แมมมอธอาจจะดูเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่เรารู้สึกว่ามันใกล้ตัวกับมนุษย์มากที่สุด อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบDNA จากซากฟอสซิล ที่ถูกแช่แข็งอยู่ในบริเวณไซบีเรีย ช่วยเปิดเผยเส้นทาง ที่ทำให้เราเข้าใจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอายุล้านปีนี้มากขึ้นไปอีกระดับ
ซากแมมมอธ 3 ตัว เดิมถูกค้นพบตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยนักวิเคราะห์ซากดึกดำบบรรพ์ชาวรัสเซีย พบมันเข้าที่บริเวณตอนเหนือของไซบีเรีย นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า มันน่าจะมีอายุอยู่ที่ 1.2 ล้านปี 1 ล้านปี และ 7 แสนปี ตามลำดับ โดยล่าสุด พวกเขาเพิ่งจะสกัด DNA จากฟันกรามของแมมมอธเหล่านี้ไป ก่อนจะได้ผลการสกัด DNA อายุล้านปีเป็นครั้งแรก และตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (17 กุมภาพันธ์)
การค้นพบในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นครั้งแรก ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ DNA จากสิ่งเคยมีชีวิตที่ตายไปแล้วร่วมล้านปี โดยก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์เคยค้นพบ DNA ที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุด เมื่อตอนพบซากม้าโบราณ ที่มีอายุประมาณระหว่าง 560,000 ถึง 780,000 ปี
ยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้เพียงแค่ค้นพบ DNA ที่มีอายุมากที่สุดในโลกอย่างเดียว แต่การค้นพบดังกล่าว ยังทำให้พวกเขาเข้าใจวิวัฒนาการ และการปรับตัวกับอากาศหนาวเย็นของแมมมอธ ยิ่งไปกว่านั้น แมมมอธที่ค้นพบนี้ อาจเป็นสายพันธุ์แมมมอธในบริเวณไซบีเรีย ที่พวกเราไม่เคยรู้จักมาก่อน
ทอม วาน เดอร์ โวล์ก (Tom van der Valk) หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า DNA ของแมมมอธเครสตอฟกา (Krestovka) ซึ่งถูกตั้งชื่อตามสถานที่ที่มันถูกค้นพบ อาจมีอายุย้อนไปได้ถึง 1.2 ล้าน ถึง 1.65 ล้านปี ยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์ยังได้ทำความเข้าใจเพิ่มเติมได้ว่า แมมมอธในบริเวณไซบีเรีย น่าจะมีสายพันธุ์อื่นมากกว่าแมมมอธพันธุ์สเตปป์ (steppe mammoth) เนื่องจากผลการวิเคราะห์ DNA ระบุว่า ซากดังกล่าว มีความแตกต่างกันทางพันธุกรรมอยู่สองจุด กับแมมมอธพื้นถิ่นในไซบีเรีย ซึ่งซากแมมมอธนี้ อาจมีความเชื่อมโยงกับแมมมอธที่อาศัยอยู่บริเวณอเมริกาเหนือ เมื่อประมาณ 1.5 ล้านปีก่อน
โดย DNA จากแมมมอธตัวที่สอง ซึ่งมีอายุประมาณ 1.34 ล้านปี เปิดเผยให้พวกเขาพบว่า มันอาจเป็นบรรพบุรษของช้างแมมมอธขนดก ซึ่งมีอายุอยู่เมื่อประมาณ 7 แสนปีก่อน อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์พบว่า แมมมอธที่พวกเขาสกัด DNA มานี้ มีวิวัฒนการที่ทำให้มันมีขนที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการสะสมไขมัน และความทนทานต่อความหนาวเย็น น้อยกว่าแมมมอธในช่วงเวลาหลังๆ ก่อนที่พวกมันจะสูญพันธุ์
ในขณะที่น้ำแข็งที่แช่แข็งซากฟอสซิล จะสามารถช่วยให้ DNA ถูกเก็บรักษาเอาไว้ได้ แต่การสกัด DNA จากซากฟอสซิลนั้น มีความท้าทายที่สูงมาก เนื่องจาก DNA จะเสื่อมถอย และแตกออกเป็นส่วนเล็กๆ ไปตามกาลเวลา โดยนักวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบว่า การหา DNA ออกมาจากซากฟอสซิลเหล่านี้ ไม่ต่างอะไรไปจากเกมต่อจิ๊กซอว์ที่มีชิ้นส่วนนับพันล้านชิ้น การค้นพบ DNA ที่มีสภาพสมบูรณ์อายุกว่าล้านปีในครั้งนี้ จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ของวงการวิทยาศาสตร์ก็ว่าได้
อ้างอิงจาก
https://www.sciencemag.org/news/2021/02/mammoth-molars-yield-oldest-dna-ever-sequenced
https://www.scientificamerican.com/article/mammoth-genomes-shatter-record-for-oldest-dna-sequences/
#Brief #TheMATTER