ราว 5 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นประเด็นใหญ่ของมนุษยชาติ นักวิทยาศาสตร์หลายคนออกโรงเตือนว่า เวลาของมนุษย์บนโลกนี้เหลือไม่มากแล้ว หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นกว่านี้จะแย่
ดังนั้น ความพยายามครั้งสำคัญจึงเกิดขึ้นผ่านการตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการของทั่วโลกในการลดภาวะโลกร้อนและชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง เมื่อ ค.ศ.2016 ผู้นำโลกได้ตกลงความ ‘ตกลงปารีส’ (Paris Agreement) โดยมีเป้าหมายรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิในช่วงก่อนยุคการพัฒนาอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดให้อุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่านั้นประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส
ขณะที่ 2–3 วัน ที่ผ่านมา ประเด็นโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศโลก เป็นเรื่องที่ผู้นำโลกพูดถึงกันหนักขึ้นอีกครั้ง ทั้งเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่เพิ่งจบไปเมื่อปลายตุลาคมที่ผ่านมา และแน่นอนว่า ในการประชุม COP26 (UN Climate Change Conference) ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งมีผู้นำกว่า 190 ประเทศมาหารือเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งพูดกันว่าเป็นการประชุม ‘โอกาสสุดท้ายที่ดีที่สุด’ ของมนุษยชาติ ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมก่อนจะสายเกินไป
โลกร้อนไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แน่นอนว่ารัฐบาลจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย แต่ภาคอุตสาหกรรมผลิต และอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็เป็นส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ระดับสูง มาตั้งแต่โลกเราเปลี่ยนผ่านสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ดังนั้นในยุคสมัยปัจจุบัน นอกจากกฎหมายที่กำกับว่าเอกชนทำหรือทำอะไรไม่ได้บ้าง เพื่อไม่ให้การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศแย่ไปมากกว่านี้ แรงกดดันเชิงสังคม ก็ทำให้บรรดาเอกชนต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ดำเนินธุรกิจมุ่งเน้นลดการปล่อย CO2 มากขึ้นเช่นกัน
เพราะการลดการปล่อย CO2 คือภาพลักษณ์หน้าตาของบริษัทไปแล้วในยุคปัจจุบัน
ในขณะที่ทั่วโลกรอคอยว่าน่าจะมีมาตรการใหม่ออกมาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกให้ได้มากขึ้นจาก COP26 เรามาดูกันดีกว่าว่า บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกในเร็วๆ นี้ เขามีนโยบาย หรือจุดมุ่งหมายสำคัญอะไรบ้างในการต่อสู้กับวิกฤตินี้ ซึ่งหลายบริษัทเองก็ให้คำมั่นสัญญายกระดับแล้วว่า จะจริงจังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น
Apple : ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ค่ายสมาร์ทโฟน IOS ดำเนินการเปลี่ยนกระบวนการผลิต ให้ใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตสินค้า แถมมีนโยบายไม่แถมหูฟัง+สายชาร์จ โดยบอกว่าเพื่อลดการผลิตด้วย (แต่ลูกค้าบ่นกันระนาว)
ขณะที่การเคลื่อนไหวสำคัญเมื่อช่วงกลางปี คือ การที่ Apple ได้ลงทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการตั้งกองทุน ‘Restore Fund’ ที่จะลงทุนด้านโครงการป่าไม้เพื่อขจัด CO2 ในชั้นบรรยากาศ และสนับสนุนการปลูกป่าอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายที่จะกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ล้านเมตริกตันในแต่ละปี โดยความทะเยอทะยานมากกว่านั้น คือ ต้องการจะโชว์ว่า พวกเขาสามารถทำกำไรได้จากการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม เพราะพวกเขาจะสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนจากสิ่งนี้ด้วย
Microsoft : เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีความทะเยอทะยานเป็นเจ้าแรกๆ ที่ออกมาประกาศว่าจะลดการปล่อย CO2 ให้เป็น 0 ให้ได้ โดยเป้าหมายล่าสุด คือ ในอีก 4 ปีข้างหน้า บริษัทจะเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด จะปล่อยคาร์บอนเป็นลบภายให้ได้ใน ค.ศ.2030 และจะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2050 โดยการดำเนินการสำคัญ คือการเพิ่มค่าธรรมเนียมคาร์บอนในองค์กรของตัวเอง (เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2012) พร้อมทั้งมีแผนการจะตั้งกองทุนนวัตกรรมด้านสภาพอากาศ มูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลด แยก และกำจัดคาร์บอนออกจากสภาพแวดล้อม
Amazon : ตั้งเป้าหมายปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายใน ปี ค.ศ.2040 โดยความตั้งใจของ เจฟฟ์ เบซอส คือการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วย อย่างล่าสุดพวกเขาลงทุนใน ‘Resilient Power’ สตาร์ทอัพเครื่องชาร์จไฟฟ้ารถยนต์ ที่เป็นเครื่องชาร์จขนาดเล็ก แต่ชาร์จเร็วกว่าเครื่องรุ่นปัจจุบันถึง 10 เท่า และ ‘CMC Matchinery’ เจ้าของเทคโนโลยีการบรรจุหีบห่อ ที่สามารถทำขนาดกล่องให้พอดีกับขนาดสินค้าแต่ละชิ้น เพื่อเป้าหมายการลดใช้พลาสติกกันกระแทกและหีบห่อ ซึ่ง Amazon ถูกโจมตีเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย
และถ้าย้อนกลับไประยะสองปีที่ผ่านมา ยักษ์อี-คอมเมิร์ซทุ่มลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย เป็นก้าวต่อเนื่อง รวมๆ หลักแสนล้านบาท และกลางปีที่แล้ว ก็จัดตั้งกองทุน ‘Climate Pledge Fund’ มูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เตรียมลงทุนให้กับสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีช่วยลดปัญหาโลกร้อนเป็นหลัก ขณะที่สองปีก่อนหน้านี้ มีการสั่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 1 แสนคันจาก Rivian Automotive (คาดว่าจะได้ใช้ใน ค.ศ.2024) เพื่อเอามาใช้ในบริษัทและการจัดส่งสินค้า
Meta (หรือ Facebook) : สำหรับแผนลดโลกร้อนของค่ายโซเชียลมีเดีย คื อเมื่อต้นตุลาคมที่ผ่านมา เฟซบุ๊กตั้งเป้าหมายใหม่ว่าในปี ค.ศ.2030 จะต้องปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ ไม่ใช่เพียงแค่การดำเนินการ แค่เป็น value chain ทั้งหมด ขณะที่ตอนนี้ เฟซบุ๊กประกาศว่าการดำเนินงานทั่วโลกใช้พลังงานหมุนเวียน 100%
ล่าสุด Facebook ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Meta ซึ่งให้เป็นบริษัทแม่ในการครอบคลุมกิจการทั้งหมดในเครือ และจะเดินหน้าสร้าง Metaverse หรือโลกเสมือนในออนไลน์ ที่ใช้เทคโนโลยี VR/AR ให้คนได้พบปะกันแม้อยู่คนละที่ซึ่ง มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ได้เผยถึงความฝันของเขาในการแถลงเปลี่ยนชื่อบริษัทไว้ด้วยว่า ในอนาคตหากทุกคนสามารถปรากฏกายมาเจอกันในลักษณะโฮโลแกรมได้อย่างทันที ไม่ต้องเคลื่อนย้ายตัวไปเองไหน นอกจากจะช่วยเปิดโอกาสให้ได้ใช้เวลาคุ้มค่ามากขึ้นแล้ว ที่สำคัญคือเมื่อไม่ต้องเดินทาง ก็จะช่วยลดการสร้างคาร์บอนฟุตปรินต์ไปด้วยในตัว
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือสรุปสิ่งที่บริษัทเทคโนโลยีเอกชนยักษ์ใหญ่ทำและจะทำ ส่วนสิ่งสำคัญที่เราจะต้องจับตาเร็วๆ นี้ คือเมื่อสิ้นสุดการประชุม COP26 ผู้นำเกือบ 200 คนจะมีมติอะไรใหม่ออกมาเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนเข้มข้นมากขึ้น ก่อนที่อะไรจะสายเกินไป
อ้างอิงข้อมูลจาก