“รถจ๊ะ ไปยิมที่เดิมเหมือนที่เคยไป แต่ขอแวะร้านกาแฟตรงหน้าปากซอยก่อนนะจ๊ะ”
ทันทีที่คุณพูดจบ รถยนต์ก็ติดเครื่องในทันที ก่อนจะค่อยๆ เคลื่อนตัวออกไป โดยที่คุณไม่ต้องละมือ และสายตาจากอินสตาแกรมที่อยู่บนสมาร์ทโฟน เรื่องราวข้างต้นนี้อาจจะดูเกินจริงไปนิด แต่มั่นใจได้ว่าอีกไม่นานเกินรอ เราน่าจะได้สัมผัสกับชีวิตอันแสนสะดวกสบายกับเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับแบบนี้แน่นอน เพราะ ณ ตอนนี้ แต่ละค่ายต่างก็พยายามพัฒนาสารพัดความสามารถใหม่ๆ ใส่ให้กับรถของตัวเองอย่างเต็มพิกัดที่นับวัน ยิ่งจะล้ำขึ้นไปเรื่อยๆ ราวกับแข่งกันบนถนนเพื่อชิงความเป็นหนึ่งด้านพาหนะสี่ล้อชนิดนี้
ถึงแม้เราจะได้เห็นการเปิดตัวฟังก์ชันสุดล้ำใหม่แกะกล่อง ให้เราตื่นตาตื่นใจได้ไม่เว้นแต่ละวัน ที่เข้ามาวาดฝันถึงอนาคตการเดินทางที่สบายขึ้น แต่ต้องอย่าลืมนึกถึงอะไรที่เบสิก แต่สำคัญอย่างโครงสร้าง และรูปแบบการดีไซน์ตัวรถ ซึ่งได้รับการคิดค้นพัฒนาจากนักประดิษฐ์ และนักออกแบบทั้งหลาย มาอย่างยาวนาน และต่อเนื่องเหมือนกันนะ
นั่งประจำที่กันให้พร้อม คาดเข็มขัดนิรภัยให้เรียบร้อย แล้วมาร่วมออกสำรวจเส้นทางความเป็นมา ของโครงสร้าง และดีไซน์ของรถจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และต่อไปยังอนาคตกันว่า กว่าจะเห็นเป็นรถยนต์หน้าตาคุ้นๆ กันเนี่ย ต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง
โครงรถ…กระดูกสันหลังแห่งการขับเคลื่อน
โครงรถ หรือ เฟรมรถนั้น คือหัวใจสำคัญของรถยนต์ที่ใครหลายคนอาจไม่นึกถึง ทั้งที่จริงแล้ว มันคือชิ้นส่วนที่รองรับการบรรจุส่วนประกอบอื่นๆ จนออกมาเป็นรถที่วิ่งได้
ต้นกำเนิดของโครงรถยนต์นั้น เริ่มต้นที่การประยุกต์จากพาหนะเดินทางเก่าแก่อย่าง “รถม้า” ที่มีสองชิ้นส่วนมาประกอบกันคือ โครงรถที่ทำจากเหล็ก ที่ถูกสวมทับด้วยบอดี้รถที่ทำจากไม้และผ้าใบพร้อมการตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม โดยประกอบเข้าด้วยกันด้วยข้อต่อและน็อตต่างๆ
การประกอบแบบนำบอดี้รถมาสวมทับกับโครงเหล็กนั้นได้รับความนิยมอยู่เกือบ 100 ปี ก่อนที่จะมีการพัฒนาสู่โครงรถรูปแบบใหม่ที่สะดวกกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ดี โครงรถรูปแบบนี้ยังนิยมกันอยู่ในรถกระบะและรถปิ๊กอัพ ที่ต้องการโครงเหล็กเพื่อรองรับการบรรทุกของหนักๆ และ ความง่ายในการออกแบบแค็บหรือตัวกระบะเพื่อตอบโจทย์การใช้งานรูปแบบต่างๆ เพราะสามารถดีไซน์ตัวบอดี้แยกจากรถได้
โครงรถรูปแบบใหม่ที่ว่านั้นคือ Monocoque หรือการออกแบบโครงรถแบบชิ้นเดียว โดยรวมโครงรถและบอดี้รถเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งโครงรถรูปแบบนี้ได้เปรียบจากโครงรถแบบเดิม คือมีน้ำหนักที่เบากว่า ช่วยเพิ่มสมรรถนะในการขับขี่ให้ดีขึ้น แต่แข็งแกร่งกว่า โครงลักษณะนี้จะช่วยดูดซับและถ่ายเทแรงกระแทกยามเกิดการชนให้กระจายไปทั่วทั้งโครง ทำให้คนขับปลอดภัยมากขึ้น
ในปัจจุบัน รถยนต์ส่วนใหญ่แทบจะหันมาใช้โครงแบบ Monocoque กันหมดแล้ว ไล่เรียงไปตั้งแต่ รถแข่ง F1 ไปจนถึงรถบ้านแบบ SUV ซึ่งมีการออกแบบโครงรถให้แบ่งเป็นตอนๆ เพื่อสะดวกต่อการบรรจุของในรถ
สำหรับก้าวต่อไปของเทคโนโลยีการผลิตโครงรถนั้น ตัวเลือกที่น่าจับตามองมากๆ คงหนีไม่พ้นการใช้วัสดุอย่าง Carbon Fiber ที่น้ำหนักเบามาก แต่มีความแข็งแรงสุดๆ ซึ่งจะมาช่วยให้รถนั้นสามารถทำความเร็วได้มากกว่าเดิมด้วยน้ำหนักที่เบากว่าเดิมนั่นเอง
ดีไซน์…การออกแบบที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
ไม่ใช่แค่การพัฒนาด้านสมรรถนะ แต่การดีไซน์รถยนต์ก็ได้รับการออกแบบปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยและเทคโนโลยีไม่แพ้กัน
จุดเริ่มต้นนั้น อาจจะเริ่มต้นนับกันได้คร่าวๆ ที่ยุคสมัยรถยนต์เริ่มต้นได้รับความนิยมในการขับขี่บนท้องถนน อันเป็นผลมาจากการคิดค้นระบบสายพานของ Henry Ford ทำให้การผลิตรถยนต์ออกสู่ท้องตลาดนั้นทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งรถที่ฮอตฮิตครองใจทุกคนในขณะนั้นคือ Model T ที่ผลิตออกสู่ตลาดมากกว่า 15 ล้านคัน ซึ่งหน้าตาของรถรุ่นนี้แทบจะยกตู้โดยสารของรถม้ามาใช้ เพราะเป็นตัวรถที่เปิดกว้าง ไม่มีประตู กระจกหน้ารถ หรือ หน้าต่าง ข้ามมาในช่วงปี 1920 เนื่องด้วยการพัฒนาถนนหนทางที่ดีขึ้น รถยนต์จึงสามารถดีไซน์ให้สวยงามกันได้มากขึ้น ไม่ต้องมีทรงตันๆ บึกบึนเพื่อรองรับถนนขรุขระอีกต่อไป โดยยุคนี้รถยนต์เริ่มมีบอดี้แบบปิดแล้ว ส่วนการประดับตกแต่งก็ได้แรงบันดาลใจมาจากสไตล์ art-deco รวมถึงการทำสีมุก
เมื่อ Monocoque (ถ้าลืม ให้ขึ้นไปอ่านหัวข้อบนอีกรอบ) เริ่มมาในช่วงปี 1930 การดีไซน์รถก็ไปในทิศทางเดียวกัน คือ การฝังไฟหน้า บันไดข้างรถและบังโคลนเข้าไปในตัวรถ รถสุดเท่ประจำยุคต้องยกให้ Cadillac Sixty Special รถดีไซน์โฉบเฉี่ยวทรงหยดน้ำ ส่วนในช่วงยุค 1940 สไตล์นี้ก็ได้รับการต่อยอดเป็นรถแบบ Ponton ที่ดีไซน์ให้ตัวรถนั้นมีลักษณะเป็นชิ้นเดียวโดยจับเอาไฟหน้า บันไดข้างรถ และ บังโคลนมารวมกับตัวรถไปเลย
ในยุคสมัยถัดมา รถยนต์เริ่มมีหน้าตาคล้ายกับที่เราเห็นกันในปัจจุบันมากขึ้น ในช่วง 1960-1970 รถยนต์ขนาดเล็ก กระทัดรัด ไม่เทอะทะ จากญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาตีตลาดมากขึ้น ทำให้รถดีไซน์คันใหญ่ยักษ์แบบตะวันตกเริ่มได้รับความนิยมลดลง รวมถึง ช่วงนี้ยังเป็นช่วงแห่งการทดลองด้านสีสัน เพราะผู้ผลิตกล้าที่ใช้สีสันสดใสอย่าง เหลือง ส้ม ฟ้า เขียว และ แดงกับรถของตัวเองมากขึ้น
ในปัจจุบัน รถยนต์ถูกดีไซน์ให้มีรูปทรงที่เน้นด้านการใช้งานมากขึ้น หน้าตาจึงอาจจะไม่ได้หวือหวามากนัก แต่เพราะหัวใจหลักของการดีไซน์ถูกย้ายไปเป็นเรื่องการให้ความสำคัญ กับการออกแบบ เพื่อการขับขี่รถที่ปลอดภัยกันมากขึ้น และ การใช้สีสดๆ นั้นถูกแทนที่ด้วยการใช้สีแบบเมทัลลิกที่เราคุ้นเคยกัน
แต่ใช่ว่าความท้าทายในการออกแบบนั้นจะถูกฟรีซให้หยุดนิ่ง เพราะด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้น บอกได้เลยว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ในการดีไซน์ตัวรถรูปแบบใหม่ๆ ทั้งรูปร่าง หน้าตา และ สไตล์ ดังนั้น จึงอยู่ที่ผู้ผลิตแต่ละเจ้าแล้วว่าจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกของตัวเองได้ดีขนาดไหน
ยกเครื่องทั้งระบบ…พัฒนาเพื่ออนาคตกับโปรเจกต์ TNGA
ทั้งโครงสร้างและดีไซน์ที่กล่าวไปนั้นคือหัวใจหลักสำคัญของการสร้างรถยนต์สักคัน แต่ยังมีชิ้นส่วนอีกมากมายนับร้อยนับพันชิ้นที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อมอบประสบการณ์การขับขี่ที่ดีที่สุดให้กับทุกคน
แน่นอนว่ายิ่งมีชิ้นส่วนเยอะ ก็ยิ่งวุ่นวาย ไหนรถแต่ละรุ่นจะมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของแต่ละชิ้นส่วนที่แตกต่างกันไปอีก การจะพัฒนารถยนต์ทุกรุ่นของตัวเองไปพร้อมๆ กันด้วยโครงสร้างที่มีมากมายหลายชนิดนั้นแค่คิดก็เหนื่อยแล้ว และนี่คือการปฎิวัติยนตรกรรมสู่อนาคตที่คิดค้นจากทีมวิศวกรโตโยต้า นำโดย Misuhisa Kato ผู้เป็น Chief Engineer ที่ร้องขอให้แผนกวิศวกรทุกคนได้ทดลองขับรถให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเรียนรู้จากคู่แข่งให้ได้มากที่สุด ผลลัพธ์ที่ได้คือ TNGA หรือ Toyota New Global Architecture สถาปัตยกรรมยานยนต์ใหม่แห่งอนาคต ที่ทำให้การผลิตรถยนต์ต่อไปนี้ สามารถใช้โครงสร้างแพลตฟอร์มเหมือนกันทั่วทั้งโลก ทำให้เราได้ใช้รถที่มีมาตรฐานความปลอดภัยเช่นเดียวกับ รถโตโยต้าที่ผลิตในอเมริกาและยุโรป
TNGA ถูกคิดค้นมาจากแนวคิด Core Strength จากความแข็งแรงของร่างกายมนุษย์ ที่มีกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อเป็นพื้นฐาน สู่การออกแบบเป็นโครงสร้างรถยนต์สุดแข็งแกร่ง แต่มีน้ำหนักเบา ยกเครื่องระบบช่วงล่างให้มีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำที่สุด นอกจากจะทำให้ดีไซน์ของรถดูทรงสปอร์ต ปราดเปรียวโฉบเฉี่ยวยิ่งขึ้นแล้ว ยังทำให้การขับขี่นั้นสนุกเร้าใจมากขึ้นไปอีก
ถ้าใครอยากจะทดลองสัมผัสเทคโนโลยี TNGA อย่ารอช้ารีบไปลองกันได้กับโตโยต้า C-HR ซึ่งเป็นรถรุ่นแรกในเมืองไทยที่ถูกผลิตมาจากสถาปัตยกรรมโครงสร้าง TNGA ส่วนเป้าหมายระยะยาวนั้น โตโยต้าวางแผนไว้ว่า ภายในปี 2020 50% ของรถรุ่นใหม่ที่จะถูกผลิตขึ้นมาต้องพัฒนาบนโครงสร้าง TNGA นี้
เพราะการเดินทางของมนุษย์นั้นไม่มีวันถึงจุดสิ้นสุด การพัฒนารถยนต์เพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ใช้ ทั้งในแง่ความสบายและประสิทธิภาพ ก็ไม่ต่างอะไรกับเส้นทางที่ยาวไกลให้ผู้ผลิตได้ออกโลดแล่นไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ เช่นเดียวกัน