รู้หรือไม่ว่า กิจกรรมทางกายหรือการออกกำลังกายของผู้คนในยุคนี้ที่กำลังถดถอยลงไป ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมส่วนตัวแต่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจาก ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่เกิดขึ้นในสังคมอีกด้วย
จากข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านกิจกรรมทางกายของคนไทยในรอบ 12 ปี (พ.ศ. 2555-2566) พบว่าคนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยมีประชากร 5 กลุ่มที่กำลังเผชิญความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกิจกรรมทางกาย ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ว่างงาน กลุ่มผู้หญิง และกลุ่มเด็ก ที่ถือว่ากำลังอยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก
ชวนไปพูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) ถึงความเหลื่อมล้ำที่ทำให้คนไทยไม่อยากออกกำลังกาย และทางออกที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน
ภาพรวมสถานการณ์สุขภาพของคนไทยตอนนี้เป็นอย่างไร
ในภาพรวมเราพบเจอความยากลำบากและความท้าทาย ในการพากลับไปมีวิถีชีวิตทางสุขภาพ การมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีและเหมาะสม เพราะด้วยปัจจัยในเชิงวิถีชีวิตที่ทำให้บางครั้งเราโฟกัสไปกับเรื่องเศรษฐกิจ การหารายได้ การทำงาน รวมถึงปัจจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยี ทั้งหน้าจอมือถือ การดูซีรีส์ยาวๆ ที่รบกวนการนอนหลับ ทำให้เราโฟกัสกับพฤติกรรมสุขภาพได้แย่ลง ภาพรวมไม่ใช่แค่การออกกําลังกายหรือการมีกิจกรรมทางกายน้อยลง แต่เราพบว่า ยังมีเรื่องการบริโภคอาหารสำเร็จรูป รวมไปถึงอาหารที่มันมีการแปรรูปมากยิ่งขึ้น เรื่องของการสูบบุหรี่ การกินเหล้า ทั้งหมดนี้มีงานวิจัยที่ชัดเลยว่าพฤติกรรมสุขภาพในภาพรวมแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรที่เปลี่ยนผ่านระหว่างการเป็นนักศึกษาไปสู่การเป็นประชากรวัยทำงานในช่วงต้น คนกลุ่มนี้แทบจะหาเวลาในการที่จะแบ่งภาระงาน Work life balance ได้ค่อนข้างยากเลย และในภาพรวมของประชากรประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ตั้งแต่หลังโควิดเป็นต้นมา ยังไม่สามารถกลับไปสู่ระดับการมีสุขภาพที่ดีแบบเดิมได้
จากรายงานกิจกรรมทางกายของคนไทยในรอบ 12 ปี สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง
ข้อมูลจากช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เราเห็นหนึ่งเรื่องที่ชัดเจนมาก คือเรามีความไม่คงที่ในพฤติกรรมสุขภาพกิจกรรมทางกายของคนไทย สาเหตุคือการที่เรายังไม่สามารถปลูกฝังความรอบรู้ทางกายให้คนไทยมีทางหนีทีไล่ มีวิธีการปรับตัว และรู้ว่าเมื่อภัยมา เมื่อโควิดมา อยู่กับบ้านเราจะมีกิจกรรมทางกายได้อย่างไร
ความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะเรื่องรายได้ สร้างผลกระทบอย่างไร
จากข้อมูลที่เราวิเคราะห์มา กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย บุคคลว่างงาน คนที่ไม่มีพื้นที่สุขภาวะ จะมีระยะเวลาหรือว่าความเพียงพอในการมีกิจกรรมทางกายน้อยกว่าคนกลุ่มอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ในมุมของเรื่องพื้นที่ ในกลุ่มประชากรแต่ละกลุ่มมีความน่าเป็นห่วงที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย พื้นที่ทางสุขภาพหลายแห่งก็เข้าไม่ได้ เพราะต้องจ่ายค่าใช้บริการ พื้นที่บางแห่งที่ก็ต้องมีเครื่องแต่งกาย มีอุปกรณ์ที่ครบครันหน่อย เขาก็ไม่กล้าที่จะเข้าไป เพราะฉะนั้นในเชิงนโยบาย เราก็อยากให้มีพื้นที่ที่คนในชุมชนต่างๆ ทั้ง ชุมชนเมือง ชุมชนแออัด หรือชุมชนผู้มีรายได้น้อย มีพื้นที่กลางที่สามารถใช้พื้นที่เหล่านั้นเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ หรือเพื่อการออกกําลังกายเล็กๆ น้อยๆ ได้ นี่คือโอกาสที่ทุกคนต้องมีอย่างเท่าเทียมกัน
อยากให้ขยายความถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำทางโอกาสที่เกิดขึ้น
ประเด็นนี้เป็นความเหลื่อมล้ำทางโอกาส ที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างของสังคมที่ไม่ได้เอื้อกับทุกคน ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ เรื่องแรกคือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกิจกรรมที่สังคมจัดขึ้น เช่น งานวิ่งหรือเดินวิ่งเพื่อสุขภาพ ต้องมีค่าสมัคร 400-700 บาท คนที่เข้าถึงได้มีกลุ่มหนึ่งแน่นอน เรียกว่าคนที่อยู่ยอดของพีระมิด แต่ในบ้านเรามีคนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงกิจกรรมเหล่านี้ได้ สองคือความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสที่ถูกปิดกั้นจากระเบียบ แบบแผน และนโยบาย เช่น กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มเด็กเหล่านี้อยากวิ่งเล่น ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็ก แต่เขาเข้าถึงไม่ได้ เพราะถูกจำกัดด้วยนโยบายของห้องเรียนหรือโรงเรียน ที่จะต้องนั่งเรียนกับครู นี่ก็เป็นความเหลื่อมล้ำแล้ว เมื่อนำคนไทยกลุ่มเหล่านี้ทุกคนมาเรียงกัน ตั้งแต่คนที่มีกิจกรรมทางกายน้อยที่สุด คือในสัปดาห์หนึ่งแทบจะไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ไปจนถึงคนที่เคลื่อนไหวร่างกายมากๆ จะต้องสโลปขึ้นเป็นเส้นตรงขนานไป แต่พอเรานำวิเคราะห์ในเชิงรายละเอียด เราพบว่าคนที่แทบจะไม่มีกิจกรรมทางกายเลย กองอยู่ข้างล่างเยอะมาก ในขณะที่คนที่มีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ ที่อยู่ข้างบนมีจำนวนน้อย ช่องว่างระหว่างคนสองกลุ่มนี้ไกลมาก เพราะมันถูกดึงให้ห่างกัน พอเจาะเข้าไปในคนกลุ่มล่างดังกล่าว คือคนที่มีการศึกษาน้อย รายได้น้อย ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ กลับถึงบ้านหัวค่ำก็ไม่มีพื้นที่หรือกิจกรรมทางกายแล้ว คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำ เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงและอยู่ในเกณฑ์วิกฤต
นอกจากประเด็นเรื่องค่าครองชีพแล้ว ประชากรกลุ่มไหนน่าเป็นห่วงที่สุด
จากใน 5 กลุ่ม กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมทางกายระดับต่ำที่สุด โดยเฉลี่ยคนไทยตอนนี้มีกิจกรรมทางกายร้อยละ 68 ที่เพียงพอ หมายความว่าเราเอาคน 100 คนมายืนเรียง มี 68 คนที่มีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ แต่กลุ่มเด็กเราเอาคน 100 คนมายืนเรียง จะมีแค่ 25 คนเท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กคือ หนึ่ง เรื่องพัฒนาการ การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเพียงพอเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เขามีพัฒนาการอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เพราะร่างกายแข็งแรง แต่สุขภาพจิต สังคม การคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้ของเขาจะดี สอง เป็นเรื่องของการปลูกฝังพฤติกรรมที่จะยืนยาวที่สุด ถ้าเราสามารถทำให้เด็กไทยไม่เขิน ไม่อายที่จะออกกําลังกาย เล่นกีฬา และเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะรูปร่างเป็นอย่างไร เหมือนอย่างเด็กญี่ปุ่น เขาส่งเสริมตรงนี้ได้ดีมาก แต่บ้านเราบางทีจะให้ไปเล่น เด็กกลับรู้สึกเขินอาย เพราะเล่นไม่เป็น เพราะฉะนั้นถ้าเราปลูกฝังเรื่องนี้ได้ตั้งแต่เด็ก จะเป็นประโยชน์มาก และท้ายที่สุด การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็ก จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรค NCDs เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
สำหรับกลุ่มผู้หญิง มีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังอย่างไร
ผู้หญิงมีข้อผลักดันเชิงนโยบายที่เราวิเคราะห์ออกมา พบว่าผู้หญิงไทยหลายคนไม่กล้าขยับ ด้วยเหตุผลคือ หนึ่ง รู้สึกอายในรูปร่าง เพราะมีน้ำหนักตัวมากหรือมีภาวะอ้วน จะไปออกกําลังกายก็เขิน เพราะฉะนั้นจึงเลือกที่จะอยู่บ้านยาว สอง ผู้หญิงส่วนใหญ่ในสังคมไทย ยังคงต้องดูแลงานบ้าน ลูก และครอบครัว รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ รับผิดชอบโดยผู้หญิง ทำให้รู้สึกละอายใจที่จะออกไปข้างนอกบ้าน สาม บางครั้งการออกไปออกกำลังกาย ต้องแต่งตัวด้วยเครื่องออกกําลังกายที่ค่อนข้างรัดรูป ค่านิยมในสังคมเอง ทำให้รู้สึกว่าถูกละเมิดทางสายตาอยู่พอสมควร และ สี่ สำคัญที่สุดคือเรื่องความปลอดภัย เราได้ยินข่าวมากมายที่ผู้หญิงไปออกกําลังกายในสวนสาธารณะ แล้วพอค่ำๆ หน่อย อาจโดนฉุด โดนข่มขืน หรือแม้กระทั่งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะผู้หญิงดูแลตัวเองได้น้อยกว่า นี่คือในภาพรวมของประเทศไทย ไม่ใช่แค่พื้นที่ในเขตเมือง เพราะกระทั่งในชนบทยังมีประเด็นเหล่านี้อยู่มาก ทำให้ผู้หญิงมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมทางกาย จากสถานการณ์ข้อมูลที่วิเคราะห์ออกมา ชี้ชัดว่าตลอด 12 ปี ทั่วโลกผู้หญิงมีกิจกรรมทางกายน้อยกว่าผู้ชายตลอด
อะไรเป็นข้อได้เปรียบของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่สามารถเข้าถึงกิจกรรมทางกายได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ
ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่มีข้อได้เปรียบ และมีข้อท้าทายในขณะเดียวกัน ในมุมของข้อได้เปรียบ คือคนรุ่นใหม่เข้าถึงสารสนเทศต่างๆ ได้แบบไม่อั้นเลย เพราะฉะนั้นเขาสามารถเลือกข้อมูลหรือวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้วิถีชีวิตของตัวเองกระฉับกระเฉง ไม่ใช่เฉพาะออกกําลังกายเท่านั้น แต่จะทำยังไงให้ระหว่างวันที่นั่งทำงานอยู่ก็พยายามปลุกตัวเอง มี Smart watch ที่คอยเตือนอยู่ทุก 50 นาที จะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้มาช่วยออกแบบวิถีชีวิตได้ ส่วนข้อท้าทายที่กําลังเผชิญก็คือ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนที่มีการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมอยู่พอสมควร จากนักเรียนมาเป็นนักศึกษา มาเป็นคนทำงาน แล้วก็ไปเจอความกดดันต่างๆ ที่เยอะมาก ซึ่งกําลังเจอโรคอุบัติใหม่ทางด้านสุขภาพจิตพอสมควร สิ่งเหล่านี้ต้องการการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพราะข้อมูลชัดว่าคนที่เป็นภาวะซึมเศร้าในกลุ่มคนรุ่นใหม่ กิจกรรมทางกายสามารถเข้ามาช่วยได้ เราสามารถจัดการความเหลื่อมล้ำเหล่านั้นในระดับบุคคลได้ด้วยตัวเราเอง ไม่จำเป็นต้องรอให้ภาครัฐออกนโยบายมา เพราะคนรุ่นใหม่สามารถดีไซน์นโยบายส่วนตัวเองได้ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในราคาที่ไม่ได้แพง เพราะว่าทุกคนมีอินเทอร์เน็ต ที่เหลือคือการหาเวลา ซึ่งเป็นข้อท้าทายมาก จะจัดการตารางเวลาอย่างไรให้ได้มีเวลาในการดูแลชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพของเราให้ดี
ประเด็นเรื่องสุขภาพจิตในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ถือว่าเป็นอุปสรรคใหม่ที่น่าเป็นห่วงอย่างไร
ผมเคยวิเคราะห์เรื่องนี้ แล้วพบว่าจากข้อมูลชุดนี้ที่เกี่ยวกับฝั่งสุขภาพจิต ตั้งแต่ก่อนโควิดจนกระทั่งหลังโควิดเป็นต้นมา อิทธิพลจากสื่อออนไลน์มีผลกระทบต่อพฤติกรรมและวิถีชีวิตของคนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้เห็นและรับข้อมูลข่าวสารวิถีชีวิตของคนอื่นเข้ามา บวกกับชีวิตของตัวเองที่เร่งรีบ จัดการเวลาไม่ค่อยได้ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบชีวิตของเรากับชีวิตของคนอื่นมากจนเกินไป ส่งผลให้ความสมดุลในการใช้วิถีชีวิตเปราะบางมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นคือเรื่องของภาระงานและความรับผิดชอบใหม่ที่เกิดขึ้น คือทุกคนไม่ได้มีต้นทุนชีวิตที่เท่ากัน เวลาเราพาตัวเราเองไปอยู่บนเป้าหมายที่ยังไปไม่ถึงขั้น ไม่ว่าจะเป็นทุนทางสังคม ทุนทางรายได้ หรือทุนทางด้านการศึกษา ทำให้เกิดปรากฏการณ์ร่วมหรืออุบัติการณ์ของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งสอดคล้องกับปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา
บทบาทเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร
เราเจอข้อท้าทายในการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ที่มาเป็นระดับบุคคลมากยิ่งขึ้น แต่ว่ากระบวนการทางนโยบายที่จะทำเทคโนโลยีเหล่านั้นให้มันไปเอื้อกับโจทย์ของระดับบุคคลมันไม่ทัน เช่น สมมติว่าผมมีความชอบและมีเวลาที่จำกัด ถ้าเราสามารถประยุกต์ใช้ AI ในการให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับเรื่องแผนการออกกําลังกาย แบบ personalization เฉพาะเจาะจงมันสามารถทำให้เราได้ แต่ขณะเดียวกัน นโยบายหรือกิจกรรมใหญ่ๆ ยังไม่ได้เหมาะสมกับวิถีชีวิตเรา ต้องยอมรับว่าปัจจุบันสื่อต่างๆ ในโลกออนไลน์มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและความคิดของบุคคลมาก ที่ผ่านมาเราอาจจะเน้นสื่อสารในมุมมิติเดียว แต่จริงๆ แล้ว หากได้มีการช่วยสื่อสารถึงกิจกรรมที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน การสื่อสารถึงพื้นที่หรือกิจกรรม รวมไปถึงความรู้ให้กับคนกลุ่มเหล่านี้ได้อย่างเข้าถึง ผมว่าก็จะช่วยได้
ทางออกของปัญหา ทุกฝ่ายต้องเข้ามาร่วมกันแก้ไขอย่างไร
สิ่งที่ต้องเร่งทำร่วมสร้างกัน คือการสร้างความร่วมมือในเชิงนโยบายของภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และด้านวิชาการ มาช่วยกันในการทำงานตรงนี้ เพื่อให้คนไทยมีองค์ความรู้ที่ดี ในขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่ง กลุ่มคนที่เก่งเรื่องการทำพื้นที่สุขภาวะ จำเป็นที่จะต้องเข้ามาร่วมมือกันเพื่ือสร้างพื้นที่นี้ให้เกิดขึ้น ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะวันหนึ่งข้างหน้าเราไม่รู้เลยว่า เราจะเจอเหตุการณ์อะไรหรือเปล่า แล้วมันอาจทำให้ทุกอย่างดรอปลงไปอีก ข้อเรียนรู้คือบางคนที่มีความรู้ มีความตระหนัก มีวิธีการที่เพียงพอ มีทางหนีทีไล่ที่ดี เขาจะยังคงรักษาพฤติกรรมของเขาไว้ได้ แต่จะทำอย่างไรให้กลุ่มคนเหล่านี้ที่ยังมีไม่มากให้มีเท่ากัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในประเทศไทยที่ต้องทำงานร่วมกัน และอีกหนึ่งสิ่งที่ทางภาครัฐหรือรัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญ คือการหนุนเสริมกิจกรรมและโอกาสให้คนกลุ่มนี้มากกว่าคนกลุ่มอื่น เพื่อให้เขาสามารถยืนเสมอได้กับคนที่มีโอกาสมากอยู่แล้ว อย่างเช่นโอกาสในการเข้าร่วมในกิจกรรมเดินวิ่ง การใช้พื้นที่ สร้างพื้นที่สุขภาวะใกล้ๆ บ้าน แทนที่จะต้องขึ้นรถไฟฟ้า เสียค่ารถออกมาเพื่อไปออกกำลังกาย
เพราะฉะนั้นภาครัฐ รัฐบาล หรือแม้กระทั่งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคม ต้องเข้ามาช่วยตรงนี้เป็นพิเศษ