เป็นประเด็นที่มีคนพูดถึงมากมายกับการ ‘บล็อกวิว’ ของญี่ปุ่นที่เพิ่งเกิดขึ้นไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยจะมีการปิดกั้นมุมยอดฮิตของร้านสะดวกซื้อที่มีวิวด้านหลังเป็นภูเขาไฟฟูจิ หลังจากที่มีรายงานว่านักท่องเที่ยวหลายคนที่เดินทางมาถ่ายรูปมุมนี้ประพฤติตัวไม่ดี
การตัดสินใจครั้งนี้ของญี่ปุ่น ทำให้นักท่องเที่ยวและชาวเน็ตบางคนเกิดความไม่พอใจ แต่บางกลุ่มก็เห็นด้วยเนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวก็ทำตัวไม่ดีจริงๆ เช่น ทิ้งขยะ หรือไปกีดขวางการจราจร
แต่จริงๆ แล้วประเทศที่ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลกอย่างญี่ปุ่นกำลังรับมือกับความ Overtourism – หรือการที่มีนักท่องเที่ยวล้นเมืองมาสักพักแล้ว และพวกเขากำลังพยายามสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ของการท่องเที่ยว และผลกระทบต่อพื้นที่ที่ผู้คนแห่กันไปท่องเที่ยว
ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่านักท่องเที่ยวถูกห้ามไม่ให้เข้าไปในถนนส่วนตัวบางแห่งในย่านกิออน (Gion) อันเก่าแก่ของโตเกียว ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของโรงน้ำชาที่มีเกอิชาทำงานอยู่ และมีรายงานด้วยว่าเกอิชาที่นั่นโดนนักท่องเที่ยวล่วงละเมิด
ญี่ปุ่นแก้ปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองได้อย่างไร?
ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากที่ญี่ปุ่นจะลดจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมได้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวล้นเมือง แต่เราอาจจะได้เห็นพื้นที่บางแห่งของญี่ปุ่นเริ่มจำกัดความจุในสถานที่ เช่น บนภูเขาไฟฟูจิ ที่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่อวัน หรือพิพิธภัณฑ์ Ghibli ที่โด่งดังซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพื่อเข้าชมในราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 1,000 เยน หรือราวๆ 240 บาท เพื่อจำกัดจำนวนคน
แต่การเปลี่ยนแปลงล่าสุดคือการเปิดตัวระบบ ‘Baggage 160’ ในปี 2020 ซึ่งนักเดินทางจะต้องจองพื้นที่สำหรับสัมภาระชิ้นใหญ่ โดยต้องระบุความสูง ความกว้าง และความลึกรวมกันที่มากกว่า 160 ซม. (63 นิ้ว) หากต้องการโดยสารบนรถไฟ Bullet train เนื่องจากความยุ่งยากของผู้มาเยือนที่นำสัมภาระชิ้นใหญ่ขึ้นรถไฟที่ไม่ได้ออกแบบมาให้มีช่องเก็บสัมภาระขนาดใหญ่
ขณะที่รัฐนำการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และข้อจำกัดใหม่ๆ มาใช้แล้วสำหรับการเดินทางขึ้นภูเขาไฟฟูจิ เพื่อให้ความแออัดของนักท่องเที่ยวนั้นเบาบางลงและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำความสะอาดขยะจำนวนมากที่มีคนทิ้งไว้บนภูเขา อีกทั้งยังเอาเงินดังกล่าวมาปรับปรุงความปลอดภัยของผู้ที่มาปีนด้วย
ที่เกียวโต (Kyoto) กำลังพิจารณาเส้นทางรถบัสด่วนพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยว ที่จะพานักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่โดดเด่นของเมืองเพื่อลดความแออัด และปรับปรุงประสิทธิภาพรถบัสท้องถิ่นด้วย
นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาการตั้งราคาที่สูงขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย เพราะว่าสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงมากๆ บางแห่งก็มีค่าเข้าถูกจนน่าประหลาด เช่น วัดคินคะคุจิ (Kinkaku-ji) ในโตเกียว มีราคาสำหรับผู้ใหญ่อยู่ที่ 400 เยน (ราว 95 บาท) เท่านั้น
ภาษีนักท่องเที่ยวโดยปกติแล้วจะเก็บเพิ่มนอกเหนือจากพวกค่าโรงแรม ซึ่งนั่นถือว่าปกติในหลายๆ ที่ในโลก แม้ว่าภาษีเหล่านี้ในญี่ปุ่นจะค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ โดยจุดมุ่งหมายของภาษีดังกล่าวนี้ก็เพื่อเป็นทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในท้องถิ่นบางส่วนสำหรับผู้มาเยือน ซึ่งเราอาจจะจ่ายออกไปโดยไม่ทันได้สังเกตุเลยด้วยซ้ำเนื่องจากบางครั้งมันก็เป็นส่วนหนึ่งของค่าเครื่องบิน
หลายสถานที่ในญี่ปุ่นกำลังดิ้นรนกับการจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวที่ล้นเมือง ทั้งรถไฟฟ้าและรถประจำทางหลายสายแน่นเป็นปลากระป๋องจนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งในช่วงนี้มีนักท่องเที่ยวหลายคนกำลังตักตวงประโยชน์จากการที่เงินเยนอ่อนค่า ญี่ปุ่นอาจจำเป็นจะต้องงัดมาตรการหลายๆ อย่างมาใช้เพื่อสร้างสมดุลกับชีวิตประจำวันของคนในท้องถิ่น
อ้างอิงจาก