มีความพยายามที่จะนำเหล่าสัตว์ที่เราเคยเห็นในรูปแบบภาพถ่ายขาวดำ ในพิพิธภัณฑ์ หรือเป็นโครงกระดูก กลับมามีชีวิตกันจริงๆ อีกครั้ง
ด้วยความก้าวหน้าทางวิศวกรรมพันธุกรรมและชีววิทยาสังเคราะห์ ทำให้การฟื้นคืนชีพของสัตว์ที่เคยสูญหายไปจากโลกนี้อาจไม่ใช่แค่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป โดยเป้าหมายอยู่ที่ภายใน 10 ปีนี้และมีเป้าหมายสูงสุดคือการฟื้นฟูสัตว์เหล่านี้ให้กลับสู่แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ
Colossal Biosciences บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ ที่อยู่เบื้องหลังแผนการฟื้นฟูแมมมอธขนปุย นกโดโด และเสือแทสเมเนียน ได้ประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ว่าได้ระดมทุนเพิ่มเติมอีก 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ตอนนี้มีเงินทุนรวมทั้งหมด 435 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 14981 ล้านบาทไทย)
“ใครบ้างที่ไม่อยากเห็นนกโดโด้ พระเจ้าช่วย อยากเห็นจริงๆ แมมมอธ ฉันหมายถึง ว้าว น่าทึ่งมาก” เมลานี ชาลเลนเจอร์ (Melanie Challenge) รองประธานร่วมของ Nuffield Council on Bioethics ในสหราชอาณาจักรกล่าว
ชาเลนเจอร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การคืนชีพเป็นคำที่อาจทำให้เข้าใจกระบวนการการทำงานผิดไปได้
“มันไม่ใช่การฟื้นคืนชีพ แต่เป็นการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อสร้างสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ที่ในทางทฤษฎีแล้ว จะสามารถทำหน้าที่แทนสิ่งมีชีวิตที่ยังคงมีอยู่ได้ คุณไม่ได้นำอะไรกลับมาจากความตาย” เธอกล่าว “และตลอดกระบวนการนี้ มีประเด็นทางจริยธรรมที่ซับซ้อนและน่าพิจารณาหลายประการ”
แต่มันจะเป็นไปได้จริงหรือเปล่า? นักวิทยาศาสตร์กำลังบุกเบิกและปรับปรุงเทคนิค 3 อย่าง คือ การโคลนนิ่ง การตัดต่อพันธุกรรม และการผสมพันธุ์แบบย้อนกลับแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการผสมพันธุ์แบบคัดเลือกที่มุ่งสร้างลักษณะที่สูญหายไปจากสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์
ขณะที่ Grazelands Rewilding ในเนเธอร์แลนด์ กำลังพยายามเพาะพันธุ์สัตว์เทียบเท่ากับ ‘ออร์กซ์’ (aurochs) สมัยใหม่ ซึ่งเป็นวัวป่าที่มีภาพปรากฏอยู่ในภาพเขียนถ้ำยุคก่อนประวัติศาสตร์ และสูญพันธุ์ไปจากโลกเมื่อศตวรรษที่ 17 เป้าหมายหลัก คือการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าในยุโรป โดยใช้วิธีการผสมพันธุ์แบบดั้งเดิมควบคู่ไปกับความรู้ทางพันธุกรรม เพื่อระบุลักษณะของออร์กซ์ในสัตว์ที่สืบเชื้อสายมาจากมัน ก็คือพวกวัวเลี้ยง
ปัจจุบันเมื่อผ่านมาถึงรุ่นที่ 7 วัวเทารัส (tauros cattle) ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งให้กับสายพันธุ์นี้ มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายคลึงกับออร์กซ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วมากกว่า 99%
นักวิทยาศาสตร์จาก Colossal ต้องการที่จะฟื้นคืนชีพแมมมอธ นกโดโด และเสือแทสเมเนียน สัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องของออสเตรเลียที่สูญพันธุ์ไปในปี 1936 พวกเขาวางแผนที่จะสร้างสัตว์เหล่านี้ขึ้นมาใหม่โดยการแก้ไขจีโนมของญาติที่มีชีวิตอยู่ใกล้เคียงที่สุดของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เพื่อสร้างสัตว์ลูกผสมที่มีลักษณะภายนอกไม่แตกต่างจากบรรพบุรุษที่สูญพันธุ์ไป สำหรับแมมมอธ นั่นก็คือช้างเอเชีย
นักลงทุนที่มีชื่อเสียงในโครงการนี้ เช่น ปารีส ฮิลตัน (Paris Hilton) นักสังคมชั้นสูง ไทเกอร์ วูดส์ (Tiger Woods) นักกอล์ฟอาชีพ รวมถึงบริษัทลงทุน เช่น Breyer Capital, TWG Global ซึ่ง
โครงการฟื้นคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยเฉพาะแมมมอธ มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างเซลล์ต้นกำเนิดที่เกิดจากการเหนี่ยวนำ (induced pluripotent stem cells – iPSCs) ได้แล้ว
เซลล์ชนิดพิเศษนี้สามารถดัดแปลงในห้องแล็บเพื่อเติบโตเป็นช้างชนิดใดก็ได้ มันจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างสัตว์ลูกผสมที่มีลักษณะคล้ายแมมมอธต่อไป
โครงการฟื้นคืนชีพเสือแทสเมเนียนก็มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถแก้ไขพันธุกรรมของสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องได้สำเร็จแล้ว ในขณะที่โครงการฟื้นคืนชีพนกโดโดยังคงมีความท้าทาย อย่างไรก็ตาม บริษัทโคโลซัลยังไม่ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยอย่างเป็นทางการมากนัก เนื่องจากเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีมากกว่าการตีพิมพ์บทความทางวิชาการ
“เพื่อให้ชัดเจน การได้สิ่งที่มีพฤติกรรม สรีรวิทยา และพันธุกรรมเหมือนแมมมอธ 100% นั้นเป็นไปไม่ได้” เบธ ชาปิโร (Beth Shapiro) หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ของ Colossal บอกกับสำนักข่าว CNN “เมื่อสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว มันก็หายไป และเราจำเป็นต้องลงทุนเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งต่างๆ จะไม่สูญพันธุ์”
โคโลซัลจึงได้ใช้เงินทุนจำนวนมากอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำงานเพื่อช่วยชีวิตสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดแรดที่ใกล้สูญพันธุ์ที่สุดในโลกหรือแรดขาวเหนือ นอกจากนั้น บริษัทยังร่วมมือกันพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันโรคที่ฆ่าช้างได้ และยังร่วมมือกับองค์กรอนุรักษ์ Re:wild เพื่อใช้เทคโนโลยีชีวภาพในโครงการของตน
โดยสรุป โครงการฟื้นคืนชีพแมมมอธของโคโลซัล มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการสร้างสัตว์ที่จะเติมเต็มระบบนิเวศขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางส่วนมองว่าเป้าหมายนี้ไม่สมจริง เพราะสภาพแวดล้อมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว นอกจากนี้ การฟื้นคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอาจประสบปัญหาในการปรับตัวและอยู่รอดในระบบนิเวศใหม่ได้
คลาร์ พาล์มเมอร์ (Clare Palmer) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม ผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมของสัตว์และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “เรายังไม่มีความรู้ที่ดีพอเกี่ยวกับความต้องการด้านสวัสดิภาพของสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น ลูกหลานของมันที่เกิดมา จะไม่ได้รับการสอนจากพ่อแม่ ว่าจะล่าสัตว์ หาอาหาร หรือเข้าสังคมกับสัตว์ตัวอื่นๆ อย่างไร
นอกจากนั้น ยังมีผู้ที่พยายามโต้แย้งว่านี่เป็นโครงการเล็กๆ ของเหล่าเศรษฐีที่ไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ซึ่งเงินของพวกเขาคงจะสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในที่อื่น
หลังจากนี้เราจึงควรติดตามต่อไปว่าโครงการเหล่านี้จะสำเร็จหรือไม่ และการพยายามนำสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วกลับมาจะมีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน
แต่สิ่งสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การพยายามรักษาสภาพแวดล้อมและสัตว์ที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบันนี้ย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก