First Jobber ยุคโควิดต้องสู้กับอะไรบ้าง? คุยเรื่องโอกาสที่เสียไปของเด็กจบใหม่กับ ‘ชิน วังแก้วหิรัญ’ ผู้ก่อตั้ง Vonder
.
ท่ามกลางความเจ็บปวดของเด็กจบใหม่ที่บ่นกันเหมือนฝนตกทั่วฟ้าว่า ปีที่แล้วจนกระทั่งเปิดปีนี้มา พวกเขาก็แทบจะไม่ได้เข้าออฟฟิศและนั่งทำงานหน้าคอมพ์ฯ ที่บ้านกัน นับเวลาแล้วคือครึ่งต่อครึ่ง จนรู้สึกเหมือนชีวิตการทำงานจริงๆ ไม่ได้เริ่มสักที
.
เราจึงชวน ‘ชิน วังแก้วหิรัญ’ ผู้ก่อตั้ง ‘Vonder’ สตาร์ทอัพ HR Technology ที่ช่วยให้การเทรนนิ่งพนักงานองค์กรไม่ได้อยู่แค่ในห้องประชุมหรือหน้ากระดาษ มาพูดคุยกัน ในฐานะผู้บริหารเจเนอเรชันวายที่มีความเจ็บปวดในอีกรูปแบบต่างกันไป และคนที่ทำงานกับ First Jobber มาแล้วหลายรุ่น
.
ความน่าสนใจคือ แม้ Vonder จะเป็นออฟฟิศที่ให้อิสระและยืดหยุ่นสูงแก่คนทำงาน และทำเทคโนโลยีด้านบุคคลากร แต่พวกเขาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการเข้าออฟฟิศไม่แพ้กัน และล่าสุดพวกเขาเพิ่งรับพนักงานเพิ่ม 10 คน ครึ่งหนึ่งเป็น First Jobber
.
ในการล็อกดาวน์ที่ไม่ล็อกดาวน์ครั้งที่สองนี้ Vonder ให้ทำงานที่บ้าน 3 วัน และอีก 2 วันให้เลือกว่าจะเข้าหรือไม่เข้าออฟฟิศ และมีกระดานออนไลน์อัพเดททุกวันว่าใครเข้าหรือใครอยู่บ้าน หลายทีมก็จะจัดการตัวเองในการแบ่งเวลาเข้าออฟฟิศมาจัดการโปรดักต์บางตัวที่ยังไม่สเตเบิล หรือยังไม่ได้สามารถเปิดใช้งานได้ ให้เรียบร้อยไป ชินบอกว่า การได้เจอหน้ากัน ทดสอบด้วยกัน ถกเถียงด้วยกัน มันทำให้งานเดินเร็วกว่าการออนไลน์อยู่ที่บ้านแน่นอน
.
“ทำไมเราไม่ได้มีนโยบายให้ WFH 100% เพราะทุกคนในทีมก็รู้สึกว่า การทำที่บ้านตลอดนั้นมันทำให้ productivity ลดลงจริงๆ สตาร์ทอัพแบบเราที่กำลังทดสอบโปรดักต์ มันต้องใช้การสื่อสารเยอะ”
.
ซึ่งในชั่วโมงนี้ ก็ต้องทำงานแบบ hybrid กันไป – Vonder ได้พัฒนาเครื่องมือ Learning Management System ให้หลายองค์กร ก็หยิบอันนี้มาใช้กับตัวเองด้วย เช่น การทำชาเลนจ์ของแต่ละทีม เพื่อให้การทำงานออนไลน์มีปฏิสัมพันธ์มากกว่าการประชุมออนไลน์
.
แต่ส่วนตัวเขาเชื่อว่า ต่อให้เป็นสตาร์ทอัพ การได้เจอหน้าและทำงานร่วมกัน ก็ยังจำเป็นมากๆ ในโลกดิจิทัล “ล็อกดาวน์รอบก่อน เรารู้เลยว่า คนที่สามารถ WFH ได้สบายๆ คือคนที่รู้อยู่แล้วต้องทำอะไร เขาต้องการเข้าออฟฟิศมาเพื่อดูว่าเป้าหมายงานคืออะไร ทีมคือใครบ้าง ขณะที่เด็กจบใหม่ struggle เยอะ อันนี้เรื่องจริงเลย”
.
ชินบอกว่า การเรียนรู้บางทีมันไม่ได้เกิดจากการสอนบน Zoom ชั่วโมงเดียวแล้วจบ แต่เขาเชื่อว่า มันเกิดขึ้นจากการเรียนรู้แบบครูพักลักจำ ตามธรรมชาติ (spontaneous) และการได้เผชิญหน้ากัน (encounter) ไปกินข้าวหรือพูดคุยในช่วงเวลาพัก ระหว่างคนทำงาน รุ่นพี่รุ่นน้องในที่ทำงาน
.
“เทียบกันมันเหมือนกับเราเข้าห้องเรียนที่ครูสอนดีๆ กับกระทรวงศึกษาโยนหนังสือให้ไปอ่านเองที่บ้าน ถ้าเราได้ร่วมงานกับคนเก่งๆ คนที่แนะนำเราได้ ใช้อะไรในการทำงานบ้าง คัลเจอร์ของการเรียนรู้ในองค์กรที่ดี มันช่วยพัฒนาให้คนเก่งขึ้นได้จริงๆ การสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานของคนในองค์กร มันก็เป็นเรื่องที่องค์กรต้องทำให้ได้ การที่จะสร้างให้ได้ผ่านระบบ Zoom มันก็เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับ HR เช่นกัน”
.
คำแนะนำถึง First Jobber
.
ชินบอกว่า จากประสบการณ์การทำงาน เด็กรุ่นจบใหม่ 2-3 ปีมานี้ เป็นเด็กรุ่นที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากทำอะไร ไม่ชอบอะไร เป็นเรื่องธรรมชาติอยู่แล้ว
.
แต่ในโลกการทำงานที่ท้าทายอย่างมาก ตั้งแต่ปีที่แล้วจนกระทั่งปีนี้ เด็กจบใหม่หลายคนก็อาจจะเจอภาวะไม่มั่นคง ทั้งการทำงานที่ต้องนั่งทำเหงาๆ ที่บ้าน หรือความยากที่จะได้ทำในสิ่งที่ชอบตั้งแต่เรียนจบ กลายเป็น Lost Decade ของพวกเขาก็ว่าได้ – ชินจึงอยากจะแชร์มายด์เซ็ตบางเรื่องที่อาจจะพอช่วยเหลือเด็กจบใหม่ได้ โดยเขาออกตัวก่อนเลยว่าเขามีประสบการณ์ทำงานมา 6 ปี เป็นเจ้าของกิจการมา 3 ปี อาจจะยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้อีกมาก แต่คิดว่าเรื่องพวกนี้น่าจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง
.
– เรียนรู้ที่จะอยู่กับความไม่แน่นอน วิกฤติมีมาทดสอบเรื่อยๆ ทุกปี ต่างเรื่องราวกันไป อย่างปีที่เขาจบเขาก็จบในปีที่รัฐประหารพอดี และเขาก็เลือกทำงานข่าวอยู่พักหนึ่ง ก็เจอความท้าทายอีกรูปแบบ
.
“มันไม่ใช่วิกฤติสุดท้ายแน่นอน เราเชื่อว่าอนาคตคมันจะมาอีก มาไม่หยุด ไม่ว่าคุณจะจบยุคไหน ต้องมีมายด์เซ็ตว่าฉันจะต้องอยู่กับมันให้ได้”
.
– ประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบันและปรับใช้ แม้จะได้งานที่ทำไม่ถูกใจ หรือต้องทำงานที่บ้านจนรู้สึกว่าตัวเองจะไม่พัฒนา ให้ลองย้อนกลับไปดูว่าออฟฟิศของเราจัดสรรเครื่องมือ โนว์ฮาว หรือบริบท นโยบายต่างๆ มากน้อยแค่ไหน นำมาประเมินว่ามีให้แค่ไหน พยายามปรับใช้มัน และลองคุยกับทางองค์กรดูว่าจะเพิ่มเติมอะไรให้ได้อีกบ้าง เช่น คอร์สอัพสกิลออนไลน์ เพื่อพัฒนาตัวเองไปอีกทาง
.
– รีสกิลตัวเองตลอดเวลา โลกดิสรัปต์ทำให้หลายคนทำงานมานานโดนให้ออก เพราะสกิลของเขาไม่ใช่สิ่งที่นายจ้างต้องการอีกต่อไป ขณะเดียวกันเด็กจบใหม่ใช่ว่าจะอยู่เฉยๆ ได้ ก็ต้องอัพสกิลตัวเองเหมือนกัน เพราะสุดท้ายในโลกวิกฤติ นายจ้างก็ต้องการจ้างคนเก่ง และอย่าลืมเรื่องการพัฒนาซอฟต์สกิล เช่นความสามารถในการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่หลากหลาย
.
– คิดถึงปัญหา พร้อมทางออกในใจเสมอ ในการทำงานเริ่มแรก มักจะเจอความท้าทายและเรื่องที่ทำไม่ได้ ไม่เป็นมากมาย หากมีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ ให้เตรียมปัญหาพร้อมทางออกในใจ ไปคุยกับหัวหน้า ชินบอกว่า วิธีนี้จะทำให้อีกฝ่ายเข้าใจและรับฟังเรามากขึ้น
.
และในฐานะผู้บริหารซึ่งทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ สิ่งที่เขาทำ จะไม่ใช่การไปสั่งว่า 1-10 ต้องทำอะไร แต่คือการ “โยนเป้าหมาย” พร้อม “ข้อมูลหรือเครื่องมือที่มีให้” และบอกให้คนทำงานทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้ แต่ระหว่างทางที่ทำหากเกิดปัญหา ให้เดินย้อนกลับมาพูดคุยกันเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา เขาก็จะใช้ประสบการณ์ในการทำงานช่วยปรึกษาทำให้ผลงานเกิดออกมาได้ในที่สุด
.