หลายคนอาจบอกว่า—ปีนี้ฝนดูเหมือนจะตกมาก หนัก และนานยาวกว่าปกติ ตกแต่ละครั้งไม่ธรรมดาเอาเลย เพราะมักจะกินเวลาเป็นชั่วโมงๆ หรือบางคราวตกข้ามคืนก็มี
ถ้าฝนตกอย่างเดียวคงไม่กระไรนัก แต่ผลลัพธ์ที่ตามมากับฝนนั้นเหมือนปฏิกิริยาลูกโซ่ เพราะมันก่อให้เกิดอะไรได้หลายอย่างมาก อย่างแรกสุดก็คือ ‘น้ำท่วมรุนแรง’ ที่ไม่ได้ทำให้เกิดแค่น้ำเชี่ยวไหลกรากเอ่อล้นเท่านั้น น้ำที่ตกบนที่สูง ทำให้เกิดสภาวะดินโคลนถล่มลงมาทับถมเมืองหรือหมู่บ้าน คร่าชีวิตมนุษย์ไปได้เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ หลังน้ำท่วมรุนแรง มักจะทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ผู้คนจึงขาดแคลนอาหารเป็นเวลายาวนานได้ด้วย
ดังนั้น สภาวะ ‘ฟ้าหลังฝน’ จึงอาจไม่น่าพิสมัยหรือมีสายรุ้งขึ้นมาปลอบประโลมเราเสมอไป
มันอาจร้ายกาจเอามากๆ ก็ได้
เดิมที หลายคนอาจคิดว่าน้ำท่วมรุนแรงเกิดในพื้นที่ชนบทมากกว่าเมือง เพราะพื้นที่ชนบทไม่ได้มีการออกแบบให้เกิดความปลอดภัยหรือมีเทคโนโลยีการออกแบบมากเท่าเมือง จึงเกิดอาการดินถล่มหรือ ‘แผ่นดินไหล’ ได้ง่ายกว่า
ภาพหนึ่งที่หลายคนอาจนึกถึง ก็คือเหตุการณ์ในปากีสถานที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในชนบท เพราะน้ำท่วมรุนแรงในปากีสถานนั้นกินพื้นที่มากถึงราวหนึ่งในสามของทั้งประเทศ ส่งผลกระทบกับประชากรมากถึง 33 ล้านคน
ที่จริงแล้ว น้ำท่วมรุนแรงในปากีสถานไม่ได้เกิดเฉพาะในชนบทเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับพื้นที่เมืองด้วย แม้ในหลายเมืองไม่ได้เกิดภาวะดินถล่ม แต่ก็ยังมีผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อยเนื่องจากความเชี่ยวกรากของกระแสน้ำและสาเหตุอื่นๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งหลายคนก็อาจคิดว่า เมืองของปากีสถานไม่ได้มีเทคโนโลยีมากมายนัก ดังนั้นน้ำจึงท่วมรุนแรงได้ง่าย แต่ก็ต้องบอกคุณด้วยว่า ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อีกเมืองหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองทันสมัยมีเทคโนโลยีสูงล้ำ และได้รับการออกแบบเมืองอย่างพิถีพิถัน—ก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงเช่นเดียวกัน
เมืองที่ว่าก็คือกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้นั่นเอง
น้ำท่วมที่โซลนั้นส่งผลต่อย่านกังนัมโดยตรง เป็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 9 คน เราคงเห็นภาพน้ำท่วมไหลลงไปในรถไฟใต้ดิน ซึ่งเป็นภาพที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากมีเทคโนโลยีป้องกันอยู่แล้ว ดังนั้น การเกิดภาพแบบนี้ขึ้นจึง ‘บอก’ อะไรเราหลายอย่างเหลือเกิน
สำหรับกรุงเทพฯ แม้จะยังไม่ได้เกิดอุทกภัยรุนแรง แต่หลายคนก็เป็นกังวลกับฝนที่ดูเหมือนจะ ‘ตกมากเกินปุยมุ้ย’ อยู่ไม่น้อย หลายคนเป็นห่วงว่า อุทกภัยในระดับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2554 จะกลับมาซ้ำรอยอีกหรือเปล่า แต่ที่จริงแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าก็คือ ‘เทคโนโลยี’ ที่เรามีอยู่ในปัจจุบันเพื่อป้องกันเมืองจากภัยธรรมชาตินั้น เอาเข้าจริงแล้วมัน ‘เพียงพอ’ หรือเปล่า
ถ้าเราย้อนกลับไปดูกรุงโซลของเกาหลีใต้ เราจะพบว่ามหานครแห่งนี้ ‘เข้มข้น’ อย่างมากในหลายเรื่อง ทั้งประชากรที่หนาแน่น การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเมือง รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายขนส่งมวลชนใต้ดินที่ซับซ้อน ดังนั้น กรุงโซลจึงเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันน้ำท่วมอย่างมาก
กรุงโซลเคยมีน้ำท่วมใหญ่มาแล้วครั้งหนึ่งในปี ค.ศ.2011 เกิดจากทั้งฝนตกหนักและมีการระบายน้ำที่ไม่เหมาะสม จึงมีการวิเคราะห์เพื่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมขึ้นมาอย่างละเอียดลออ เขาพบว่า ในกรุงโซลนั้น เคยมีการออกแบบถนนที่ไม่สามารถตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ มีการใช้งานที่ดินที่เปราะบางและเสี่ยง เช่นการทำอาร์เขตใต้ดินที่ลดหลั่นลงไป ทั้งยังมีระบบเตือนภัยที่น้อยเกินไป ไม่เพียงพอจะเตือนคนหากเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันขึ้นมา รวมไปถึงการจัดการสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ยังไม่ดีพอ ไล่ไปจนถึงระบบการเก็บกักน้ำที่ยังย่ำแย่ และการกู้ภัยต่างๆ ด้วย
นั่นทำให้กรุงโซลและเมืองต่างๆ ในเกาหลีใต้ มีการออกแบระบบต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณฝนให้ดีขึ้น โดยปรับปรุงการจัดการด้านหายนภัยไปจนถึงระดับฐานราก เรียกว่ามีการบูรณาการกันทุกระบบ ไล่ไปจนถึงการให้ความรู้กับสังคมโดยรวมด้วย
แต่แล้วในปี ค.ศ.2022 เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดี
มีรายงานของ Japan Times บอกว่าในช่วงเวลาแค่ไม่กี่สัปดาห์ (คือในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา) โลกต้องพบเผชิญกับน้ำท่วมในระดับที่เรียกว่า deadly floods ต่อเนื่องกันหลายครั้งทั่วโลก ที่ปากีสถานนั้นร้ายแรงที่สุด แต่ที่อื่นๆ ก็เสียหายไม่น้อยเหมือนกัน
รายงานนี้ชวนเราตั้งคำถามสำคัญด้วยว่า แม้เป็นเมืองในประเทศที่มีเทคโนโลยีสูง (เช่นกรุงโซล) ก็ยังเกิดภาวะน้ำท่วมรุนแรงขึ้นมาได้เพราะปริมาณฝนนั้น ‘มากผิดปกติ’ จึงชวนให้สงสัยว่า หรือ ‘เทคโนโลยี’ ที่เรามี และเคยเป็นเทคโนโลยีที่ใช้การได้ในอันที่จะป้องกันอุทกภัย (หรือภัยอื่นๆ) นั้น มันอาจ ‘ล้าสมัย’ ไปแล้ว เมื่อต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น
มีคนเคยตั้งคำถามคล้ายๆ กันนี้ แต่เป็นคำถามที่ใหญ่หลวงเข้าไปอีก—ว่า, เป็นไปได้ไหมว่า เทคโนโลยีที่เราเคยมีมาทั้งหมด มันคือเทคโนโลยีที่พ้นสมัยไปแล้ว เพราะโลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่ ‘ยุคใหม่’ ที่เรียกว่าแอนโธรพอซีน หรือ Anthropocene (บางที่แปลว่า ‘มนุษยสมัย’)
ที่จริงแล้วยังไม่มีใครกำหนดหยั่งรู้ได้หรอกว่ายุคแอนโธรพอซีนมันเริ่มต้นขึ้นแล้วหรือยัง หรือว่าจะเริ่มต้นวันไหน เพราะยังถือว่ายุคปัจจุบันของเราคือยุคโฮโลซีน (Holocene) ที่กินเวลามาแล้วหมื่นกว่าปีอยู่ แต่เพราะ ‘การกระทำ’ ของมนุษย์ เช่นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และอื่นๆ ได้ส่งผลกระทบขนาดใหญ่หลวง ใหญ่โตมโหฬารจนโลกอาจต้อง ‘เปลี่ยนยุค’ ซึ่งหมายถึงมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่างๆ ขนานใหญ่ ซึ่งจะส่งผลย้อนกลับมาถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงในที่สุด และเมื่อการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากมนุษย์ จึงมีผู้เรียกยุคใหม่นี้ว่า แอนโธรพอซีน หรือยุคที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์
อาจยังเร็วไปที่จะบอกว่าสภาวะฝนตกมากเกินไปเหล่านี้คือสัญญาณบ่งบอก ว่าเรากำลังเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคแอนโธรพอซีน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ก็คือคนกลุ่มใหม่ในโลก
คนกลุ่มนี้เป็น ‘คลื่น’ แห่งมนุษย์ลูกแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโดยตรง เรียกว่าเป็น environmental migrant หรือ climate migrant หรือ ‘ผู้ลี้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมหรือสภาพอากาศ’
นิยามของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ ก็คือผู้คนที่ถูกบีบให้ต้องทิ้งถิ่นเกิดของตัวเองไปอยู่ที่อื่น ไม่ว่าเหตุนั้นจะเกิดขึ้นแบบฉับพลันทันทีหรือเป็นการเปลี่ยนแปลงระยะยาวที่ค่อยๆ สั่งสมขึ้นมาก็ตามที เหตุการณ์เหล่านั้นอาจเป็นภาวะแห้งแล้ง การกลายเป็นทะเลทราย (อย่างที่เรียกว่า desertification ) ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น หรือมีการเปลี่ยนรูปแบบของภูมิอากาศ (เช่น ฝนตกหนักมากขึ้นเรื่อยๆ หรือระบบมรสุมเปลี่ยนแปลง) ส่งผลให้ ‘บ้านเกิด’ ไม่เหมาะที่จะอยู่ต่อไปได้อีกแล้ว
แม้ในกฎหมายระหว่างประเทศ จะยังไม่ได้มีการพูดถึงมาตรฐานว่าใครเป็นผู้ลี้ภัยเนื่องจากสภาพแวดล้อมหรือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยน แต่ในปี ค.ศ.2020 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ก็ได้ประกาศว่า คนที่จำเป็นต้องหนีออกจากถิ่นฐานบ้านเกิดด้วยเหตุนี้ จะต้องไม่ถูกบังคับให้ประเทศปลายทางส่งตัวกลับบ้านเกิด ซึ่งก็ก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในแง่ของความยุติธรรม ที่เรียกว่า climate justice
เมื่อก่อน เราอาจคุ้นเคยดีกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองหรือผู้ลี้ภัยสงคราม แต่ประมาณกันว่า ภายในปี ค.ศ.2050 เราจะได้เห็นผู้ลี้ภัยสภาพแวดล้อมเปลี่ยนเหล่านี้มากถึงราว 150-200 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งไม่ใช่คนจำนวนน้อยๆ เลย
เมื่อนั่งมองการวางแผน วิสัยทัศน์ และการเตรียมตัวรับมือเรื่องราวเหล่านี้ของภาครัฐ พร้อมกับนั่งมองสายฝนที่ตก ‘หนักเกินปุยมุ้ย’ ในวันนี้ บางทีเราอาจต้องลองถามตัวเองให้บ่อยหนขึ้น ว่าในวันพรุ่งนี้ เราจะกลายเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยสภาพอากาศเปลี่ยนไปกับเขาด้วยหรือเปล่า
เพราะถ้าไม่มีการเตรียมพร้อม—สภาวะแบบนั้นก็เกิดขึ้นได้ไม่ยากนักหรอก
Illustration by Kodchakorn Thammachart