หากพูดถึง ‘ดาวอังคาร (Mars)’ คุณจะนึกถึงอะไร? เทพเจ้าแห่งสงคราม (God of Wars) ในสมัยโรมัน ภาพยนต์ The Martians ซึ่งจำลองการใช้ชีวิตอยู่บนอาณานิคมนอกโลก หรือคุณกำลังคิดถึงเธอ คนที่อยู่ไกลแสนไกล…
แต่ไม่ว่าจะมีภาพอะไรอยู่ในหัว คืนนี้เตรียมนั่งริมหน้าต่าง และภาวนาให้ฟ้าเปิด เมฆจาง และบ้านข้างๆ รีบปิดไฟ เข้านอนได้เลย เพราะตลอดเดือนนี้ โดยเฉพาะในวันนี้ หรือ 6 ตุลาคม เวลาประมาณ 20.18 น. ของประเทศไทย จะเป็นวันที่โลกและดาวอังคารจะโคจรมาใกล้กันมากที่สุด จนอาจทำให้เราใช้ตาเปล่ามองเห็นดาวอังคารได้เลย และถ้าใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 10 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไป จะเห็นพื้นผิวดาวอังคารได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว
โดยปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ เกิดเพราะโลกโคจรห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด ขณะที่ดาวอังคารโคจรเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้ระยะห่างระหว่างสองดาวอยู่ห่างกันเพียงแค่ 62.07 ล้านกิโลเมตร
และอีกปรากฎการณ์ที่สำคัญคือ ในวันที่ 14 ตุลาคม ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์พอดี ทำให้ดาวอาทิตย์ โลก และดาวอังคารอยู่ในระนาบเดียวกัน และอาจทำให้เรามองเห็นดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืน
หลังจากนี้ ดาวอังคารจะโคจรออกห่างจากโลกมากขึ้นๆ ไปเรื่อย และจะไม่เข้ามาใกล้ในระยะขนาดนี้ จนกว่าจะถึงปี 2035 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า ที่ความห่าง 56.9 ล้านกิโลเมตร
เมื่อในปี 2018 โลกกับดาวอังคารก็โคจรมาใกล้กันที่ระยะห่าง 57.6 ล้านกิโลเมตร แต่ไม่เท่าในปี 2003 ที่ดาวทั้งสองดวงโคจรมาใกล้กันมากที่สุดในรอบ 60,000 ปี กล่าวคือห่างกันเพียง 55.7 กิโลเมตร ซึ่ง NASA ประเมินว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกจนกระทั่งปี 2287
อันที่จริง ทุกๆ 26 เดือน หรือราว 2 ปี 2 เดือน โลกและดาวอังคารก็โคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกันอยู่แล้ว ทำให้ปฏิบัติการณ์เกี่ยวกับดาวอังคารของ NASA มักจะเกิดขึ้นทุกๆ สองปี โดยขณะนี้ก็มีโครงการ Mars 2020 ที่ได้มีการส่งยานอวกาศ ที่ขนหุ่นยนต์ออกไปนอกโลก โดยคาดว่าจะถึงลงจอดที่ปล่องภูเขาไฟเจเซโล ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2021
โดยจากการคำนวณทางดาราศาสตร์ โลกและดาวอังคารสามารถอยู่ห่างกันได้มากที่สุดที่ 401 ล้านกิโลเมตร ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อดาวอังคารและโลก โคจรไปอยู่คนละฝากของดวงอาทิตย์
ใครอยากรอคอยปรากฎการณ์นี้ นอกจากต้องรีบออกจากออฟฟิศ เพื่อหนีรถติดแล้ว อาจต้องภาวนาต่อพระพิรุณ พระพราย และเทพทุกองค์เสียหน่อย เพื่อให้ฟ้าเปิด เมฆน้อย และนั่งรอริมหน้าต่างได้เลย แต่ถ้ามีกล้องดูดาวติดบ้านไว้สักหน่อยจะช่วยได้อีกเยอะเลยแหละ
ติดตามโครงการ Mars 2020 ของ NASA ได้ที่ https://mars.nasa.gov/mars2020/
อ้างอิง:
https://www.sciencealert.com/mars-is-super-close-to-earth…
https://edition.cnn.com/…/mars-close-to…/index.html
https://mars.nasa.gov/all-about…/night-sky/close-approach/
https://www.amarintv.com/news/detail/48067
#Brief #TheMATTER