ในเวทีระดมสมองเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาความยากจน หัวข้อ ‘คนไทยไร้จน: ฝันเฟื่องหรือเรื่องจริง’ ที่จัดโดยกลุ่ม CARE วันนี้ ที่ลิโด้คอนเน็กต์ ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์มหภาค ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม CARE เสนอมาตรการที่จะใช้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 และน่าจะใช้แก้ไขปัญหาความยากจนในระยะยาว ที่เรียกว่า มาตรการ ‘ภาษีเงินได้ติดลบ’ (Negative Income Tax – NIT)
.
ศุภวุฒิอ้างข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ระบุว่า ในปี พ.ศ.2562 มีคนไทยอยู่ภายใต้เส้นความยากจน คือมีรายได้ไม่เกิน 2,763 บาท/คน/เดือน มากกว่า 4.3 ล้านคน ซึ่งหลังมีวิกฤต COVID-19 จำนวนคนยากจนน่าจะเพิ่มขึ้นแน่ๆ โดยจากการประเมินพบว่า จำนวนคนยากจนหรือคนที่อดอยากน่าจะมีอยู่ราว 9.7 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ที่มีอยู่ราว 15 ล้านคน
.
มาตรการภาษีเงินได้ติดลบ หรือ NIT คืออะไร? ศุภวุฒิอธิบายว่า เป็นระบบที่เข้าใจง่ายมาก คือคนไทยคนไหนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ให้มารับเงินจากรัฐบาลได้เลย โดยตนเสนอให้ 3,000 บาท/คน/เดือน สูงกว่าเส้นความยากจนเล็กน้อย สำหรับคนที่ไม่มีรายได้เลย และคนที่มีรายได้ระหว่าง 1,000-6,000 บาท ให้นำรายได้นั้นมาหารสอง และไปลบกับ 3,000 บาท จากนั้นให้รัฐบาลสนับสนุนเงินส่วนต่างให้
.
เขายังระบุว่า จากการคำนวณคาดว่ามีคนไทยอยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือ 10.5 ล้านคน ทำให้น่าจะใข้งบประมาณระหว่าง 252,000-360,000 ล้านบาท/ปี เชื่อว่ามาตรการนี้น่าจะทำได้ค่อนข้างเร็ว เพราะรัฐบาลเองก็มีข้อมูลประชาชนที่ถือบัตรคนจน 15 ล้านคนอยู่แล้ว
.
“เวลาคนที่มีปัญหาได้รับเงินมา เขาจะรีบใช้เงิน และใช้เงินในบริเวณใกล้ๆ ตัวเขา ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ มันจึงไม่มีอะไรดีไปกว่านี้ สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ที่เขาต้องรีบใช้เงินในทันที อย่างน้อยๆ ก็ดีกว่าซื้อเรือดำน้ำ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม CARE กล่าว
.
.
– ดูรายละเอียดข้อเสนอฉบับเต็มได้ที่คลิปนี้: https://www.facebook.com/careorth/videos/2514803508825356/ (ระหว่างชั่วโมงที่ 2.04-2.24)
#Brief #TheMATTER