แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ปลายทางการลงทุนยอดฮิตเหมือนกับทศวรรษที่แล้ว แต่ระหว่างปี พ.ศ.2560-2563 ที่ผ่านมานี้ ก็ยังมีตัวเลขบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 412 บริษัท
ข้อมูลดังกล่าว มาจาก ‘ผลการสำรวจแนวโน้มการลงทุนของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ปี พ.ศ.2563’ จากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศ (เจโทร) สำนักงานกรุงเทพฯ โดยสำรวจผ่านบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่น (บริษัทที่ได้รับการลงทุนจากญี่ปุ่น 10% ขึ้นไป) จำนวน 7,318 บริษัท ระหว่าง 5 ตุลาคม พ.ศ.2563 – 12 มีนาคม พ.ศ.2564
เป็นผลการสำรวจครั้งล่าสุด จากครั้งก่อนหน้าเมื่อปี 3 ปีก่อน (พ.ศ.2560) ซึ่งทำให้เราเห็นชีพจรบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทยอย่างน่าสนใจหลายประเด็น
ปัจจุบัน บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นได้รับการตรวจสอบสถานะว่ายังเปิดประกอบธุรกิจในไทย มีจำนวน 5,856 บริษัท เพิ่มจำนวนจาก 3 ปีก่อน 412 บริษัท ในจำนวนนั้น จุดน่าสังเกตคือ
1) จำนวนธุรกิจบริการที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตหดตัว
ส่วนใหญ่แล้วเงินลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่น มักจะอยู่ใน ‘ภาคอุตสาหกรรมผลิต’ เป็นส่วนใหญ่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ดังนั้นธุรกิจการผลิตจึงมีสัดส่วนมากถึง 40.03% ของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในการสำรวจทั้งหมด ซึ่งในช่วงสามปีที่ผ่านมามีบริษัทการผลิตญี่ปุ่นปิดตัวไป 2 บริษัท
แม้จะเป็นตัวเลขที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อหันมามองจำนวนธุรกิจที่ไม่ใช่การผลิต กลับเพิ่มจำนวนขึ้นเยอะอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะบริษัทด้านค้าปลีกค้าส่ง ที่เพิ่มขึ้น 136 บริษัท ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการให้เช่า 88 บริษัท และธุรกิจการบริการ (ร้านอาหาร บริษัทบัญชี ฯลฯ) 132 บริษัท
2) บริษัทส่วนใหญ่ที่ปิดตัวไปเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ขณะที่จำนวนบริษัทขนาดกลางและย่อม รวมถึงธุรกิจของบุคคลธรรมดา กลับเพิ่มมากขึ้น
ในปีนี้
บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นฝ่ายญี่ปุ่นเป็นบริษัทขนาดใหญ่และบุคคลธรรมดามีจำนวน 2,479 บริษัท ขณะที่บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นฝ่ายญี่ปุ่นเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม มีจำนวน 2,021 บริษัท เพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อยจาก 3 ปีก่อนที่มีจำนวน 1,859 บริษัท
เจโทร กรุงเทพฯ ให้ข้อมูลเพิ่มกับ The MATTER ว่า ในช่วงที่ผ่านมา จำนวนสถานประกอบการในประเทศญี่ปุ่นได้ลดลงเรื่อยๆ น่าจะเกิดจากการรวมกลุ่มสถานประกอบการในกลุ่มบริษัท เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายในเครือธุรกิจ
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินนโยบายส่งเสริมให้ธุรกิจขยายตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะ SMEs เพราะฉะนั้นจึงมีแนวโน้มว่า SMEs จะเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ จากการสำรวจจึงพบว่า สัดส่วนของบริษัทที่ผู้ถือหุ้นฝ่ายญี่ปุ่นเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงบุคคลธรรมดามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ญี่ปุ่นกลับขึ้นแท่นเบอร์ 1 นักลงทุน
ประเทศไทยถือเป็นฐานผลิตหลักของบริษัทญี่ปุ่นมาหลายสิบปี และเงินลงทุนโดยตรง (FDI) จากนักลงทุนญี่ปุ่น ก็เป็นเงินลงทุนอันดับหนึ่งติดต่อกันมาโดยตลอดทุกปี ยกเว้นในปี พ.ศ.2562 ที่จีนเข้ามาลงทุนกระเป๋าหนักในไทย ทำให้จีนขึ้นแท่นนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนมากที่สุดในไทยในปีดังกล่าว
แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่งเปิดรายงานผลการลงทุนจากต่างชาติของปีก่อนเมื่อเดือนที่แล้ว ระบุว่า ปี พ.ศ.2563 ญี่ปุ่นกลับมา ‘ทวงแชมป์’ นักลงทุนเบอร์ 1 ในไทยอีกครั้งเรียบร้อยแล้ว
แม้ว่าปี พ.ศ.2563 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจลำบากกันทั่วโลก การลงทุนจากต่างชาติในไทยลดฮวบไป 54% โดยเงินลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ลดลงไป 90% (เทียบเปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า) ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่มีการลงทุนเพิ่มในปีที่ผ่านมา โดยเพิ่ม 10% ลงทุนรวม 75,900 ล้านบาท นักลงทุนรายใหญ่คือมิตซูบิชิมอเตอร์ ที่เข้ามาลงทุนฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
“แม้ว่าจะตกอยู่ภายใต้ความยากลำบากอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัส COVID-19 ทั่วโลก บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทยยังคงเพิ่มจำนวนมากกว่า 400 บริษัท และมีบริษัทที่ยังดำเนิน กิจการต่อไปได้อยู่ถึง 5,856 บริษัท ทำให้ผมรู้สึกมั่นใจเป็นอย่างมาก” ทาเคทานิ อัทสึชิ ประธานเจโทร กรุงเทพฯ บอก
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เจโทรฯ กรุงเทพ เคยทำการสำรวจนักลงทุนญี่ปุ่นถึงความกังวลในใจในการลงทุนในไทยปี พ.ศ.2564 เช่นกัน โดยนักลงทุนญี่ปุ่นบอกว่า สิ่งที่เป็นกำแพงการลงทุนในไทยหลักๆ คือ การแพร่ระบาดของ COVID-19, ความเสี่ยงจากประเทศคู่ค้าของไทย, ประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มโดดเด่นเรื่องของการลงทุน และความไม่แน่นอนทางการเมือง
โดยนโยบายการลงทุนจากญี่ปุ่นเริ่มเดินหน้าภายใต้ Thailand Plus One หรือการลงทุนในไทยและขยายไปประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์หลายรายได้เตือนบ่อยว่า ค่าแรงไทยที่สูงกว่าประเทศรอบๆ การเข้าสู่สังคมสูงวัย และการที่เป็นประเทศที่ไม่ได้เป็นฐานผลิตเทคโนโลยี หรือวิ่งไล่ตามนวัตกรรมการผลิต และการพัฒนาแรงงานที่เชื่องช้า อาจจะทำให้ไทยตกขบวนเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติในเร็วๆ นี้ได้
ที่มา
‘ผลการสำรวจแนวโน้มการลงทุนของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ปี พ.ศ.2563’ โดยเจโทร กรุงเทพฯ
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/912022
https://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/Thailand-s-top-investor-is-Japan-again-as-China-slows-spending
#Brief #Business #TheMATTER