จากการเสพข่าวสารในทุกวันนี้ หนึ่งในกระแสที่พวกเราควรตระหนัก คือการเฝ้ามองสภาพแวดล้อมรอบตัว และหนึ่งในเรื่องที่ได้ยินซ้ำไปซ้ำมาโดยตลอดคือปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่มีแนวโน้มที่จะลดความรุนแรงลง
ทว่าไม่ใช่จะมีแต่เรื่องร้ายๆ เพราะเรายังพอได้ยินเรื่องดีๆ ให้สบายใจอยู่เป็นระยะ เรายังได้ยินการรณรงค์และแคมเปญต่างๆ มากมายที่คนพยายามผุดไอเดียเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเช่นกัน
หากจะลองหาสาเหตุ เราคงจะต้องไปดูที่การใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน ยุคที่การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์อาจเป็นเรื่องยาก ความคุ้นชินเดิมๆ อย่างการเดินเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อหาน้ำดื่มเย็นๆ สักขวด แล้วก็ออกมาพร้อมกับถุงหูหิ้วที่ถือสะดวกสบาย ก่อนจะใช้หลอดพลาสติกดูดน้ำให้สดชื่น แล้วก็ทิ้งทุกอย่างลงถังขยะ ใครจะเคยสังเกตบ้างว่า พฤติกรรมเหล่านี้อาจ เป็นกระบวนการที่เริ่มต้นและจบสิ้นลงภายในเวลาไม่ถึงสิบนาที แต่ผลกระทบที่ตามมาจากการใช้พลาสติกอย่างไม่รู้คุณค่าเหล่านี้จะอยู่คู่กับโลกไปตลอด หากไม่มีการบริหารจัดการอย่างถูกวิธีสักที
โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand จึงเกิดขึ้นเพื่อรณรงค์การจัดการขยะบริเวณชายฝั่งและในทะเลไทยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนให้ใช้ทรัพยากรหมุนเวียนจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ด้วยคอนเซปต์ ‘Circular Living ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนโลก’ เกิดเป็น Thailand Collection ผลิตภัณฑ์ Upcycling จากขยะพลาสติกที่เก็บได้จากโครงการนี้ เรียกว่าแค่คุณเปลี่ยนของที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็สามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้แล้ว
ลองไปดูกันว่า กว่าจะมาเป็น Thailand Collection นั้น มีขั้นตอนในการ Upcycling ขยะพลาสติกให้กลายเป็นเสื้อยืด กระเป๋าเป้ และ Tote Bag เก๋ๆ ด้วยวิธีการไหน และผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์เหล่านี้จะสามารถเปลี่ยนโลกได้อย่างไร
โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand หรือ UTO ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานใหญ่อย่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ มูลนิธิอีโคอัลฟ์ (Ecoalf Foundation) ที่มองเห็นถึงปัญหาขยะพลาสติกในทะเลร่วมกัน เพราะประเทศไทยติดอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด และทั่วโลกทุกวันนี้มีขยะไหลลงสู่ทะเลถึงปีละกว่า 8 ล้านตัน ซึ่งถ้ายังไม่มีมาตรการในการกำจัดหรือป้องกันการทิ้งขยะพลาสติกในทะเลอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหรือกระทั่งแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลก็อาจจะสูญหายไปในไม่ช้า
ทั้งนี้ รูปแบบการทำงานของโครงการ คือการรณรงค์ให้อาสาสมัครที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ชุมชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ เรียกได้ว่ามากันครบทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันเก็บขยะพลาสติก ทั้งขวดพลาสติกใส PET และถุงพลาสติก PE บริเวณชายฝั่งและในทะเล บนพื้นที่นำร่อง ทั้งเกาะเสม็ด ระยอง และภูเก็ต เพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างปี 2560 จนถึงปลายปี 2561 โครงการสามารถเก็บรวบรวมขยะพลาสติกได้กว่า 20 ตันเลยทีเดียว
ปริมาณขยะพลาสติกที่เก็บสะสมมาได้มากถึง 20 ตันนี้ ได้กลายมาเป็น วัตถุดิบชั้นดีในการนำเข้าสู่กระบวนการ Upcycling หรือการเพิ่มมูลค่าของขยะให้สูงขึ้น โดยการนำกลับมา recycle และ พัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์เดิมอย่างสิ้นเชิง แถมยังมีปริมาณที่มากพอที่จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเพื่อออกจำหน่ายในวงกว้างอีกด้วย ซึ่งกระบวนการนี้สอดคล้องกับการดำเนินงานของ GC ที่ให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่มีหัวใจหลักในการนำทรัพยากรมาหมุนเวียนใช้อย่างรู้คุณค่า และให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยการสร้างสรรค์ Thailand Collection จากขยะพลาสติก มี 5 ขั้นตอนหลักๆ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1: เก็บขยะพลาสติก และนำมาคัดแยกตามคุณสมบัติของพลาสติกแต่ละชนิด
ขั้นตอนที่ 2: นำขวดมาตัดให้เป็นชิ้นๆ ก่อนจะนำไปปั่นเป็นเส้นใย
ขั้นตอนที่ 3: นำเส้นใยที่ได้ มาปั่นเป็นเส้นด้ายอีกครั้ง
ขั้นตอนที่ 4: นำเส้นด้ายมาทอเป็นผืนผ้า
ขั้นตอนที่ 5: ออกแบบและตัดเย็บโดยดีไซเนอร์มืออาชีพ จนเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ของ Thailand Collection ทั้งเสื้อยืด และกระเป๋าเป้
ผลิตภัณฑ์ที่ออกวางจำหน่ายคอลเลคชั่นแรกของ Thailand Collection คือเสื้อยืด T-Shirt ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว โดยมีดีไซน์ออกมาให้เลือกถึง 3 แบบ 3 สีด้วยกัน
Design 1: Upcycling the Oceans, Thailand คือข้อความที่ปรากฏอยู่บนอกเสื้อ บ่งบอกถึงพลังใจของคนทุกคนที่ร่วมกันเก็บขยะ ด้วยความตั้งใจอยากให้ทะเลไทยสะอาดสวยงาม ออกแบบโดย ฮาเวียร์ โกเยนิเซ่ ดีไซเนอร์ชาวสเปน ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิอีโคอัลฟ์ ที่ควบตำแหน่งเจ้าของแบรนด์แฟชั่นในชื่อเดียวกัน ผลิตสินค้าแฟชั่นรักษ์โลกที่ทำมาจากขยะพลาสติกในทะเล รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มโปรเจกต์ Upcycling the Oceans อีกด้วย
Design 2: From Trash to Trashion คำเก๋ๆ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการนำคำว่า ‘Trash’ และ ‘Fashion’ หรือขยะกับแฟชั่นมาผสานให้เข้ากันอย่างลงตัว
Design 3: Trash to Treasure อีกหนึ่งดีไซน์ที่ออกแบบโดยนักแสดงหนุ่มชื่อดังอย่าง เจมส์ – จิรายุ ตั้งศรีสุข ที่ถ่ายทอด
คอนเซปต์จากขยะสู่ขุมทรัพย์อันมีค่า ด้วยลวดลายนาฬิกาทรายที่สะท้อนถึงการนำขยะพลาสติกมาแปลงร่างเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่น
เอกลักษณ์ของเสื้อยืดทั้ง 3 แบบนี้ คือที่แขนเสื้อจะระบุจำนวนของขวดพลาสติก 14 ขวด ซึ่งเป็นจำนวนที่นำมารีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นเสื้อยืดตัวนี้ได้ 1 ตัว
อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์จาก Thailand Collection กับกระเป๋าเป้ดีไซน์สวย พร้อมฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย มีสีให้เลือกถึง 5 สี โดดเด่นด้วยลายปักโลโก้โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ที่ด้านหน้าของกระเป๋า และลายที่ระบุจำนวนของขวดพลาสติก 14 ขวดที่นำมารีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นกระเป๋าได้ 1 ใบ
จากพลาสติกเพียงแค่ 14 ขวด ที่หากคำนวณออกมาเป็นมูลค่าคงไม่ได้มากมายอะไร แต่หากวันนี้เราจะเริ่มต้นช่วยกันเก็บและนำมาสู่กระบวนการ Upcycling ได้มากเพียงใด ก็จะถือเป็นโอกาสที่จะช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันได้อีกทางหนึ่งมากขึ้นเท่านั้น
กระเป๋าถือ Tote Bag Limited Edition ผลงานการออกแบบโดย ดร.จารุพัชร อาชวะสมิต ดีไซเนอร์ไทย เจ้าของแบรนด์ Ausara Surface และอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่เชี่ยวชาญในการนำวัสดุเหลือใช้มา Upcycling ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
โดยกระเป๋าถือ Tote Bag 1 ใบใช้เส้นใยที่ได้จากขยะพลาสติกโพลีเอทิลีน หรือถุงพลาสติก จำนวน 43 ใบ แล้วนำมาทอขึ้นรูปให้เกิดเป็น texture อันสวยงามด้วยฝีมือของชาวบ้านในชุมชนจังหวัดระยอง โดยมีวางจำหน่ายเพียง 50 ใบในประเทศไทยเท่านั้น
ชวนมาเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ Thailand Collection ที่เพียงแค่เลือกใช้ก็สามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้แล้ว ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย จะนำไปสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา
สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมต่อได้ที่ https://www.facebook.com/Upcyclingtheoceansthailand/