นับวัน อุณหภูมิสูงสุดในฤดูร้อนก็ยิ่งขยับขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับปีนี้ประเทศไทยเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ที่ทำให้ร้อนแล้งขึ้นไปอีก ปัญหาเรื่องความร้อนจึงกลายเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยิ่งไปกว่านั้น เราต่างรู้ดีว่าภาวะโลกรวนส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น และมีแนวโน้มว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นไปอีก 3 องศา ส่งผลกระทบตั้งแต่ทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิตของผู้คน ไปจนถึงการเมืองและเศรษฐกิจโลก
นอกเหนือจากความรู้สึกแสบผิว กระหายน้ำบ่อยขึ้น ความขี้เกียจ หรือเสี่ยงจนถึงภาวะฮีตสโตรก (Heat Stroke) ที่อาจเกิดขึ้นได้แล้ว ความร้อนยังทำให้เราใช้จ่ายมากขึ้นไปด้วย เรียกได้ว่ายิ่งร้อนเท่าไรก็ยิ่งใช้จ่ายมากขึ้นเท่านั้น
เราเลยอยากชวนมาสำรวจค่าใช้จ่ายในชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากความร้อนที่ทะลุปรอทที่มีแนวโน้มจะร้อนขึ้นไปทุกที พร้อมดูกันว่าในระดับประเทศหรือนานาชาติมีมาตรการรับมือกับความร้อนนี้ยังไงบ้าง?
ความร้อนทำให้ค่าอาหารแพงขึ้น
สิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดที่เราพอจะสังเกตได้คือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกินเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่มีต้นทางมาจาก ‘ผลผลิตทางการเกษตร’ ที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดอย่างหนึ่งคือโกโก้และกาแฟ ซึ่งอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก และกำลังเผชิญกับความขาดแคลนที่ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น โดยรายงานขององค์กรโกโก้นานาชาติ (International Cocoa Organization) ระบุว่าปริมาณการผลิตโกโก้ทั่วโลกประสบสภาวะขาดดุลมากถึง 374,000 ตันในช่วงปี 2023-2024 ซึ่งคาดการณ์ว่าเป็นผลจากภาวะโลกรวนดังกล่าว นอกเหนือจากนี้ ยังมีงานวิจัยเรื่อง Cross-border climate vulnerabilities of the European Union to drought ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communication กล่าวว่า สภาวะแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในบราซิลและเวียดนามอาจทำให้ผลิตกาแฟได้น้อยลงในระยะยาว ซึ่งส่งผลต่อการนำเข้ากาแฟในยุโรปซึ่งครองส่วนแบ่งการบริโภคกาแฟถึง 1 ใน 3 ของโลกไปด้วย
จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าราคาโกโก้และกาแฟทั่วโลกกำลังจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะปกติแล้ว พืชทั้งสองจำเป็นต้องใช้อุณหภูมิที่เหมาะสม จึงจะได้ผลที่สามารถนำมาคั่วและแปรรูปได้ ภาวะโลกรวนจึงอาจกระทบต้นทุนของการผลิตเมล็ดกาแฟและช็อกโกแลตทั่วโลกจากทั้งพื้นที่การผลิตที่มีน้อย และตัวแปรด้านสภาพอากาศที่เลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกซึ่งเป็นแหล่งผลิตโกโก้และกาแฟแหล่งใหญ่ของโลกกำลังเผชิญกับเอลนีโญ และคลื่นความร้อนจากทะเลที่ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองนอกฤดูกาล ทำให้ผลผลิตเสียหายอย่างรุนแรง
มากไปกว่านั้น ราคาผักและผลไม้ตามท้องตลาดมักเพิ่มสูงข้ึนในฤดูร้อน อันเนื่องมาจากผลผลิตที่เสียหายจากสภาพอากาศแห้งแล้งและระบบการขนส่ง เมื่อเปรียบเทียบจากข้อมูลของกรมการค้าภายใน พบว่าราคาผักสดเพิ่มสูงขึ้น เช่น ผักคะน้าที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 47.50 บาท จากช่วงต้นปีที่มีราคาเฉลี่ย 22.50 บาท หรือผักชีที่มีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 240 บาท ซึ่งสูงกว่าช่วงต้นปีที่มีราคาเฉลี่ย 75 บาท
การขาดแคลนอาหารได้กลายมาเป็นหนึ่งในผลกระทบสำคัญของภาวะโลกรวน ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนระอุขึ้น รวมไปถึงสภาพดินที่แห้งแล้งมากขึ้น จึงทำให้ผลผลิตทางการเกษตรอาจขาดแคลนขึ้นไปอีก ทว่าหลายประเทศในโลกยังนิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ปัญหาราคาอาหารแพงขึ้นยังคงอยู่ในสังคมและอาจก่อให้เกิดปัญหาที่ใหญ่กว่าอย่างช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ถ่างออกมากขึ้น หรือผู้คนที่ล้มตายจากความอดอยากในสภาพอากาศแห้งแล้งด้วย
ค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้น เมื่อไม่อยากเผชิญความร้อน
อากาศร้อนๆ แบบนี้ ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากไปไหนเลย แต่ชีวิตไม่เป็นเช่นนั้น หลายคนยังคงออกมาทำงานที่ออฟฟิศ ใช้ชีวิตกินข้าวดูหนังนอกบ้าน ซึ่งต้องใช้การเดินทางทั้งนั้น ครั้นจะเลือกเดินทางด้วยรถเมล์ร้อนก็ขอส่ายหน้า ยอมขึ้นแท็กซี่หรือรถไฟฟ้าเสียดีกว่า
นอกเหนือจากรถประจำทางแล้ว เรายังอาจเดินทางด้วยรถตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์วิน หรือแม้กระทั่งเดินทางข้ามจังหวัดด้วยรถไฟชั้นสามที่ยังไม่ติดแอร์ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงผู้คนได้หลากหลายและครอบคลุม และเป็นสาเหตุที่ทำให้เราจำเป็นต้องยอมจ่ายค่าเดินทางเพิ่มมากขึ้น เพื่อเสียพลังงานให้ความร้อนน้อยลง ยังไม่รวมถึงการรอรถเมล์หรือมอเตอร์ไซค์ท่ามกลางอากาศร้อนๆ ที่อาจนานตามความแออัดของการจราจร
มากไปกว่านั้น คลื่นความร้อนที่สูงขึ้นยังอาจส่งผลถึงความราบรื่นของการเดินทางด้วย เช่น ในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการขนส่งระบบรางก็เผชิญกับปัญหาทางรถไฟเสียหายจากคลื่นความร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางชายฝั่งตะวันออกจากเอดินเบอระถึงลอนดอนที่ได้รับความเสียหายหนักกว่าสายอื่นๆ ส่งผลให้ต้องยกเลิกการเดินรถไป เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่เลือกหยุดการเดินรถในช่วงคลื่นความร้อน ทำให้ผู้โดยสารจำเป็นต้องเลือกเส้นทางอื่นๆ เช่น เครื่องบิน เพื่อเดินทางระหว่างเมืองแทน
หรือหากมองให้ใกล้ตัวมากขึ้น ช่วงหยุดยาวสงกรานต์ที่ผ่านมา รถทัวร์และเครื่องบิน รวมถึงรถยนต์ส่วนบุคคลกลายเป็นตัวเลือกหลักที่ประชาชนเลือกใช้เพื่อเดินทางกลับบ้านเกิดของตัวเองมากขึ้น น่าสนใจว่า อากาศที่ร้อนระอุส่งผลกับผู้คนเพียงค่ากินหรือค่าเดินทางแค่นั้นจริงหรือ?
เดินห้างก็ของแพง แต่อยู่บ้านก็เปลืองไฟ
ในสภาพอากาศร้อนแบบนี้ คุณเลือกจะพักผ่อนแบบไหน?
หากเลือกนอนอยู่บ้าน แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นแน่นอนคือ ‘ค่าไฟฟ้า’ ที่ถึงแม้ว่าจะใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม แต่ค่าไฟฟ้าก็ยังคงพุ่งสูงจนทำให้เดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ค่าไฟไปถึงจุดสูงสุด
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเคยระบุไว้ว่า สาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าในฤดูร้อนพุ่งสูงกว่าช่วงอื่นๆ ของปีคือ ความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักขึ้น ทั้งนี้ ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนทะลุเพดานไปเรื่อยๆ ยังส่งผลให้ยอดขายเครื่องปรับอากาศ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มทำความเย็นสูงขึ้นด้วย
หรือหากเลือกที่จะออกจากบ้าน ‘ห้างสรรพสินค้า’ ถือเป็นจุดหมายแรกๆ ที่คนจะนึกถึง จนเกิดเป็นวิถีชีวิตที่ว่า ถ้าไม่อยากเปลืองค่าไฟที่บ้าน การเดินห้างอาจช่วยได้ เพราะนอกเหนือจากความเพลิดเพลินแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ห้างสรรพสินค้ามีคือ ‘อากาศเย็น’ ที่ทำให้เราคลายร้อน พร้อมกับทำภารกิจอื่นๆ ในชีวิตไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นกินอาหารกลางวัน นัดพบเพื่อนฝูง ลองเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นใหม่ หรือแม้กระท่ังซื้อของใช้เข้าบ้าน
สภาพอากาศถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนเลือกจับจ่ายซื้อของ จนก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Weather-based Marketing’ หรือการตลาดที่มีอากาศเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะอากาศส่งผลต่อทั้งอารมณ์และการตัดสินใจของผู้คนไปด้วย โดยในงานวิจัยของไคล์ บี. เมอร์เรย์ (Kyle B. Murray) พบว่า กลุ่มตัวอย่างตัดสินใจซื้อชาเขียวและสมัครเข้าใช้บริการยิมมากขึ้นเมื่ออากาศร้อนขึ้น
ทางเลือกของการพักผ่อนหย่อนใจของผู้คนที่เกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะคลื่นความร้อนจึงยืนอยู่บนทางเลือกของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งนั้น แล้วรัฐบาลและภาคการเมืองในโลกมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่จัดการกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นเหล่านี้อย่างไร?
นโยบายเศรษฐกิจพิชิตร้อน
อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของภาวะโลกรวนที่หยั่งรากลึกลงไปในทุกภาคส่วนของสังคม ภาครัฐและภาคนโยบายจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะรับมือกับทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสภาพอากาศที่เลวร้ายต่อวิถืชีวิตของผู้คนและโลกใบนี้
เราอาจจะคุ้นเคยกับนโยบายตรึงค่าไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน ที่ทำให้ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยยังคงที่แม้อัตราการใช้ไฟฟ้าจะสูงขึ้น หรือการตรึงราคาสินค้าเกษตร นโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายเศรษฐกิจพื้นฐานที่ตั้งรับกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจคือนโยบายการเงินและสิ่งแวดล้อมเพื่อรับมือกับภาวะโลกรวนที่กลายเป็นปัญหาระยะยาว
ที่ประชุมภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ครั้งที่ 28 ได้ประกาศจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยค่าความเสียหายและความสูญเสียจากสภาพอากาศ หรือกองทุน ‘Loss and Damage’ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อชดเชยความเสียหายจากภาวะโลกรวนแก่ประเทศกำลังพัฒนา ถือว่าเป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญระดับนานาชาติที่ตั้งอยู่บนความเปลี่ยนสภาวะภูมิอากาศ นอกเหนือจากนี้ รัฐบาลในแต่ละประเทศยังได้ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกรวนที่ต้นเหตุ เช่น การจัดตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศในประเทศจีนและญี่ปุ่น
นอกจากนี้ การผลักดันพลังงานสะอาดได้กลายเป็นเรื่องจำเป็น การส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้กลายมาเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่จะส่งเสริมทั้งภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อมไปในตัว ในขณะที่ภาคการขนส่งสาธารณะ การจัดหารถประจำทางพลังงานไฟฟ้ากลายมาเป็นความจำเป็นสำคัญที่จะผลักดันคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มากขึ้น
Human Rights Watch องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลกเคยประกาศข้อเรียกร้องว่าด้วยการปกป้องสิทธิมนุษยชนจากภาวะโลกรวนไว้ว่า รัฐบาลแต่ละประเทศจำเป็นจะต้องจัดสรรรัฐสวัสดิการเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณสุข การจัดสรรน้ำประปาและพลังงานไฟฟ้าสำรอง ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้คนไปด้วย
ทั้งนี้ นโยบาย Net Zero ซึ่งส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 ก็เป็นสิ่งที่แต่ละรัฐบาลจำเป็นต้องผลักดันไปด้วย ซึ่งสำหรับประเทศไทยที่เคยประกาศจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 มันก็ดูช้ากว่าทั่วโลกไปถึง 15 ปี และเมื่อเหลียวกลับมามองนโยบายในประเทศแล้ว นอกเหนือจากนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแล้ว ก็ยังไม่มีนโยบายใดๆ ที่ประกาศความตั้งใจว่าจะกำจัดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือลดภาวะโลกรวนลง
แน่นอนว่าปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ แต่การรักษาสภาพแวดล้อมให้คนรุ่นหลังยังมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน การมองผลกระทบระยะยาวของภาวะสิ่งแวดล้อมต่อเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ตราบใดที่ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนยังคงสูงขึ้นตามอุณหภูมิในพยากรณ์อากาศประจำวัน
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Krittaporn Tochan
Editorial Staff: Paranee Srikham