‘ลดเค็ม ลดโรค’ คือหนึ่งในแคมเปญสร้างเสริมสุขภาวะที่เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยิน จนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในแคมเปญที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแคมเปญหนึ่งของ สสส. ด้วยเอกลักษณ์ของการสื่อสารแบบตรงไปตรงมา แต่สามารถทำให้คนหมู่มากเข้าใจเรื่องการลดบริโภคโซเดียมได้แบบเห็นผลชัดเจน
โดยเบื้องหลังการขับเคลื่อนสุขภาวะด้านอาหารของ สสส. ภายใต้แคมเปญนี้ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีต่างๆ มากว่า 10 ปีแล้ว และยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง นำมาสู่มหกรรม ‘งานครบรอบ 10 ปี เครือข่ายลดบริโภคเค็ม เค็มน้อยอร่อยได้’ ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 4-6 ธันวาคม เพื่อสื่อสารประเด็นนี้ออกไปในวงกว้าง
The MATTER ชวนไปพูดคุยกับ นิรมล ราศรี ผู้อํานวยการสํานักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ถึงแนวคิดเบื้องหลังแคมเปญ ‘ลดเค็ม ลดโรค’ ที่เปลี่ยนสุขภาวะคนไทยให้ดีขึ้นมาตลอด 10 ปี
มองว่าคนไทยกับเรื่องสุขภาวะด้านอาหารในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีวิวัฒนาการ มีความรู้ และมีรูปแบบของการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปจาก 10 ปีก่อน คนเริ่มให้ความสนใจกับเรื่องของสุขภาพ เลือกที่จะบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ หาความรู้จากช่องทางที่เชื่อถือได้ อยากมีชีวิตยืนยาวแบบที่ไม่เป็นภาระของสังคม ลดปัจจัยที่เป็นลบกับสุขภาพของตัวเอง อย่างเช่นการเลือกบริโภคอาหารที่ลดหวาน มัน เค็ม ใครจะไปรู้ว่าจากผักที่หาซื้อจากตลาดทั่วไป เดี๋ยวนี้คนเริ่มที่จะหันไปมองผักออร์แกนิก หรือปลูกผักเองมากขึ้น เพื่อที่จะได้รู้ว่าที่มาของอาหารปลอดภัยจริงๆ รวมถึงเนื้อสัตว์ที่บริโภค คนก็เริ่มรู้แล้วว่าแหล่งผลิตที่มาจากไหน ปลอดภัยกับการบริโภคหรือเปล่า นอกจากนั้นยังมองไปมากกว่าตัวเองแล้ว เขาเริ่มมองเรื่องของความยั่งยืน เรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย ว่าการบริโภคอาหารเหล่านี้จะทำให้เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า
คิดว่าอะไรที่เป็นปัจจัยที่ทำให้คนไทยหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น
จริงๆ ถ้าเกิดดูจากข้อมูลงานวิจัย ก็จะพบเลยว่าตัวเลขของผู้ป่วยที่เป็น NCDs เพิ่มมากขึ้น หนึ่งในนั้น อาหารเป็นปัจจัยหลักสำคัญเลย เพราะว่าชีวิตคนเราทุกคน ตื่นมาก็กิน กลางวันก็กิน เย็นก็กิน ซึ่งพฤติกรรมการกินหวาน มัน เค็ม เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรค NCDs ตัวเลขสะท้อนให้คนไทยเห็นเลยว่า ต้องดูแลตัวเองแล้ว แต่บางคนก็มีจุดเปลี่ยนที่ต่างกัน บางคนก็มองจากตัวเอง มองจากคนรอบข้าง พอถึงช่วงวัยหนึ่งก็จะเริ่มรู้ว่าร่างกายของเราเริ่มเปลี่ยน ว่าทำไมเหนื่อยง่าย เวียนหัว หรือทำไมหายใจไม่สะดวก หลายบริบทของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ถามว่าทำไมคนถึงหันมาใส่ใจสุขภาพ เห็นได้ชัดว่าจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 คนเริ่มอยู่กับตัวเอง เริ่มอยู่กับการค้นหาข้อมูลที่ทำให้ตัวเองสุขภาพดี พยายามศึกษา พยายามหาแหล่งที่มาของอาหาร แล้วก็เริ่มปรุงอาหารเองมากขึ้น ทำให้บทบาทหนึ่งของ สสส. ที่ไปร่วมกับภาคีภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการให้หันมาใส่ใจกับการผลิตสินค้าที่ลดปริมาณความหวาน มัน เค็ม ซึ่งก็เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสังคมไทย และที่สำคัญคือตัวผู้บริโภคที่มี Health Conscious อยู่ในตัวเอง
การมีสื่อหรือ Influencer สายสุขภาพที่มากขึ้น เป็นปัจจัยที่ทำให้คนหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้นด้วยไหม
คิดว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญด้วยเหมือนกัน อย่างที่บอกตอนแรกเลยว่า คนส่วนใหญ่พยายามหาแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง แล้วคนก็เชื่อแพทย์ด้วย เพราะฉะนั้นการที่คุณหมอออกมาให้ความรู้ ทำให้คนสามารถหาข้อมูลที่ถูกต้องและนำไปปรับใช้ได้จริง ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกินกว่าจะทำได้ ซึ่งจะเห็นว่าคุณหมอที่ออกมาตอนนี้ก็ให้คำแนะนำแบบปรับพฤติกรรมสุขภาพ ไม่ได้เน้นเรื่องของการบริโภคหรือการกินยา สมมติคนเป็นความดัน คุณหมอก็จะบอกว่าไปออกกำลังกาย ลดหวาน มัน เค็มนะ เพื่อทำให้คุณสุขภาพดี คุณหมอจึงมีส่วนมาก เป็นเสมือนใบสั่งยา แต่ขณะเดียวกันการที่มี Influencer เป็นคุณหมอ เป็นนักโภชนาการ เป็นคนที่มีความรู้ อาจจะไม่เหมาะกับบางคนก็ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องเลือกให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน
พอสื่อมีอิทธิพลแบบนี้แล้ว บทบาทของ สสส. หนักขึ้นหรือเบาลงอย่างไรบ้าง
บทบาทของ สสส. ไม่ได้หนักหรือเบาเกินไป เราต้องพยายามทำให้สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ นั่นคือการได้รู้ในสิ่งที่ถูกต้อง บวกกับตอนนี้คนที่มีความรู้แล้วสามารถถ่ายทอดให้กับคนอื่นๆ ได้ก็มีอยู่เยอะเช่นกัน สสส. จึงเป็นตัวกลางในการเชิญชวน 2 ฝั่งนี้มาช่วยเหลือกัน ให้เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ แล้วสื่อหรือ Influencer เดี๋ยวนี้เขาขายสิ่งที่เป็น knowledge หรือออกมาแลกเปลี่ยนกัน ว่าสิ่งที่เขาทำจากประสบการณ์จริง เปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเขาบ้าง
แต่ในแง่หนึ่ง การที่มี Influencer เยอะ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมีงานโฆษณาที่สอดแทรกเข้ามา สสส. ได้เข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างไร
คือเวลา สสส. รณรงค์เรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพ เรามีเป้าหมายเดียวกันก็คือทำให้ประชาชน มี Food Literacy มี Health Conscious แล้วนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่งานอีกพาร์ตหนึ่งที่ทำเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ สสส. ทำงานกับภาคีเครือข่ายในการที่จะเฝ้าระวัง และกำกับตัวสื่อด้วย ก็เลยกลับไปที่เราเน้นเรื่องของนโยบายที่ทำให้คนมีพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดี การสร้างองค์ความรู้ การสร้างกระแสสุขภาพ เราก็มีเรื่องของการติดตาม ประเมินผล เพื่อดูว่าสิ่งที่ สสส. และภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่านโยบายหรือกฎหมายที่ออกมาบังคับได้จริงหรือเปล่า ปรับใช้ได้ไหม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีการ Monitor ในทุกขั้นตอนของกระบวนการ มีใครได้รับผลกระทบบ้าง หรือสุดท้ายการมีแคมเปญต่างๆ ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากน้อยขนาดไหน
อยากให้เล่าถึงที่มาของแคมเปญ ‘ลดเค็ม ลดโรค’ ที่น่าสนใจ ล่าสุดคือการหยิบเรื่องรสชาติ มาให้คนทั่วไปเข้าใจเรื่องการบริโภคโซเดียมได้อย่างตรงไปตรงมา
สสส. ใช้หลักของการสื่อสารเพื่อสังคม ที่ต้องพิจารณาจากฐานข้อมูลวิชาการทั้งหมด มีการประชุมกับผู้เชี่ยวชาญอย่าง คุณหมอสุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางโรคไต มีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักกำหนดอาหารจาก WHO แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีรูปธรรมที่เกิดขึ้นจากการที่เครือข่ายเราเข้าไปรณรงค์ในพื้นที่ด้วย เพื่อพยายามให้เห็นพฤติกรรมของประชาชนจริงๆ ในชุมชน ว่าอะไรคือปัญหา อะไรคือ insight ของเขา หลังจากนั้นเราก็จะมาวางโจทย์ของการรณรงค์สื่อสาร วางกลยุทธ์ แล้วก็แสวงหา solution
ถามว่าทำไมต้องมาโฟกัสที่เรื่องลดโซเดียมหรือลดเค็ม เพราะว่า สสส. มีเป้าหมายเพื่อจะให้ประชาชนมีสุขภาพดี แล้วก็ลดเสี่ยงจากโรค NCDs เพราะหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงจากโรค NCDs คือโซเดียม เวลาสื่อสารกับประชาชน เราก็ต้องใช้คำว่าลดเค็ม เพื่อที่จะ encourage ให้ประชาชนจาก key message ง่ายๆ แล้วสื่อซัพพอร์ตต่างๆ ค่อยให้ข้อมูลเพิ่มเติมไป ว่าโซเดียมมันอยู่ในหลายรูปแบบนะ แล้วจึงสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
มีวิธีการสื่อสารกับภาคีอย่างไร ให้เป้าหมายของแคมเปญนี้ไปในทิศทางเดียวกัน
ในมุมของการทำงานกับภาคีเครือข่าย สสส. จะชัดเจนในเรื่องของเป้าหมาย หลังจากนั้นเราก็จะไปแสวงหาภาคีที่เป็นผู้นำในประเด็นนั้นๆ หลังจากนั้นเราก็จะทำงานเชิงรุกกับภาคีที่มีความสนใจในประเด็นเดียวกับเรา ไม่ว่ากลุ่มนั้นจะเป็นผู้กำหนดนโยบายหรือผู้ประกอบการ ทุกคนมาด้วยความตั้งใจที่จะช่วยกัน เพราะฉะนั้น สสส. เองก็ยังยืนยันเลยว่า เราเป็นสื่อกลางของคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือทำสิ่งเหล่านี้แล้วจะทำให้คนไทยสุขภาพดีขึ้น สร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้คนไทยไปสู่การมีสุขภาพดีในที่สุด
หลังจากที่สื่อสารออกไปแล้ว เสียงตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในระดับประชาชนทั่วไป
ถ้าเกิดเป็น feedback ในระดับนโยบาย องค์กรส่วนใหญ่ อย่างเช่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช ก็ปรับให้โรงอาหารของตัวเองลดปริมาณของการบริโภค เช่น การเอาเครื่องปรุงออก ติดป้ายเตือนลดปรุง ส่วนในเรื่องของการรับรู้ ตอนนี้ปริมาณของการบริโภคโซเดียมของประชาชนในแต่ละวัน จากเดิมที่ไม่รู้เลย ก็ตกวันละประมาณ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หลังจากที่เรารวมตัวกันกับภาคีเครือข่ายทั้งเรื่องขององค์ความรู้ พัฒนานวัตกรรม การรณรงค์ หรือแม้กระทั่งตัวผลักดันนโยบายเอง ก็ลดเหลือประมาณ 3,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ถามว่าองค์การอนามัยโลกแนะนำไว้เท่าไร คือแนะนำไว้ที่ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งก็ยังไม่พอ ก็ต้องช่วยกันเพิ่มขึ้น โดยเป้าหมายในปี 2568 หมุดหมายสำคัญคือการลดโซเดียมลง 30% ให้สำเร็จ
ผลลัพธ์ในตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมาของแคมเปญนี้ พอใจมากน้อยขนาดไหน
สสส. ยกระดับงานด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ เมื่อช่วงปี 2555 ก็ประมาณ 10 กว่าปีแล้ว ทีนี้ตลอดการทำงานจนถึงปัจจุบัน มีการขับเคลื่อนเรื่องงานอาหารโดยเน้นเรื่องการทำชุดองค์ความรู้ สื่อสารสังคม แล้วก็นำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดนโยบาย เพราะว่าถ้าเกิดผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนใจ จึงมีการออกมาตรการหรือนโยบายมาได้ ทำให้เกิดประโยชน์กับสังคมในวงกว้างมากกว่าที่จะค่อยๆ ขยับทีละนิด ยกตัวอย่างตั้งแต่ช่วงแรกก็จะมีเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ขับเคลื่อนเรื่องการลดบริโภคน้ำตาลกับเด็กเล็ก เพื่อไม่ให้เด็กติดรสหวานตั้งแต่เด็ก สุขภาพเด็กก็จะดีขึ้น เด็กอ้วนน้อยลง ฟันผุน้อยลง หรืออย่างเช่นการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็มีนโยบายควบคุมการตลาดของบริษัทนมผง เพื่อที่จะให้เด็กได้กินนมของแม่ รวมไปถึงปัจจุบันล่าสุด คือการขับเคลื่อนให้เกิดภาษีน้ำหวาน และยังมีเรื่องอื่นๆ ภายใต้การขับเคลื่อนงานอาหารอีก รวมการขับเคลื่อนได้ประมาณ 40 กว่านโยบาย 40 มาตรการ
มองว่าในอีก 5 ปีหลังจากนี้ เทรนด์ผู้บริโภคที่อาจเปลี่ยนไป สสส. รับมือความท้าทายตรงนี้อย่างไร
มองว่าอนาคตคนให้ความสนใจกับเรื่องของการบริโภคที่เป็นวิถีชีวิตสุขภาวะเพิ่มมากขึ้นอยู่แล้ว จะเห็นว่าเทรนด์ของคนไทยอายุยืนขึ้น แต่ก่อนภาวะโภชนาการหรือการกินการอยู่ของประชาชน จะเป็นเรื่องขาดเสียเยอะ เป็น undernutrition แต่ปัจจุบันจะเป็น overnutrition ก็เลยนำไปสู่ปัญหาเรื่อง NCDs แล้วในประเทศไทยไม่มีแนวโน้มว่าจะชะลอลงหรือว่าดีขึ้นเลย เพราะฉะนั้นงานเรื่องอาหารของ สสส. ก็จะเน้นทั้งในเรื่องของการบริโภคอาหารที่เหมาะสมต่อภาวะโภชนาการ กินแบบสมดุลเป็น Healthy balanced diet เน้นลดหวาน มัน เค็ม ซึ่งแผนอาหารก็ไม่ได้มองแค่ปลายทางอย่างเดียว แต่เรามองตลอดห่วงโซ่ คือจะต้องปลอดภัยตั้งแต่กระบวนการผลิต การกระจายอาหารส่งตรงมาถึงผู้บริโภค แล้วก็มาถึงเรื่องพฤติกรรมการบริโภค เพราะฉะนั้นถามว่า สสส. มีทิศทางอย่างไร รูปแบบของตัวแผนของแผนอาหารเอง ก็มียุทธศาสตร์การทำงานภายใต้ 4F ของการเคลื่อนงานต่อจากนี้อีก 5 ปี
เรื่องแรกคือ Food Environment คือปัจจัยแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราต้องเอื้อ ประชาชนต้องเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น และใกล้ตัวขึ้น
เรื่องที่สองคือ Food Economy หรือเศรษฐกิจอาหาร เพราะเรื่องของเศรษฐกิจจะเป็นตัวขับเคลื่อนอย่างหนึ่ง คือเราไม่ได้มองว่าแสวงหาเรื่องของ profit หรือกำไรอย่างเดียว คำว่าเศรษฐกิจอาหารหมายถึงต้องเป็นตัวสนับสนุนชุมชน ทำให้การกระจายอาหารสามารถเข้าถึงคนได้ และราคาต้องเป็นธรรมมากขึ้น ผู้ประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรมอาหารต้องมีการปรับตัวในการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้กับประชาชนมากขึ้น
เรื่องที่สามคือ Food Literacy เป็นการรณรงค์ให้ข้อมูลและความรู้กับประชาชนอย่างถูกต้อง
และเรื่องที่สี่คือ Food Policy Advocacy คือเรื่องของการสนับสนุนโยบายต่างๆ
ทั้งหมดนี้เป็น 4 เสาหลักในเชิงนโยบายของงานอาหารที่ สสส. กับเครือข่าย จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน
อยากให้เล่าถึงความน่าสนใจของ ‘งานครบรอบ 10 ปี เครือข่ายลดบริโภคเค็ม เค็มน้อยอร่อยได้’ ที่กำลังจะจัดขึ้น
สำหรับงานนี้ เป็นงาน celebrate รวมตัวกันของภาคีเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม เป็นการโชว์ว่าภาคีทั้งหลายที่เข้าร่วม ทั้งในเชิงนโยบายและในเชิงของการขับเคลื่อน มีผลลัพธ์หรือ output ออกมาอย่างไร และสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง การนำเสนอก็ใช้ edutainment เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นแขกรับเชิญชื่อดังที่คนรู้จัก มีการนำเสนอว่าสินค้าที่เหมาะกับการบริโภค ลดหวาน มัน เค็ม มีอะไรบ้าง พิษภัยโทษของโซเดียมเป็นอย่างไร หรือวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตัวอย่างของคนที่เขาประสบปัญหานี้แล้วมีวิธีแก้อย่างไร ก็จะมีคนมาแชร์ให้ฟังเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงมีนักวิชาการมาให้คำปรึกษาในงานด้วย ว่าถ้าเกิดอยากลดเค็มทำอย่างไร อยากลดหวานทำอย่างไร หรือวิธีการอ่านฉลาก วิธีการที่จะปรุงอาหารในชีวิตประจำวันให้ไม่เกินกว่าค่าลิมิตที่ควรจะเป็น และยังมี Influencer อย่างอาจารย์ยิ่งศักดิ์ ที่เป็นคนปรุงอาหาร รู้ลึกจริงๆ ถึงส่วนผสม หรือครอบครัวของคุณพีท ทองเจือ ที่จะมาแชร์ว่ารูปแบบการใช้ชีวิต ที่ปรับเรื่องของพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพ
อยากฝากอะไรถึงคนไทย ในเรื่องสุขภาวะด้านอาหารบ้าง
พวกเรารู้กันมานานแล้ว ว่าคนจะมีสุขภาพดี อย่างน้อยๆ เรื่องกินถือเป็นเรื่องที่หนึ่ง มีกิจกรรมทางกายเป็นเรื่องที่สอง เรื่องที่สามที่สำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องของอารมณ์ ต้องรู้จักเลือก สสส. จึงใช้คำว่าสุขภาวะ นิยามเป็นเรื่องของกาย ใจ ปัญญา และสังคม ถ้าบอกเพื่อนว่าอย่าไปกินเลย เพื่อนก็คงไม่เชื่อ แต่เพื่อนจะเลือกเอง ถ้าเพื่อนมีชุดข้อมูลว่าเขาควรบริโภคอะไรที่เหมาะกับเขา ด้วยร่างกายเท่านี้ควรจะบริโภคสักเท่าไร การลดบริโภคเค็มทำให้น้ำหนักตัวลดลงด้วย เป็นงานวิจัยในเชิงของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เขาทำจริงแล้วประสบความสำเร็จ อย่าคิดแค่ว่าหวานหรือของทอดจะทำให้อ้วน ในความเป็นจริง เค็มก็เป็นส่วนที่ทำให้อ้วนได้ เพราะฉะนั้นถ้าลดได้ เราก็ควรลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้สุขภาพดีได้ เป้าหมายเรื่องอาหารของ สสส. จึงอยากให้ทุกคนบริโภคอาหารอย่างเหมาะสมและสมดุลต่อร่างกาย เพื่อพัฒนาไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี
ชวนไปร่วม ‘งานครบรอบ 10 ปี เครือข่ายลดบริโภคเค็ม เค็มน้อยอร่อยได้’
เปิดพื้นที่ ช้อป ชิม เสวนาอาหารเพื่อสุขภาวะ
4-6 ธ.ค. 66 เวลา 10.30-18.30 น.
ณ โซนอีเดน ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
Writer: Wichapol Polpitakchai
Graphic Designer: Rojjanaon Yailaibang