‘นรกที่มนุษย์ไม่เคยรู้จัก’ คือคำจัดความที่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล นามว่า ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ให้ไว้กับปรากฏการณ์ที่เรียกรวมๆ กันว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change
ปฏิเสธไม่ได้ว่า climate change ได้กลายมาเป็นประเด็นที่ใหญ่อันดับต้นๆ และกำลังเรียกร้องความสนใจเหนือสิ่งอื่นใดในระดับโลก เหล่านักวิทยาศาสตร์ หรือกระทั่งผู้แทนพิเศษสหประชาชาติ (UN) ต่างออกมาประสานเสียงตอกย้ำว่า climate change คือ ‘ภัยที่ร้ายแรงที่สุด’ ที่โลกเคยเผชิญ
ภัยพิบัติระดับโลก ที่ตอนนี้ อันโตนิโอ กูแตร์เรส (António Guterres) เลขาธิการ UN ยกระดับเรียกว่า ภาวะโลกเดือด (global boiling) กำลังส่งผลกระทบไม่เพียงกับธรรมชาติและสัตว์ป่า แต่เป็นที่รู้สึกแล้วสำหรับคนทั่วไป โดยเฉพาะคนที่มีฐานะระดับกลางถึงล่างที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด
‘โลกเดือด’ ยังสะท้อนให้เห็นถึง ‘ทะเลเดือด’ ผลลัพธ์ของมันหนีไม่พ้นปะการังฟอกขาวถ้วนหน้า หญ้าทะเลและสัตว์น้ำที่หายไป อุณหภูมิน้ำพุ่งสูง และอีกหลายๆ ปรากฏการณ์
แน่นอน – ปฏิเสธไม่ได้อีกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่อยู่กับเรามาหลายสิบปี “เราอยู่ในหายนะแล้ว” ธรณ์บอกกับเรา
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ความหวังของโลกดูริบหรี่ เราทำอะไรต่อไปได้บ้าง?
ฟังจากมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อะไรคือที่มาที่ไปของการที่เราต้องมาพูดเรื่อง climate change
จริงๆ เรื่องของ climate change เราก็คุยกันมานาน ผมจำได้ว่า ผมพูดเรื่อง climate change ครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2530 ตอนนั้นโดนอาจารย์ผมบังคับให้ไปค้นข้อมูลแล้วก็ไปพูดให้คนอื่นฟัง ก็พูดต่อกันมา 37 ปี เรียกว่า ถ้าเกิดเรื่องเกี่ยวกับทะเล ผมน่าจะเป็นคนแรกๆ ของประเทศไทย ที่พูดในเรื่องของผลกระทบของโลกร้อนที่เกิดขึ้นกับทะเล
ตอนแรกๆ จะเป็นเรื่องของการอธิบายว่า ก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นอย่างไร มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร พูดมา 20 ปี ก็เริ่มสงสัยว่า จะมาพูดเฉพาะเรื่องนี้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรทำไม มันก็น่าจะพูดเรื่องผลกระทบ ก็พยายามเน้นเรื่องผลกระทบเพิ่มขึ้น เพียงแต่ว่าในยุคนั้น คนก็ยังคงมองภาพไม่เห็น เราคิดว่า ผลกระทบจะเกิดจนคนเห็นจริงจังก็ต่อเมื่ออีกประมาณ 80 ปีข้างหน้า คนก็ไม่ได้สนใจอะไรมากมาย ก็โอเค เข้าใจ มันเกิดกับหลาน มันไม่ได้เกิดกับตัวเอง
จนมา 10 ปีให้หลัง เริ่มมีกระแส climate change เริ่มกลายเป็นภาคบังคับ แต่ก่อนมันเป็นภาครณรงค์ แต่พอหลังๆ ในต่างประเทศ เริ่มเป็นภาคบังคับ มีการออกภาษี มีการกีดกันการค้าในเรื่องของภาษีนำเข้า ภาษีคาร์บอน หรืออื่นๆ อีกมาก ต่อเนื่องมาถึงเรื่องของไฟแนนซ์ เรื่องของเศรษฐกิจ มันก็ต่อมาเรื่อยๆ คนก็เริ่มสะดุ้ง พอโดนบังคับ ประเทศไทยก็เริ่มสะดุ้ง มันก็เริ่มมีเรื่องต่างๆ ว่า หาคาร์บอนเครดิตได้อย่างไร หรืออะไรต่างๆ มีองค์กรขึ้นมารองรับ
มันต่างจากสมัยก่อนที่พูดถึงผลกระทบให้คนกลัวและช่วยกันลดโลกร้อน แต่ ณ วันนี้ พูดถึงผลกระทบให้คนกลัว แล้วก็พยายามหาทางเอาตัวเองให้รอด ซึ่งวิธีที่เอาตัวเองให้รอด มันก็คือการลดโลกร้อนโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว
ประเทศไทยได้รับผลกระทบจาก climate change อย่างไร
ปัญหาก็คือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับปานกลาง เราไม่ได้มากกว่าขนาดไหนหรอก ใน 190 กว่าประเทศนี้ เราอยู่ตรงกลางๆ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก climate change ของเราอยู่อันดับต้นๆ ด้วยเหตุผลว่า ประเทศเราอยู่ในเขตร้อน ประเทศเรา โดยเฉพาะในทะเล เรามีทะเลไม่ใหญ่มาก เราเป็นประเทศกำลังพัฒนา เราพึ่งพิงธรรมชาติค่อนข้างเยอะ
ของเรามีอยู่ 900 เกาะ แนวปะการังของเราในจังหวัดหนึ่งที่พอจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ มี 5 แห่ง ถ้าเกิดมันฟอกขาวพร้อมกัน 5 แห่ง ก็ไม่ต้องดำน้ำกันเลย จบไปเลย
เพราะฉะนั้น เมื่อธรรมชาติแปรปรวน คนที่พึ่งพาธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นระดับรากหญ้า จนถึงระดับนายทุน เจ้าของเรือไปดำน้ำ หรืออะไรต่างๆ ทุกคนล้วนแต่กระทบหมด และผลกระทบมันก็จะแผ่ขยายในเรื่องของกิจการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวนี่เห็นภาพชัดมาก มันจะกำลังขยายออกไปกระทบเรื่องอื่นๆ ต่อเนื่องเป็นทอดๆ สัตว์น้ำไม่มี ซีฟู๊ดราคาแพง รายได้จากการไปดำน้ำดูปะการังหายไป มันก็จะกระทบกันไปเรื่อยๆ
อาจารย์ใช้คำว่า ‘ทะเลเดือด’ หมายความว่าอะไร
มันก็เดือดจริงๆ เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น อุณหภูมิน้ำ ถ้าเกิดเอาในแหล่งหญ้าทะเลที่ผมวัดแล้วก็แชร์กันไป – จริงๆ แชร์กันไปเกือบทั่วโลกด้วยซ้ำ เมืองนอกก็เอาไปแชร์ – คือน้ำตื้นๆ ที่แหล่งหญ้าทะเล 40 องศาเซลเซียส ขณะที่น้ำลึก แนวปะการัง ก็จะลงไปประมาณ 34 องศาเซลเซียส ถ้าเกิดลึกขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่ง ไม่เกิน 10 เมตร ก็จะประมาณ 32.5 องศาเซลเซียส
แต่ถ้าเกิดพูดถึงอุณหภูมิเฉลี่ยทะเลก็เห็นอย่างชัดเจน อันนี้เป็นข้อมูลทั่วโลก ก็ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้น มันก็เห็นภาพชัดเจนว่า มันเป็นทะเลที่ร้อนที่สุดตั้งแต่เราเคยมีบันทึกกันมาในประวัติศาสตร์มนุษย์ อันนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว
มันเป็นคำเปรียบเปรย จะให้มันบอกว่าถึง 100 องศาเซลเซียส มันไม่มีทางหรอก มันจะเป็นไปได้ไง ไม่ต้องถึง 100 องศาเซลเซียสหรอก ถึงแค่ 40-50 องศาเซลเซียส มนุษย์ก็อยู่ไม่ได้แล้ว มันไม่มีตัวอะไรเหลืออยู่ในทะเลแล้ว และผลกระทบมันก็เกินที่จะพูดถึงได้
มันมีเหตุการณ์อะไรบ้างที่สะท้อนว่ามันคือ climate change
หญ้าทะเลเกือบ 30,000 ไร่ ที่ตรังกับกระบี่หายไปภายใน 3 ปี
หญ้าทะเลที่เกาะกระดาด ที่ดีที่สุดในภาคตะวันออก หายหมดภายใน 2 ปี
ปะการังฟอกขาวทั่วทะเลไทย อ่าวไทยตอนนี้จิ้มตรงไหนก็ฟอก ฟอกมากฟอกน้อยก็คือฟอกขาว อันดามันเองก็ขึ้นมาหลายจุดแล้ว
เอาง่ายๆ ในประสาของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลนะ เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น จะเอาอะไรมากกว่านี้ มากกว่านี้ผมก็คงไม่รู้จะทำยังไงแล้ว แค่นี้มันก็แสนสาหัส เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรากำลังพูดถึงไม่ใช่เป็นตัวอย่างที่ทำให้คนตระหนัก แต่มันเป็นเรื่องจริงที่ถ้าเกิดไม่ตระหนักก็ตามใจคุณแล้วกัน เพราะว่ามันพินาศแล้ว มันถึงโหมดใกล้พินาศแล้ว
เมื่อกี้ประชุมภาควิชา ผมยังบอกเลย สอนทำไมสัตว์ 1,000 ชนิด สอนสัตว์ 5 ชนิดที่เหลือรอดอยู่ตอนนี้ดีกว่า เพราะอีก 900 ชนิดมันได้หายไปเรียบร้อยแล้ว ผมหามันไม่เจอเลยด้วยซ้ำ
มันก็เลยกระทบหมด ไม่ว่าการเรียนการสอน การประกอบอาชีพ ทุกสิ่งทุกอย่างกระทบหมด เพราะฉะนั้น ทะเลเดือดก็คือวิบัติภัยที่เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น มีความแปรปรวนสูงมาก จนนักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่สามารถจะประเมินใดๆ ได้ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า เกิดมาก็ไม่เคยเจอ ณ วันนี้ มัน out of control หลุดจากสถิติต่างๆ ในอดีตไปเรียบร้อยแล้ว ความแปรปรวนต่างๆ เกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยพบเคยเห็น แล้วจะให้บอกยังไง
ชาวบ้านอยู่ที่ตรัง เขาบอกอยู่มาตั้งแต่ทวด เกิดมายังไม่เคยเห็นวันไหนเดือนไหนที่หญ้ามันหายไปหมด พะยูนที่ตรังน้อยที่สุดตั้งแต่เคยบันทึกมาในประวัติศาสตร์ชาติไทย
คุณต้องหลับตา คุณถึงจะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับทะเลไทย คุณต้องปิดหู ถ้าเกิดคุณยังไม่รู้อีกว่า อะไรคือทะเลเดือด
อย่างเรื่องของปะการังฟอกขาว ที่ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็สะท้อน ‘ทะเลเดือด’ ด้วยไหม
ใช่ นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียกำลังร้องไห้อยู่ตอนนี้ว่า เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) พังพินาศย่อยยับ อย่างที่เขาไม่เคยเจอมาก่อน
ปะการังฟอกขาวที่รายงาน คราวนี้คือครั้งใหญ่เป็นระดับ global coral bleaching เป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีการบันทึกกันมาเป็นร้อยๆ ปี
ครั้งที่ 3 กับครั้งที่ 4 มันเกิดขึ้นห่างกันนิดเดียวเอง มันก็ถือว่ามันเป็นอะไรที่ผลกระทบไปทั่ว ลูกศิษย์ผมที่ทำงานอยู่ที่มัลดีฟส์ก็ส่งรูปมา ให้ดูปะการังที่มัลดีฟส์ก็ขาว กำลังขาวจั๊วะเลย ที่สำคัญสุดก็คือ ไอ้ที่เป็นขาวอยู่ตอนนี้คือยังไม่พีค นี่เพิ่งเริ่ม กราฟนี่พุ่งขึ้น ถ้าเป็นอย่างนี้อีกสัก 5 วัน เราจะเข้าพีคแล้ว พีคคือขาวโพลนทั้งทะเล ตาย สุสาน คุณจะเรียกมันว่าอะไรก็ได้ นั่นคือพีค
การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่เหนือระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (pre-industrial) หมายความว่าอะไร
pre-industrial ก็หมายความว่า ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ตอนที่เรายังไม่เอาเชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้กันอย่างจริงจัง ซึ่งก็มีตั้งแต่ ค.ศ. 1850 จนถึง 1900 แล้วแต่ว่าคนจะลงไปตอนไหน เพราะตอนนั้นอุณหภูมิก็ใกล้เคียงกันมาก เวลานับ เรานับตั้งแต่ 1900 จนถึงตอนนี้ 2024 ก็คือ 124 ปี ตั้งแต่เราเริ่มนำเชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้อย่างจริงจัง ทำให้ก๊าซเรือนกระจกพุ่งขึ้นไปอย่างมาก
นั่นก็คือคำว่า pre-industrial ก็คือ 120 กว่าปี เกิดการสะสมของก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิโลกก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ตอนนี้ ถ้าเกิดถามว่าแตะ 1.5 [องศาเซลเซียส เหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม] หรือยัง แตะแล้ว ปีที่แล้วก็แตะเรียบร้อยแล้ว 1.48 องศาเซลเซียส ถ้าถามว่าแตะหรือยัง ก็แตะแล้ว 1.48 กับ 1.5 ก็แทบจะไม่ต่างกัน
แล้วตอนนี้ 1.48-1.5 องศาเซลเซียส มันส่งผลกระทบอย่างไร
สิ่งนี้มนุษย์เราเห็นอยู่ แห้งแล้ง โกโก้ ช็อกโกแลต มันกระทบไปหมด
คือคำว่า ผลกระทบอย่างไร เข้าใจสักนิดว่าเราอยู่ในโลก เราไม่ได้อยู่ที่ดาวอังคาร ถ้าเกิดโลกอุณหภูมิเปลี่ยน ทุกอย่างมันกระทบไปหมด ตั้งแต่โกโก้ที่คุณกิน เพราะว่าคุณจะไม่มีช็อกโกแลตกินอีกแล้ว เนื่องจากโกโก้ปลูกไม่ขึ้น ราคาสูงเป็นประวัติการณ์
แล้วก็ส่งผลกระทบตู้มต้ามๆ ไปทั่ว ไม่ใช่แค่คุณร้อน ค่าไฟขึ้น หรืออะไรต่างๆ กระทบไปหมด เพราะคุณอาศัยอยู่บนโลก
สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจหรืออะไร สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ โลกมันเปลี่ยน
ฝุ่นก็จะเยอะขึ้น เพราะป่าแห้งมากขึ้น ฝนก็จะตกอย่างรุนแรง กระทั่งดูไบก็น้ำท่วม โกโก้ก็จะไม่มีกิน ช็อกโกแลตก็จะไม่มีกิน ช็อกโกแลตจะราคาแพงเท่าทองคำ ปูม้าตอนนี้ก็ราคาขึ้นไม่รู้กี่เท่าแถมยังจองล่วงหน้า 2-3 วันกว่าจะได้กิน มันกระทบทุกสิ่งทุกอย่าง
ในอนาคต ก็คาดการณ์ได้ว่ามันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ไม่ต้องคาดการณ์ 1+1 เราต้องคาดการณ์หรือเปล่า ว่ามันจะเป็น 2
ก็มันเพิ่มจริง ทำไมต้องสมมติ คำว่าสมมติหรือคาดการณ์มีไว้สำหรับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิด แต่สำหรับโลกร้อน ณ ตอนนี้ ในเรื่องของก๊าซเรือนกระจก ไม่ต้องใช้คำว่าคาดการณ์ เพราะมันเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ปีที่แล้วก็มากกว่าปีก่อน [ช่วงการระบาดของ] COVID-19 ก็ลดไปแค่ 12% หนึ่งปีเท่านั้น แล้วก็พุ่งกลับมามากกว่าสมัยก่อน [การระบาดของ] COVID-19
แล้วทำไมมันต้องคาดการณ์ ในเมื่อเราเห็นอยู่ชัดๆ ว่ามันเพิ่มขึ้น ขณะที่อุณหภูมิโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างที่เห็นอยู่ชัดๆ ผลกระทบก็เห็นอยู่ชัดๆ ว่ามันเพิ่มขึ้น พายุไต้ฝุ่น หรืออะไรต่างๆ น้ำท่วมทุกอย่าง ภัยพิบัติ ก็เห็นอยู่ชัดๆ เพิ่มขึ้น จำนวนคนที่อพยพเพราะความแห้งแล้งในทวีปแอฟริกาก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นสิบๆ ล้าน และจะพุ่งไปหาร้อยล้าน ภายในไม่ช้า
เราคาดการณ์ในสิ่งที่เราคิดว่ามันอาจจะไม่เกิดหรือเกิดก็ได้ แต่ในสถานการณ์ของโลกร้อน ที่ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ – และก๊าซเรือนกระจกยิ่งมีมากเท่าไหร่โลกก็ร้อนมากขึ้นเท่านั้น – มันไม่ใช่การคาดการณ์ มันเรียกว่าใช่ แน่นอนว่าโลกจะร้อนขึ้น
แสดงว่า เรากำลังเดินเข้าสู่หายนะชัดเจน?
เราอยู่ในหายนะแล้ว ถ้าก่อน The MATTER เริ่มตั้งสัก 30 ปีที่แล้ว ผมก็จะบอกว่า เรากำลังเดินเข้าสู่หายนะ แต่ตอนนี้เราเข้าไปแล้ว ตอนนี้ถ้าเกิดเป็นบ่อโคลนดูด จมไปถึงคอแล้ว เริ่มเจ็บปวด เริ่มหายใจไม่ออกแล้ว ตอนนี้เขาเรียกตะเกียกตะกาย ไม่ใช่กำลังเดินไปแล้วกลัวว่า เฮ้ย มีบ่ออยู่ข้างหน้า อันนั้นเราคุยกันเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เราไม่ได้คุยกันนาทีนี้
ความพยายามของทั่วโลก เช่นการประชุม COP ที่เกิดขึ้นทุกปี อาจารย์คิดว่าได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร
(หัวเราะ) คือผมไม่ได้เยาะเย้ยใคร หรืออีท่าไหนนะ ตกลงกันมาตั้งแต่รีโอเดจาเนโร [การประชุม Earth Summit เมื่อปี 1992] กว่าจะตกลงได้ว่าจะออกองศามาก็ [ใน] พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ก็เริ่มคิด แล้วมาความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ตกลงกันได้ว่า 1.5 องศาเซลเซียส
แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำกันมา 10-20 ปี ในการตกลงเพื่อหาตัวเลขขึ้นมา 1 ตัวเลข ก็พินาศอย่างรวดเร็ว เพราะว่าไม่มีใครทำได้ 1.5 องศาเซลเซียส เสร็จแล้วอ้อมแอ้ม ตกลงกันใหม่ว่าเอา 2 องศาเซลเซียสก็ได้
หนังบางเรื่องมีแค่ถ้อยคำแค่ 2 ประโยคเท่านั้นเองที่อธิบายทุกสิ่งทุกอย่าง – มนุษย์ปัจจุบัน มนุษย์จะยอมแลกความสะดวกสบายในปัจจุบันกับความอยู่รอดของคนในอนาคตไหม ซึ่งทุกคนก็บอกได้ แต่พอทุกคนต้องจ่ายค่าไฟเพิ่ม อ้าว อยากเขียวเหรอ จ่ายเพิ่ม ค่าไฟเพิ่มหน่วยละ 3 บาท เอาหรือเปล่า เอาเขียวทั้งประเทศก็ได้ ถ้ายอมจ่าย ก็ไม่มีใครจ่าย ถุงพลาสติกก็เห็นอยู่ ลดขยะ ทุกคนก็เห็นด้วยหมด แต่พอเริ่มขายถุง โอ้โห กระจาย
เพราะฉะนั้น มนุษย์เราเห็นแก่ตัวครับ เราพูดอะไรก็ได้ แต่เมื่อเราพูดถึงเรื่องกระเป๋าตังค์ของเรา เราก็จะเปลี่ยนแปลงคำพูดของเราในบัดดล
ปัญหาก็คือ คุณไม่สามารถลดโลกร้อนได้ด้วยกดไลก์หรือคำพูด เหมือนกับที่เราเจรจากันมาตลอด แล้วมันก็เฟลอยู่ตลอด ก็นั่นแหละ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องโดนภาคบังคับ ซึ่งภาคบังคับถ้าเกิดมนุษย์บังคับกันเอง ก็ไม่พอ ธรรมชาติก็จะส่งเฮอร์ริเคนระดับ 6 หรือฟอกขาวทั้งโลกมาช่วยบังคับให้เราว่า เราก็ต้องพยายามให้มากขึ้น
ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ เราจะพูดกับรัฐบาลทั่วโลกอย่างไร
ไม่พูด ทั่วโลกก็เจ๊งกันไปดิ
ทำไมผมต้องไปขอร้องภาคเอกชนหรือคนที่กำลังจะเจ๊ง ว่าช่วยโลกด้วยนะ มันเป็นหน้าที่ของเขาที่เขาต้องช่วย ถ้าเกิดเขาไม่ช่วย เขาก็ตาย เพราะฉะนั้น ผมไม่เคยขอร้องใคร อยากช่วยก็ช่วย ไม่ช่วยก็ตายไป คนทั่วไปไม่อยากช่วย ก็นั่นแหละ เตรียมจ่ายค่าไฟหนักขึ้นไปเรื่อยๆ
ทำไมผมต้องไปขอร้อง โลกนี้มันของผมเหรอ ผมเป็นคนทำให้โลกมันร้อนเหรอ ถามคำ คนที่พูดมา 37 ปี ว่า ระวังนะๆ แล้วไม่มีใครเชื่อเลย ทำไมคุณต้องไปขอร้องอีก ผมก็ไม่ได้เป็นคนทำโลกร้อน ทุกคนทำ เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดทุกคนไม่ช่วย ก็ร้อนกันไป ขณะที่ผมก็มีงานมากขึ้น สู้ๆ นะ
ผมฟังดูแล้วอาจจะน่าหมั่นไส้เป็นอย่างมาก แต่การขอร้องของนักวิทยาศาสตร์ 30 กว่าปีที่ผ่านมา มันส่งผลไหม? คนรู้สึกไหม ทุกคนก็พูด ลดโลกร้อนๆ ถ้าเกิดมันรู้สึก 1.5 องศาเซลเซียสก็ควรจะสำเร็จไปตั้งแต่ความตกลงปารีส มันจะเจ๊ง มันถึงกลายเป็น 2 องศาเซลเซียส แล้วก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
ถ้าเกิดคุณไม่ช่วยตัวเอง คุณก็ตาย แล้วก็ไม่มีฮีโร่ในเรื่องโลกร้อนแน่นอน เพราะว่าไม่มีมนุษย์ไหนที่จะสามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่สะสมกันมา 124 ปี จากการกระทำของคนทั้งโลกร่วมกัน มันมีคนไหนทำอย่างนั้นได้
ณ ทุกวันนี้ คนทั่วไปต้องทำอย่างไรต่อไป
กรีดร้องแล้วก็หาทาง
เราลดวันนี้ โลกจะไม่มีวันเย็นลง มันก็จะร้อนหนักขึ้นไปเรื่อยๆ ต่อเนื่องไป 25 ปี ด้วยสิ่งที่มันสะสมกัน เขาเรียกกันว่า “Don’t look up” เพราะทุกคนพยายามจะทำกันอย่างนั้นหมด ไม่พยายามจะมองเลยว่า มีอยู่ 120 กว่าปีกองอยู่บนฟ้า โลกร้อนมันไม่ใช่ปีต่อปีนะโว้ย ก๊าซเรือนกระจก มันอยู่ 100 ปี มันไม่สูญสลายหายไปได้ภายใน 3 ปี 5 ปี
เพราะฉะนั้น ลดในวันนี้เหรอ 50 ปีข้างหน้าโลกอาจจะเริ่มเสถียร แล้วอีก 100 ปีข้างหน้าโลกอาจจะเริ่มเย็นลง แต่อยู่ให้ได้แล้วกัน ในช่วง 0-50 ปี ซึ่งช่วงนี้โลกก็จะร้อนขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลว่า ข้างบนมันหยุดไม่อยู่แล้ว มันกระชากลากเราไปเรียบร้อยแล้ว
ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ คนตัวเล็กๆ ก็ต้องลดการใช้หลอดพลาสติกต่อไปไหม
อยากลดก็ลด ผมก็ทำของผม ถึงโลกมันจะไม่ร้อน ผมก็รู้สึกว่ามันทุเรศ
มันเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำอยู่แล้ว?
ผมเป็นพวกเสรีนิยม มนุษย์ทุกคนมีความรู้ มีความเสรี ไม่ต้องให้มาบอก นั่งบอกทีละอย่างสองอย่าง บางอย่างที่มันยาก เราก็จะไปอธิบาย นักวิทยาศาสตร์ก็มีหน้าที่อย่างนั้น แต่บางอย่างง่ายๆ ว่า ทำยังไงดีให้ขยะทะเลลดลง ก็ลดขยะ มันก็จะชัดอยู่แล้ว ทำยังไงให้โลกมันร้อนน้อยลงในอีก 50-100 ปี ให้ลูกหลานมีอนาคตที่ดีขึ้น ก็ลดก๊าซเรือนกระจก ลดพลังงาน เปลี่ยนไปใช้พลังงานสีเขียว ใช้รถ EV ใช้ขนส่งสาธารณะ ทุกคนก็รู้ดีหมดแล้ว
ผมไม่อยากย้อนยุคของเรากลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ที่ต้องมานั่งคอยอธิบาย ซึ่ง ณ วันนั้นผมยินดีอธิบายเป็นอย่างยิ่ง เพราะตอนนั้นคนไม่รู้ แต่หลัง 30 ปีผ่านไป ถ้าเกิดยังพูดย้ำคิดย้ำทำอยู่ ก็แปลว่า 30 ปีที่ทำมาในเรื่องของการรณรงค์หรือบอกวิธีช่วยลดพลังงาน มันล้มเหลวหมดเลย เนื่องจากไม่มีใครตรัสรู้เลย ต้องมานั่งพูดกันในเรื่องนี้ตลอดเลย มันอย่างนั้นเหรอ ผมไม่รู้
เพราะฉะนั้น คนปัจจุบันก็เอาตัวรอดให้ได้ จงเอาตัวรอดให้ได้ สิ่งที่คุณต้องทำ – เอาตัวรอด
อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ว่า ต่อไปไม่ควรมีลูก เพราะเดี๋ยวจะได้รับผลกระทบ
ผมมีไปแล้ว ผมซวย แต่ก็ไม่เป็นไร ช่างแม่ง ผมก็ไม่ได้สนใจมากขนาดนั้น คือตัวผม ผมเอาตัวรอดอยู่แล้ว ถ้าเกิดผมสอนคนอื่นได้ ผมก็ต้องเอาตัวรอดได้ คือต้องเข้าใจนิดนึงนะ ผมจะไปสอนวิธีเอาตัวรอดจากโลกร้อน โดยที่ตัวเองยังไม่เคยทำเลย ผมทำหมดแล้ว ผมสบายใจได้
อย่างแรกสุดก็คือ คนรวยรอด น่าสงสารนะฮะ แต่ไม่ว่าจะซอมบี้บุก หรืออุกกาบาตตกใส่โลก หรืออีท่าไหนก็ตาม คนรวยรอดก่อน น่าเสียดายด้วย คำถามก็คือ มี-ไม่มี [ลูก] ก็ตามสบาย คิดเอาเอง เพียงแต่แน่นอนว่า ถ้าเกิดถามว่า ลูกหนูจะร้อนกว่าหนูไหม ใช่ ลูกหนูจะร้อนกว่าหนู ลูกหนูจะลำบากกว่าหนูไหม ถ้าเกิดเทียบการสตาร์ตเท่ากันกับหนู ใช่ ลูกหนูจะลำบากกว่าหนู ถ้าเกิดสตาร์ตในเลเวลเดียวกัน
แต่ลูกหนูจะมีโอกาสในการร่ำรวยเร็วขึ้นกว่าหนูหรือเปล่า ใช่ ลูกหนูมีโอกาส ถ้าเกิดเขาทำในสาขาที่มนุษย์โลกร้อน มนุษย์ในยุคโลกเดือดต้องการ
climate change เราจะเปรียบเทียบกับอะไรได้บ้าง เพื่อให้เห็นภาพ
เปรียบเทียบกับอะไรไม่ได้เลย
ไม่เหมือนสึนามิ สึนามิเกิดมาแล้วก็ดับไป อาจจะรุนแรงมหาศาล แต่ไม่มีใครตอบได้ว่ามันจะมาอีกเมื่อไหร่ มันก็เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า แผ่นดินไหวก็เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ภูเขาไฟระเบิดก็เหมือนกัน และทุกอย่างที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นด้วยพื้นที่จำกัด
เมื่อเทียบกับขนาดโลก โลกร้อนเป็นภัยพิบัติครั้งเดียวที่โดนหมดทั้งโลก ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ฮีตเวฟ (heat wave) อาจจะฆ่าคนในยุโรป ขณะที่ภัยแห้งแล้งอาจจะฆ่าคนไม่รู้กี่แสน ทำให้คนแอฟริกาไม่รู้กี่ล้านอพยพ แล้วก็เรื่องของประเทศไทย ทะเลอาจจะเดือดจนทำให้ผู้คนอยู่ไม่ได้ ต้องหนีเข้าเมืองใหญ่
ความน่ากลัวที่สุดก็คือ มันคือนรก ภัยพิบัติอื่นมันเรียกว่า ตกนรก แล้วก็มีคนช่วยขึ้นมา โลกร้อนเนี่ย ตกนรกชั้นหนึ่ง แล้วมองไปข้างหน้า ทางมันก็พาเราลงไปนรกชั้นสอง ชั้นสาม deep down and down and down แล้วที่สำคัญที่สุดคือ เราไม่ตรัสรู้เลยว่า นรกชั้นสองมันเป็นยังไงวะ
โลกโดนแผ่นดินไหวมาตั้งแต่สมัยไหน สมัยปอมเปอี ภูเขาไฟระเบิดอะไรพวกนั้น เราโดนมาหมด เพราะฉะนั้น เรารู้วิธี อย่างญี่ปุ่นตอนนี้หลังๆ แผ่นดินไหวต่อให้แรงเท่ากันก็แทบจะไม่มีคนเสียชีวิต เพราะเราเรียนรู้มาหมดแล้ว เราปรับตัวได้ เราวางแผนได้ สึนามิก็เหมือนกัน ภัยพิบัติต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงในโลกที่เกิดขึ้นในอดีตจนถึงปัจจุบัน เราเรียนรู้มาหมดแล้ว เราโดนมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว เราพัฒนาการรับมือและเยียวยา อพยพ เตือนภัย เราพัฒนาหมด
แต่โลกร้อนเหรอฮะ –
มนุษยชาติไม่เคยบันทึกคำว่าโลกร้อนไว้ในประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้น นั่นคือนรกที่มนุษย์ไม่เคยรู้จัก ความแปรปรวนที่มนุษย์ไม่เคยเห็น และเส้นทางอันมืดมนที่ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจะมีแสงไฟอยู่ไหม