบบอนามัยที่จะช่วยลดการแพร่เชื้อ และอีกเรื่องคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้ไม่ได้รับผลกระทบจากเชื้อ ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว และสังคมชุมชน รวมไปถึงเชิงระบบของประเทศทั้งระบบการศึกษา ระบบการแพทย์สาธารณสุข ระบบขนส่งสาธารณะที่จะต้องปรับตัว ส่วนการพัฒนาที่เราเองก็หนุนทิศทางการพัฒนาแบบยั่งยืน ต้องสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่สุขภาวะที่ดี ซึ่ง New Normal ที่พูดถึงตรงนี้ไม่ได้พูดถึงการปรับตัวทุกครั้งทุกคราวที่โรคคุกคาม แต่หมายถึงการทำให้เกิดชีวิตวิถีใหม่ที่ทั้งป้องกันโรคได้และลงตัวกับชีวิตมากขึ้น
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ชีวิตวิถีใหม่นี้ มีการใช้กลยุทธ์อะไรที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จบ้าง
คือ สสส. เองก็เกี่ยวข้องกับการปรับพฤติกรรมเป็นงานพื้นฐานของเราอยู่แล้ว อย่างที่กล่าวตอนต้นว่าปัญหาสุขภาพยุคใหม่ หมอหรือยาก็เอาไม่อยู่ ต้องกลับมาที่การปรับไลฟ์สไตล์กับสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นส่วนนี้เราก็ใช้ความรู้ที่เราเคยมี เช่น การจะพูดให้คนลด ละ เลิก สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ลดความเสี่ยงในอุบัติเหตุ มีการบริโภคที่เหมาะสม ออกกำลังกายให้มากขึ้น ด้วยการ Normalization คือทำให้พฤติกรรมเหล่านี้กลายเป็นพฤติกรรมปกติของผู้คน และการ Denormalization สิ่งที่ทำแล้วเป็นความเสี่ยง เช่น ต้องสูบบุหรี่ถึงจะโก้เก๋ ต้องดื่มเหล้าถึงจะเข้าสังคมได้ งานบุญงานประเพณีต่างๆ ต้องมีเหล้าเป็นองค์ประกอบ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาเรื่องโควิด โดยเฉพาะเฟสของการปรับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมของผู้คน
แผนระยะยาวของ สสส. หลังจากนี้จะเป็นไปในทิศทางไหน
คือ สสส. เรามีเป้าหมายและทิศทางระยะยาวในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งก็ต้องมองภาพรวมของโลกให้ไกลเท่าที่จะไกลได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องมองเทรนด์ต่างๆ เพื่อตอบรับโจทย์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเรามีทิศทางการรับมือกับโรคภัยที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อมาตั้งแต่ต้นแล้ว พอเกิดโรคระบาดเราก็เรียนรู้ ด้วยการสร้างเสริมสุขภาพที่ปรับตัวเข้ากับการระบาดหรือภัยพิบัติใหม่ๆ ได้ขณะเดียวกัน Mega Trend ที่มันเดินต่อไป ไม่ว่าจะ Digitalization หรือ Globalization ทั้งหมดมีผลกระทบกับสุขภาพทางใดทางหนึ่ง ยังไม่นับเรื่อง Generation ที่เห็นชัดว่าโลกหมุนเร็วขึ้น เปลี่ยนเร็วขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้นำมาเรื่องมิติทางสุขภาพทางใดทางหนึ่งตลอด ไม่ว่ากาย จิตใจ และสังคมนั่นคือโจทย์ที่เราต้องรับมืออยู่