“ลองคิดดูถ้าคอนโดคุณมีคนติดเชื้อ ถูกนำไปกักตัวที่โรงพยาบาลแล้ว เช็คคนที่เสี่ยง กักตัวหมดแล้ว คุณจะสั่งกักคนที่คอนโดอีกเป็นร้อยเป็นพันอย่างนั้นหรือ ทำไปแล้วได้อะไร”
ข้อความข้างต้นมาจาก อ.อรรถพล อนันตวรสกุล จากคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แสดงความเห็นต่อกรณีที่นิสิตจุฬาฯ นับพันคนซึ่งอาศัยที่หอพักใน ถูกมหาวิทยาลัยสั่งกักตัวและไม่ให้ออกนอกพื้นที่รั้วของหอพักเป็นเวลา 14 วัน มิหนำซ้ำ ยังเกิดความเข้าใจผิดต่อตัวนิสิตจากการนำเสนอข่าวของบางสำนัก จนทำให้นิสิตถูกตำหนิ ทั้งที่ผู้ตำหนิไม่ได้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ
เราขอพาทุกคนมาสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นจากมาตรการกักตัวในหอใน เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนตัดสินหรือตีตราคนที่ได้รับผลกระทบ เพราะมาตรการที่นิสิตกำลังเผชิญอยู่ กำลังถูกตั้งคำถามว่าอาจจะเกินขอบเขตที่หน่วยงานรัฐแนะนำไว้เสียด้วยซ้ำ
1) มาตรการจากมหาวิทยาลัย
ในวันที่ 11 เมษายน 2564 สำนักงานหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกประกาศเรื่องแนวทางปฏิบัติของหอพักในว่า โดยมีใจความสำคัญ เช่น
-นิสิตที่อาศัยในหอพักช่วงที่ 13 – 26 เมษายน 2564 นิสิตสามารถดำเนินชีวิตปกติภายในพื้นที่รั้วหอพักเท่านั้น โดยหอพักขอปิดพื้นที่ส่วนกลาง
-นิสิตซื้ออาหารในโรงอาหาร และสามารถนั่งรับประทานในโรงอาหารได้ โดยเว้นระยะห่าง หรือนำกลับไปรับประทานที่ห้องตัวเอง กรณีสั่งอาหารจากข้างนอก ให้มารับในจุดที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้เท่านั้น
-นิสิตสแกนนิ้วเข้า-ออกตึกพักให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง สวมหน้ากากอนามัย เมื่อออกจากห้องพัก หมั่นล้างมือด้วยน้ำและฟอกสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์
หากนิสิตมีข้อสงสัย หรือมีอาการไข้ อุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือมีอาการที่เข้าข่ายการติดเชื้อ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่
-ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอก เข้าหรือออกหอพักทุกกรณี ยกเว้นเจ้าหน้าที่บุคลากร หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหอพักที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
-ถ้านิสิตต้องการกลับมาเอาของที่หอพัก ให้แจ้งในเพจคณะกรรมการนิสิตหอพักล่วงหน้า 3 วัน และให้เพื่อนร่วมห้องเก็บของให้ หรือหากเพื่อนไม่อยู่ จะมีเจ้าหน้าที่ไปเอาของให้
2) คำถามต่อมาตรการของมหาวิทยาลัย
หลังจากมีประกาศมาตรการนี้ออกมา ได้เกิดคำถามจากนิสิตต่อทางมหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวาง หนึ่งในประเด็นสำคัญคือ การออกมาตรการกักตัว 14 วันต่อนิสิตนับพันคนเช่นนี้ ถือว่าเป็นมาตรการที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ เนื่องจาก มีนิสิตที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหลายคนต้องถูกกักตัวภายในหอไปด้วย
“มาตรการกักตัว 14 วันควรจะใช้เฉพาะกับผู้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ไม่ใช่ใช้กับ “ทุกคน” ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตได้ในแบบปกติใหม่ (new normal) ได้ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากห้อง หลีกเลี่ยงการไปพื้นที่มีคนแออัด ล้างมือบ่อย ๆ ไม่สัมผัสตา จมูก ปาก ฯลฯ วิธีเหล่านี้จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้มากแล้ว ถามว่าการกักตัวนิสิตในหอเป็นมาตรการที่เหมาะสมแล้วหรือ? ในเมื่อมีวิธีการในการป้องกันโรคได้โดยที่เราสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ” หนึ่งในความเห็นมีโพสต์ของเพจสำนักงานหอพักนิสิตฯ
ยิ่งเมื่อเทียบกับมาตรการโดยทั่วไปแล้ว คนที่ไม่ได้มีความเสี่ยงสูง หรือไม่ได้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ก็ยังสามารถออกไปข้างนอกได้ โดยรักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนรวมตัวกันมากๆ รวมถึงใส่หน้ากากและล้างมืออยู่เสมือ แต่สำหรับมาตรการที่ออกมา คือการใช้มาตรการเดียว กับคนทุกคนในหอพักไปเลย
ขณะที่บางความเห็นได้ชี้ว่า มาตรการนี้จากมหาวิทยาลัยคือ การบังคับให้คนเป็นพันคน ต้องอยู่ใต้มาตรการเดียวกัน ทั้งที่แต่ละคนเป็นผู้เสี่ยงติดเชื้อไม่เท่ากัน
มีความเห็นที่ยืนยันว่า ถ้าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อก็พร้อมกักตัวเอง แต่ในตอนนี้ยังอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำ ดังนั้น คนในกลุ่มนี้ก็ควรได้มีโอกาสใช้ชีวิตเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในสังคมไทยที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำเหมือนกัน
3) รวมประเด็นปัญหาที่หลากหลายจากนิสิต
นอกจากการตั้งคำถามในภาพรวมๆ ของมาตรการที่ใช้กับคนนับพันคนแล้ว ยังมีข้อกังวลจากนิสิตและบุคลากรในมหาวิทยาลัยอีกมาก เราขอรวมเราไว้เป็นประเด็นหลักๆ ดังนี้
-นิสิตบางคนจองตั๋วรถและเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับบ้านไปแล้ว แต่เมื่อมีมาตรการนี้ออกมาอย่างกระทันหัน ทำให้พวกเขาต้องอยู่หอพักต่อไป และไม่สามารถเดินทางออกไปข้างนอกได้ ทางมหาวิทยลัยจะช่วยเหลือเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง
-ปัญหาการเรียนออนไลน์ เนื่องจากการกักตัวในหอพักจะถูกบังคับใช้ไปจนถึงช่วงหลังสงกรานต์ ที่นิสิตต้องกลับมาเรียนในรูปแบบออนไลน์แล้ว ประเด็นคือ ตอนนี้สัญญาณ wifi ของหอพักหลายแห่งอาจไม่สามารถรองรับการเรียนออนไลน์พร้อมๆ กันของนิสิตจำนวนมากได้ มีคนตั้งคำถามว่า ขนาดในช่วงเวลาปกติ สัญญาณไวไฟจากหอพักชั้นที่สูงๆ ก็แทบไม่มีอยู่แล้ว
ห้องพักหลายๆ ห้องมีนิสิตอยู่ด้วยกัน 3-4 คน เมื่อเรียนพร้อมกันสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็อาจจะไม่พอได้ด้วย
-มีนิสิตที่ต้องทำงานพาร์ทไทม์เพื่อหาเงินดูแลตัวเอง และส่งเสียตัวเองเรียนแบบวันต่อวัน การสั่งห้ามออกไปจากพื้นที่ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาเป็นอย่างมาก ทั้งที่พวกเขาหลายคนไม่ได้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ แม้ทางมหาวิทยาลัยบอกว่าจะหาวิธีการช่วยเหลือโดยจ้างงานจากมหาวิทยาลัยให้ แต่ก็มีข้อสังเกตว่ามันอาจจะทดแทนไม่ได้ขนาดนั้น
-แม้นิสิตจะต้องกักตัว แต่คนที่อยู่ในพื้นที่หอพักใน ไม่ได้มีแค่นิสิต แต่ยังรวมไปถึงบุคลากรและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เข้ามานั้น ทางมหาวิทยาลัยจะสามารถยืนยันได้หรือไม่ว่า พวกเขาปลอดภัยและไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่มีเชื้อ COVID-19
-ความเพียงพอของเจลแอลกอฮอล์ภายในหอพัก ที่นิสิตหลายคนมองว่ายังมีน้อยอยู่ และขอให้มีเพิ่มขึ้นตามจุดต่างๆ รวมถึง การที่นิสิตต้องใช้การแสกนนิ้วเพื่อเข้าหอพัก
4) ข้อเสนอจากนิสิตและบุคลากรในจุฬาฯ
หลังจากเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมากมาย ทางด้าน คณะกรรมการนิสิตหอพักจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีข้อเสนอต่อมหาวิทยาลัย เพื่อเปลี่ยนแปลงมาตรการให้เหมาะสมยิ่งขึ้นกับทุกฝ่าย
สรุปประเด็นข้อเสนอได้ ดังนี้
-ควรให้กักตัวเฉพาะนิสิตที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อยืนยัน หากพบนิสิตในชั้นใดติดเชื้อ นิสิตคนนั้น และนิสิตที่ใกล้ชิดในชั้นนั้นต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน
-นิสิตที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือด้วยเตลแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ
-ตั้งโครงการจ้างงานนิสิตหอพัก เพราะมีนิสิตที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในเรื่องรายได้จากงานพิเศษ และบุคลากรของหอพักมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการดูแลนิสิตกลุ่มเสี่ยง จึงควรตั้ง RCU Friend ขึ้นมาเพื่อจ้างงานนิสิตภายใน สำหรับการรับส่งอาหารให้นิสิตที่มีความเสี่ยงในชั้นที่มีการติดเชื้อ
-กรณีปิดตึกและปิดหอพัก ถ้ามีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนชั้นในตึก ให้ปิดตึกและกักตัวนิสิตในตึก และถ้ามีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนิสิตในตึก ก็ให้ปิดตึกและกักตัวนิสิตทุกคนในตึกทันที
ด้าน สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกหนังสือถึง รองอธิการบดีด้านพัฒนานิสิตว่า กรณีนี้ มีนิสิตหอพักจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน เพราะแนวปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้สอบถาม และไม่คำนึงถึงสุขภาพจิตและสวัสดิภาพโดยรวมของนิสิต รวมถึงแนวปฏิบัติที่เกินขอบเขตที่หน่วยงานรัฐได้แนะนำเอาไว้
“สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงใคร่ขอให้ท่านรองอธิการบดีมีคำสั่งทบทวนแนวปฏิบัติตามประกาศหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 12 เมษายน 2564 อีกครั้ง โดยเปิดประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการนิสิตหอพักจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา รวมถึงนิสิตคนอื่นๆ ที่มีข้อกังวล เพื่อออกประกาศใหม่ที่เป็นที่ยอมรับของนิสิต เพื่อสุขอนามัยและสวัสดิภาพโดยรวมของนิสิตทุกคน”
ขณะที่ อ.อรรถพล อนันตวรสกุล จากคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นว่า
“ก่อนจะด่านิสิต อ่านหรือฟังข่าวให้ได้ข้อมูลมากพอหรือยังครับ มีนิสิตที่พักหอในติด 12 คน ตอนนี้อยู่โรงพยาบาลกันหมดแล้ว คนที่มีประวัติใกล้ชิดผู้ติดเชื้อถูกแยกโซน แต่หอพักกำลังบังคับนิสิตอีกนับพันให้อยู่แต่ในหอ เป็นมาตรการที่ทำ โดยไม่ได้มีการตรวจเชื้อทุกคนก่อนกักตัว นิสิตมีเรียนออนไลน์ ห้องนึงนอนกันสี่คน เรียนพร้อมกันสัญญานมันก็ไม่พอ นิสิตถูกสั่งกักแบบนี้ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วนะครับ
“ทั้งที่ก่อนหน้าการติดเชื้อมาจากคนนอกที่เข้ามาใน พื้นที่หอ ครั้งนี้กักตัวนิสิต แต่เจ้าหน้าที่บุคลากรอื่น คนทำอาหารก็ยังเข้าออกทุกวัน แล้วมันจะปลอดภัยตรงไหน ที่สำคัญ หลายคนที่งานพิเศษส่งตัวเองเรียน สั่งกักตัวแบบไม่ได้ดูเลยว่ากระทบนิสิตที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแบบนี้มันได้ประโยชน์อะไร นิสิตเขาเจอแบบนี้มา 2 ครั้งแล้ว และเขารู้ว่ามันไม่เวิร์คถึงได้โวยขึ้นมา”
5) เสียงสะท้อนจาก ‘เนติวิทย์’
ด้านเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ที่เพิ่งได้ชนะเลือกตั้งเป็นนายกฯ องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนต่อไป ระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า
“ปัญหาหอในสะท้อนให้เห็นว่านิสิตไม่ได้มีปากเสียงแท้จริงเลย ทั้งที่เหตุการณ์เกิดหลายรอบแล้วผู้บริหารควรรับฟังเสียงสะท้อนนิสิต และมันก็ทำให้เห็นปัญหาโครงสร้างจำเป็นที่หอในต้องมีผู้บริหารหอพัก-อนุสาสก มาจากการเลือกตั้งของนิสิตซึ่งต้องรับผิดชอบต่อนิสิต และนิสิตมีผลต่อการตัดสินใจของเขา”
6) คำชี้แจงจากมหาวิทยาลัย
เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานความเห็นจาก ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาฯ ต่อกรณีนี้ว่า ทางมหาวิทยาลัย ดำเนินการด้วยหลักการห่วงใยนิสิต และไม่ได้บังคับ หอพักไม่ใช่คุก โดยให้สิทธินิสิตที่จะอยู่ที่หอหรือจะกลับบ้านก็ได้ หากจะกลับบ้าน เนื่องจากชาวหอ เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะห้องน้ำรวมและนอนหลายคนต่อห้อง ทางมหาวิทยาลัยจึงขอตรวจเพื่อให้ชัวร์ว่าปลอดภัย เพราะอยากให้นิสิตปลอดภัย ไม่ต้องการสร้างภาระความเสี่ยงกับสังคม
รองอธิการบดีผ่ายกิจการนิสิต ระบุด้วยว่า มหาวิทยาลัย ยังให้การช่วยเหลือด้านอื่นๆ แก่นิสิต เช่น การประกันโควิด สัญญาณอินเทอร์เน็ตและซิม เพื่อให้นิสิตยังเรียนรู้ได้มากที่สุด อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย บริการทำความสะอาด บริการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา ที่พักแยกผู้มีความเสี่ยงสูง และการรักษาพยาบาลหากติดเชื้อ
7) นิสิตเตรียมนัดส่งเสียงถึงมหาวิทยาลัยอีกครั้ง โดยสถานการณ์จะมีนิสิตออกมาเรียกร้องต่อมหาวิทยาลัยในเวลา 18.00 น. เพื่อขอให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนมาตรการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ทั้งหมดนี้คือสรุปประเด็นสำคัญจากกรณีมาตรการกักตัวนิสิตที่หอพักใน จุฬาฯ กับคำถามถึงเรื่องมาตรการที่เกินขอบเขต ผลกระทบที่นิสิตได้รับในหลายด้าน ทั้งคุณภาพชีวิต สภาพจิตใจ การเรียนออนไลน์ ตลอดจนรายได้ประจำวัน
อ้างอิงจาก
http://www.rcuchula.com/…/news/m-rcu-news/275-covid-22…https://www.facebook.com/athapol/posts/10157495256595583https://twitter.com/NetiwitC/status/1381954139853185024https://www.facebook.com/RCUCOMMITTEE/posts/1858137154355803https://www.facebook.com/125449624319292/posts/1669865093211063/https://www.dailynews.co.th/regional/837078