หลังจากที่ผลงาน Upcycling 5 ชิ้นแรก ภายใต้โครงการ Upcycling Upstyling โดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่นำขยะพลาสติกและวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาให้กลายเป็นสินค้าแฟชันที่มีมูลค่าสูง ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานตอบโจทย์ทั้งเรื่องฟังก์ชันและดีไซน์ทั้งสิ้น
ต่อเนื่องกับผลงานที่เหลือ โดยยังคงนำเสนอแนวคิด ‘Up Waste to Value with WOW! Style’ ที่นำขยะพลาสติกและวัสดุเหลือใช้ภายในโรงงานของผู้ประกอบการทั้ง 19 บริษัท มาสร้างสรรค์เป็นผลงานจากฝีมือของดีไซเนอร์ชั้นนำของไทยกว่า 10 คน ในรูปแบบของ Eco-Design ซึ่งสามารถสร้างความต้องการทางการตลาดใหม่ๆ ในกับวงการแฟชันดีไซน์มากขึ้น
ลองไปถอดแนวคิดการออกแบบกับอีก 5 ผลงาน จากโครงการ Upcycling Upstyling ว่าจะสวยงาม มีฟังก์ชัน และรักษ์โลกมากกว่าเดิมอย่างไร
Let’s Talk
BAG AND GLOVES X SARRAN
ขยะพลาสติกที่เกิดจากกระบวนการผลิตถุงพลาสติกประเภท PE ที่เกิดขึ้นภายในโรงงานส่วนใหญ่ คือสิ่งที่ดีไซเนอร์ ศรัณญ อยู่คงดี จาก SARRAN มองว่าพลาสติกเหล่านี้ยังมีคุณสมบัติที่ยังยอดเยี่ยมอยู่ จึงนำเศษขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในโรงงานของ บริษัท Bags and Gloves จำกัด มาหลอมเพื่อขึ้นรูปใหม่ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ DIY รูปทรง Alphabet หรือตัวอักษรต่างๆ ที่สามารถนำมาตกแต่งบ้านได้ โดยคุณสมบัติสำคัญคือแข็งแรง ทนความร้อน และสามารถขึ้นรูปเป็นของตกแต่งอื่นๆ ได้อย่างอิสระ ที่สำคัญคือสีสันในแต่ละชิ้นที่สดใส แต่แตกต่างกัน กลายเป็นเสน่ห์ที่หาไม่ได้จากวัสดุชนิดอื่นๆ
Plinth to Plant
SANGROONG X THINKK
สำหรับคนที่ชอบปลูกต้นไม้ เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า กระถาง คือส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ต้นไม้สวยงามและโดดเด่นขึ้น ยิ่งกระถางที่มีที่มาในการออกแบบ ก็ยิ่งทำให้กระถางนั้นมีมูลค่ามากขึ้น อย่างผลงานของ พลอยพรรณ ธีรชัย และ เดชา อรรจนานันท์ ดีไซเนอร์จาก THINKK STUDIO นำเศษพลาสติก PE ที่เคยเป็นขยะในโรงงานผลิตถังและแกลลอนพลาสติกของ บริษัท แสงรุ่งกรุ๊ป จำกัด มาหลอมและขึ้นรูปดีไซน์ใหม่ โดยยังคงคุณสมบัติเดิมๆ อย่างเช่นสีดำเอาไว้ แถมยังสามารถดัดแปลงเป็นของใช้ภายในบ้านชิ้นอื่นๆ เช่น แจกัน ที่ใส่อุปกรณ์ หรือเป็นโคมไฟได้อีกด้วย
Black Diamond
VANDAPACK X JERD
จากเศษพลาสติก ABS สีดำ ที่เกิดขึ้นจากการผลิตในโรงงานของ บริษัท แวนด้าแพค จำกัด ที่ผลิตบรรจุภัณฑ์ พื้นปูกระบะ ฉนวนกันความร้อน ดีไซเนอร์อย่าง ศุภพงศ์ สอนสังข์ จาก Jird Design Gallery ความยากก็คือ วัสดุรีไซเคิล 100% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสีดำ ทำให้ต้องมองหารูปทรงที่สามารถสร้างมิติของแสง ในค่าสีที่มืดสนิทได้ในหลายระดับ จึงมาลงตัวที่รูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่มีเหลี่ยมเหมือนอัญมณี ซึ่งสามารถนำไปเรียงต่อกัน สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้มากมาย ความพิเศษคือแม่พิมพ์ในการขึ้นรูป สามารถสร้างลวดลายได้หลายสิบรูปแบบตามจินตนาการ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการเรียงแม่พิมพ์ตะกั่วในงานผลิตหนังสือแบบโบราณ
Straws Bubble
THAINAM X PROMPT
ด้วยเทรนด์ของ E-commerce ที่กำลังเติบโต ทำให้การขนส่งด้วยแพ็คเก็จจิ้งเป็นสิ่งที่จำเป็น แน่นอนว่าส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ดีไซเนอร์ สมชนะ กังวารจิตต์ จาก Prompt Design จึงได้นำเศษพลาสติกที่เหลือจากกระบวนการผลิตถุงพลาสติกและหลอดของ บริษัท ไทยนำโพลีแพค จำกัด มารีไซเคิลให้กลายเป็น หลอดกันกระแทก (Straw Bubble) ที่มีลักษะเป็นถุงซิปล็อก ภายในเป็นเศษหลอดชิ้นเล็กๆ สามารถเพิ่มปริมาณหลอดได้ตามต้องการ และส่วนหัวและท้ายยังดีไซน์ให้มีแถบตีนตุ๊กแกที่นำมาต่อเพิ่มความยาวได้ด้วย เรียกว่าเป็นนวัตกรรมด้านแพ็คเก็จจิ้งที่ช่วยสร้างพฤติกรรมใหม่ๆ ให้กับขาช้อป และยังช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกให้น้อยลงไปพร้อมๆ กัน
Tai Taley 001
SIAM BROTHER X KORRAKOT
หนึ่งในสาเหตุของปริมาณขยะในทะเลที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำประมงที่มักทิ้งเชือกอวนใช้แล้วลงในทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กรกต อารมย์ดี ดีไซเนอร์จาก KORAKOT จึงได้นำ เชือกอวนประมง จากพลาสติกรีไซเคิลของ บริษัท สยามบราเดอร์ จำกัด มาถักขึ้นรูปใหม่ โดยนำคุณสมบัติเด่นๆ ของพลาสติกเชือกอวนที่เหนียวและทนทาน ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สวยงาม เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ผ่านงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ให้กับพนักงานในโรงงานและคนในชุมชนได้ด้วย