ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ที่ปลายเหตุด้วยการบริจาคหรือเข้าไปช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยการเข้าไปแก้ไขถึงต้นตอของสาเหตุถึงในระดับพื้นที่
เพราะฉะนั้นแล้ว หัวใจที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ใช้ทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ คือการให้สถานศึกษา ชุมชน ท้องถิ่น และกลไกในการจัดการระดับพื้นที่ที่เข้าใจสาเหตุและบริบทที่หลากหลาย เพื่อค้นหาว่ามาตรการใดจะมีประสิทธิผลสูงสุดในการทำงานในพื้นที่เชิงลึก แม้เป้าหมายระยะสั้นของ กสศ. ในการช่วยเหลือเด็กอย่างเร่งด่วนสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเวลานี้ การทุ่มงบประมาณไปช่วยเท่าไรคงไม่เพียงพอ จึงต้องค้นหาการปฏิรูปเชิงระบบในระยะยาว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ได้เผยถึงแนวทางการทำงานของ กสศ. ในระยะยาว โดยเป็นการจะผสมผสานกันระหว่างวิจัยเชิงพื้นที่ องค์ความรู้และนวัตกรรมระดับนานาชาติ เพื่อสร้างเสริมการพัฒนากลไกการจัดการเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน รวมทั้งการสนับสนุนงบประมาณให้เป็นไปตามบริบทและโจทย์ในการทำงานที่หลากหลายแตกต่างกัน พร้อมกันนั้นจะมีการนำเอาข้อเสนอแนะจากพื้นที่ต่างๆ มาสังเคราะห์และรวมเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปเชิงระบบ และเพื่อทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ได้รับทราบถึงโจทย์ในการทำงานระยะยาวเพื่อปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาในอนาคตต่อไป และอีกหนึ่งหัวใจสำคัญคือ โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP ที่ กสศ. ออกแบบการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถของโรงเรียน ให้สามารถพัฒนาตนเองได้ทั้งระบบ (Whole School Approach) ผ่านการดำเนินงาน ทั้งด้านระบบบริหารจัดการและกระบวนการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน ซึ่งสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพการศึกษาให้ทัดเทียมกันในทุกพื้นที่ได้สำเร็จ
และเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณารับทราบรายงานกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา ประจำปี 2564 โดยนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้กำลังใจ กสศ. เพราะมั่นใจในโครงสร้างขององค์กร ซึ่งจากที่เห็นตัวอย่างการทำงานจริงในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ที่มีการทำวิจัยตั้งแต่นักเรียน ครู ผู้ปกครองและให้บุคลากรในพื้นที่ได้คิดอ่านปรับปรุงตามแนวคิดของตนเอง ด้านนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ได้กล่าวชื่นชม กสศ. ที่ทำงานอย่างทุ่มเทและสร้างสรรค์ ปีที่ผ่านมาจึงได้เห็นหลายกิจกรรมที่มีความพยายามประสานความร่วมมือกับภาคประชาสังคมอย่างหลากหลาย ช่วยขยายโอกาสให้กับนักเรียนได้มากขึ้น ซึ่งจังหวัดพิษณุโลก เป็นจังหวัดนำร่องที่ กสศ. ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเหลือเด็กเสี่ยงหลุดออกนอกระบบได้มากกว่า 500 คน ปิดท้ายที่นายชวน ชูจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า กสศ. เป็นหน่วยงานสำคัญด้านการศึกษาวิจัยเพื่อทำให้คำว่าความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่เรื่องวิชาการ แต่รวมถึงด้านดนตรี กีฬา และศิลปะ ที่เด็กบางคนมีความสามารถซ่อนอยู่แต่ไม่มีโอกาส ดังนั้นในอนาคตระบบการศึกษาจึงมีโจทย์ใหญ่ในการสร้างความพร้อมให้กับเด็กในทุกๆ ด้าน
สำหรับประเด็นเกี่ยวการทำงานทับซ้อนกลุ่มเป้าหมายนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ดร.ไกรยส ระบุว่า จากข้อเท็จจริงพบว่า แม้จะผ่านมามากกว่าสิบปี แต่เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนภายใต้โครงการเรียนฟรี 15 ปียังคงสนับสนุนงบประมาณให้นักเรียนใน 2 สังกัดเท่านั้น คือ อปท. และ สพฐ. ขณะที่ความเป็นจริงยังมีนักเรียนในสถานศึกษาอีกหลายสังกัดที่ไม่ได้รับการจัดสรรดูแลสถานะความยากจน กสศ. จึงได้เสนอรัฐบาลว่า จำเป็นต้องดูแลประชากรในกลุ่มก่อนวัยเรียนและวัยการศึกษาภาคบังคับเพื่อคุ้มครองป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร
ในส่วนของเป้าหมายระยะยาว ปีที่ผ่านมามีบริษัทมหาชนที่สามารถระดมหุ้นกู้เพื่อไปช่วยเหลือการศึกษาได้มากกว่า 100 ล้านบาท โดย กสศ. สนับสนุนภาคเอกชนให้เข้ามามากขึ้นผ่านสิทธิ์การลดหย่อนภาษี ผ่านการร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งมีกลไกเอื้อให้มีเรื่องสิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนการศึกษาอีกด้วย