เขายังคงเป็นคนรักที่น่ารักเสมอมา ตั้งแต่วันแรกที่ความสัมพันธ์โอบรัดเอาไว้เพียงหลวมๆ จนถึงวันที่มันรัดเราให้แนบชิดยิ่งขึ้น เราได้เห็นเขาใกล้มากขึ้น ได้สังเกตท่าทีในมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เราทั้งคู่ต่างขยับตัวได้ยากขึ้น จะหันซ้ายหรือจะไปขวา ก็ต้องพึ่งพากันและกันถึงจะเดินไปในทิศทางนั้นได้ ในจังหวะนั้นเองที่เราต่างหันมามองหน้ากัน และเริ่มสงสัยในการกระทำของอีกฝ่ายที่ไม่เป็นไปดั่งใจ
ในวันที่เราต่างคนต่างใช้ชีวิต รับผิดชอบเรื่องราวในแต่ละวันของตัวเอง กินข้าว เดินทาง ล้างจาน ซักผ้า ทุกอย่างมันคล่องตัวไปหมด แต่เมื่อความสัมพันธ์มันจริงจังขึ้นมาอีกขั้น ชีวิตประจำวันของเราทาบทับกัน กลายเป็นพื้นที่ที่เราต่างมาแชร์ชีวิตร่วมกันตรงกลาง เลยได้เห็นความเป็นตัวเขามากขึ้นในมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
เขาน่ารัก พูดจาดี แต่ถ้วยกาแฟตอนเช้าของเมื่อวาน ยังคงตั้งอยู่ที่เดิม เขาให้เกียรติ มีน้ำใจ แต่ถุงเท้าเปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อยๆ ตามแต่ใจผู้ถอด ในตอนที่เราหัวหมุนอยู่กับงานบ้าน การขอให้เขาช่วยดูลูกน้อยที่ร้องไห้โยเยด้วยความง่วงหงาวหาวนอนก็ดูเป็นเรื่องยากเหลือเกิน เราจะรับผิดชอบทุกอย่างไปพร้อมๆ กันได้ยังไงนะ
ความคาดหวังกำลังทำร้ายเราหรือเปล่า?
ในวันที่เราได้แชร์ชีวิตตรงกลางร่วมกัน แน่นอนว่ามันต้องมีความรับผิดชอบบางอย่างที่ผุดขึ้นมาเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องทำ ซึ่งภาระที่ว่านั้น คือ สิ่งที่อยู่ตรงกลาง ที่ทั้งคู่ควรรับผิดชอบร่วมกัน แบ่งเบาให้กันและกัน นอกเหนือไปจากความรับผิดชอบส่วนตัวของแต่ละคนอยู่แล้ว
หากถามคู่รักส่วนใหญ่ ใครจะเป็นคนทำนั้นอยู่ที่การตกลงร่วมกัน แต่พอถึงเวลาจะทำได้จริงแค่ไหนนั่นแหละปัญหา บางคู่กลายเป็นว่ามาอยู่ด้วยกันแล้ว งานบ้านไม่ขยับ ค่าใช้จ่ายไม่เคยถูกแชร์ ยกหน้าที่เลี้ยงลูกให้คนเป็นแม่เท่านั้น แม้กระทั่งในยามฉุกเฉินก็ไม่สามารถฝากลูกไว้กับเขาได้เลย อีกสารพัดปัญหาที่เพิ่งมาพบเจอในวันที่เราต้องแชร์ชีวิตด้วยกันไปแล้ว
การช่วยกันจัดการภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นมาในตอนที่ใช้ชีวิตด้วยกันก็เป็นอีกเรื่องสำคัญ งานวิจัยจาก Harvard Business School ชี้ให้เห็นว่า คู่แต่งงานกว่า 25% ตัดสินใจจบความสัมพันธ์กันด้วยเรื่องของการแบ่งหน้าที่ในงานบ้าน และความเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องงานบ้านนี้ เป็นเหตุผลที่สูงเป็นอันดับ 3 ในการหย่าร้างเลยทีเดียว
ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ ออกจะเป็นเรื่องที่คู่รักหลายคู่ได้เจอเหมือนด่านบังคับในความสัมพันธ์ ลองเดินขยับถอยหลังออกมาแล้วมองกลับไป คนรักของเราที่ไม่อาจช่วยเราแบ่งเบาภาระอะไรได้คนนี้ คนที่เคยเป็นคนรักที่แสนดีของเรามาตลอด เขาเปลี่ยนไปจนเราคาดไม่ถึงหรือเปล่า?
แม้จะฟังดูคลิเช่ แต่เรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องของนิสัยที่เปลี่ยนไป แต่เป็นเพราะเขาได้เป็นตัวเองมากขึ้นต่างหาก พอมาอยู่ในความสัมพันธ์ที่ได้แชร์ชีวิตกันมากขึ้น เราได้เห็นเขาในหลายแง่มุมมากกว่าแต่ก่อน ที่อาจเห็นแต่ด้านดีๆ ที่หยิบยื่นให้กันเท่านั้น ความคาดหวังที่เราเคยมีว่า คนแสนดีที่เราเคยเห็น จะต้องดีในเรื่องอื่นๆ ด้วยสิ พอมันไม่เป็นอย่างที่คิดแล้วก็เกิดทางแยกในใจขึ้นมา จะบอกเขาให้ร่วมด้วยช่วยกันยังไงให้เราไม่ดูเป็นคนเรื่องมาก แต่ถ้ามัวรอให้เขารู้เองว่าควรช่วยหยิบจับนั่นนี่บ้าง เขาจะรู้กี่โมงกัน
เราลองมาฟังคำแนะนำจาก ‘มะเฟือง—เรืองริน อักษรานุเคราะห์’ นักจิตบำบัด และโฮสต์รายการ Life Cry Sis ในปัญหาเรื่องความคาดหวังไม่ตรงกับที่หวังนี้กัน
พอถามถึงเรื่องความคาดหวังที่มันไม่ตรงกับความจริง แน่นอนว่าคำตอบของคุณมะเฟืองก็บอกว่าปัญหานี้มันช่างเบสิก เป็นเรื่องที่ทุกคู่ต้องได้เจอสักครั้ง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ นั้นไม่ใช่แค่เรื่องของความคาดหวัง แต่เป็นความปากหนักที่ทำให้เราเลือกที่จะไม่บอกเล่าปัญหาในใจ เช่นเดียวกับปัญหาในเรื่องของการแบ่งเบาภาระ หากเราคาดหวังให้เขายื่นมือมาช่วยเหลือเราในเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เรากลับไม่เคยเอ่ยปากขอความช่วยเหลือออกไป เพราะคิดว่ามันเป็นคอมมอนเซนส์ ต้องรู้สิว่าเรื่องไหนควรช่วยกัน พอเขาไม่ได้รู้ตัวทันท่วงทีว่าจังหวะนี้ต้องทำอะไร กลายเป็นเราเองที่ต้องโดนความผิดหวังกัดกินใจไปเรื่อยๆ
คุณมะเฟืองเล่าเสริมถึงสาเหตุในเรื่องนี้อีกว่า “ในโลกแห่งความรักโรแมนติก มักจะมีความเชื่อที่จริงๆ เป็นความเชื่อที่ผิดว่า ถ้าเรารักกันจริง เราจะอ่านใจกันถูก รู้ว่าอีกคนต้องการอะไรโดยไม่ต้องพูด หลายคนเลยเลือกที่จะไม่พูดเพราะว่ามันทำลายความโรแมนติกของความรัก พอต้องพูดออกไปเหมือนอีกฝ่ายไม่ได้ทำด้วยความตั้งใจ สิ่งนี้จึงเป็นอย่างแรกที่เราควรเอาออกไป”
เขาขี้เกียจสินะ ถึงไม่อยากช่วย ไม่อยากสละเวลาส่วนตัวมาทำล่ะสิ หรือแม้แต่รักกันน้อยลงแล้ว อาจกลายมาเป็นเหตุผลร้อยแปดที่วิ่งผ่านควาคิดของเราในวันที่เขาไม่ทำอะไรอย่างที่เราคาดหวัง แล้วเราจะเลือกยอมเป็นคนเรื่องมาก บอกให้เขาทำนั่นนี่ หรือรอให้เขาคิดได้ว่าควรทำอะไรดี?
เมื่อถามถึงทางออกของเรื่อง คุณมะเฟืองแนะนำว่า “การพูดอะไรตรงๆ มันช่วยในความสัมพันธ์ได้มาก ต่างคนต่างมีความคาดหวัง ความเชื่อ ความต้องการที่ต่างกัน อย่าคิดว่าคอมมอนเซนส์ของเราจะเหมือนของคนอื่นเสมอไป อย่ารีบตั้งแง่ คิดในแง่ร้ายกับอีกฝ่าย เพราะถ้าเราทำจนชิน การเปิดใจรับฟังอีกฝ่ายจะเป็นเรื่องยาก เขาอาจไม่ได้ตั้งใจทำร้ายเราอย่างที่เราคิด หากเราเอาแต่รอว่าเมื่อไหร่จะคิดได้ บางทีเขาก็อาจจะไม่คิดเลยก็ได้ เพราะเขาโตมาคนละแบบกัน”
แบ่งแล้วแต่ไม่เบา ภาระเลยตกที่เราคนเดียว
มันจะไม่รู้เลยเหรอว่าการทิ้งเสื้อผ้าไปทั่ว มันทำให้บ้านรกขนาดไหน เป็นเด็กน้อยไม่ประสีประสาหรือยังไงถึงหยิบลงตะกร้าไม่ได้ ไม่รู้เลยเหรอว่ากินอาหารคนอื่นจนไม่เหลือ มันทำให้น่าหงุดหงิดขนาดไหน ไม่รู้เลยเหรอว่าค่าใช้จ่ายในบ้านต่อเดือนมากแค่ไหน
ใช่ เราอาจต้องยอมรับว่า บางคนอาจไม่รู้จริงๆ หลายคนเคยชินกับการเลี้ยงดูในแบบที่ครอบครัวเขาฟูมฟักขึ้นมา โดยไม่รู้เลยว่าพฤติกรรมเหล่านั้นมันเบียดเบียน เอาเปรียบ สร้างความลำบากใจให้คนอื่นขนาดไหน คุณมะเฟืองจึงแนะนำเป็นการบอกเล่าความต้องการของเราไปตรงๆ ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้นมันคือปัญหา สำหรับการเอามาใช้ในชีวิตตรงกลางของความสัมพันธ์ เพื่อพูดคุยถึงหนทางแก้ไขหรือทางออกร่วมกัน
วิธีการพูดคุยที่ว่านั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของการจดมาเป็นข้อๆ ให้อีกฝ่ายติ๊กถูกในช่องเหมือนแบบฝึกหัด แต่เป็นการเปิดใจถึงความคาดหวังของแต่ละคน ว่าสิ่งที่คิดไว้น่ะ อยากให้อีกฝ่ายทำอะไรมากน้อยแค่ไหน รวมถึงรับฟังด้วยว่าอีกฝ่ายเต็มใจจะทำให้แค่ไหน เหตุผลเพราะอะไร คุณมะเฟืองเรียกสิ่งนี้ว่า ‘Relationship Check-In’ ที่ให้คู่รักเปิดใจพูดถึงความต้องการของตัวเอง ว่าสิ่งที่ทำอยู่หนักเกินไปไหม ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องไหนหรือเปล่า ฝ่ายหนึ่งอาจรับผิดชอบงานบ้านที่มากเกินไป อีกฝ่ายก็เหน็ดเหนื่อยกับงานประจำเช่นกัน งั้นทางออกของเรื่องจะเป็นการหาแม่บ้านมาช่วยไหม หรือจะเป็นการแบ่งงานในแต่ละวัน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ต่างฝ่ายต่างได้รับรู้ความต้องการของกันและกันโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันที่ทนไม่ไหวจนต้องระเบิดออกมา
พอได้เปิดใจคุยกันแล้ว หากต่างฝ่ายเข้าใจกันและจบปัญหาอย่างบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น คงเป็นทางลงที่ทุกคนฝันหา แต่ในความเป็นจริงเราจะเจอเรื่องปวดหัวอีกร้อยแปด อย่างการแกล้งทำงานบ้านได้ไม่ดี ทำนู่นนี่ไม่เป็น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องถูกร้องขอให้มาช่วยทำอีก หรือแม้แต่การพูดออกมาแบบดื้อๆ ว่า ไม่อยากทำและจะไม่ทำ แม้จะฟังแล้วชวนกำหมัดไม่น้อย แต่อะไรเหล่านี้เกิดขึ้นกับหลายคู่มาแล้ว
เราจึงถามคุณมะเฟืองว่า ถ้าหากเจอไม้นี้เข้าไป เราจะรับมือยังไงได้ “ยืนยันความต้องการของเราเองเอาไว้ ถ้าเราไม่อยากทำ เขาไม่อยากทำ งั้นก็คุยกันว่าทางออกจะเป็นอะไร” หากเรารู้แล้วว่าสิ่งนี้เรายอมไม่ได้ ทำต่อไปไม่ไหว เราเองก็ต้องยืนยันความต้องการให้หนักแน่นเช่นกัน การยอมๆ ทำไปก่อน ไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว มีแต่จะสุมไฟให้ความโกรธของเราปะทุขึ้นมาได้เร็วขึ้น โดยคุณมะเฟืองปิดท้ายไว้ว่า
“ในทุกความสัมพันธ์ไม่มีใครได้ทุกอย่างหรือเสียทุกอย่าง ยิ่งความสัมพันธ์ที่แข็งแรง ยิ่งต้องรู้จักเสียสละ ประนีประนอม ดังนั้นคุยกันเถอะว่าอะไรที่ยอมได้ อะไรไม่ได้จริงๆ อันไหนต้องการความช่วยเหลือ”
เราเข้าใจดีว่าความหนักอึ้งจากการแบกรับหน้าที่ใดเพียงคนเดียว ไม่ได้สร้างแค่ความเหนื่อยกายจนหมดเรี่ยวแรง แต่ยังทำให้เรารู้สึกว่าเรากำลังถูกทิ้งไว้ให้จัดการเรื่องนี้เพียงลำพัง เราคาดหวังว่าคนที่เอ่ยปากว่ารักเราหนักหนา จะมองเห็นและยื่นมือมาช่วยเราได้ทันใจ โดยไม่ต้องร้องขอ
หากจนแล้วจนรอดเรื่องนี้ก็ยังไม่มีทางออกอยู่ดี คุณมะเฟืองก็แนะนำว่า เราเองก็มีสิทธิ์ที่จะพิจารณาว่าเราควรไปต่อในความสัมพันธ์นี้หรือเปล่า เมื่อมอบความรักให้เขาด้วยความเข้าอกเข้าใจถึงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักไปแล้ว อย่าลืมมอบความรักให้ตัวเองด้วยทางที่ดีกับใจเราเองเหมือนกัน แม้มันจะเป็นทางที่ต้องจบความสัมพันธ์นั้นลง ขอให้มันจบลงในวันที่เราไม่ทำร้ายกันไปมากกว่านี้
เป็นเราเองเช่นกันที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเราให้สิ่งไหนเป็นสิ่งสำคัญในความสัมพันธ์ หากพฤติกรรมเหล่านี้มันอยู่ในขั้นที่ทนไม่ได้ เพราะเราให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มากกว่าเรื่องอื่น จนรู้สึกว่าข้อดีอื่นของเขาไม่สามารถมาชดเชยหรือทำให้หายเหนื่อยได้ เราก็มีสิทธิ์เลือกทางเดินให้ความสัมพันธ์นี้
อ้างอิงจาก