ความร้อนระอุปกคลุมไปทั่วเมืองหลวงของอินเดียในฤดูร้อนนี้ ที่มันร้อนอยู่ในระดับที่ใกล้เกินกว่ามนุษย์จะมีชีวิตอยู่รอดได้แล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีชาวอินเดียจำนวนมากที่ต้องหาเลี้ยงชีพอยู่ ท่ามกลางภาวะอากาศเช่นนี้
วันนี้เราจะพาทุกคนไปสัมผัสกับความร้อนผ่านมุมมองของ ‘ราเมซ’ (Ramesh) ช่างก่ออิฐวัย 34 ปี ที่เล่าให้กับสำนักข่าว CNN ฟังว่า ถึงแม้เขารู้สึกว่าร้อนจนจะเป็นลม แต่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทำงานต่อไป “ร้อนขนาดแทบจะทนไม่ได้ แต่เราไม่มีทางเลือก เราต้องทำงาน” ราเมซอยู่อาศัยในย่านชานเมืองที่แออัดทางตะวันตกของเดลี เมืองที่ระดับความร้อนพุ่งสูงจนแตะขีดอันตรายอยู่บ่อยๆ
เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นแตะ 40 องศาเซลเซียสในเดือนมิถุนายน เมื่อปี 2023 จนต้องโรงเรียนหลายแห่งต้องปิด ขณะที่พืชผลการเกษตรได้รับความเสียหาย ในภาคครัวเรือนเองก็มีคนที่เริ่มป่วยจากอากาศร้อนนี้ด้วยเช่นกัน ราเมซยืมเงินญาติของเขาราว 35 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,200 บาท) เพื่อซื้อเครื่องปรับอากาศมือสองมาใช้ในบ้านของเขา ซึ่งแอร์นี้ดันสร้างปัญหาให้เขามากกว่าเดิม “มันส่งเสียงดัง บางครั้งมันก็ปล่อยฝุ่นออกมา” แต่ถึงอย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีมัน
ตามข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ และสํานักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า ภายในปี 2050 อินเดียจะเป็นส่วนหนึ่งในสถานที่แรกๆ ที่อุณหภูมิจะสูงเกินขีดจำกัดการเอาตัวรอด ซึ่งภายในกรอบระยะเวลานี้ คาดว่าความต้องการแอร์ (เครื่องปรับอากาศ) ในประเทศจะเพิ่มขึ้น 9 เท่า แซงหน้าเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ทั้งหมด
สถานการณ์ของราเมซสามารถบอกเล่าสิ่งที่คนในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกกำลังเผชิญอยู่ได้อย่างดี ยิ่งอินเดียร้อนมากขึ้นเท่าไหร่ คนก็จะยิ่งใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งมีเครื่องปรับอากาศมากขึ้นประเทศก็จะร้อนขึ้นไปเรื่อยๆ
อิงตามข้อมูลที่รวบรวมโดยสหภาพยุโรป ระบุว่า อินเดียเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เกือบ 2.4 พันล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7% ของการปล่อยก๊าซทั่วโลก เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ แล้ว สหรัฐฯ ปล่อยก๊าซคาร์บอน 13% แม้ว่าจะมีประชากรถึง 1 ใน 4 ของอินเดียก็ตาม สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามที่ถามกันอยู่บ่อยๆ ว่า ‘ผู้คนในประเทศที่กำลังพัฒนาควรแบกค่าใช้จ่ายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ว่าจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบน้อยที่สุดในการเพิ่มก๊าซเรือนกระจกหรือไม่?’
ในการประชุม COP28 ที่ดูไบครั้งล่าสุดนี้ อินเดียไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ลงนามในคำมั่นสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบทำความเย็น อย่างไรก็ตาม อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลก ยังคงเป็นแนวหน้าของวิกฤตสภาพอากาศ และอยู่ในสถานะที่ยากลำบากจะสามารถปรับสมดุลและรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร?
อินเดียยังคงต่อสู้กับความยากจน แต่ก็ทุ่มเงินหลายพันล้าน เพื่อยกระดับการคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ขณะที่ก็พยายามปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของคนในประเทศด้วย ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
องค์การสหประชาชาติ และหลายประเทศรวมถึงอินเดียกำลังเลิกใช้สารทำความเย็น HFC และใช้สิ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่น ไฮโดรฟลูออโรโอเลฟินส์ หรือ HFO แทน การเคลื่อนไหวนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต แต่ถึงอย่างนั้นประเทศต่างๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบทำความเย็นที่เพียงพอจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนในการปรับปรุงพลังงาน
รองศาสตราจารย์จาก Smith School of Enterprise and Environment บอกว่า การทำความเย็นโดยไม่กระทบต่อโลกกำลังอยู่ในวาระระดับโลก การปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับแสงแดด แหล่งน้ำ สนามหญ้าที่ส่งเสริมความเย็นและระบายอากาศถือเป็นกลยุทธ์ทำความเย็นแบบ Passive การติดพัดลมเพดานในอาคารสามารถลดการใช้พลังงานครัวเรือนไปได้มากกว่า 20%
“หากวิธีเหล่านี้มันประสบความสำเร็จเราจะลดความต้องการทำความเย็นไปได้ 24% ภายในปี 2593 ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณได้ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเทียบกับคาร์บอน 1.3 พันล้านตัน” รองศาสตราจารย์อธิบาย
นอกจากนี้ อินเดียให้สัญญาว่าจะลดความต้องการพลังงานเพื่อการทำความเย็นลง 20-25% ภายในปี 2581 ภายใต้แผนปฏิบัติการการทำความเย็นของตนเองที่ประกาศในปี 2562 ขณะที่พลังงานทดแทนในอินเดียยังเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจหลักอื่นๆ และข้อมูลแสดงให้เห็นว่าอินเดียกำลังอยู่ในแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
แต่การเติบโตของตลาดเครื่องปรับอากาศในอินเดียมีให้เห็นอยู่เกือบทุกมุมของประเทศ สถานที่ก่อสร้างหลายร้อยแห่งกระจายอยู่ทั่วเมืองหลวง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตในนิวเดลี หนึ่งในนั้นคือเพนตา อานิล กุมาร์ (Penta Anil Kumar) นักธุรกิจที่อาศัยอยู่ทางใต้ของเดลี บอกว่าเขาเองก็ตระหนักถึงการปล่อยมลพิษ จึงตั้งใจซื้อเครื่องปรับอากาศที่ประหยัดพลังงาน แม้รู้ว่ามันจะมีส่วนที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นแต่เขาเองก็ทำอะไรได้ไม่มาก
สิ่งนี้ไม่ใช่ก้าวแรกของอินเดีย แต่เป็นก้าวใหญ่ที่ต้องใช้เวลาในการปรับปรุงแผนและทดลองใช้งานไปเรื่อยๆ ในระยะยาว หวังว่าอินเดียจะผ่านพ้นวิกฤตความร้อนนี้ไปได้และกลายเป็นประเทศต้นแบบในการจัดการความร้อนประเทศแรกๆ ในโลก
อ้างอิงจาก